หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » อาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ » พระพุทธเจ้ากับลักษณะมหาบุรุษ
 
เข้าชม : ๒๘๕๙๖ ครั้ง

''พระพุทธเจ้ากับลักษณะมหาบุรุษ''
 
อาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ (2546)

 ในช่วงวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ชาวพุทธ ในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง ได้มีโอกาสไปนมัสการบูชาสักการะพระธาตุเขี้ยวแก้ว ของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่รัฐบาลได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ชั่วคราว ณ อาคารหอสมุดพระพุทธศาสนา มหาสิรินาถ ภายในบริเวณพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม จากวัดหลินกวง สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ ชมนิทรรศการเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดแสดงไว้ ณ อาคารนั้น ทำให้ผู้ได้ชมเกิดความรู้และศรัทธาในองค์พระบรมศาสดายิ่งขึ้น

                     ในนิตยสารพุทธจักรฉบับที่แล้ว คณะผู้จัดทำ ได้นำบทความเรื่องพระบรมสารีริกธาตุมาเสนอไว้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับพระพุทธองค์ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว บทความนี้มุ่งเสนอความรู้เกี่ยวกับพุทธองค์อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ของพระพุทธองค์ที่ทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังปรากฏในลักขณสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๑๙๘-๒๔๑/๑๕๙-๑๙๘)

                    อรรถกถาอธิบายความเป็นมาของพระสูตรนี้ไว้ว่า เช้าวันนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ได้ยินประชาชนสนทนากันด้วยเรื่องลักษณะมหาบุรุษของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใส แต่ไม่ทราบว่า เพราะเหตุไร พระพุทธองค์จึงทรงมีลักษณะมหาบุรุษเหล่านั้น เมื่อ ท่านพระอานนท์นำความกราบทูลให้ทรงทราบ จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ทรงแสดงเรื่องนี้ให้ฟัง มีสาระ สำคัญ ดังนี้

                    ตรัสเล่าว่า พระมหาบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓๒ ประการ ย่อมมีคติ ๒ อย่าง คือ (๑) ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้ชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว (๒) ถ้าออกบวชจะได้เป็นพระอรหันต-สัมมาสัมพุทธเจ้า

                    พระมหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษทั้ง ๓๒ ประการ คือ

                    ๑. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
                    ๒. พื้นฝ่าพระบาททั้งสองมีจักรซึ่งมีกำ ข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง
                    ๓. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป
                    ๔. มีพระองคุลียาว
                    ๕. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม
                    ๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย
                    ๗. มีข้อพระบาทสูง
                    ๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
                    ๙. เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลง ก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยพระหัตถ์ทั้งสองได้
                    ๑๐. พระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก
                    ๑๑. มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำ
                    ๑๒. มีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้
                    ๑๓. มีพระโลมชาติเดี่ยว คือในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว
                    ๑๔. มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือพระโลมชาติขอดเป็นวง เวียนขวาดังกุณฑลสีคราม เข้มดังดอกอัญชัน
                    ๑๕. มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม
                    ๑๖. มีพระมังสะในที่ ๗ แห่ง๑ เต็มบริบูรณ์
                    ๑๗. มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์
                    ๑๘. มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน
                    ๑๙. มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑล ของต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ ๑ วา ของพระองค์ (๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระวรกาย)
                    ๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด
                    ๒๑. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี
                    ๒๒. พระหนุดุจคางราชสีห์
                    ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่
                    ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน
                    ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน
                    ๒๖. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม
                    ๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ยาว
                    ๒๘. มีพระสุรเสียงดุจพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก
                    ๒๙. มีพระเนตรดำสนิท
                    ๓๐. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
                    ๓๑. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง สีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น
                    ๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

                    ตรัสเน้นว่าลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนี้ ถึงพวกฤาษีนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาจะจด จำได้ แต่พวกนั้นไม่รู้ว่า พระมหาบุรุษทรงทำกรรมอะไรไว้ จึงได้ลักษณะเหล่านี้

                    จากนั้น ทรงอธิบายสาเหตุที่ทรงได้ลักษณะ มหาบุรุษแต่ละประการโดยทรงจัดกลุ่มตามลักษณะ ที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกัน มิได้เป็นไปตามลำดับที่ทรง จำแยกไว้ในตอนต้น ดังนี้

                    ลักษณะที่ ๑ มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้สมาทานมั่นในกุศล กรรมบถ ๑๐ สมาทานมั่นในสุจริต ๓ บริจาคทาน รักษาศีล ๕ รักษาอุโบสถศีล เกื้อกูลมารดาบิดา สมณ-พราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลและสมาทานมั่นในกุศลธรรมอื่น ๆ อีก

                     ลักษณะที่ ๒ พื้นฝ่าพระบาททั้งสองมีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และส่วนประกอบครบทุกอย่าง
                    สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้นำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความสะดุ้ง จัดการป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม และให้ทานพร้อมทั้งของที่เป็นบริวาร

                     ลักษณะที่ ๓-๕ (๓) มีส้นพระบาทยื่นยาว ออกไป (๔) มีพระองคุลียาว และ (๕) มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม๑
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ มีความละอายต่อบาป มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์

                    ลักษณะที่ ๖ มีพระมังสะในที่ ๗ แห่ง เต็ม บริบูรณ์๒
                    สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว ของ ที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม ของที่ควรชิม น้ำที่ควรดื่มอันประณีตและมีรสอร่อย

                    ลักษณะที่ ๗-๘ (๗) มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม และ (๘) ฝ่าพระหัตถ์ และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย๓
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ได้สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ (๑) ทาน (การให้) (๒) เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก) (๓) อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) (๔) สมานัตตตา (การวางตนสม่ำเสมอ)

                    ลักษณะที่ ๙-๑๐ (๙) มีข้อพระบาทสูง และ (๑๐) มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวา ดังกุณฑล สีครามเข้มดังดอก อัญชัน๑
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยประโยชน์ ประกอบด้วยธรรม แนะนำคนหมู่มาก เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้บูชาธรรมโดยปกติ

                     ลักษณะที่ ๑๑ มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อ ทราย๒
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ (วิชาชีพ) วิชา (เช่น วิชาหมอดู) จรณะ (ศีล) หรือกรรม (ความรู้เรื่องกฎแห่งกรรม) โดยประสงค์ให้คนทั้งหลายได้รับความรู้อย่างรวดเร็ว ปฏิบัติได้เร็ว ไม่ต้องลำบากนาน

                     ลักษณะที่ ๑๒ มีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลี ไม่อาจติดพระวรกายได้
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ ได้เข้าไปหาสมณะพรือพราหมณ์ แล้วซักถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไร มีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง อะไรที่ทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน อะไรที่ทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน แล้วตั้งใจฟัง คำตอบด้วยดี มุ่งประโยชน์ ไตร่ตรองเรื่องที่เป็น ประโยชน์

                    ลักษณะที่ ๑๓ มีพระฉวีสีทอง๓
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่แค้น (คือทำให้บรรเทาได้) แม้ถูกว่ากล่าวอย่างรุนแรงก็ไม่ขัดเคือง ไม่พยายาท ไม่จองล้างจองผลาญ ไม่สำแดงความ โกรธ ความอาฆาตและความเสียใจให้ปรากฏ เป็น ผู้ให้เครื่องลาดเนื้อดีอ่อนนุ่ม ให้ผ้าห่มที่เป็นผ้า โขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดีและผ้ากัมพลเนื้อดี

                    ลักษณะที่ ๑๔ มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก๔
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้นำพวกญาติมิตรสหาย ผู้มีใจดีที่หายไปนาน จากกันไปนาน ให้กลับมาพบกันคือนำมารดาให้พบกับบุตร นำบุตรให้พบกับมารดา นำบิดาให้พบกับบุตร นำบุตรให้พบกับบิดา นำพี่ชายน้องชายให้พบกับพี่ชายน้องชาย นำพี่ชายน้องชายให้พบพี่สาวน้องสาว นำพี่สาวน้องสาวให้พบพี่ชายน้อง ชาย นำพี่สาวน้องสาวให้พบพี่สาวน้องสาว

                     ลักษณะที่ ๑๕-๑๖ (๑๕) มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร พระวรกายสูง เท่ากับ ๑ วา ของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงของพระวรกาย และ (๑๖) เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่า พระหัตถ์ทั้งสองได้๕
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ ก็รู้จักบุคคลเท่าเทียมกัน รู้จักตนเอง รู้จักฐานะของบุคคล รู้จักความแตกต่างของบุคคล หยั่งรู้ว่าบุคคลนี้ควรกับสิ่งนี้ บุคคลนี้ควรกับสิ่งนี้ แล้วทำให้เหมาะกับความแตกต่างในฐานะนั้น ๆ ในกาลก่อน

                     ลักษณะที่ ๑๗-๑๙ (๑๗) มีพระวรกายทุกส่วน บริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ และ (๑๘) มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน และ (๒๐) มีลำ พระศอกลมเท่ากันตลอด๑
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความ เกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากโยคะแก่คนหมู่มาก ด้วยความคิดนึกตรึกตรองว่า ทำอย่างไร ชนเหล่านี้จะเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ พุทธิ จาคะ ธรรม ปัญญา ทรัพย์ และธัญชาติ เจริญด้วยนา และสวน สัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า บุตรและภรรยา ทาสกรรมกรและคนรับใช้ ญาติ มิตร และเจริญด้วยพวกพ้อง

                    ลักษณะที่ ๒๐ มีเส้นประสาทรับรส พระกระยาหารได้ดี๒
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ท่อนไม้ หรือด้วยศัสตรา

                     ลักษณะที่ ๒๑-๒๒ (๒๑) มีดวงพระเนตร ดำสนิท และ (๒๒) มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจลูกโคเพิ่งคลอด๓
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ถลึงตาดู (ไม่จ้องดูด้วยความโกรธ) ไม่ค้อน ไม่เมิน มองตรง มองเต็มตา และแลดูคนหมู่มากด้วยดวงตาเปี่ยมด้วยความรัก

                     ลักษณะที่ ๒๓ มีพระเศียรดุจประดับด้วย กรอบพระพักตร์๔
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้นำของคนหมู่มากใน กุศลธรรม เป็นประมุขของคนหมู่มากในกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ในการจำแนกแจกทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถศีล ในความเกื้อกูลมารดาบิดา สมณะและพราหมณ์ ในความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในกุศลธรรมอันยิ่ง อื่น ๆ

                     ลักษณะที่ ๒๔-๒๕ (๒๔) มีพระโลมชาติเดี่ยว คือในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว และ (๒๕) มี พระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น๕
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ละเว้นจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักเชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก

                     ลักษณะที่ ๒๖-๒๗ (๒๖) มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ และ (๒๗) มีพระทนต์ไม่ห่างกัน๖                      สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ละเว้นจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้หรือฟังความจากฝ่ายโน้นแล้ว ไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่คำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

                    ลักษณะที่ ๒๘-๒๙ (๒๘) มีพระชิวหาใหญ่ยาว และ (๒๙) มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก๗
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ละเว้นจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ

                     ลักษณะที่ ๓๐ มีพระหนุดุจคางราชสีห์๑
                     สาเหตุเพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ละเว้นจากคำเพ้อเจ้อ คือพูดถูกกาล พูดแต่คำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา

                     ลักษณะที่ ๓๑-๓๒ (๓๑) มีพระทนต์เรียบเสมอกัน และ (๓๒) มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม๒
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ละมิจฉาอาชีวะ ดำรง ชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ คือ เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม การโกงด้วยเครื่องตวงวัด การรับสินบน การล่อลวง การตลบตะแลง การตัด อวัยวะ การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการขู่กรรโชก

                     เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงจบ ภิกษุเหล่านั้น ต่างมีใจยินดีชื่นชมพระพุทธภาษิตนี้

                     สรุปความว่า ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ เกิดจากกรรมดีที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญสั่งสมไว้ในอดีตชาติต่าง ๆ ที่ทรงแสดงเรื่องนี้เพราะทรงประสงค์จะชี้ให้เห็นกฎแห่งกรรมว่า บุคคลทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทำดีได้ ทำชั่วได้ชั่ว

---------------------------------------------------------
๑ ที.ปา.อ. ๑๙๙/๑๐๗-๑๐๘. ๑ ที่ ๗ แห่ง คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง หลังพระบาททั้ง ๒ ข้าง พระอังสะทั้ง ๒ ข้าง และลำพระศอ (ที.ม.อ. ๓๕/๔๓) ๑ ลักษณะที่ ๕ ในที่นี้ คือ ลักษณะที่ ๑๕ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้ในตอนต้น ๒ ลักษณะที่ ๖ ในที่นี้ คือ ลักษณะที่ ๑๖ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้ในตอนต้น ๓ คือ ลักษณะที่ ๕ และ ๖ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๑ คือ ลักษณะที่ ๗ และ ๑๔ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้ในตอนต้น ๒ คือ ลักษณะที่ ๘ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๓ คือ ลักษณะที่ ๑๑ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๔ คือ ลักษณะที่ ๑๐ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๕ คือ ลักษณะที่ ๑๙ และ ๙ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๑ คือ ลักษณะที่ ๑๗, ๑๘ และ ๒๐ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้ในตอนต้น ๒ คือ ลักษณะที่ ๒๑ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๓ คือ ลักษณะที่ ๒๙ และ ๓๐ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๔ คือ ลักษณะที่ ๓๒ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๕ คือ ลักษณะที่ ๑๓ และ ๓๑ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๖ คือ ลักษณะที่ ๒๓ และ ๒๕ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๗ คือ ลักษณะที่ ๒๗ และ ๒๘ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้... ๑ คือ ลักษณะที่ ๒๒ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้ในตอนต้น ๒ คือ ลักษณะที่ ๒๔ และ ๒๖ ตามลำดับที่ทรงจำแนกไว้...

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕