หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » บทความวิขาการ61 » เพชรดีต้องผ่านการเจียระไน
 
เข้าชม : ๗๖๘๗ ครั้ง

''เพชรดีต้องผ่านการเจียระไน''
 
พุธทรัพย์ มณีศรี (2561)

 

เพชรดีต้องผ่านการเจียระไน

 

 

ภาพหมู่พระธรรมทูตและคณะ ที่บ้านนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้า

ผู้เข้าอบรมในโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 20 ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  นั้น

          เปรียบเสมือนเป็นเพชรเม็ดงามอยู่ก่อนแล้ว

          เหตุใดผู้เขียนจึงกล้ากล่าวเช่นนี้ ก็เพราะผู้เขียนได้เห็นข้อมูลพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 20 ที่ มจร ได้เก็บรวบรวมไว้

          ประการแรก อาวุโส มีความอาวุโสสูง คือ มากกว่า 30 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง  30-49 ปี

          ประการที่สอง พรรษาสูง กล่าวคือมีพรรษา ตั้งแต่ 5 พรรษา ขึ้น ส่วนใหญ่ 10 พรรษา ขึ้นไป

          ประการที่สาม ระดับการศึกษาภาษาบาลี มีผู้สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “มหา” นั่นแหละครับ ถึง 37 รูป และสุดยอดของเปรียญธรรม คือเปรียญธรรม 9 ประโยค ถึง 3 รูป

          ประการที่สี่ระดับการศึกษาทางโลก ส่วนใหญ่มีวุฒิปริญญาตรีและปริญญาโท คือปริญญาตรี 35 รูป และปริญญาโท 15 รูป และ

          ประการสุดท้าย มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้พร้อมทั้งผ่านการสอบคัดเลือกแล้ว ผู้ที่มีคุณสมบัติและผ่านการสอบคัดเลือก ถือว่าเป็นผู้ที่ความรู้และความสามารถพื้นฐานเหมาะสมที่จะเป็นพระธรรมทูต

          แต่หากจะให้เป็นพระธรรมทูตที่ดีในอนาคตนั้น ต้องผ่านการอบรมเพื่อให้สามารถใช้ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่มีอยู่ให้เต็มที่และให้เห็นเป็นประจักษ์

          มจร ก็เปรียบเสมือนช่างเจียระไนเพชร ที่ต้องเจียรนัยพระธรรมทูตทุกรูป ให้ส่งแสงประกายแวววาวทุก ๆ มุม

 

          พระธรรมทูตเดินทางไปที่ไหน ก็ปฏิบัติตนอย่างเป็นระบียบเรียบร้อย เป็นที่สะดุดตาและเป็นที่สนใจของผู้พบเห็น

 

 

พระธรรมทูตเดินแถวหน้ากระดานเรียง 1 ณ สนามบินพุทธคยา

ดังที่ได้กล่าวในตอนก่อนแล้วว่า หลักสูตรอบรมพระธรรมทูต ประกอบด้วยทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวน 21 รายวิชา

          ภาคทฤษฎี ใช้เวลา 25 วัน ซึ่งมีทั้งการบรรยาย การอภิปราย การซักถาม การประชุมกลุ่มย่อย การแลกเปลี่ยนความรู้ การมอบหมายงานให้ศึกษาค้นคว้า การฝึกปฏิบัติและการประเมินผลการเรียนรู้

          ส่วนภาคปฏิบัติประกอบด้วย 1) การฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน 2) งานสาธารณูปการ เช่น  ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคการก่อสร้าง 3) การฝึกทักษะและประสบการณ์พิเศษ เช่น ฝึกทักษาการทำงานเป็นหมู่คณะ และ 4) การฝึกปฏิบัติและศึกษาดูงาน

          ภาคทฤษฎีไม่มีปัญหา เพราะท่านมีความรู้ความสามารถสูงอยู่แล้ว

          การฝึกปฏิบัติและการศึกษาดูงาน คณะกรรมการได้ประเมินแล้วทุกรูปได้คะแนนดีมาก เพราะท่านได้ทุ่มเททุกอย่างและในแต่ละรูป ซึ่งก็ไม่มีปัญหาใด ๆ

          อาจมีเรื่องเดียวแต่ไม่ใช่ความผิดของท่าน ก็คือการมาสายเฉพาะในบางคืนที่มีการการบรรยายหรือ        การอภิปรายเป็นคณะล่าช้ากว่าเวลาที่นัดหมาย

จะไม่สายได้อย่างไรละครับ ท่านไปทำงานสาธารณูปการหรือทำงานก่อสร้าง ก็มีความจำเป็นที่ต้องอาบน้ำ และห้องพักที่ท่านอยู่ ห้องหนึ่งพักกันอยู่หลายรูป มีห้องน้ำห้องเดียวก็ต้องคอย จึงอาจสายได้เป็นธรรมดา แต่ก็เกิดเฉพาะวันที่มีการปฏิบัติงานสาธารณูปการหรือทำงานก่อสร้างเท่านั้น

          ผู้เขียนในฐานะเป็นคณะกรรมการดำเนินการอยู่ด้วย เห็นว่าการฝึกทักษะและประสบการณ์พิเศษ เช่น ฝึกทักษาการทำงานเป็นทีม และการฝึกปฏิบัติและศึกษาดูงานประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง

          แต่หากจะให้ดีต้องฟังพระธรรมทูตที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งผู้เขียนได้เลือกสัมภาษณ์พระมหาอภิสิทธิ์ วิริโย อีกครั้งหนึ่ง

          ที่เลือกท่าน เพราะนอกจากท่านเป็นผู้แทนพระธรรมทูตที่ได้รับเลือกให้กล่าวแสดงความรู้สึกในวันปิดการฝึกปฏิบัติและศึกษาดูงานที่วัดไทยพุทธคยาแล้ว

          ท่านยังจบการศึกษาขั้นปริญญาโทและเปรียญธรรม 9 ประโยค อีกด้วย

          เมื่อถามให้ท่านกล่าวถึงภาพรวมทั้งหมดของการอบรมครั้งนี้

          คำตอบของท่านคือ

          ในภาพรวมทั้งหมดของการได้มาในแดนพุทธภูมิ สิ่งที่จะนำไปใช้ในขั้นต้นน่าจะเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในแต่ละที่ เช่น สถานที่ตรัสรู้ ได้มองเห็นถึงความอุตสาหะของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นโดยฝันและอธิษฐานให้เกิดอย่างเดียว แต่พระองค์ลงมือทำให้เห็นและชี้ทางถูกแนะทางผิดให้ด้วย

สถานที่แสดงธรรม มองเห็นความกรุณาอันยิ่งใหญ่ที่มีในพระทัยของพระองค์ ซึ่งพระองค์จะไม่แสดง

ธรรมก็ได้ แต่ด้วยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานและเป็นข้อชี้ชัดให้พุทธสาวกทั้งหลายพึงดำเนินตามว่า ในเมื่อเราได้รู้แล้วและเราได้เป็นพยานบุคคลชั้นยอดแห่งการตรัสรู้ของพระองค์แล้ว น่าจะทำอะไรให้มากกว่านั้น คือนำสิ่งที่ดีที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ เหมือนกับเราได้กินแล้ว ได้รู้ ได้เห็นแล้ว เราพอได้อิ่มบ้างรู้รสบ้าง ควรจะได้พูดว่าเราได้ชิมได้ดื่มแล้วบ้างนี้ ให้แก่ผู้ที่ยังไม่รู้หรือผู้ที่รู้แต่ยังไม่แจ่มชัดให้แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

 ส่วนสถานที่ปรินิพพาน ควรน้อมใส่ตนว่า ชีวิตเราก็แค่นี้นะ พระองค์ผู้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น พระองค์ก็ยัง

ต้องทิ้งทุกอย่างไว้ในโลกนี้เป็นเพียงมรดก และมรดกที่สำคัญคือมรดกธรรมที่พระองค์ได้ทิ้งไว้ สุดท้ายที่พระองค์ทรงแสดงไว้คือ ความไม่ประมาทที่จะให้ทุกคนได้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และดำเนินตามสิ่งที่พระองค์ได้ดำเนินการไว้ดีแล้ว ซึ่งทุกคนได้ฟังและใช้วิจารณญาณของตนเอง เมื่อเห็นดีเห็นงามแล้วไม่ต้องด่วนเชื่อเพียงแต่ลองทำ ถ้าได้ผลดีจริงก็ดำเนินตามทางนั้นต่อไป

สำหรับคำถามที่ถามว่าโครงการอบรมพระธรรมทูต ควรจะดำเนินงานอย่างไรต่อไป และควรจะปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง คำตอบก็คือ

 

ในแนวโน้มทิศทางของโครงการจะจัดเป็นหลักสูตรเป็นวิทยาลัยอยู่แล้ว อาตมาคิดว่าถ้าจะเพิ่มพูนให้มากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นพระธรรมทูตหมายถึงขยายขอบข่ายพระธรรมทูตให้มากยิ่งขึ้น ก็ควรจะมีการดูงานของวัดที่ไม่ใช่วัดไทยอย่างเดียว อาจเป็นของอินเดีย เกาหลีหรือญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในแดนพุทธภูมินี้ก็ได้ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสให้ได้ศึกษาและรู้งานบริหารจัดการ และหากเป็นไปได้ควรให้ไปดูงานตามภูมิภาคที่พระธรรมทูตจะไปประจำด้วย จึงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะเป็นพระธรรมทูต ทั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นแนวทางหรือเส้นทางพอให้รู้พื้นฐานที่จะไปสู่ประเทศในภูมิภาคนั้น ๆ ต่อไป”

 

 

 

พระมหาอภิสิทธิ์ วิริโย (แถวหลังรูปที่ 5 จากซ้าย) ถ่ายกับกลุ่ม 5 ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา กรุงราชคฤห์

   ครับ ข้อเสนอของท่านก็คงเสนอต่อ มจร เพื่อพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

          ยังมีด่านสำคัญซึ่งเป็นด่านหินที่สุดพระธรรมทูตจะต้องผ่านให้ได้ คือการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่แคมป์สน เพชรบูรณ์ ในระหว่างวันที่ 9 เมษายน ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2557

          ในอดีตที่ผ่านมา พระธรรมทูตจะผ่านการสอบหรือไม่ ได้เป็นพระธรรมทูตหรือไม่ ก็เพราะการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี่แหละครับ

          จึงขอภาวนะขอให้พระธรรมทูตทุกรูปผ่านการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนะครับ

 

          สุดท้ายอยากจบด้วยงบประมาณในการอบรมพระธรรมทูต

นอกจากเป็นงบประมาณของ มจร และส่วนราชการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ สนับสนุน รวมทั้งพระธรรมทูตแต่ละรูปต้องจ่ายเป็นค่าลงทะเบียนแล้ว

ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายก็มีส่วนช่วยในโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศนี้ด้วย

          ท่านใดที่มีจิตศรัทธาและมีความประสงค์จะสนับสนุนโครงการนี้ ก็อาจติดต่อได้ที่วิทยาลัยพระธรรมทูต มจร

          หรือที่ส่วนธรรมวิจัย ทั้งที่ มจร วังน้อย และ มจร วัดมหาธาตุ โดยระบุด้วยนะครับว่าสนับสนุนโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ

          ช่วยกันคนละไม้คนละมือ

          เพื่อช่วยให้เราจะได้มีพระธรรมทูตที่ดีและพร้อมที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนกันต่อไป

          ซึ่งนอกจากจะได้จรรโลกพระพุทธศาสนาตามเจตนารมย์ของมหาเถระสมาคมแล้ว ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยในต่างแดนด้วย

                                                                               พุธทรัพย์ มณีศรี

 

                                                                               puthsup@gmail.com

(ที่มา: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕