หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ผศ. ประพันธ์ กุลวินิจฉัย » วิเคราะห์เรื่องพระพุทธรูปในฐานะปูชนียวัตถุของชาวพุทธ
 
เข้าชม : ๑๐๙๗๓ ครั้ง

''วิเคราะห์เรื่องพระพุทธรูปในฐานะปูชนียวัตถุของชาวพุทธ''
 
ผศ. ประพันธ์ กุลวินิจฉัย (2556)

 

วิเคราะห์เรื่องพระพุทธรูปในฐานะปูชนียวัตถุของชาวพุทธ

An analytical Study of the Buddha Images

on the symbol in belief of Buddhists

 

ผศ. ประพันธ์ กุลวินิจฉัย

B.A. (Pali), M.A. (A.I.&A.S.)

 

บทคัดย่อ

 

                 การค้นคว้างานวิจัยเรื่อง วิเคราะห์เรื่องพระพุทธรูปในฐานะปูชนียวัตถุของชาวพุทธครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการได้แก่ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดที่นำไปสู่การสร้างพระพุทธรูปที่ปรากฏในคัมภีร์ (๒)เพื่อศึกษาวิเคราะห์พระพุทธรูปในฐานะปูชนียวัตถุ

                 ผลการวิจัยค้นคว้าพบว่า  แนวคิดเรื่องการสร้างพระพุทธรูปและมีพัฒนาการมาจนปัจจุบันนั้นตามหลักฐานเอกสารทั้งที่เป็นปฐมภูมิและทุติยภูมิเช่นพระไตรปิฎก อรรถกถาฯและตำราวิชาการต่าง ๆ ที่สืบค้นได้ ดังนี้

                        ๑. ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพบคำว่ารูปปฏิมา ส่วนในอรรถกถาพบคำว่าพระปฏิมาอยู่หลายที่แต่มีอยู่ที่หนึ่งมีความหมายที่คล้อยตามคำว่าSculpture หมายถึงประติมากรรมเช่นข้อความว่า เจดีย์  คือ พระปฏิมา [พระ-พุทธรูป] คำในวงเล็บนั้นมาในอรรถกถาซึ่งมีขึ้นภายหลังพระไตรปิฎกหลายร้อยปี ในช่วงที่พระพุทธโกศาจารย์นั้นพระพุทธรูปในลังกาคงได้รับจากอินเดียยุต่าง ๆ แล้ว หรือ ในการทำสังคายนาแต่ละครั้งคงเพิ่มเติมภาษาร่วมสมัยในครั้งนั้น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม คำว่ารูปปฏิมาและพระปฏิมาไม่ใช่พระพุทธรูปแต่เป็น พระเจดีย์คือรัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต  แม้เพราะอรรถว่าทำให้เกิดความเคารพยำเกรง  ส่วนพระปฏิมาที่พบในที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่งนั้นเป็นข้อความอุปมาบ้างเป็นรูปพระวรกายของพระพุทธเจ้าบ้างเช่น ตรัสกับพระวักกลิ หรือตรัสชาดกต่าง ๆ ในอดีตชาติของพระเองก็ดี ของพระสาวกก็ดี ที่เท้าความถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น อานิสงส์การทำทานในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ มา

                        ๒. ในเอกสารประวัติศาสตร์หลังพุทธปรินิพพานยืนยันตรงกันว่าพระพุทธรูปหรือพุทธศิลป์เรืองการสร้างพระพุทธรูปนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในอินเดียสมัยคันธาระ โดยได้รับอิทธิพลจากการทำรูปปั้นเทพเจ้าของชาวกรีกที่เข้ามายึดครองบางส่วนของชมพูทวีปโดยกษัตริย์ชาวกรีกทรงพรระนามว่า เมนันเดอร์หรือพระเจ้ามิลินท์ผูทรงพระปรีชาในการปกครองและศาสนาแต่ภายหลังทรงยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเพราะพระธรรมเทศนาของพระอรหันต์นาคเสน ดังนั้น               พระเจ้ามิลินท์จึงทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชเช่น การสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ รวมทั้งพระพุทธรูปมากมาย ดังนั้นจึงเกิดมีพัฒนาการการทำพระพุทธรูปไว้สักการบูชากันมาผ่านยุคแล้วยุคเล่าจนได้แพร่หลายเข้ามาถึงประเทศไทยอาทิเช่นทวาราวดี             ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตามลำดับ ตามเอกสารที่ได้สืบค้นแล้ว

 

Abstract

 

               This research paper, entitled “An Analytical Study of Buddha Images as Symbols of Belief for Buddhists," has two objectives: (1) to study and analyze the thought behind Buddha images based on the Tipitaka, and (2) to study the Buddha image as a holy object for Buddhists.

               This research found that Buddha images have been conceived and produced up to the present day.  They were mentioned in primary documents like the Tipitaka as well as in secondary sources such as the Atthakatha and other texts.  The results are given as follows.

                     1. In the Tipitaka and other early texts

                     The word for "sculpture" can be found in the Tipitaka, and there are several mentions of sculpture in the Atthakatha and other commentaries on Buddhism. The word does not refer to a sculpture or statue of the Buddha, except for a phrase in the AtthakathaSuttantaPitakakhudakanikaya: “The sculpture (Buddha’s image) is a pagoda." This mention of a Buddha image in parentheses appeared in a commentary written several hundred years after the canon of Buddhism had been established. The time of the Buddhist scholar monk (PhraBuddhakhosacharn) was the time of statute making in the history of India, or in the periods of Buddhism that would be written in the contemporary language of those countries. However both sculpture and statute were not of the Buddha’s image, except for the pagoda which is the symbol of the triple gem in Buddhism for Buddhists as the respected idol. The mentions of “statue” found in other texts are only metaphors for the noble body of Lord Buddha when he preached the Dhamma to one his followers (PhraVaggali) on impermanence, or for the preaching about the Lord Buddha by some holy followers telling about his previous life and the events of virtue of charity in the days of former Lord Buddha.

                     2. In later documents of Buddhism after the death of Lord Buddha

                     The first Buddha images reported by these sources are confirmed in the Gandara period of India under the influence of Greek sculpture and art especially in the form of gods. Then, years later, a western king named Menader or Milinda ruled over the western parts of India in the city of Sagala.  He was a serious scholar of philosophy and religion. No one could debate with him. But he adopted Buddhism due to his defeat by a Buddhist monk, PhraNagasena.  So he began to patronize Buddhism by offering donations, just as earlier, Ashoka, the king of Pataliputta, had built temples, pagodas and Buddha images.  The development of Buddha images took place over several periods, and they were produced in Thailand during the era of Dvaravati, Srivichai, Lopburi, ChaingSaen, Sukhothai, Ayutthya and Ratanakosin, or Bangkok, according to available documentation.

               

บทนำ

 

                 พระพุทธรูปที่ทำอย่างถูกต้องตามพุทธลักษณะที่นิยมกันถือเป็นสัญลักษณ์และสื่อแห่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ดังนั้นงานวิจัยนี้มุ่งค้นหาประวัติศาสตร์แห่งการสร้างพระพุทธรูปเพื่อหาต้นเหตุในการสร้างอย่างแท้จริงตามเอกสารที่ได้บันทึกไว้ในอดีต เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ยุคพหุวัฒนธรรมดังนั้นเรื่องแนวคิดการเคารพสักการะพระพุทธรูปจึงแตกต่างไปตามกระแสวัฒนธรรมใหม่และแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปก็มักผิดเพี้ยนไปจากเดิมที่ยึดพระคัมภีร์และพุทธลักษณะเช่นปางเหยียบโลกหรือปางซุปเปอร์แมนโดยได้รับอิทธิพลจากสื่อเทศ ส่วนสถาปัตยกรรมการสร้างเจดีย์ก็ได้รับอิทธิพลจากนวนิยายนอกโลกตะวันตกเช่นรูปทรง UFO หรือจานบินซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นที่มีการศึกษามากพอสมควร การสร้างพระพุทธรูปนั้นยิ่งนานวันก็นับว่ามีการเพิ่มเติมสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาให้เป็นเสมอจนมีกลุ่มต่อต้านการสร้างพระพุทธรูปหันมาสอนลูกศิษย์ของตนให้หันมานับถือพระรัตนตรัยในรูปแบบนามธรรมไม่ต้องมีรูปเคารพใด ๆ เพราะการสร้างวัตถุแข่งขันกันนั้นไม่ถูกต้อง

                 ฉะนั้นเพื่อเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธรูปในฐานะปูชนียวัตถุหรือในเรื่องการคงไว้ซึ่งพุทธศิลป์ตามแนวพระคัมภีร์ การวิจัยนี้จึงได้ศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดที่นำไปสู่การสร้างพระพุทธรูปที่ปรากฏในคัมภีร์ (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์พระพุทธรูปในฐานะปูชนียวัตถุของชาวพุทธ โดยยืนยันตามเอกสารชั้นต้น (primary documents) พระไตรปิฎกและชั้นรอง อรรถกถา(secondary sources) เรื่องประโยชน์และอานิสงส์ในการสร้างและการบูชา หรือยืนยันตามเอกสารนักวิชาการเรื่องพุทธศิลป์ดังจะชี้แจงต่อไป

 

เครื่องมือและวิธีการวิจัย

 

                 การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ หรือวิจัยเอกสาร เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในรายวิชาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเช่น วิชาพุทธศิลป์ และประวัติพุทธศาสนาเป็นต้นเป็นต้น ตั้งแต่การสืบค้นการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาสักการบูชาแทนพระพุทธรูปเช่น พระเจดีย์ พระธรรมจักร พระบรมสารีริกธาตุมาจนถึงการสืบค้นประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปครั้งแรกมาจนถึงพัฒนาการมายังประเทศไทยด้วยทฤษฎีการสืบค้นทางเอกสารหลากหลายแล้วนำมาบูรณาการเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ใช้ต่อยอดในการนำไปพัฒนาต่อไป

                 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ หอสมุดสารสนเทศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา ที่มีเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ พระไตรปิฎกฉบับ มจร. และอื่น ๆ ที่มีทั้งหนังสือทั้งฉบับ CD.ROM และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ วิทยาเขตเชียงใหม่ ก็เอื้อเฟื้อหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธรูป และท่านที่ปรึกษา ผอ. สุทิตย์ อาภากโร พร้อมคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แนะนำหนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อให้งานวิจัยมีน้ำหนักทางเนื้อหาอ้างอิง เช่น ตำนานพุทธเจดีย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหนังสือของนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั่วไป เช่นพระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร) ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ นายบุรีบาล บุริบาลบุรีภัณฑ์พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ในประเทศไทย  ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ พุทธปฏิมางานช่างพลังแห่ศรัทธา, น.ณ ปากน้ำ (นายประยูร อุลุชาฎะ พระพุทธรูป สื่อศรัทธาและการสืบเนื่องของมรดกวัฒนธรรม, เป็นต้น

 

ผลการวิจัย

 

                 จากผลการศึกษาวิจัยดังนี้

                 ๑.  ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาพบว่า เหล่าพุทธบริษัทยังใช้สัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสักการบูชาเช่น เจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระบรมสารีริกธาตุ รูปธรรมจักรเป็นต้น เนื่องจากยังมีความเคารพในองค์พระศาสดาหากสร้างรูปเหมือนอาจผิดเพี้ยนไปซึ่งไม่เหมาะไม่ควรอย่างยิ่ง

                 ดังนั้นจึงยึดถือพระสัทธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงไว้ว่ามีอานิสงส์มหาศาลหากปฏิบัติตามและบูชาสิ่งที่ควรบูชาดังเรื่องการบูชาพระเจดีที่จะสรุปวิเคราะห์พอเป็นตัวอย่างดังนี้

                        ๑.๑  เจดีย์กับการทำให้เกิดสมาธิ

                        พลังแห่งจิตสามารถบรรดาลให้เกิดอัศจรรย์ได้ดังในพระสูตรดังนี้ เมื่อพระบิณฑปาติยเถระกวาดลานพระเจดีย์ในกัลยาณีวิหาร แล้วนั่งที่ลานพระเจดีย์นั้นแหละ ยึดปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์  เริ่มสวดพระสูตรนี้เวลาจบพระสูตร แผ่นดินได้ไหวไปถึงน้ำรองแผ่นดิน     เป็นที่สุด มีสถานที่ชื่ออัมพลัฏฐิกะอยู่ด้านทิศตะวันออกของโลหปราสาท พระเถระผู้กล่าวคัมภีร์ทีฆนิกายนั่งในสถานที่นั้น เริ่มสวดพรหมชาลสูตร แม้ในเวลาที่พระเถระเหล่านั้นสวดจบ แผ่นดินก็ได้ไหวไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุดเหมือนกัน  ดังนี้แล

                        ๑.๒ เจดีย์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

                        ตัวอย่างพระเจ้าพิมพิสารทรงได้รับกรรมนี้แต่เมื่อรำลึกถึงพระรัตนตรัยจึงหายจากเวทนานั้น เล่ากันว่า ในกาลก่อน พระราชาพิมพิสารได้ทรงฉลองพระบาทเข้าไปในลานพระเจดีย์  และเอาพระบาทที่ไม่ได้ชำระเหยียบเสื่อกกที่เขาปูไว้สำหรับนั่ง  นี้เป็นผลของบาปนั้น พระราชา พิมพิสารทรงเกิดทุกขเวทนาอย่างรุนแรง ทรงรำลึกอยู่ว่า อโหพุทฺโธอโหธมฺโม อโหสงฺโฆ เท่านั้น  ทรงเหี่ยวแห้งไปเหมือนพวงดอกไม้ที่เขาวางไว้ในลานพระเจดีย์ บังเกิดเป็นยักษ์ชื่อชนวสภะ เป็นผู้รับใช้ของท้าวเวสสวรรณในเทวโลกชั้นจาตุมหาราช

                        ๑.๓ เจดีย์กับเรื่องสาตถกสัมปชัญญะ

                        ใคร่ครวญในเรื่องที่เป็นประโยชน์ที่พึงจะได้รับแล้วลงมือทำดังในอรรถกถาว่า เมื่อจิตคิดจะไปเกิดขึ้น ยังไม่ทันไปตามที่คิดก่อนใคร่ครวญถึงประโยชน์มิใช่ประโยชน์ว่า การไปที่นั้นจะมีประโยชน์แก่เราหรือไม่หนอ แล้วใคร่ครวญประโยชน์ ชื่อสาตถกสัมปชัญญะ คำว่า  ประโยชน์  ในบทว่า สาตถกสัมปชัญญะนั้นคือ  ความเจริญฝ่ายธรรมโดยได้เห็นพระเจดีย์  เห็นต้นพระศรีมหาโพธิ เห็นพระสงฆ์ เห็นพระเถระและเห็นอสุภเป็นต้น ด้วยว่า ภิกษุนั้นยังปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้นแม้เพราะเห็นพระเจดีย์หรือต้นพระศรีมหาโพธิ  ยังปีติมีพระสงฆ์เป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้นเพราะเห็นพระสงฆ์  พิจารณาปีตินั้นแหละโดยความเป็นของสิ้นไปเสื่อมไป  ย่อมบรรลุพระอรหัต

 

                       ๑.๔ เจดีย์กับกรณีผีสิง

                       ในเรื่องนี้เจดีย์ก็มีบทบาทสำคัญ อรรถกถาอธิบายเรื่องคาถาภาณยักษ์หรืออาฏานาฏิยสูตรที่ใช้สวดหรือบริกรรมเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายจะได้ผลหรือไม่นั้นมีคำตอบดังนี้ ควรนำไปสู่วิหารให้นอนบนลานเจดีย์ให้ทำอาสนบูชา  ตามประทีป ปัดกวาดลานเจดีย์แล้วสวดมงคลกถา 

                       ควรสวดพระปริต  นี้เป็นบริกรรมของคฤหัสถ์ก่อน ก็ถ้าภิกษุถูกอมนุษย์สิง ควรล้างอาสนะ แล้วประกาศให้ประชุมกันทั้งหมด ให้ส่วนบุญในการบูชามีของหอมและดอกไม้เป็นต้น  แล้วพึงสวดพระปริตนี้เป็นบริกรรมของภิกษุทั้งหลาย

                       พระปริตรเป็นเครื่องป้องกัน รักษา ผู้มีความทุกข์จากภัยต่างๆ ในครั้งพุทธกาลน่าจะสรุปลงใน การสงเคราะห์สังคมในสมัยโบราณนี่คือบทบาทของเจดีย์อย่างหนึ่ง

                       ๑.๕ เจดีย์กับพระขีณาสพ

                       ใช่แต่ปุถุชนเท่านั้นไหว้พระเจดีย์แม้พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นไม่ยึดติดทุกอย่างแล้วยังให้ความสำคัญเพราะถือเป็นธรรมเจดีย์เป็นต้น ได้ยินว่าพระเถระผู้เป็นขีณาสพรูปหนึ่ง  คิดว่าเราจักไหว้พระมหาเจดีย์และพระมหาโพธิ์ จึงมายังมหาวิหารจากชนบทกับสามเณรผู้ถือภัณฑะผู้ได้สมาบัติ แล้วเข้าไปยังบริเวณวิหารในตอนเย็น เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ไหว้พระเจดีย์อยู่  ไม่ออกไปเพื่อไหว้พระเจดีย์ เพราะพระขีณาสพมีความเคารพอย่างมากในพระรัตนตรัย

                        ข้อนี้น่าจะวิเคราะห์ได้ว่า คนอยู่ในที่สูงย่อมมองได้กว้างไกลกว่าคนที่อยู่เบื้องล่างคนที่อยู่เบื้องล่างอาจมีความรู้ความสามารถเก่งดีแต่ไม่มีโอกาสขึ้นไปยืนอยู่ในที่สูงในสังคมปัจจุบัน หรือในความหมายอีกอย่างว่าปราชญ์หรือสัตบุรุษย่อมมองได้กว้างไกลลึกซึ้ง ดังนั้นสัตบุรุษจึงควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ดีควรเดินตามดังข้อความ ธรรม ๓ อย่างที่มีอุปการะมากเป็นไฉน คือ การคบหาสัตบุรุษ ๑การฟังธรรมของสัตบุรุษ ๑ การปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ๑ ธรรม ๓ อย่างเหล่านี้มีอุปการะมากทั้งนี้เพราะทัศนะและคำสอนของปราชญ์ย่อมทันสมัยทันเหตุการณ์เสมอดังข้อความ ราชรถทั้งหลายอันวิจิตรย่อมคร่ำคร่าได้โดยแท้ อนึ่งแม้สรีระก็เข้าถึงความคร่ำคร่า ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่าฯ  ทั้งสังคมต้องเป็นธรรมไร้มิจฉาทิฐิ

                       ๑.๖ เจดีย์ในปุณณสูตร

                       แม้ในเมืองบาดาลก็ยังมีเจดีย์ไว้สักการะ นัมทานาคราชถวายการต้อนรับพระศาสดาทูลเสด็จเข้าสู่ภพนาคได้กระทำสักการะพระรัตนตรัยแล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่นาคราชนั้นแล้ว ก็เสด็จออกจากภพนาค นาคราชนั้นกราบทูลขอว่าได้โปรดประทานสิ่งที่พึงบำเรอแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค-เจ้า  จึงทรงแสดงบทเจดีย์  รอยพระบาท  ไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนิมมทา รอยพระบาทนั้น เมื่อคลื่นซัดมาก็ถูกปิด เมื่อคลื่นเลยไปแล้วก็ถูกเปิด   กลายเป็นรอยพระบาทที่ถึงสักการะอย่างใหญ่  เมื่อพระศาสดาทรงออกจากนั้นแล้วก็เสด็จถึงภูเขาสัจจพันธ์  ตรัสกับพระสัจจพันธ์ว่า มหาชนถูกเธอทำให้จมลงในทางอบาย เธอต้องอยู่ในที่นี้แหละ  แก้ลัทธิของพวกคนเหล่านี้เสีย แล้วให้พวกเขาดำรงอยู่ในทางพระนิพพาน แม้ท่านพระสัจจพันธ์นั้น ก็ทูลขอสิ่งที่จะต้องบำรุงพระศาสดาก็ทรงแสดงรอยพระบาทไว้บนหลังแผ่นหินทึบเหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสด    ฉะนั้น 

                        บทเจดีย์  รอยพระบาท น่าสังเกตคำนี้ว่ารอยพระบาทพระอรรถกถาจารย์อธิบายว่าคือเจดีย์อย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่ผู้นับถือสักการบูชา ส่งผลมาถึงชนรุ่นหลังนำมาเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาเรื่องเทศกาลวันสำคัญจนเกิดมีศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายขึ้นในท้องถิ่นเกิดเศรษฐกิจชุมชน เช่นเทศกาลลอยกระทง เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย

                        ๑.๗ เจดีย์ในปัญจราชสูตร

                        ด้วยว่า วิบากจิตย่อมกำหนดอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา  โดยอารมณ์อันเดียวกัน จริงอยู่ พวกมิจฉาทิฏฐิเห็นพระพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดี อารมณ์อันโอฬารมีมหาเจดีย์เป็นต้นก็ดี ย่อมปิดตา ประสบความเสียใจ ได้ยินเสียงแสดงธรรม ก็ปิดหูทั้งสอง แต่จักขุวิญญาณและโสตวิญญาณ ก็เป็นกุศลวิบากของพวกเขา อารมณ์อันโอฬารมีมหาเจดีย์เป็นต้น วิเคราะห์ตามคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์เรื่อง อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ของปุถุชนเรื่องของวิบากจิต เป็นผลที่เขาได้รับในป้จจุบันที่ได้เห็นในสิ่งที่เป็นมงคลแต่ไม่พอใจในสิ่งนั้นเรียกว่า กุศลวิบาก

                        ๑.๘ ดอกมะลิกับเจดีย์

                        มีเรื่องเล่าว่า พระภาคิยมหาราช สดับเรื่องนี้แล้ว รับสั่งให้อบด้วยกลิ่นดอกไม้ ๔  ชนิดในห้องหนึ่ง ด้วยพระประสงค์จะทดลองให้นำดอกไม้มีกลิ่นหอม ตั้งดอกมะลิกำหนึ่งไว้กลางผะอบใบหนึ่ง จัดดอกไม้ที่เหลือกำหนึ่ง ๆ ตั้งไว้โดยรอบดอกมะลินั้น ทรงปิดพระทวารเสด็จออกไปข้างนอก เมื่อพระองค์รอเวลาผ่านไปครู่หนึ่งจึงเปิดพระทวารเสด็จเข้าไป กลิ่นดอกมะลิกระทบพระฆานะก่อนดอกไม้ทั้งหมด พระองค์เสด็จบ่ายพระพักตร์ตรงไปยังมหาเจดีย์ ทรงหมอบลง ณ  พื้นแผ่นดินใหญ่นั้นเอง ถวายบังคมพระเจดีย์ด้วยทรงพระดำริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่เลิศกว่าดอกไม้ทั้งหลาย เป็นอันพระองค์ตรัสถูกต้องแล้ว ดังนี้

                        วิเคราะห์ตามพระอรรถกถาจารย์ท่านยกย่องดอกมะลิ ว่าเป็นดอกไม้ที่เลิศกว่าดอกไม้ทั้งปวง จนบุคคลชั้นปกครองอย่างพระเจ้าแผ่นดินทรงนำถวายพระเจดีย์อันเป็นปูชนียสถานสำคัญ ดอกมะลิถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหนึ่ง สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วยได้พระพุทธรูปที่ถือเป็นเจดีย์อย่างหนึ่งให้คนนำดอกมะลิไปสักการะบูชากัน

                       ๑.๙  เจดีย์กับการเวียนรอบ

                       ประเพณีการเวียนเทียนปัจจุบันได้คติมาจากพระคัมภีร์ดังนี้ ในภิกษุ ๔ จำพวก นั้น ภิกษุใดชำระจิตให้หมดจดจากธรรมเครื่องกังวล ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ตลอดปฐมยามแห่งราตรีก็อย่างนั้น สำเร็จการนอนในมัชฌิมยาม แม้ในปัจฉิมยามก็ให้ผ่านไปด้วยการนั่งและจงกรม ตอนเช้าตรู่ กวาดลานเจดีย์และลานโพธิ์ รดน้ำที่ต้นโพธิ์ตั้งของดื่มของบริโภคปฏิบัติอาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตร เป็นต้น ภิกษุนั้นชำระร่างกายแล้ว เข้าไปสู่เสนาสนะนั่งขัดสมาธิ        ๒-๓ ครั้ง ให้ถือเอาซึ่งไออุ่นประกอบกรรมฐาน ลุกขึ้นในเวลาภิกขาจาร  ถือบาตรและจีวรโดยหัวข้อแห่งกรรมฐาน ออกจากเสนาสนะมนสิการกรรมฐาน ไปลานเจดีย์ หากพุทธา-นุสสติกรรมฐานมี  ไม่สละกรรมฐานนั้น  เข้าไปสู่ลานเจดีย์  หากกรรมฐานอื่นมีเว้นกรรมฐานนั้น  ดุจยืนอยู่ที่เชิงบันได วางภัณฑะที่ถือไว้  ยึดปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์  ขึ้นสู่ลานเจดีย์ หากเจดีย์ใหญ่พึงกระทำประทักษิณ ๓ ครั้งแล้วพึงไหว้ในที่ ๔ แห่ง หากเจดีย์เล็ก พึงกระทำประทักษิณอย่างนั้น  แล้วไหว้ในที่ ๘ แห่ง ครั้นไหว้เจดีย์แล้ว แม้ไปถึงลานโพธิ์  ควรแสดงความเคารพไหว้โพธิ์  ดุจอยู่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้าผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุนั้น ครั้นไหว้เจดีย์ และโพธิ์อย่างนี้แล้ว ยึดกรรมฐานที่เก็บไว้ ดุจคนไปยังที่ที่เก็บของไว้ ถือเอาภัณฑะที่วางไว้ ห่มจีวร  โดยหัวข้อแห่งกรรมฐาน  ในที่ใกล้บ้าน เข้าไปบิณฑบาตยังบ้าน

                       ๑.๑๐ เจดีย์กับธาตุอันตรธาน

                       เจดีย์มีบทบาทสำคัญแม้ในวันที่พระศาสนากำลังจะสูญดังข้อความ เวลาพระศาสนาเสื่อมลง พระธาตุทั้งหลายในตามพปัณณิทวีปนี้ จักประชุมกันแล้วไปสู่มหาเจดีย์จากมหาเจดีย์  ไปสู่นาคเจดีย์ แต่นั้นจักไปสู่โพธิบัลลังก์ พระธาตุทั้งหลายจากนาคพิภพบ้าง จากเทวโลกบ้าง  จากพรหมโลกบ้างจักไปสู่โพธิบัลลังก์แห่งเดียว พระธาตุแม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดจักไม่หายไปในระหว่าง พระธาตุทั้งหมดจักประชุมกันที่มหาโพธิมัณฑสถานแล้ว รวมเป็นพระพุทธรูป แสดงพุทธสรีระประทับนั่งขัดสมาธิ ณ โพธิมัณฑสถาน

                       ความหมายและความสำคัญของเจดีย์ในพระคัมภีร์มีมากที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงส่วนน้อยพอเป็นตัวอย่างว่าก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นนั้นพุทธศาสนิกชนมีการสักการบูชาสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่เจดีย์เช่น ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์และอุเทสิกเจดีย์โดยเฉพาะอุเทสิกเจดีย์นั้นมีความหมายแทนองค์พระรัตนตรัย

                 ๒. ในยุคที่มีการสร้างพระพุทธรูปบูชา

                 ขอสรุปการวิเคราะห์ของนักวิชาการในเรื่องการทำพระพุทธปฏิมาเริ่มแต่สมัยคันธาระเป็นต้นมาเพื่อไม่ให้ยาวหลายหน้ากระดาษพิมพ์ตามที่สถาบันกำหนดให้จึงขอนำมาเสนอเพียงบางประเด็นที่สำคัญดังนี้

                       ๒.๑ ตำนานพุทธเจดีย์พระนิพนธ์ใน กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

                       วิเคราะห์ช่างชาวคันธาระหรือเรียกอีกอย่างว่า ชาวโยนก นิยมทำพระพุทธรูปในลักษณะที่อนุโลมตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะหลายข้อ ทรงอธิบายว่า ช่างโยนกประสงค์จะทำพระพุทธรูปให้ส่วนพระองค์ทรงครองผ้าอย่างสมณะ แต่ส่วนพระเศียรทำให้เหมือนอย่างพระเศียรกษัตริย์ เป็นแต่ลดเครื่องศิราภรณ์ออกเสีย เพื่อให้ดูแตกต่างจากพระสงฆ์อื่น ๆ เมื่อดูอย่างไรหรืออยู่ปะปนกับรูปใคร ๆ ก็ยังรู้ได้ว่าพระพุทธเจ้า

                 พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมามีรูปแบบที่ต่างไปตามสถานที่ อย่างชาวกรีกทำพระศกเป็นเส้นผมเหมือนคนสามัญชนแต่ชาวอินเดียเห็นว่าไม่งามได้ดัดแปลงพระศกเป็นรูปก้นหอย รูปหน้าเปลี่ยนเป็นหน้าคนอินเดีย สำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปก็ได้ดัดแปลงแก้ไขไปตามเห็นสมควรทำให้เกิดพระพุทธรูปแบบต่าง ๆ ในอินเดีย ดังนี้ แบบคันธารราฐ (พุทธศตวรรษที่ ๗-๑๒) โดยศิลปินกรีกโรมันแค้วนคันธารราฐในปากีสถาน มีลักษณะเหมือนจริง พระเกศาขมวดมุ่น, พระเนตร, พระกรรณ, พระนาสิก,พระโอษฐ์ ตลอดจนวงพระพักตร์และริ้วจีวรมีลักษณะจริงอย่างธรรมชาติ บางครั้งมีพระมัสสุด้วย แบบมธุรา (พุทธศตวรรษที่ ๗-๑๖) กำเนิดทางตอนเหนือของอินเดีย พบในสมัยเดียวกับแบบคันธารราฐเป็นพระพุทธรูปแบบชาวอินเดีย ไม่มีมุ่นพระเกศา ประทับอยู่บนสิงห์มีบัลลังก์ประดับด้วยพระโพธิสัตว์ และเหล่าอุปัฏฐากที่ฐาน รูปร่างอวบอ้วนเข้มแข็งดูมีอำนาจ พระพุทธรูปแบบคันธาระสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑-๒ เป็นรูปปั้นแทนพระพุทธเจ้าที่ได้พัฒนามา เป็นศิลปะยุคต้นแทนสิ่งที่เราได้เคารพสักการะวัตถุต่าง ๆ เช่น ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้ สถูปเจดีย์ ที่ประทับหรือแท่นวัชรอาสน์ พระธรรมจักร หรือว่า รอยพระพุทธบาท เป็นประติมากรรมที่มีความงามแบบคันธาระที่พัฒนาตามแบบกรีกในยุคนั้น

                 หนังสือของ  นายบุรีบาล บุริบาลบุรีภัณฑ์ เขียนเรื่อง พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ในประเทศไทยท่านเป็นหัวหน้ากองโบราณคดี เรียบเรียงไว้เมื่อปี ๒๔๘๖ อธิบายลักษณะพระพุทธรูปปางคันธาระไว้ว่า พระศกเส้นอย่างคนสามัญ ชาวอินเดียเห็นว่าไม่งามหรือไม่ถูกต้องคู่ควรกัน มีแก้ไขทำเส้นพระศกอย่างก้นหอย จีวรที่ชาวโยนกทำเป็นจีวรริ้วโต ๆ ชาวอินเดียแก้เป็นจีวรริ้วเล็ก ๆ หรือบาง ๆ ไม่มีริ้วแนบติดกับพระองค์และที่สุดพระพักตร์ที่พวกกรีกทำเป็นอย่างเทวรูปของเขา ชาวอินเดียก็เปลี่ยนให้เป็นอย่างหน้าคนอินเดียเป็นต้น

                 น. ณ ปากน้ำ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศิลปวัฒนธรรมของไทยกล่าวถึงแต่พระพุทธรูป       ในประเทศไทยว่าได้รับแบบอย่างจากพระพุทธอินเดียสมัยคุปตะ ผู้วิจัยเองก็เห็นด้วยในคตินี้เพราะพระพุทธศาสนาสายเถรวาทเป็นแบบอเทวนิยม หากพระพุทธรูปที่ทำนั้นมีลักษณะกึ่งเทวรูปเช่นแบบปางคันธาระที่มีพระศก (ผม) กลีกจีวรใหญ่และลักษณะการห่มจีวรคล้ายกับพาดบ่าไว้ถ้าดูแบบศิลปะก็เป็นพระพุทธรูปที่สวยประณีตด้วยวิธีการทำของช่างกรีกที่ชำนาญ แต่การกราบไหว้บูชาไม่สนิทใจเถรวาท ดังนั้น น. ร ปากน้ำจึงอธิบายว่า ลักษณะพระพุทธรูปรุ่นเก่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของศิลปะคุปตะในอินเดียเช่นที่ พิพิธภัณฑ์กัลกัตตา สารนาถและที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งล้วนสกัดด้วยทรายขาวทั้งสิ้น พระพุทธรูปยืนมีลักษณะพระอุระ นูนออก ท้องหมู พระพุทธรูปทวาราวดีมักสกัดด้วยหินชนวนสีเขียวหม่น มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ขนาดเท่าคนจริงไปจนใหญ่กว่าคนจริงหลายเท่า พระพุทธรูปศิลปะทวาราวดีของไทยแม้จะเลียนแบบมาจากศิลปะคุปตะ แต่ก็เห็นได้ว่ามีส่วนแตกต่างออกไปกล่าวคือ พระพุทะรูปนั่งห้อยพระบาทจะมีดอกบัวรองรับ แต่ดอกบัวของทวาราวดีจะมีกลีบใหญ่มีทั้งบัวคว่ำบัวหงายและประภามณทลเบื้องหลังมีลักษณะกลม ทวาราวดีมักทำ         เป็นเส้นโค้งรอบพระเศียรบรรจบกันเป็นยอดแหลมแบบเรือนแก้วหรือพระรัศมีพระพักตร์ทวาราวดีทำเส้นพระขนงติดต่อกันริมพระโอฏฐ์เบื้องล่างหนามากแต่จีวรบางแนบเนื้อเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน

                 พระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์ สระคำ) เขียนไว้ใน ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดียว่า สมัยมถุรานี้พรพุทธศาสนาสายมหายานรุ่งเรือง ท่านวิเคราะห์ตามหลักฐานของหลวงจีนฟาเหียนได้บันทึกไว้ว่า ท่านได้พบพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองทุกแห่งที่ผ่านไป เว้นแต่ที่ กาโนชกบิลพัสดุ์ รามคามเวสาลีและคยา ณ สถานที่เหล่านี้ ที่กาโนชมีวัดเถรวาทเพียง ๒ วัด ส่วนกบิลพัสดุ์ได้กลายสภาพเป็นเมืองร้าง มีพระไม่กี่รูปดูแลรักษาสถานที่ และมีประชาชนอยู่ประมาณ ๑๐ ครอบครัว ที่รามคามมีเพียงวัดเดียว ที่เวสาลีมีอยู่แต่เพียงมหาวิหารแห่งเดียว ที่คยามีแต่วัดร้างมีพระอยู่ถึง ๓๐๐๐ รูปทั้งเถรวาทและมหายานที่มถุราพระพุทธศาสนาเจริญมาก ประชาชนให้ความเคารพนับถือพระอย่างสูง

                 สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้านเช่น ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ในทางพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถวายพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ให้เหมือนอย่างโบราณกษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาได้เคยทรงบำเพ็ญ โดยทรงคิดเลือกพุทธอิริยาบถต่าง ๆ จากเรื่องพุทธประวัติ เป็นจำนวน ๓๗ ปาง ได้เป็นต้นแบบพระปางสมัยรัตนโกสินทร์สืบมาและสร้างเพิ่มเป็น ๖๖ ปาง ขอยกตัวอย่างมานำเสนอเพียงบางส่วนในบทที่ ๔ แล้ว

                 ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ พุทธปฏิมางานช่างพลังแห่ศรัทธาไว้ดังนี้ ความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบและตำนานระหว่าง พระแก้วมรกตกับพระพุทธรูปหินทราบตระกูลช่างพะเยา จากตำนานที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกตว่า มีการค้นพบพระแก้วมรกตในปี พ.ศ.๑๘๗๙ ในรัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน โดยระบุว่าพบพระแก้วมรกตพบพระแก้วมรกตในเจดีย์แห่งหนึ่ในเมืองเชียงรายซึงปัจจุบันคือวัดพระแก้ว อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย และยังมีรายละเอียดในตำนานอีกว่าพระแก้วมรกตนั้นปรากฏในรัชสมัยพระเจ้ามหาพรหม ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงราย ท้าวมหาพรหมเป็นผู้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเมืองกำแพงเพชรมาประดิษฐานยังเมืองเชียงราย ด้วนสาเหตุการชิงราชสมบัติกันหลังจากพระเจ้ากือนาเสด็จสวรรคต ระหว่างพระเจ้าแสนเมืองมากับท้าวมหาพรหม แต่ท้วมหาพรหมพ่ายแพ้จึงต้องหนีไปประทับที่เมืองกำแพงเพชร ภายหลังจึงขอพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์กับเจ้าเมืองกำแพงเพชรไปยังล้านนา โดยนำพระพุทธสิหิงค์ไปถวายพระเจ้าแสนเมืองมา ด้วยเหตุนี้พระเจ้าแสนเมืองมาจึงได้ไปปกครองเมืองเชียงรายตามเดิม ส่วนพระแก้วมรกตได้อัญเชิญไปประดิษฐานยังเมืองเชียงรายในคราวเดียวกันนี้

                 ที่จริงการสร้างพระพุทธรูปของพุทธศาสนิกชนนั้น ชั้นเดิมคงจะไม่มีความหมายกว้างขวางออกไปถึง พระพุทธจริยาอาการที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ คงสร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปสำหรับสักการบูชาพอเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระคุณของพระองค์ พอเป็นที่ตั้งแห่งพุทธานุสติเท่านั้น คือจะมีกิริยาท่าทางอย่างไร ๆ ก็ได้ขอแต่ให้สง่างามสมกับเป็นรูปของพระพุทธเจ้าที่เคารพบูชาสักการะเป็นพอแก่ความต้องการ

                 ส่วนพระพุทธรูปปางแปลกประหลาดเช่นปางเหยียบโลก หรือซุปเปอร์แมนก็ดีปางถือบันไดก็ดีเป็นต้น พระธรรมกิตติเมธี โฆษกมหาเถรสมาคม เตือนว่า ในระยะหลังพบว่ามีการสร้างพระพุทธรูปปางพิสดารแปลกประหลาดมากมาย ตรงนี้ผู้สร้างต้องระมัดระวังด้วย แม้วัตถุประสงค์ในการสร้างจะดีเพียงใด แต่การสร้างพระพุทธรูปที่แปลกพิสดารในหลายครั้ง ก็กลายเป็นที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อความรู้สึกของประชาชนสืบเนื่องมาจากเมื่อเช้าผมได้อ่านหนังสือพิมพ์"ข่าวสด"ประจำวันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคมหน้าหนึ่งซึ่งลงข่าวพระพุทธรูปปางใหม่ชื่อ "หลวงพ่อสมเด็จพระพุทธเจ้าเหยียบโลก "หรือชาวบ้านเรียกว่าปาง" ซุปเปอร์แมน"เนื้อหาข่าวว่าที่วัดสนามจันทร์      อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรามีการสร้างพระพุทธรูปปางพิสดาร พระบาทเหยียบอยู่บนลูกโลกจำลองพระพาหาข้างขวายกขึ้นเหนือเศียร พระพาหาข้างซ้ายทิ้งลงขนานกับองค์พระลักษณะคล้ายซุปเปอร์แมนกำลังจะเหาะขึ้นสู่อากาศ สร้างความรู้สึกว่าไม่เป็นการดีเพราะผิดกับหลักพระพุทธศาสนาของเราอย่างมากเลย

ผลการวิจัย

 

                 สรุป  ในเนื้อหาที่ได้ทำการค้นคว้างานวิจัยนี้ขอเพิ่มประเด็นเข้ามาเพื่อให้ชัดเจนมากขึ้นจึงขอสมมุติคำถามเพื่อตอบดังนี้ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคำตอบในการวิจัยนี้คือพระพุทธรูปเป็นพุทธประสงค์หรือไม่ การสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เป็นพุทธศิลป์หรือไม่พระพุทธรูปมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่/ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอย่างไรพระพุทธรูปมีความสำคัญต่อเข้าถึงสัจธรรม/บรรลุธรรมได้หรือไม่ พระพุทธรูปมีความสำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย/วีถีชีวิตคนไทย  เป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องมือสื่อธรรม เป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรม

                 จึงขอสรุปประเด็นคำถามทั้งหมดจากบทความของ พระศรีคัมภีรญาณ (พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ, รศ.ดร.) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านได้สรุปไว้ได้อย่างสมบูรณ์ในการสร้างพระพุทธรูปดังนี้

                     (ก) สร้างมิ่งขวัญให้แก่ดวงตาและดวงใจ

                     (ข) สร้างสื่อน้อมนำให้ระลึกถึงคุณความดี

                     (ค) สร้างสื่อน้อมนำให้งอกงามในการปฏิบัติธรรม

                     (ง) สร้างสื่อสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง

                 พระพุทธรูปเป็นสื่อน้อมนำให้ระลึกถึงแต่สิ่งดีงาม คือ กัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงความสำคัญของกัลยาณมิตรว่าภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังขึ้น ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นเครื่องหมายบอกล่วงหน้า ฉันใด กัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นเครื่องหมายบอกล่วงหน้าว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ จะเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ฉันนั้น ภิกษุมีกัลยาณมิตร พึงหวังได้ว่าจักบำเพ็ญกระทำให้มากซึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘คำว่า "กัลยาณมิตร" ไม่ได้หมายถึงเพื่อนดีที่เป็นคนเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้ระลึกถึงแต่สิ่งดีงาม พระพุทธรูปอยู่ในฐานะเป็นกัลยาณมิตรที่ประเสริฐวิเศษกว่ากัลยาณมิตรทั้งหลาย เพราะมีพลังศักดิ์สิทธิ์ที่จะน้อมนำให้ระลึกถึงแต่สิ่งดีงามอย่างเดียว การสร้างพระพุทธรูปก็คือการสร้างสื่อให้ระลึกถึงสิ่งดีงาม ย่อมจะได้รับอานิสงส์คือมีสื่อดีงามพระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์รวมแห่งคุณความดีที่ได้บำเพ็ญมาสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ๕๔๗ ชาติ สั่งสมคุณความดีนับประมาณมิได้ พระพุทธรูปซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้าเป็นสื่อให้น้อมระลึกถึงคุณความดีเหล่านั้น นี้เป็นส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่ง คือ พลังที่อยู่ในองค์พระพุทธรูปนั้น ไม่มีพลังด้านลบ มีแต่พลังด้านบวก มีแต่พลังสร้างสรรค์ความดีงามในสังคม ในบ้านเมือง พระพุทธรูปเป็นเพียงวัตถุ ไม่มีอำนาจสร้างพลังขึ้นในตนเอง พุทธบริษัทนั่นแหละเป็นผู้สร้างพลังขึ้นในองค์พระพุทธรูป และสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อมีพระพุทธรูปที่ใดก็จะมีพลังศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นที่นั้น พระพุทธรูปคือสัญลักษณ์แห่งความดีงาม คนที่ห้อยพระเครื่องเต็มคอ หรือคนที่กราบไหว้พระพุทธรูป คนที่สร้างพระพุทธรูปจะเป็นคนดีบ้างไม่ดีบ้าง นั่นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่พระพุทธรูปทรงคุณความดีอย่างแน่นอน

 

ข้อเสนอแนะ

 

                 ปัจจุบันประเทศไทยน่าจะยอมรับกันแล้วว่าเป็นพหุวัฒนธรรม ความหมาย คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และประวัติศาสตร์โดยใช้โครงสร้างของ กลุ่มชน (ethnicity) เชื้อชาติ (race) สถานะของครอบครัว (socioeconomic status) เพศ(gender) ความสามารถพิเศษ (exceptionalities) ภาษา (language) ศาสนา(religion) บทบาททางเพศ (sexual orientation) และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ (geographical area)” ในอดีตนั้นเรามีวัฒนธรรมเดียวคือ วัฒนธรรมไทย ซึ่งเราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งใครมีพระพุทธศาสนาเป็นแกนหลักสร้างบ้านแปลงเมืองมาตลอด เมื่อมาเป็นพหุวัฒนธรรมดังกล่าวมาย่อมมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ศาสนา เมื่อมีมากกว่าสองศาสนาก็ย่อมต้องมีวิธีการแย่ง           ศาสนิกไปอีกฝ่ายหนึ่งโดยมีสิ่งล่อใจให้เข้ามาดูและค่อย ๆ ยอมรับไปในที่สุดบางสมัยมีการโจมตีคู่ต่อสู้ด้วยกลวิธีตามหลักวิชาการสมัยใหม่ซึ่งฝ่ายเรายังอ่อนต่อเรื่องนี้มาก บางครั้งเราอยู่ด้วยความประมาทคิดว่าเป็นคนส่วนใหญ่แต่หารู้ไม่ว่ามีถูกรุกรานในกลอุบายที่แยบยล คล้ายกับองค์เจดีที่มั่นคงแข็งแรงแต่พอนานวันถ้าขาดการดูแลบูรณะอยู่เสมออาจรักษายอดเจดีย์ให้ตรงอยู่ไม่ได้เพราะถูกเจาะทำลายฐานเจดีย์ที่ละนิดเมื่อมากขึ้นอาจพังทลายในที่สุด

                 ดังนั้นในการสร้างรูปเคารพควรมีกฎกติการองรับให้เหมาะกับปัจจุบันดังนี้

                     ๑. พระพุทธรูปที่จะสร้างขึ้นใหม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงและไม่เกิน ๔ แบบยืน เดิน นั่น นอน

                     ๒. ไม่ควรสร้างรูปเหมือนของบรรดาอาจารย์แข่งกับพระพุทธเจ้า

                     ๓. ไม่ควรทำพระเครื่องรุนใหม่ ๆ ขึ้นมาโดยเฉพาะรูปเหมือบรรดาเกจิอาจารย์ปัจจุบัน

                     ๔. รัฐควรมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชนทุกระดับชั้นเพื่อไม่ให้หมกมุ่นหาโชคลาภที่เลื่อนลอยหันมาพึ่งศาสนาอย่างแท้จริง

                     ๕. ควรมีวิชาสมาธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนตั้งแต่ระดับต้น กลลาง สูงขึ้นไป ในเรื่องการทำงานทุกอย่าง

                 พระพุทธรูปถือเป็นรูปเคารพสูงสุดของขาวพุทธทั่วไปดังนั้นต้องให้ความสำคัญในการสร้างและควบคุมไม่ให้สร้างได้ตามใจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะควรมีองค์กรตรวจสอบดูแลอย่างเคร่งครัดไม่ให้ผิดแบบที่ยอมรับกันเพื่อจรรโลงศรัทธาของชาวพุทธที่ยึดมั่นในหลักธรรมที่ถูกต้องและปรารถนาที่จะให้พระศาสนามีอายุยืนนานชั่วอายุของตนสืบไปจนอนุชนรุ่นต่อไปชั่วกาลนาน       

เอกสารอ้างอิง

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

                  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

มหามกุฏราชวิทยาลัย.  พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่ม.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.

พัชรวรรณ ประเสริฐบุญ.  ตำนานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์รามาการพิมพ์, ๒๕๕๓.

ไพศาล ภู่ไพบูลย์ และคณะ.  หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม.  กรุงเทพมหานคร: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๕๔.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์.  พุทธปฏิมางานช่างพลังแห่ศรัทธา.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน,  ๒๕๕๔.           

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (กี่ยว อุปเสโน).  เย็นหิมะในรอยธรรมและบาบิยัน.  กรุงเทพมหานคร:  โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๕.

สุรพล นาถะพินธุ.  รากเหง้าบรรพชนคนไทย: พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์.

                   กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๐.

Nagaseamy. R. Masterpieces of Early South Indian Bronzes.  New Delhi: National

                   Museum, 1999.

Professor A.L. Basham. The wonder that was India. London: Sidgwick&Jacson, 1979.

Surjit Mansingh.  Historical Dictionary of India.  New Delhi: Habitat Centre, 2000.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕