หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระเทพปริยัติเมธี (สฤษฏิ์ สิริธโร), ผศ.ดร. » ภาวะผู้นำเชิงพุทธกับการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย
 
เข้าชม : ๑๐๕๒๐ ครั้ง

''ภาวะผู้นำเชิงพุทธกับการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย''
 
พระเทพปริยัติเมธี (สฤษฏิ์ สิริธโร), ผศ.ดร. (2556)

 

ภาวะผู้นำเชิงพุทธกับการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย

Buddhist Leadership and Conflict Management in Thai Society

 

พระเทพปริยัติเมธี (สฤษฏิ์ สิริธโร), ผศ.ดร.

ป.ธ.๙, กศ.ม. (การบริหารการศึกษา), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา),

รป.ด. (รัฐประศาสนศาสตร์) (กิตติมศักดิ์), ปร.ด. (การจัดการ) (กิตติมศักดิ์),

รป.ด. (รัฐประศาสนศาสตร์) (กิตติมศักดิ์)

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องภาวะผู้นำตามแนวพระพุทธศาสนา  ๒) เพื่อศึกษาการจัดการปัญหาความขัดแย้งตามแนวพระพุทธศาสนา  ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการนำหลักภาวะผู้นำเชิงพุทธมาใช้เพื่อจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย

จากการศึกษาพบว่า ภาวะผู้นำเชิงพุทธนั้นมีลักษณะอยู่ ๓ อย่าง คือ ๑) คุณลักษณะภายนอก  คือ มีรูปร่างสง่างาม น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส  ตลอดทั้งมีพละกำลังแข็งแรง สุขภาพที่ดี  และมีความเพียร  ๒) คุณลักษณะภายใน คือมีความรู้  มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความชำนาญในงาน มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ๓) มีความแตกต่างจากบุคคลอื่น ซึ่งความแตกต่างนี้จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความเคารพนับถือมีความเชื่อมั่นมีความเชื่อฟังอย่างจริงใจ

วิถีทางของการที่จะเป็นผู้นำที่ดีซึ่งมีหลักธรรมหรือคุณธรรมในทางพระพุทธศาสนาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับผู้นำ ที่นำมากล่าวไว้ในงานวิจัยนี้   มีจำนวน ๒๐ หลักธรรม คือ  ๑)ทศพิธราชธรรม  ๒) จักรวรรดิวัตรธรรม  ๓) อธิปไตย  ๔) ราชสังคหวัตถุธรรม ๕) สังคหวัตถุธรรม ๖) พรหมวิหารธรรม ๗) อคติธรรม ๘) อิทธิบาทธรรม ๙) พลธรรม ๑๐) สัปปุริสธรรม           ๑๑) อปริหานิยธรรม  ๑๒) กัลยาณมิตรธรรม  ๑๓) สารณียธรรม  ๑๔) อริยทรัพย์ธรรม ๑๕) บารมีธรรม  ๑๖) คหบดีธรรม ๑๗) คุณธรรม  ๑๘) ยุติธรรม  ๑๙) อธิษฐานธรรม ๒๐) ขันติโสรัจจธรรม  โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่มหลักธรรมของผู้นำ ดังนี้ คือ  ๑) หลักธรรมสำหรับครองตน ได้แก่ เบญจศีลเบญจธรรม สัปปุริสธรรม พลธรรม อคติธรรม อธิษฐานธรรม ขันติโสรัจจธรรม คุณธรรม  อริยทรัพยธรรม  ๒) หลักธรรมสำหรับครองคน ได้แก่ พรหมวิหารธรรม บารมีธรรม ราชสังคหวัตถุธรรม  สังคหวัตถุธรรม พลธรรม ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรม คหบดีธรรม อธิปไตย  กัลยาณมิตรธรรม  อริยทรัพยธรรม ยุติธรรม อคติธรรม ๓) หลักธรรมสำหรับการครองงาน ได้แก่ อิทธิบาทธรรม สาราณียธรรม อปริหานิยธรรม อริยทรัพยธรรม กัลยาณมิตรธรรม ยุติธรรม พลธรรม อคติธรรม

หลักธรรม  หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น  ถึงแม้ว่าจะมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล  จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานับพันปีแล้ว  แต่ทุกหลักธรรมยังคงทันสมัยอยู่เสมอ  สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องดำเนินชีวิตและแนวทางในการบริหารงานได้เป็นอย่างดี 

การจัดการความขัดแย้งตามแนวพระพุทธศาสนา   จากการศึกษาพบว่า เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำให้ลุล่วงไป มี ๔ ประการ คือ ๑) วิวาทาธิกรณ์  ๒) อนุวาทาธิกรณ์       ๓) อาปัตตาธิกรณ์  ๔) กิจจาธิกรณ์  และอธิกรณสมถะเป็นชื่อแห่งสิกขาบทหรือสิกขาบทแห่งธรรม แปลว่า “สำหรับระงับอธิกรณ์”   มี ๗ ประการ คือ

๑.  สัมมุขาวินัย แปลว่า ระเบียบอันจะพึงทำในที่พร้อมหน้า  ๒. สติวินัย แปลว่า ระเบียบยกเอาสติขึ้นเป็นหลัก ให้สมมติ เพื่อการรับรู้ร่วมกัน  ๓. อมูฬหวินัย แปลว่า ระเบียบที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว  ๔. ปฏิญญาตกรณะ แปลว่า ทำตามรับ ๕. เยภุยยสิกา แปลว่า ตัดสินตามคำของคนมากเป็นประมาณ  ๖. ตัสสปาปิยสิกา แปลว่า กิริยาที่ลงโทษแก่ผู้ผิด ๗. ติณวัตถารกวินัย แปลว่า ระเบียบดังกลบไว้ด้วยหญ้า

การนำหลักภาวะผู้นำเชิงพุทธมาใช้เพื่อจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย การศึกษาวิจัย พบว่า ภาวะของผู้นำเชิงพุทธที่จะสามารถจัดการความขัดแย้งในสังคมไทยได้ดีนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครองตน ปกครองคน  และปกครองงาน   โดยมีหลักธรรมที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรนั้น

โดยหลักการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมซึ่งเป็นหลักคิดหลักธรรมในการทำงานร่วมกันในองค์กร และอยู่ร่วมกันในสังคม มีอยู่  ๑๐ ขั้นตอนในเบื้องต้น ที่จะนำสันติสุข สันติภาพ และภารดรภาพมาสู่องค์กรและสังคมได้  คือ  ๑. มองกันในแง่ดี  ๒.  มีไมตรีจิตที่ดีต่อกัน  ๓.  สร้างสรรค์ความดี  ๔. นึกถึงความดีของกัน  ๕. ร่วมกันรักษามีระเบียบวินัย ๖. มีหัวใจพระพรหม  ๗. สร้างสมความสามัคคี  ๘. มั่งมีความเสียสละ  ๙. ลดมานะทิฏฐิ  ๑๐. ไม่อคติต่อกัน

 ดาวน์โหลด

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕