หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. » ความตาย: พระพุทธเจ้าสอน สตีฟ จอบส์ปฏิบัติ
 
เข้าชม : ๔๗๒๑๐ ครั้ง

''ความตาย: พระพุทธเจ้าสอน สตีฟ จอบส์ปฏิบัติ''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. (2554)

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

     ในขณะที่กลุ่มคนจำนวนมากในโลกนี้กำลังประหวั่นพรั่นพรึง หรือหวาดกลัวต่อ “ความตาย” จากมหันตภัยทางธรรมชาติ และวิกฤติการณ์อื่นๆ เพราะอาจจะไม่ประจักษ์ชัดว่า “ความตายคืออะไร” "จะตายเมื่อใด" และ “ตายแล้วจะไปที่ไหน”  อย่างไรก็ตาม  กลุ่มคนบางกลุ่มมิได้ใส่ใจต่อคำถามเหล่านี้  ในทางกลับกัน ได้นำเอา “ความตาย” มาเป็นเครื่องมือในการแรงจูงใจ (Motivation)  และแรงบันดาลใจ (Inspiration) ที่สำคัญในต่อการ “เปลี่ยนแปลงโลก” ไม่ว่าจะเป็น “โลกภายใน” และ  “โลกเทคโนโลยี”   บุคคลที่สามารถนำความความตายมาสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเปลี่ยนโลกภายในคือ “พระพุทธเจ้า” ส่วนบุคคลที่นำความตายมาสร้างความก้าวหน้าให้แก่ “โลกเทคโนโลยี” คือ “สตีเฟน พอล จอบส์” (Steven Paul Jobs)

พระพุทธเจ้ากับความตาย

     เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงอยู่ในวัยเยาว์ พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาได้ทรงพยายามทุกวิถีทางให้เจ้าชายสิทธัตถะ อยู่ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์โดยการผูกมัดด้วยความสุขในทางโลกเป็นสำคัญ มุ่งให้เจ้าชายสิทธัตถะพบเห็นแต่สิ่งสวยงาม เช่น การสร้างปราสาทให้ประทับทั้ง 3 ฤดู จัดให้ทรงอภิเษกสมรสแต่ด้วยเหตุที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นนักคิดมาตั้งแต่ วัยเยาว์  จึงไม่อาจปิดกั้นความคิดของพระองค์ได้  วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จประพาสนคร พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ (นักบวช) เรียกว่า เทวทูต 4 ก็ทรงรู้สึกสลดหดหู่ในพระทัยยิ่งนัก  จนทำให้พระองค์ตั้งคำถามต่อประเด็นดังกล่าว

     “แรงจูงใจ และแรงบันดาลใจ” ได้เกิดขึ้นแก่เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูต 4 ดังกล่าวนั้น ถือได้ว่าเป็นคำเตือนหรือสัญญาณเตือนมาจากธรรมชาติที่เป็นลักษณะความเปลี่ยน แปลงของชีวิตตามกฎไตรลักษณ์ กล่าวคือ สรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน (อนิจจัง)  ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) และไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเรา (อนัตตา)   จนทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยออกผนวชเพื่อแสวงหาความจริงสูงสุดคือ “โมกขธรรม หรือพระนิพพาน” อันภาวะที่ไม่มีการเกิด  การแก่ การเจ็บ และการตาย และสุดท้ายแล้ว พระองค์ก็ทรงค้นพบความจริงดังกล่าว

สตีเฟน จอบส์กับความตาย

     สตีพ จอบส์ ได้กล่าวปาฐกถาในพิธีสำเร็จการศึกษาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปี ค.ศ. 2005   และได้กล่าวถึงประสบการณ์ชีวิตที่เข้าใกล้กับความตายว่า “เมื่อปีที่แล้ว (2004)  ผมตรวจสุขภาพพบว่าเป็นมะเร็ง ผมเข้ารับการตรวจประมาณ  7 โมงครึ่ง และผลออกมาชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายที่ตับอ่อนของผม ผมไม่รู้แม้กระทั่งว่าตับอ่อนคืออะไร คุณหมอบอกกับผมว่ามะเร็งชนิดนี้รักษาไม่หาย และผมจะอยู่ได้ไม่เกินสามถึงหกเดือน คุณหมอแนะนำว่าให้กลับบ้านแล้วสะสางเรื่องส่วนตัวให้เรียบร้อย เหมือนเป็นสัญญาณให้ผมเตรียมตัวตาย มันดูเหมือนจะให้ผมเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ผมคิดไว้สำหรับ 10 ปีจากนี้ไปให้เด็กๆ ฟังให้หมดภายในสองสามเดือน มันเหมือนว่าให้เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับครอบครัวของคุณ มันเหมือนให้เตรียมที่จะลาจากไป"

     “ผมครุ่นคิดแต่เรื่องผลการตรวจตลอดทั้งวัน ในช่วงเย็นวันนั้น ผมต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยการสอดกล้องเข้าทางปาก ผ่านคอไปยังกระเพาะและลำไส้ จากนั้นก็ใช้เข็มเจาะเข้าที่ตับอ่อนเพื่อเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเนื้อร้าย นั้น ผมรู้สึกสงบนิ่ง แต่ภรรยาของผมที่อยู่ด้วยเล่าให้ฟังว่าเมื่อคุณหมอส่องกล้องตรวจดูเนื้อ เยื่อนั้นแล้วก็เริ่มวิตกกังวล เพราะมันเป็นมะเร็งตับอ่อนที่ไม่แน่ใจว่าจะรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ในที่สุดผมก็เข้ารับการผ่าตัด และตอนนี้ผมก็สบายดี

     จากประสบการณ์ดังกล่าว เขาได้สรุปว่า “มันเป็นช่วงเวลาที่ ผมเข้าใกล้ความตายที่สุด และผมก็หวังว่าจะไม่ใกล้ไปกว่านี้อีกสำหรับอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า เมื่อผ่านช่วงนั้นมาได้ ผมก็นำมาเล่าให้คุณฟังได้เต็มปาก มันไม่เพียงเป็นประโยชน์ มันเป็นเรื่องของหลักคิดดีๆ อีกด้วยว่าไม่มีใครอยากตาย แม้กระทั่งคนที่อยากไปสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายเพื่อจะไปที่นั่น อย่างไรก็ดี ความตายเป็นจุดหมายปลายทางที่เรามีร่วมกัน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงไปได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เพราะความตายนั้นเรียกได้ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่วิเศษสุดของชีวิต มันเป็นเหมือนเครื่องมือเปลี่ยนชีวิต มันสะสางคนรุ่นเก่าเพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ ขณะนี้พวกคุณนั่นเองคือคนรุ่นใหม่ แต่วันหนึ่งไม่นานจากนี้ไป คุณก็จะค่อยๆ กลายเป็นคนรุ่นเก่าที่จะต้องถูกสะสาง ขออภัยถ้ามันดูเหมือนหนังชีวิตไปหน่อย แต่มันก็เป็นเรื่องจริง

มรณานุสติ: จากพระพุทธเจ้าสู่สตีพ จอบส์

     รายงานจากหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ National Enquirer ได้เผยแพร่ภาพถ่ายล่าสุดของ Steve Jobs อัจฉริยบุรุษผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ iPod, iPhone และ iPad พร้อมทั้งข่าวที่ทำให้หลายคนทั่วโลกต้องรู้สึกช็อค โดยเฉพาะพนักงานในบริษัท Apple นั่นก็คือ อาการป่วยมะเร็งที่ตับอ่อนอาจจะทำให้จอบส์มีชีวิตอยู่ได้แค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น (http://www.youtube.com/watch?v=RnArdvGXh_Y&feature=related) ถึงกระนั้น ความตายที่สตีพ จอบส์กำลังเผชิญหน้าอยู่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่การ ดำรงชีวิตของเขามากมายนัก เพราะครั้งหนึ่ง สตีพ จอบส์ได้เคยเรียนรู้บทเรียนดังกล่าว และรับอิทธิพลเรื่อง “ความตาย” จากพระพุทธศาสนานิกายเซ็นในประเทศสหรัฐอเมริกา

     ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย จอบส์เริ่มหันมาศึกษาพุทธศาสนานิกายเซน เขาสนใจอ่านวรรณกรรมทางพุทธศาสนาหลายเล่ม และหนังสือที่มีอิทธิพล สูงสุดกับเขาคือ Zen Mind, Beginner’s Mind ซึ่งเขียนโดยชุนริว ซูซุกิ กล่าวกันว่า หลังการศึกษาหลักธรรมของเซน จอบส์เริ่มมีความเชื่อว่า การหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณนั้น ก่อให้เกิดปัญญา จึงเริ่มฝึกสมาธิในห้องนอนแคบๆ ที่แชร์ร่วมกับ “แดเนียล คอตคี” เพื่อนสนิท ท่ามกลางกลิ่นธูป และเริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนานิกายเซนอย่างจริงจังกับ “โกบุน ชิโนะ โอโตโกวะ” พระอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่ศูนย์เซน ลอส อัลทอส (ซึ่งภายหลัง เมื่อจอบส์เข้าพิธีแต่งงานแบบเซน กับ “ลอรีน เพาเวล” ในวันที่ 18 มีนาคม 1991 พระอาจารย์โอโตโกวะได้มาเป็นประธานในพิธี)    

     การที่สตีพ จอบส์ได้อ่านหนังสือและเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้จากหนังสือเกี่ยวกับพระ พุทธศาสนา รวมไปถึงการนำหลักการพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้การใช้ชีวิตในโลกธุรกิจอย่าง จริงจังนั้น ทำให้วิธีคิดและการแสดงออกของเขาสอดรับกับแงุ่มุมทางพระพุทธศาสนา  ดังจะเห็นได้จากการที่เขาได้กล่าวถึงประสบการณ์เกี่ยวกับ "ความตาย" ในพิธีพิธีสำเร็จการศึกษาของ บัณฑิตมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปี ค.ศ. 2005 ว่า เมื่อผมอายุราว 17 ผมได้อ่านประโยคเด็ดในทำนองว่า ‘ถ้าคุณใช้ชีวิต ราวกับว่าแต่ละวันนั้นเป็นวันสุดท้ายของชีวิต วันหนึ่งคุณจะสมหวัง’  ผมประทับใจมาตลอด 33 ปี ทุกเช้าผมจะมองกระจกและถามตัวองว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ผมอยากทำอะไร และวันนี้ผมจะทำอะไร ?” และเมื่อใดที่คำตอบกลับมาว่า ไม่อยากทำอะไร หลายๆ วันเข้า คุณต้องรู้แล้วว่าคุณต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตแล้ว”

     ในพิธีเดียวกันนี้ เขาได้ชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของความตายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “การ ใช้มรณานุสติเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผมตัดสินใจเรื่อง ใหญ่ของชีวิต เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากผู้คนทั้งหลาย เกียรติยศชื่อเสียงทั้งปวง ความกลัวที่จะเสียหน้าหรือกลัวที่จะล้มเหลว มันก็จะหายไปเมื่อเราตาย เหลือไว้เพียงเรื่องที่สำคัญจริงๆ มรณานุสตินี่เองที่จะช่วยให้คุณหลบหลีกกับดักทางความคิดที่ว่าคุณไม่อยากจะ สูญเสียอะไร จริงแล้วคุณไม่มีอะไรติดตัวเลย จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะไม่ทำอะไรตามที่ใจคุณต้องการ

ความตายคือจุดเปลี่ยนของเจ้าชายสิทธัตถะ และสตีพ จอบส์

     จะเห็นว่า การเห็นหนึ่งในเทวทูตคือ “ความตาย” ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติที่เดินทางมาทักทายและให้สติแก่เจ้าชายสิทธัตถะนั้นเป็น จุดเปลี่ยนในชีวิตของเจ้าชายได้พบกับคำว่า “พุทธะ”  อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกภายในจนได้รับการเรียนขานพระนามว่า “พระพุทธเจ้า”  ในที่สุด

     การมีสติตระหนักรู้ “ความตาย” ทุกเวลาและนาทีของสตีพ จอบส์ ทำให้เขาเข้าใจความจริงว่า “ชีวิตกำลังเดินหน้าไปสู่ปากประตูของความตายอยู่ทุกวินาที”  ฉะนั้นการถาม และเตือนตัวเองอยู่เนืองๆ ทำชาวโลกได้รู้จักกับยี่ห้อ (Brand) สินค้าชื่อ  “Apple”  ซึ่งเป็นที่มา  “iPod iPad และ iPhone”

     การ ตระหนักรู้ “ความตาย” นำไปสู่การค้นพบความสว่างไสวทางจิตวิญญาณ  และนำไปสู่การค้นพบ “โลกเทคโนโลยี” ที่ยิ่งใหญ่   การเข้าใจสัจธรรมความตายของสตีพ จอบส์ นำไปสู่การค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ  แล้วนำวัฒนธรรมใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของเพื่อนมนุษย์  หากมองในส่วนดี มีสิ่งดีๆ มากมายที่สตีพ จอบส์มอบให้แก่โลกใบนี้ แต่มนุษย์มักจะเลือกเสพในสิ่งที่บำรุงบำเรอกิเลสทางอารมณ์  (Emotion) มากกว่า  การใช้ได้จริง หรือคุณค่าแท้ของสิ่งที่ได้สร้างมา (Function)

ความตายคือพลังทะยานแห่งชีวิต

     ถ้าบริษัทหรือองค์กรของเรากำลังจะตาย หรือล่มสลาย  ถ้ามหาวิทยาลัยของเราของเรากำลังจะตายเพราะขาดความน่าเชื่อถือ  และถ้าเรากำลังจะตายจากโลกนี้ หรือเรากำลังเผชิญหน้ากับความตายทุกวินาที คำถามแรกที่เราจะต้องตอบตัวเองคือ “สิ่งแรกที่เราอยากจะทำมากที่สุดคืออะไร”  ขอเพียงแค่การตอบแค่คำถามแรกให้ชัดเท่านั้น คำตอบที่สอง คำตอบที่สามจะตามมาหลังจากที่เราสามารถตอบสิ่งแรกให้ชัดเจนได้

     การอัดฉีดพลังแห่งความตายเข้าไปในจิตใจนั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเซลล์ ประสาทให้ตื่นตัว  และมุมมองต่อชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  ดังจะเห็นได้จากบทสรุปของบุคคลต้นแบบที่ได้นำเสนอในเบื้องต้นว่า การค้นพบความตาย  การเข้าใจและตระหนักรู้ในความตายทุกวินาทีนั้น ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเปลี่ยนแปลง “โลกทางจิต” ไปสู่ความเป็น “พระพุทธเจ้า และเมื่อ สตีพ จอบส์ได้เรียนรู้ และนำหลักการนี้มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เขาได้ค้นพบสัจธรรมเกี่ยวกับความตาย  ซึ่งการค้นพบสัจธรรมของความตายดังกล่าว ทำให้เขาค้นพบ “iPod  iPad  และ iPhone” ในที่สุด 


     ถึงกระนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนมนุษยชาติก่อนปรินิพพาน (ตาย) ว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา ขอท่านทั้งหลายจงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด” ถึงกระนั้น เราเองก็ไม่ทราบว่า เมื่อใดเราจะเดินทางไปสู่ความเสื่อม หรือจุดจบของชีวิต  ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรนำ "จุดจบของชีวิต" มาพัฒนาให้เป็น "จุดเริ่มต้นของชีวิต" โดยการเตือนตัวเองตามที่พระองค์จึงเตือนเราไว้ในภัทเทกรัตตคาถาว่า "ความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำตั้งแต่วันนี้ (หรือแม้กระทั่งในทุกวินาทีของลมหายใจ), ใครเล่าจะรู้ว่า เราอาจจะตายในวันพรุ่งนี้ก็ได้"

    

     คำเตือนดังกล่าวได้ส่งต่อมาถึงสตีพ จอบส์จนทำให้เขาได้ตกผลึก และรับรู้บทเรียนที่ทรงคุณค่าเกี่ยวกับ “ความตาย” จนเป็นที่มาของประโยคทองที่ว่า “คุณ มีเวลาจำกัด ดังนั้นอย่าเสียเวลาไปกับการใช้ชีวิตแบบคนอื่น อย่าตกหลุมลัทธิความเชื่อที่ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างที่ผู้คนเขาคิดกันว่าควรจะ เป็น อย่าปล่อยให้ความคิดของคนอื่นเข้ามารบกวนเสียงจากใจของคุณ (Inner voice) และที่สำคัญที่สุด คุณต้องมีความกล้าที่จะทำตามหัวใจและการหยั่งรู้ (Intuition) ของคุณ ที่จะช่วยให้คุณบรรลุสิ่งที่คุณต้องการจะเป็นจริงๆ แล้วก็ปล่อยให้เรื่องอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องรองไป” และเพื่อให้บรรลุความฝันและแรงบันดาลใจดังกล่าว "จงกระหายที่จะเรียนรู้ และจงทำตนเหมือนคนโง่" (Stay Hungry, Stay Foolish )

     จะเห็นว่า การมีสติระลึกถึงความตายทุกวินาทีแห่งลมหายใจนั้น จะทำให้มนุษย์ตื่นรู้ ใส่ใจ และเพียรสร้างสิ่งต่างๆ ทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความดี ความงาม และความสุข รวมไปถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เอาไว้เป็น "ธรรมเจดีย์" แก่ชีวิตและโลกของเรา

แลกเปลี่ยนมุมมองได้ที่
http://gotoknow.org/blog/true-love/436840

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕