หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระครูศรีปริยัตยาภิวัฒน์ » เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐
 
เข้าชม : ๖๑๕๖ ครั้ง

''เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐''
 
พระครูศรีปริยัตยาภิวัฒน์ (2556)

 

เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐

The Youth’s Attitude Toward The Monks In The Regional

Administration of The Sangha, Region 10

 

พระครูศรีปริยัตยาภิวัฒน์: พธ.บ. (อภิธรรมบัณฑิต),

ปริญญาโท, ปริญญาเอก,(คณะสันสกฤต  ปรากฤต และบาลี สาขาบาลี)

                                                 

บทคัดย่อ

 

การศึกษางานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ ประชากรเป็นเยาวชนในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐ กลุ่มตัวอย่างเป็นเยาวชนในสถานศึกษาเอกชน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในจังหวัดอุบลราชธานี  ๓๐๖ คน ซึ่งสุ่มแบบแบ่งชั้น  (Stratified Random Sampling) ตามสัดส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบเจตคติระหว่างกลุ่มตัวแปรอิสระด้วย t-test กับ การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ผลการวิจัยพบว่า

เยาวชนที่ศึกษาเป็นเพศชายร้อยละ ๔๓.๘ เพศหญิงร้อยละ ๕๖.๒ ส่วนมากอายุระหว่าง ๒๒ -๒๕ ปีร้อยละ ๗๐.๖ กำลังเรียนชั้นปีที่ ๒ ร้อยละ ๕๔.๒ และชั้นปีที่ ๑ ร้อยละ ๔๕.๘ ผู้ปกครองจำนวนมากสุดร้อยละ ๔๐.๘ ทำเกษตรกรรม  รองลงมาร้อยละ ๓๐.๔ รับจ้างทั่วไป  ทำธุรกิจส่วนตัวร้อยละ ๑๗.๐ และรับราชการมีเพียงร้อยละ ๑๑.๘

โดยรวมเยาวชนมีเจตคติที่ดีมาก ทั้งความรู้สึก ความคิดเห็น  และพฤติกรรมต่อพระสงฆ์  มีระดับคะแนนเฉลี่ยเจตคติ  ๓.๘๑, ๓.๘๗ และ ๓.๙๓ ต ตามลำดับจากเต็ม ๕ คะแนน  เยาวชนที่ผู้ปกครองมีอาชีพรับจ้างทั่วไปมีเจตคติที่ดีต่อพระสงฆ์  ทั้งความรู้สึก ความคิดเห็นและพฤติกรรม  มากกว่าเยาวชนที่ผู้ปกครองมีอาชีพเกษตรกรรม  ธุรกิจส่วนตัว  และรับราชการ ส่วนเยาวชนที่มีเพศ  อายุ  และชั้นปีที่เรียนต่างกันมีเจตคติต่อพระสงฆ์โดยรวมและทั้ง ๓ ด้านไม่แตกต่างกัน

 

Abstract

 

                The global  societies  have  been  continuously  changed.   Material   progress  has  been  going  very  fast.  Now,  new  generation  of  people  are  estranged  from  a  temple  and  religious  practice.  This  research  aims  at  studying  the  youth’s  attitude  toward  the  monks.  The  populations  are  the  youth  in  the  regional  administration  of  The  Sangha, region 10.  The  samples are 306 young  students of the  private  institutes,  in  the  level  of  the  higher  vocational  certificate  in  Ubonratchathani  Province,  which  is the stratified random sampling.  The research methodology is rating scale of   standard deviation, comparison of the attitude among the samples, T- test  and  analysis  of  single  variance.  The result  of  research  is  found  that:

                The  43.8%  youth  are  male.  The  56.2 %  of  them  are  female.  The  70.6 %  them are mostly in 22-25 years of age.  The 54.2  of  them  are  studying   in  the  second  year.  The  45.8  of  them are studying in the  first  year.   The 40.8%  of  their  guardians  are  agriculturalists.  The 30.4% of them are general  employees.  The 17.0% of  them  have  private  business.  The 11.8%  of  them  are  government  officials.

                Totally, the youth have  good  attitude,  feeling,  opinion  and  conduct  toward  the  monks.  Their  attitude  is  in  the  percentage  of  3.81, 3.87  and  3.93  from  total  5  scores  respectively.  The  young  people  whose  guardians  are  general  employees  have  better attitude, feeling, opinion  and  conduct  toward  the  monks  than  the  youth  whose guardians have occupations of agriculture, private business government  officials.  Meanwhile, the  youth  who are different in sex,  age  and  the  year of  studies  totally  have  the  same  attitude  of  feeling, opinion  and  conduct  toward  the  monks.

 

บทนำ

 

                ประเทศไทยมีประชากรส่วนในที่นับถือพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเลยก็ว่าได้ โดยมีพระสงฆ์เป็นกำลังหลักในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า อบรมในเรื่องศีลธรรม คุณธรรมตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้แล้วพระสงฆ์ยังเป็นบุคคลที่ชาวพุทธทุกคน  ให้ความเคารพ กราบไหว้ เพราะถือว่า เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยที่ควรบูชา

                ในยุคปัจจุบัน  เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่ในด้านศีลธรรมกลับเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากแหล่งข่าวต่าง ๆ ที่ออกมาทั้งในโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ เช่น ข่าวฆาตกรรม ข่าวอาชญากรรม ข่าวการใช้ความรุนแรงกับเด็ก และสตรี รวมถึงข่าวที่เด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับวัยรวมทั้งความรู้สึกนึกคิด ท่าทีของเด็กและเยาวชน ก็พลอยเปลี่ยนไปด้วย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมของพระสงฆ์ด้วย

                เนื่องจากพระสงฆ์เป็นบุคคลที่ชาวพุทธ ให้ความเคารพกราบไหว้เป็นอย่างมาก เพราะถือว่า พระสงฆ์เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และนำคำสั่งสอนของพระองค์มาเผยแผ่ ให้ปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเอง และคนในสังคม  ประชาชนส่วนใหญ่จึงคาดหวังเป็นอย่างมากว่าพระสงฆ์ต้องเป็นบุคคลที่ดีเลิศ มีประพฤติปฏิบัติที่ดีงามควรค่าแก่การเคารพกราบไหว้  แต่ปัจจุบันมีพระสงฆ์บางรูป ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ทำตัวเหมือนเป็นฆราวาส เป็นต้น จนเป็นเหตุให้ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนหลายคน เริ่มคลอนแคลน และมีเสียงวิพากษ์  วิจารณ์ ตำหนิติเตียนต่อพฤติกรรมของพระสงฆ์เป็นอย่างมาก   

                การศึกษาครั้งนี้  ผู้วิจัยให้ความสนใจที่จะศึกษาในเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐ โดยเฉพาะเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน ระดับ ปว.ส. จังหวัดอุบลราชาธานี  ผลที่ได้จากการศึกษาจะได้นำไปเป็นสารสนเทศในการกำหนดนโยบายการปกครองของคณะสงฆ์  การรับรู้เกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับปัญหา และแนวทางการแก้ไข  ของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ในโอกาสต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

๑.  เพื่อศึกษาเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐

๒.  เพื่อเปรียบเทียบเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ที่มี เพศ อายุ ชั้นปีที่ศึกษา และอาชีพของผู้ปกครอง ต่างกัน

๓.  เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐

ประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย

๑. ทำให้ทราบเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐

๒.  ทำให้ทราบผลการเปรียบเทียบเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ที่มี เพศ อายุ ชั้นปีที่ศึกษา และอาชีพของผู้ปกครอง ต่างกัน

๓.  ทำให้ทราบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐

๔.  นำผลจากการวิจัยไปเป็นข้อมูลสารสนเทศในการวิจัยและใช้เป็นข้อมูลในการเสริมสร้างปัจจัยที่มีผลต่อเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์

ขอบเขตของการวิจัย

ในการวิจัยเรื่อง”เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐        มีเป้าหมายคือนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปว.ส.) ในจังหวัดอุบลราชธานี มีขอบเขตด้านเนื้อหา ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านความรู้สึก ๒) ด้านความคิดเห็น ๓) ด้านพฤติกรรม

 

วิธีการวิจัย

 

             การวิจัยเรื่อง เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑๐ ในครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบเชิงปริมาณ มีขั้นตอน และวิธีการดำเนินการวิจัย ดังนี้

             รูปแบบการวิจัย

                การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) ในลักษณะการศึกษาภาคตัดขวางหรือการศึกษา ณ จุดเวลา (Cross-Sectional Study) เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเยาวชนด้วยการส่งแบบสอบถามให้ตอบ

             ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

                      ๒.๑ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นเยาวชนในสถานศึกษาเอกชนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงของจังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐  เฉพาะที่ลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๓ มีจำนวนประมาณ  ๑,๕๐๐ คน  โดยการเลือกสุ่มตัวอย่างของแต่ละโรงเรียน ซึ่งกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างด้วยตารางสำเร็จรูปของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan อ้างในบุญธรรม จิตต์อนันต์ ๒๕๔๐: ๗๒) ที่คลาดเคลื่อนของการสุ่มตัวอย่างร้อยละ ๕ ได้จำนวน ๓๐๖ คน

                      ๒.๒ กลุ่มตัวอย่าง กระทำด้วยวิธีการสุ่มแบบแบ่งขั้น (Stratified Random Sampling) ตามสัดส่วนของสถานศึกษา (Proportional to Size) โดยการแบ่งนักศึกษาที่เป็นเยาวชนเป็น ๖ วิทยาลัย เทียบสัดส่วนในแต่ละวิทยาลัยได้นักศึกษาดังตารางที่ ๑ แต่ละสถานศึกษาสุ่มนักศึกษาด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling)

             เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

             ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นและผ่านการปรับปรุงโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนาและด้านวิจัยทางสังคมศาสตร์จำนวน ๓ ท่าน แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ตอน ดังนี้

ตอนที่ ๑ เป็นคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปแบบเติมคำประกอบด้วย  เพศ อายุ ชั้นปีที่ศึกษา และอาชีพของผู้ปกครอง

ตอนที่ ๒ เป็นคำถามเกี่ยวกับเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ มีจำนวน ๓๐ ข้อ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านความรู้สึก ด้านความคิดเห็น และด้านพฤติกรรมที่มีต่อพระสงฆ์ ผู้วิจัยใช้ลักษณะคำถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) แต่ละข้อมีตัวเลือก    ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด

ตอนที่ ๓ เป็นคำถาม ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ มีจำนวน ๙ ข้อ ใน ๓ ด้าน

             การเก็บรวบรวมข้อมูล

             การดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แยกออกเป็น ๒ ส่วนดังนี้

                  ๑.  การสร้างและพัฒนาข้อมูล

                            ๑) ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารตำราวิชาการ แนวคิด ทฤษฎีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งเป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต

                            ๒) ศึกษาค้นคว้าจากภาคสนาม โดยเอาวิทยาลัย ๖ แห่งเป็นพื้นที่จะต้องศึกษามาเป็นข้อมูลและวางกรอบที่จะสร้างเครื่องมือ

                            ๓) นำเครื่องมือที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เสนอผู้เชี่ยวชาญ ๓ ท่านเพื่อตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขความถูกต้องสมบูรณ์ของเนื้อหา เพื่อให้ได้แบบสอบถามที่มีความตรงตามเนื้อหา และความเหมาะสมของคำถามโดยใช้วัดดัชนีความสอดคล้อง (Index of consistency: IOC)

                            ๔) นำแบบสอบถามที่ผ่านการพัฒนาแก้ไขจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๓ ท่าน ไปปรับปรุงแก้ไขแล้วไปทดสอบ (Try out) กับนักศึกษา ปว.ส. ชั้นปีที่ ๒ ของเทคโนโลยีอาชีวิศึกษาอำนาจเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน ๓๐ คน ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ประชากรที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แต่มีลักษณะคล้ายกันกับกลุ่มตัวอย่าง จากนั้นจึงนำแบบสอบถามมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ นำข้อมูลที่ได้ไปทดสอบวัดความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา (Coefficient Alpha) ของครอนบัค (Cronbach. ๑๙๗๔: ๑๖๑) ได้ค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือเท่ากับ ๐.๙๓

 

 

 

                  ๒. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

                            ๑) นำเครื่องมือที่ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ไปเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้  และแบบสอบถามเกี่ยวกับเจตคติให้ตรงกับเนื้อหาทั้ง ๓ ด้าน คือ เจตคติด้านความรู้สึก  ด้านความคิดเห็น  และด้านพฤติกรรม

                      ๒) หลังจากปรับปรุงข้อบกพร่องของแบบสอบถามจนมีประสิทธิภาพ ได้ค่าความเชื่อมั่นที่อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้แล้ว  จึงนำไปสอบถามประชากรกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้ 

                            ๓)  ตรวจแบบสอบถามที่ถูกต้อง และความสมบูรณ์ของแบบสอบถาม เพื่อจะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล 

             การวิเคราะห์ข้อมูล

             เมื่อได้ข้อมูลที่ตรวจสอบครบถ้วน สมบูรณ์ และถูกต้องแล้ว  ได้นำไปวิเคราะห์ ดังนี้

                ๑. ข้อมูลทั่วไป  วิเคราะห์ด้วยการทำแจกแจงความถี่ หาจำนวนและร้อยละ

                ๒. เจตคติต่อพระสงฆ์ วิเคราะห์ด้วยการให้คะแนนข้อความคำถามแต่ละข้อตามเกณฑ์ ดังนี้

                        มากที่สุด                       ให้                              คะแนน

                        มาก                              ให้                              คะแนน

                        ปานกลาง                      ให้                              คะแนน

                        น้อย                              ให้                              คะแนน

                        น้อยที่สุด                       ให้                              คะแนน

                จากนั้นวิเคราะห์ด้วยด้วยการหาคะแนนเฉลี่ยแต่ละข้อ  และแปลผลตามเกณฑ์ของ Best ดังนี้

                        คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่  ๓.๗ ขึ้นไป       หมายถึง              มีเจตคติดีมาก

                        คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่  ๒.๔ – ๓.๖      หมายถึง              มีเจตคติปานกลาง

                        คะแนนเฉลี่ยน้อยกว่า ๒.๔             หมายถึง              มีเจตคติน้อย

                โดยทั่วไปมี ๕ เกณฑ์  ค่าเฉลี่ยและระดับเจตคติ

 

                      ค่าเฉลี่ย                                   ระดับเจตคติ

                        ๔.๕๑ – ๕.๐๐                                       ระดับมากที่สุด

                        ๓.๕.๑ – ๔.๕๐                                      ระดับมาก

                        ๒.๕๑ – ๓.๕๐                                       ระดับปานกลาง

                        ๑.๕๑ – ๒.๕๐                                       ระดับน้อย

                        ๑.๐๐ – ๑.๕๐                                       ระดับน้อยที่สุด

                เปรียบเทียบคะแนนเจตคติเฉลี่ยรวมและแต่ละด้านระหว่างกลุ่มตัวแปรเพศ (ชายกับหญิง) และระหว่างตัวแปรชั้นปี (ชั้นปีที่ ๑ กับชั้นปีที่ ๒) ด้วยการทดสอบ t - test สูตรอิสระกัน ระหว่างกลุ่มตัวแปรอายุและอาชีพของผู้ปกครองด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way Analysis of Variance) ถ้าพบว่า แตกต่างกัน ทดสอบต่อด้วยวิธี LSD (Least  Significant  Different )

 

ผลการวิจัย

 

                จากการสรุปผลการวิจัย เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ เขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐  ใน ๓ ด้าน คือ ด้านความรู้สึก ด้านความคิดเห็น ด้านพฤติกรรมที่มีต่อพระสงฆ์  สามารถนำมาอภิปรายผลได้ดังนี้

                  ๑.  ด้านความรู้สึก พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก พบว่า นักศึกษารู้สึกว่าพระสงฆ์จะต้องปฏิบัติศาสนกิจโดยการเทศนาเผยแพร่หลักธรรม เป็นต้น มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ มีระดับค่าเฉลี่ยสูงสุด ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า เมื่อได้ดูข่าวพระสงฆ์กระทำผิดพระวินัย นักศึกษามีความรู้สึก เสียใจ เสื่อมศรัทธา นักศึกษาพบพระสงฆ์ปฏิบัติศาสนกิจ ปฏิบัติธรรม ศึกษาพระธรรมวินัยมีความรู้สึกพึงพอใจ 

                  ๒.  ด้านความคิดเห็น  เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ โดยรวมในระดับมาก พบว่า พระสงฆ์จำเป็นต้องปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติธรรม มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด สามารถอภิปรายได้ว่า ตามทัศนะของนักศึกษา การรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามหลักธรรม  เป็นปัจจัยก่อให้เกิดศรัทธาแก่ประชาชน นักศึกษา เห็นว่าพระสงฆ์สามารถสร้างความสมัครสมานสามัคคีแก่พุทธบริษัทได้

                  ๓.  ด้านพฤติกรรมที่มีต่อพระสงฆ์  เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์โดยรวม พบว่า นักศึกษามีพฤติกรรมร่วมในการป้องกันรักษาภยันตรายจะเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ และนักศึกษามีส่วนร่วมในการปฏิบัติธรรม เพื่อความสงบสุขแก่ตนเองและสังคม ค่าเฉลี่ยสูงที่สุด  สามารถอภิปรายได้ว่า นักศึกษาเชื่อมั่นว่า ละชั่วกระทำดีสร้างจิตให้ผ่องใสเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง นักศึกษาต้องปฏิบัติต่อพระสงฆ์ตามกรอบของพระธรรมวินัยและค่านิยมของสังคมเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดกุศลผลบุญ

             ผลสรุป

                จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ เขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐ นั้น ผู้วิจัยได้พยายามสรุปประเด็นสำคัญของข้อมูลโดยรวมทั้ง ๓ ด้าน อยู่ในระดับมาก พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ ด้านพฤติกรรมที่มีต่อพระสงฆ์  มีผลสรุปการวิจัยดังต่อไปนี้                 ๑) นักศึกษารู้สึกว่า พระสงฆ์จะต้องปฏิบัติศาสนกิจโดยการเทศนาเผยแพร่หลักธรรม เป็นต้น             ๒) พระสงฆ์จำเป็นต้องปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติธรรมและกระตุ้นให้นักศึกษาได้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางในพระพุทธศาสนา และ ๓) นักศึกษามีพฤติกรรมแนวร่วมในการป้องกันรักษาความเสื่อมทรามและอันตรายรอบด้านที่จะเกิดขึ้นกับพระสงฆ์  และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักศึกษามีความเชื่อมั่นในพระสงฆ์และมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น 

 

ข้อเสนอแนะ

 

    สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ เขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐  ได้จากผลการวิจัยทั้ง ๓ ด้าน คือ ด้านความรู้สึก ด้านความคิดเห็น ด้านพฤติกรรมที่มีต่อพระสงฆ์  เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สำหรับการวางแผน โดยควรมีการปรับปรุงกลยุทธ์ในด้าน         ต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการหรือความคิดเห็นให้มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นแนวทางเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงด้านต่าง ๆ จึงได้นำมาเป็นข้อเสนอแนะ เป็น  ๒ ระดับ ดังนี้

                ๑.  ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

                      ๑) ผลการวิจัยพบว่าเยาวชนมีเจตคติต่อพระสงฆ์ ด้านความรู้สึก คือ นักศึกษารู้สึกต่อพระสงฆ์อยู่ในกรอบการปกครองการบริหาร ค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้น ผู้บริหารควรปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นไป

                      ๒) ผลการวิจัยพบว่า เยาวชนมีเจตคติต่อพระสงฆ์ ด้านความคิดเห็น คือ  พระสงฆ์ในทัศนะของนักศึกษาต้องมีความรู้เชี่ยวชาญในหลักธรรมแล้วสั่งสอนให้พุทธบริษัทปฏิบัติตามค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 

                      ๓) ผลการวิจัยพบว่า เยาวชนมีเจตคติต่อพระสงฆ์ ด้านพฤติกรรมที่มีต่อพระสงฆ์ คือ นักศึกษาได้ถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ ค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้น ผู้บริหาร ควรปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นไป

 

             ๒.  ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย

                      ๑) ควรวิจัยเรื่อง เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ เขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐ อื่นที่ได้รับการเชิดชูเกียรติแล้วนำมาปรับใช้กับเยาวชน           

                      ๒) ควรวิจัยเรื่อง  เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ เขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐แห่งอื่นมาเปรียบเทียบกับการใช้หลักจริยธรรมมาใช้ในการปฏิบัติงานของเยาวชน     

                      ๓) ควรวิจัยเรื่อง เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์ เขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ด้านความริเริ่มสร้างสรรค์ ด้านความโปร่งใส ด้านความรับผิดชอบ เป็นต้น

 

กิตติกรรมประกาศ

 

งานวิจัยเรื่อง เจตคติของเยาวชนที่มีต่อพระสงฆ์เขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐          จะสำเร็จได้ก็เพราะอุปการคุณและสนับสนุนจากพระราชโมลี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส  รองเจ้าคณะภาค ๑๐ พระศรีกิตติโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส พระครูสังฆรักษ์สนอง ภาณุวํโส พระมหานัฐกร กนฺตวีโร ป.ธ.๙ พระมหาเกษมสันต์ ฐานิสฺสโร ป.ธ.๙ วัดจักรวรรดิราชาวาส

ขอกราบขอบพระคุณพระครูสารกิจโกศล รองอธิการบดีวิทยาเขตอุบลราชธานี พระครูสมุห์เฉวียน กตปุญฺโญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ พระครูธรรมธรศิริวัฒน์  สิริวฑฺฒโน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ วิทยาเขตอุบลราชธานี ขอขอบใจท่าน พระสุมิตรชา ฐานวโร ที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการจัดทำงานวิจัยในครั้งนี้ให้เป็นผลสำเร็จ ขออนุโมทนาขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.บุญเลิศ ราโชติ อาจารย์ที่ปรึกษาที่ให้คำปรึกษาแนะนำตลอดจนตรวจแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ สำเร็จด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดี  ขออนุโมทนาขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตรกร  โพธิ์งาม  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชื่น ศรีสวัสดิ์ และดร. เรืองเดช เขจรศาสตร์ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจค่าความเชื่อมั่นของการวิจัย จึงขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้

ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุที่ให้ทุนทำการวิจัยและคอยช่วยเหลือชี้แนะแหล่งข้อมูลในการทำวิจัยด้วยไมตรีจิตอันดียิ่ง

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้เสียสละแรงกายแรงใจ และช่วยสนับสนุนในการทำวิจัยเล่มนี้ด้วยดีตลอดมา ขอทุกท่านจงมีแต่ความสุขความเจริญ และได้รับแต่คุณงามความดีแห่งการวิจัยนี้โดยทั่วกัน

เอกสารอ้างอิง

 

            ๑. หนังสือทั่วไป

นพมาศ  ธีรเวคิน.  จิตวิทยาสังคม.  พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพมหานคร: สำนักงานการพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๓๕. 

ประภาเพ็ญ สุพรรณ.  การจัดการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมอนามัย.  กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๖.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.  ประมวลวิชาทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการบริหารการศึกษา.  พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๐.

ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, พ.ศ.๒๕๒๕.

ลัดดา กิติวิภาค.  ทัศนคติสังคมเบื้องต้น.  กรุงเทพมหานคร: แสงจันทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘.

ศักดิ์ สุนทรเสรณี.  เจตคติ.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, ๒๕๓๑.

สงวน สุทธิเลิศอรุณ.  ทฤษฎีและปฏิบัติการทางจิตวิทยาสังคม.  กรุงเทพมหานคร: ส่งเสริมการพิมพ์, ๒๕๔๕.

สงวนศรี วิรัชชัย.  จิตวิทยาสังคมเพื่อการศึกษา.  กรุงเทพมหานคร: สมาคมการศึกษาแห่ง     ประเทศไทย, ๒๕๒๗.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕