หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » บทความวิขาการ61 » ฟังด้วยหู ดูด้วยตา ศรัทธาก็จะเกิด
 
เข้าชม : ๗๖๐๕ ครั้ง

''ฟังด้วยหู ดูด้วยตา ศรัทธาก็จะเกิด''
 
พุธทรัพย์ มณีศรี (2561)

ฟังด้วยหู ดูด้วยตา ศรัทธาก็จะเกิด

                เมื่อเรามีความศรัทธาในสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของหรือสถาบัน ก็เพราะเราได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลนั้น สิ่งของหรือสถาบันนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม

          หากเป็นบุคคล นอกจากจะเป็นตัวอย่างให้แก่ตนเองที่จะยึดถือและนำมาปฏิบัติตามแล้ว ยังเชื่อและทำในสิ่งที่บุคคลที่เราศรัทธาในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคำสอน คำสั่งหรือใด ๆ ก็ตาม โดยไม่มีข้อยกเว้น

          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายของคำว่า “ศรัทธา” ว่า คือความเชื่อ   ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล

          ภาษาอังกฤษ คือ faith, belief หรือ confidence

ศรัทธามี 4 ประการ คือ 1) กัมมสัทธา คือเชื่อในเรื่องกรรม 2) วิปากสัทธา คือเชื่อวิบากหรือเชื่อผลของกรรม 3) กัมมัสสกตาสัทธา คือเชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน และ 4) ตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

สิ่งที่อยากเน้นก็คือ “ตถาคตโพธิสัทธา” คือเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคตว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี

ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง

          และนั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานอบรมพระธรรมทูต รุ่นที่ 20 ได้คาดหวังให้พระธรรมทูตมีความศรัทธาโดยเฉพาะศรัทธาในพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้เป็นธรรมทูตมืออาชีพต่อไป

          ทั้งนี้ หากเป็นพระธรรมทูต แต่ไม่มี “ตถาคตโพธิสัทธา” ที่เต็มเปี่ยมแล้ว จะเป็นพระธรรมทูตที่ดีไม่ได้ หรือคงเป็นไปได้ยาก

          พระธรรมทูตต้องไม่มีความสงสัยในพระพุทธองค์

          เช่น สงสัยว่าพระพุทธเจ้าเมื่อประสูตินั้น สามารถเดินได้ 7 ก้าว จริงหรือไม่

          เพราะหากยังมีความสงสัยในเรื่องใด ๆ ก็แสดงว่ายังมีความศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าไม่เต็มเปี่ยม  

          อย่าลืมว่าอิทธิฤทธิ์และปาฏิหารย์ต่าง ๆ นั้น เกิดขึ้นและมีได้ ในปัจจุบันก็ยังมีให้พบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ

การที่จะทำให้พระธรรมทูตมีตถาคตโพธิสัทธาอย่างแท้จริง จึงต้องได้ไปชมสถานที่ซึ่งเกี่ยวกับพระพุทธองค์มากที่สุดหลายต่อหลายแห่ง

 

          ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน รวมทั้งสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ 

 

 

คุณสายพิณ มณีศรี และผู้เขียนหน้าพระมหาเจดีย์ พุทธคยา

สถานที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตวันมหาวรวิหาร สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าประทับนานที่สุดถึง 15 พรรษา

          ได้เห็นมูลคันธกุฏี สถานที่ประทับของสมเด็จพระพุทธองค์ กุฏีของพระสาวกต่าง ๆ และต้นอานนทโพธิ ต้นโพธิ์ที่นำเมล็ดมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ซึ่งปัจจุบันมีอายุมากที่สุดในโลก ร่วม 2,600 ปี (ต้นโพธิ์ที่อายุรองลงมาคือต้นโพธิ์ที่ศรีลังกา)

          รวมทั้งได้เห็นเจดีย์ 8 อรหันต์ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ อีกด้วย

                พระธรรมทูตหลายรูปยังไม่เคยไปแดนพุทธภูมิเลยแม้แต่ครั้งเดียว

และแม้ว่าพระธรรมทูตหลายต่อหลายรูปเคยไปยังแดนพุทธภูมิมาแล้ว บางรูปไปครั้งเดียวและบางรูปได้ไปหลายครั้งแล้วก็ตาม

แต่การเดินทางไปในครั้งนี้ไม่ได้เห็นแต่เพียงอย่างเดียว

เพราะได้ฟังอดีตพระธรรมทูตผู้ทรงคุณวุฒิและพระธรรมทูตในปัจจุบัน ได้สับเปลี่ยนส่งไม้การบรรยายถึงความเป็นมาของสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ทุกที่และระหว่างการเดินทาง

นี่ยังไม่รวมถึงการบรรยายและการอภิปรายให้ความรู้จากพระธรรมทูตต่าง ๆ ภายในวัดไทยในแดนพุทธภูมิทั้งที่เดินทางไปจากประเทศไทยและวัดไทยในแดนพุทธภูมินะครับ

          อดีตพระธรรมทูต 2 ท่าน คือ ดร. พระมหาอ้าย ธีรปัญฺโญ วัดนาคปรก และ ดร. พระมหาดวงจันทร์ คุตตสีโล ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ วิทยาเขตเชียงใหม่ มจร ส่วนพระธรรมทูตในปัจจุบันคือ พระครูนิโครธปุญญากร เจ้าอาวาสวัดไทยนิโครธาราม

 

          ทั้งสามท่านได้บรรยายซึ่งง่ายต่อการรับฟัง รวมทั้งให้ข้อมูลอย่างละเอียดละออ ทั้งนี้ ได้ตอบข้อซักถาม

 

 

ดร. พระมหาอ้าย ธีรปัญฺโญ อธิบายสถานที่ต่าง ๆ ในวัดพระเชตวันมหาวรวิหาร กรุงราชคฤห์

ข้อสงสัยและข้อข้องใจต่าง ๆ อีกด้วย

          โดยเฉพาะ ดร. พระมหาดวงจันทร์ คุตตสีโล บรรยายจนผู้เขียนได้น้ำตาถึง 2 ครั้ง

          ครั้งแรกในขณะที่พระธรรมทูตห้อมล้อมพระพุทธรูปปางไสยาสน์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ภายในองค์ปรินิพพานสถูป ครั้งนั้นน้ำตาคลอเบ้า

 

          ส่วนครั้งที่สองที่พระพุทธรูปองค์ดำ มหาวิทยาลัยนาลันทา คราวนี้น้ำตาไม่ทราบว่ามาจากไหน ไหลย้อยลงมาถึงค่อนแก้มทั้งสองข้าง

 

ดร. พระมหาดวงจันทร์ คุตตสีโล อธิบายความเป็นมาของมหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์แรกในพระพุทธศาสนา

 

ผู้เขียนนึกว่าเป็นคนเดียว แต่มองรอบข้างก็ได้เห็นพระธรรมทูตและคณะหลายรูป/คน น้ำตาคลอเบ้าและบางรูป/คน น้ำตาไหลอาบแก้มเช่นเดียวกับผู้เขียนด้วย

          นอกจากนี้ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวแล้วนี้ ยังได้บรรยายให้เห็นถึงพระกรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าและความลำบากในการเดินทางไปโปรดสัตว์ยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งห่างไกลออกไป

          การเดินทางในสมัยก่อนเป็นการเดินทางด้วยเท้า ซึ่งลำบากกว่าในปัจจุบันมากมายนัก

แม้ในปัจจุบัน ถนนหนทางในประเทศอินเดียหลายแห่งยังมี “หลุมลึก” อีกเป็นอันมากก็ตาม

ตัวอย่างเช่น การเดินทางจากเมืองสารนาถ แคว้นพาราณสี เพื่อไปเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ซึ่งอยู่ในรัฐอุตตระประเทต รัฐเดียวกัน ระยะทางประมาณ 385 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงทั้งนี้ ได้แวะดึ่มน้ำปานะและเข้าห้องน้ำเพียงครั้งเดียว

เฉลี่ยแล้วใช้เวลาในการเดินทาง ด้วยความเร็ว ประมาณ 38.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

          พระมหากรุณาธิคุณและพระวิริยะอุตสาหะของพระพุทธองค์นั้น ซาบซึ้งตรึงใจต่อพระธรรมทูตและคณะเป็นอย่างยิ่ง

          เป็นความซาบซึ้งที่เกิดจากการได้ฟังด้วยหู ได้ดูด้วยตาแบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้เกิดศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

          ทำให้พระธรรมทูตมีความเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคตว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ท่านได้กล่าวไว้

          และพร้อมที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นทูตหรือเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

 

                                                          พุธทรัพย์ มณีศรี

 

                                                          puthsup@gmail.com

(ที่มา: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕