หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ » ดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำตปท. เปิดในไทยกระทบวิทยาลัยพุทธนานาชาติ?!?!
 
เข้าชม : ๗๒๕๒ ครั้ง

''ดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำตปท. เปิดในไทยกระทบวิทยาลัยพุทธนานาชาติ?!?!''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. (2560)

เกริ่นนำ

           การที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 29/2560 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 เรื่อง "การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ" นั้น อาจจะเกิดวิกฤต และเป็นภัยคุกคามต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการแย่งชิงฐานลูกค้าหรือจำนวนผู้เรียนซึ่งจะมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น และส่งผลต่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยไทยในระยะสั้นและระยะยาว


         ผลดีที่อาจจะตามมาคือ คุณภาพในการผลิตบัณฑิตตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก เพราะคุณภาพคือความอยู่รอด (Quality is Survival) แต่จะทำให้มหาวิทยาลัยหันมาผลิตบัณฑิตในสาขาที่ตัวเองถนัดและมีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ความแตกต่างนั่นเองจะนำไปสู่ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยไทย (Difference is Survival) ซึ่งจะสอดรับกับเจตนารมณ์ของสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยเน้นพัฒนาจุดเด่นหรืออัตลักษณ์ของตัวเอง กล่าวคือ เน้นหลักสูตรเฉพาะกลุ่ม (Niche Product) แทนที่จะหลักสูตรแบบมวลชน (Mass Product) ในที่สุด มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ผลิตบัณฑิตในสาขาที่ตัวเองมิได้ถนัดหรือเชี่ยวชาญก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากไป เพราะ (1) มีกลุ่มคนทีผลิตได้ดีและมีคุณภาพมากกว่า (2) หมดฐานลูกค้าที่พอมีอยู่บนหน้าตัก และ (3) เกิดการแย่งฐานลูกค้าและจิกตีกันเองจนสูญเสียพันธมิตร รวมถึงบาดเจ็บล้มตายในที่สุด


วิทยาลัยพระพุทธศาสตร์นานาชาติจะอยู่อยางไร?

         หลักสูตรของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเน้นทำการตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มีกลุ่มเป้าหมาย (Target Group) ที่ชัดเจน และมีความแตกต่าง (Differentiation) จากหลักสูตรอื่นที่มีอยู่ในประเทศไทยและกำลังจะเข้ามาเปิดในไทย เพราะวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติจะเน้นเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น พระพุทธศาสนา สติกับสมาธิ สันติศึกษา และปรัชญา เป็นต้น ฉะนั้น หลักสูตร หรือมหาวิทยาลัยเหล่านั้นจึงไม่ถือว่าเป็นคู่แข็งทางการตลาดกับวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ


ความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนานาชาติ?

         ด้วยความที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ มีความต่างจากหลักสูตรอื่นๆ จึงทำให้เกิดช่องทางในความร่วมมือมากกว่าที่จะเป็นคู่แข็งขัน เมื่อโลกเน้นเทคโนโลยี เน้นดิจิทัล และเน้นธุรกิจ เน้นการแข็งขัน เน้นการพัฒนาวัตถุ โลกนี้จึงขาดการพัฒนามิติด้านจิตวิญญาณ (Soft Side) จิตใจที่แข็งกระด้าง ขาดความนุ่นนวล เห็นแก่ตัว และแข็งขันจนนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบกันและกันมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าแต่จิตใจต่ำทรามลง มนุษย์มีตำแหน่งสูง มีเงินมากขึ้น แต่ความสุข และความอิ่มเอมในมิติของจิตใจลดน้อยถอยลง เทคโนโลยีพุ่งสู่จุดสูงสุด แต่คุณค่าของมนุษย์ถอยต่ำลง ในฐานะที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเน้นเรื่องจิตวิญญาณ (Soft Side) ย่อมจะนำไปสู่นำจุดเด่นนี้ไปเสริมแรงและเติมเต็มต่อการพัฒนาวิทยาการสมัยใหม่ให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น


โอกาสยังเปิดกว้างสำหรับมหาวิทยาลัยด้านจิตวิญญาณ

         เมื่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและต่างประเทศเน้นแข็งขันกันผลิตบัณฑิต และวิจัยด้านเทคโนโลยี แต่มีมหาวิทยาลัยจำนวนน้อยมากที่จะสนใจการผลิตบัณฑิตด้านจิตวิญญาณ ฉะนั้น โอกาสจึงเกิดขึ้นแก่มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่มีฐานทางศาสนา ฉะนั้น หากสร้างหลักสูตรด้านนี้รองรับอย่างพอเพียง และสอดรับกับความต้องการของตลาด และสังคมแล้ว ย่อมสามารถที่จะเติมเต็ม และเสริมคุณค่าให้แก่มหาวิทยาลัยที่เน้นจำเพาะโลกียวิสัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตสาขาที่สามารถบูรณาการพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่เพื่อสร้างนวัตกรรมแห่งการครองตน ครองคน ครองงาน และการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในโลกยุคดิจิทัล

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕