หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร. » สัจพจน์ : ทฤษฎีที่ว่าด้วยการตีความของท่านกูไก
 
เข้าชม : ๑๘๒๑๕ ครั้ง

''สัจพจน์ : ทฤษฎีที่ว่าด้วยการตีความของท่านกูไก''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (2548)

 

 

                                                                         สัจพจน์:

ทฤษฎีที่ว่าด้วยการตีความของท่านกูไก[1]

 

 

                คริสต์ศตวรรษที่เก้าแห่งประเทศญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิ์กัมมุ[2] (Kammu) ทรงย้ายเมืองหลวงไปตั้ง ณ เมืองเฮอัน (Heian)[3]  หรือชื่อที่ใช้เรียกกันในยุคปัจจุบันนี้ว่า “เกียวโต”  ณ ภูเขาแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “โยชิโน” ใกล้ ๆ เมืองหลวงเดิมบริเวณเมืองนารา (Nara) และเมืองนาคะโอกะ (Nagaoka) ได้มีสหายผู้ยังเยาว์วัยกลับปลีกวิเวกไปนั่งสมาธิ เพ่งพระจันทร์วันเพ็ญที่ลอยเด่นอยู่เหนือพระหทัยของพระโพธิสัตว์ โกกูโซ กำลังสวดธารณี[4] (darani) เพื่อสรรเสริญอุทิศต่อพระโพธิสัตว์อย่างไพเราะ อะไรเป็นแรงจูงใจทำให้ชายผู้นี้อำลาวงการวิชาการในเมือง แต่กลับไปใช้ชีวิตแบบสมถะบนภูเขาแทน? สาเหตุใดทำให้เขาหันหลังให้กับอาชีพข้าราชการอันแสนจะสบายเพื่อที่จะร่อนเร่ไปบนภูเขาโยชิโนอันหนาวเหน็บ เดินทางไปพบอาจารย์คนแล้วคนเล่า สนทนากับนักพรตคนแล้วคนเล่า? ประโยชน์อันใดจากมนตราอันนี้ที่เขาให้ค่ายิ่งกว่าการศึกษาวรรณกรรมจีนที่เขาพอใจอย่างยิ่งและเชี่ยวชาญอย่างสูง?

                อย่างไรก็ดี  ไม่ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในชีวิตเพียงไร  ในส่วนลึกของชายหนุ่มมีความเชื่อมโยงผสมผสานระหว่างอดีต อัจฉริยภาพและแรงผลักดันไปสู่การหยั่งถึงส่วนลึกของจิตใจเขาเอง  ผลานิสงส์แห่งวินัยอันเข้มงวดนั้นไม่ได้ถูกคิดขึ้นเพื่อเป็นพลังอำนาจการรักษา หรือพลังจิต หรือความสามารถพิเศษแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น แรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการหันหลังให้กับตำรับตำรามาใช้ชีวิตตามป่าเขาลำเนาไพรนั้นได้ชื่อว่าเป็นการแสวงหาทางพุทธิปัญญาอย่างแท้จริง การแสวงหานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานจากการอ่านพระคัมภีร์ที่ชื่อว่าโกกุโซคุโมนจิโฮ (Kokuzogumonjiho) มาณพหนุ่มผู้นี้เชื่อว่าหากเขาปฏิบัติเยี่ยงนักพรตเพื่อวิโมกข์และสวดบท        ธารณีล้านครั้ง เขาจะสามารถจดจำและเข้าใจสารัตถะสำคัญของงานวิชาการทางพระพุทธศาสนาทั้งหมด

                ฉายาของมาณพผู้นี้ก็คือ กูไก ซึ่งหมายถึง “นภาและสมุทร” หรือ “สมุทรแห่งสุญญตา” หลังจากสิ้นชีวิตท่านได้รับตำแหน่ง โคโบไดชิ (บรมครูผู้เผยแผ่ธรรมะ) ฉากชีวิตในวัยหนุ่มของท่านแสดงให้เราเห็นความทุ่มเทอันละเอียดสุขุมเพื่อการตีความพระคัมภีร์ ความสนใจในการตีความพระคัมภีร์นี่เองแสดงให้เห็นความเชื่อมั่นในส่วนลึกของท่านที่ว่า “ความหมายที่จริงแท้นั้นหาใช่ตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษไม่ แต่เป็นพลวัตระหว่างตัวอักษรกับผู้อ่าน”[5] โดยแท้จริงแล้ว ศรัทธาของท่านในประเด็นดังกล่าว  มีความตั้งมั่นมากจนกระทั่งท่านเต็มใจที่จะละทิ้งการศึกษาพระคัมภีร์ชั่วคราวเพื่อเป็นผู้อ่านที่อ่านได้ดียิ่งขึ้น

                เพื่อจะเข้าใจทรรศนะการตีความของกูไก จำต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจในตัวบุคคลก่อน คำตอบของเขา จะตอบคำถามของได้เอง  ไม่ใช่ตอบคำถามของเรา เพื่อเข้าใจสิ่งที่เขาได้กล่าวไว้ จำต้องย้อนกลับไปดูยังสถานที่และเวลาที่เขาได้เคยกล่าว   ในความเป็นจริงแล้ว  ตัวกูไกเองมุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงรหัสยทั้งสามหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิสาสะ (ความคุ้นเคย, ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง) (Sammitsu)  ได้แก่ กาย วาจา ใจ[6] ดังนั้นเพื่อจะเข้าถึงความหมายของคำที่เขากล่าวไว้ จำต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางจิตวิทยาและกายภาพที่เขาได้ใช้ชีวิตอยู่

                กูไก เกิดในปี ค.. 774 ในตระกูลเซไก (ซึ่งเป็นสายหนึ่งของตระกูลโอโตโม (Otomo) ที่ทรงอิทธิพล) ที่จังหวัดซานุกิ (Sanuki) บนเกาะคิวชู (Kyushu) ในการเปิดเผยถึงอัตชีวประวัติเกี่ยวกับท่านกูไกนั้น  ท่านชิบะ เรียวตาโร (Shiba Ryotaro) ได้พูดถึงสภาพแวดล้อมที่กูไกถือกำเนิดว่า

จังหวัดซานุกิที่กูไกเกิดตั้งอยู่ใกล้ห้าจังหวัดรอบเมืองหลวง มีแม่น้ำจินุ (Chinu) กลาง ทุ่งราบกว้างขวาง เนินเขาทรงกรวยแต่งแต้มภูมิประเทศราวกับปะพรมผืนทุ่งกว้าง เป็นไปได้ว่าเพราะทุ่งราบอันกว้าง ท้องฟ้าเปล่งประกายรับกับท้องทะเลกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เมฆาเคลื่อนคล้อยเป็นกลุ่มก้อนแล้วแปรเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ทัศนียภาพเช่นนี้หรอกหรือที่หล่อเลี้ยงเกื้อกูลวิสัยทัศน์ให้กับผู้คน?

                กูไกก็เหมือนชนชั้นสูงทั่ว ๆ ไปที่ได้รับการศึกษาในวัยเด็ก ได้เรียนศิลปวิทยาการแบบจีน จากนั้นก็เข้ามหาวิทยาลัยในเมืองหลวง  กระนั้น  ในฐานะที่เป็นชาวชิโกกุ (Shikoku) ท่านจึงเติบโตขึ้นห่างไกลจากความซับซ้อนของเมืองใหญ่และวิถีชีวิตของราชสำนักนารา แม้ว่าท่านเป็นเพื่อนกับพระจักรพรรดิ์และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำนาญการทางวัฒนธรรม แต่ว่าท่านไม่ได้หลงใหลในแสงสีแบบชาวเมืองแต่ประการใด กลับชื่นชอบจิตวิญญาณแห่งภูเขา ซึ่งท่านได้แสดงออกมาอย่างชัดแจ้ง  ปีต่อ ๆ มา ท่านกูไกชอบที่จะอ้างถึงธรรมชาติในนามของท่าน

 

สาเหตุอันใดเล่าที่ข้ามุ่งสู่คิรี

ท่านถามว่า เหตุใดครูจึงจมอยู่ในพสุธาอันหนาวเหน็บ

สถานที่ยากลำบากท่ามกลางยอดเขาลึกและสูงชัน

ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด และอันตราย

สถานที่ซึ่งเทพารักษ์แห่งภูเขา และรุกขเทวดาอาศัยเป็นวิมาน

ไม่มีเหตุอันใดที่ต้องอยู่ในเมืองต่อไป

ข้าพเจ้าจำต้องไป....ต้องไป

แต่ไม่หรอก ข้าพเจ้าอยู่ในเมืองไม่ได้หรอก

บรมครูแห่งสุญญตานี้ เป็นพระบุตรแห่งสมุทรขีร์

ไม่ย่อท้อเพื่อยลบรรดาก้อนหินและต้นสนในโกยะคีรีแต่ประการใด

และยังคงไหลเลื่อนอย่างชัดเจนอยู่ไม่ขาดสาย

หาหลงระเริงกับชื่อเสียงและลาภยศไม่

ไม่ยอมถูกกลืนกินโดยโลกมายาอันเกรี้ยวกราด

ผู้สละซึ่งโลกใช้ชีวิตพรหมจรรย์ ย่อมบรรลุอาณาจักรแห่งธรรมกายในไม่ช้า

 

                ขณะกูไกมีอายุ 18 ปี ท่านได้ท่องเที่ยวไปในเมืองหลวงเพื่อศึกษาและได้เสริมให้ความศรัทธาต่ออภิจิตของภูเขามีอิทธิพลขึ้นมา นิกายต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา หรือ 6 สำนักแห่งนารา ซึ่งได้รับรองโดยรัฐบาลยึดแนวคันถธุระ ซึ่งเน้นการศึกษาพระคัมภีร์เหนือการปฏิบัติ แท้จริงแล้ว เจ้าสำนักต่าง ๆ ในเมืองหลวง เช่น ท่านโกเมียวแห่งแห่งนิกายโยคาจาร ท่านเต๋าซวนแห่งนิกายวินัย-อวตังสกะ และท่านโดจิแห่งมาธยมิก ดูเหมือนว่าท่านเหล่านี้ก็ได้เดินทางไปยังภูเขาโยชิโนเพื่อปฏิบัติธรรมเป็นระยะ ๆ เช่นเดียวกัน ดังนั้น สำหรับกูไกแล้วการสละชีวิตเมืองจึงไม่ใช่ลัทธินอกรีตแต่ประการใด เพียงแต่ท่านทำอย่างจริงจังและจิตมุ่งมั่น

                หลังจากท่านกูไกหลบออกจากมิตรอาณาจักร ท่านก็ได้ปลีกตนไปอยู่ป่าเขาเป็นเวลาหลายปี ท่านได้รจนาคัมภีร์วิจักษ์ศึกษา (critical study) ชื่อ อรรถะแห่งพระตรีสาสน์ (Aims of the Three Teaching) หากจะให้เข้าใจหลักทฤษฎีการตีความของกูไก ผลงานรจนาชิ้นนี้นับว่ามีความสำคัญในการทำความเข้าใจทฤษฎีการตีความของท่านกูไกในหลายแง่มุม กล่าวคือ

1) มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแหล่งเกิด[7] ซึ่งมีลักษณะเป็นผลงานเกี่ยวกับศิลปะแห่งการสอนระหว่าง ขงจื้อ เต๋า และพุทธ ในคำนำ ท่านกูไกได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้สองประการคือ ประการแรกท่านต้องการขอขมาญาติพี่น้องที่ท่านละทิ้งการศึกษาลัทธิขงจื้อ เพื่อชีวิตนักบวชในทางพระพุทธศาสนา

2)  เพราะเหตุที่ในผลงานนี้มีความพยายามอันแรงกล้าที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตอย่างเหลวแหลก ดังนั้น ท่านกูไกจึงหวังว่างานของท่านจะสามารถใช้ได้ผลกับหลานชายของท่านเอง

                เราสามารถที่จะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคัมภีร์ “อรรถะแห่งพระตรีสาสน์”[8] (Aims of the Three Teaching) ได้ทั้งหมด 3  ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ

1) ท่านกูไกมีความชัดเจนในสิ่งท่านกำลังทำและพยายามทำให้สำเร็จโดยเขียนงานขึ้น คำนำแรกเริ่มนั้นได้เปรียบเทียบงานของท่านกับงานอื่น ๆ  ทั้งในภาษาจีน และญี่ปุ่น เป็นที่ชัดเจนว่าเรื่องแต่ง นั้น  ถูกประเมินจากผลกระทบที่มีต่อผู้อ่านมากกว่าเนื้อหาหรือรูปแบบงานเขียน ดังนั้น งานที่กอปรด้วยเจตคติแห่งการสอนและเรียนรู้ (ดังเช่นของท่านกูไก) จึงเป็นการแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่ มากกว่างานที่มีลักษณะยั่วยวน โน้มน้าว ปลุกเร้าอารมณ์ หรืองานประเภทบันเทิงคดี ณ ประเด็นนี้ทำให้เราทราบแนวโน้มของท่านกูไกที่จะตีความหมายพระคัมภีร์ที่ “การใช้” คำเท่า ๆ กับ “การสื่อ” คำ (คำในพระคัมภีร์ใช้บ่งอะไร  ไม่ใช่แค่การเขียนลอย)

                2) เราสามารถเปรียบเทียบท่านกูไกกับเพลโตได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทสนทนาช่วงต้นและกลางของชีวิตท่าน ท่านกูไกมองว่าสถานะของศาสนาและปรัชญาอยู่ที่ผู้เชื่อและยึดถือ หมายความว่ามาตรฐานหลักในการประเมินคำสอนอยู่ที่ประสิทธิภาพของคำสอนเองที่มีต่อผู้เข้าถึง ท่านกูไกได้กล่าวไว้ในหัวเรื่องของงานของท่านว่าท่านสนใจในเป้าหมาย (aims) ของตัวคำสอนมากกว่าเนื้อหาสาระ เพราะท่านมองว่าเป้าหมาย (aims) ไม่สามารถแยกออกจากเนื้อหาได้ ท่านมองว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ (no sharp distinction between theory and practice)

                3) งานของท่านกูไกชี้ให้เห็นว่างานยุคแรก ๆ ท่านใช้จินตนาการเป็นสื่อสำหรับแสดงธรรมะ ในการอธิบายความคำสอนของขงจื้อ เต๋า และพระพุทธศาสนา ท่านกูไกใช้อุบายเชิงศิลปะ กล่าวคือการก่อให้เกิดการสนทนาแบบนิยายในระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนวิถีชีวิตของคำสอน 3 แบบนั้น  (three life-style) ท่านกูไกไม่เคยหวนกลับไปพูดถึงบ่อเกิดของตัวคำสอนอีก[9] แต่ท่านกลับใช้การแสดงออกเชิงศิลปะเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะ[10]และบทกวี[11] ซึ่งท่านมองว่าเป็นสื่ออุดมคติที่ถ่ายทอดสัจจะอันสุขุมคัมภีร์ภาพได้ลึกซึ้งที่สุด

                แต่เมื่อกล่าวถึงสาระสำคัญที่แท้จริงของคัมภีร์อรรถะแห่งพระตรีสาสน์ เราสามารถที่จะเข้าสู่เนื้อหาของงานเขียนตามที่ปรากฏให้เห็นภาพที่ชัดแจ้งจากการวิเคราะห์ใน 2 ประเด็น ต่อไปนี้

1) เนื้อหาของแนวคำสอนและแนวปฏิบัติ เราสามารถที่จะสังเกตได้ว่าหลักคำสอน  3 แบบ (ขงจื้อ, เต๋า, และพระพุทธศาสนา) ล้วนมุ่งเพื่อเป็นมรรควิธีสำหรับคนวัยรุ่น ขงจื้อเน้นหน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และสถาบันกษัตริย์  ขงจื้อกล่าวว่าหากวัยรุ่น (คนหนุ่ม-สาว) ศึกษาคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เขาก็จะพบความกลมกลืนในปัจเจกชน และในสังคมมากกว่าจะเถลไถลไปกับความพอใจระยะสั้น ๆ ที่เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างย่อหย่อนในกฎระเบียบ สำหรับเต๋าแล้ว ชีวิตที่บริสุทธิ์และอายุที่ยืนยาวจะเป็นของผู้ที่ปฏิบัติตามวิถีแห่งการใคร่ครวญตนเอง

ส่วนทรรศนะของพระพุทธศาสนาแล้ว จะมองไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามจากทัศนะของขงจื้อและเต๋าซึ่งมุ่งเน้นในเชิงโลกียวิสัย เพราะพระพุทธศาสนามองว่าโลกแห่งโลกียะเป็นโลกแห่งอนิจจังและเต็มไปด้วยความทุกข์ สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือพระนิพพานอันเป็นบรมสุข อันเป็นพื้นฐานของปัญญาญาณ และความเมตตาสำหรับมวลมนุษย์ โดยสรุปแล้ว ทั้งสามทรรศนะล้วนชี้ให้เห็นทางแห่งความเสื่อมด้านศีลธรรม เพื่อจะเยียวยาชีวิตสำมะเลเทเมา ทั้งสามทรรศนะต่างถือว่ามีประสิทธิภาพ (คือใช้ได้)  อย่างไรก็ตาม ท่านกูไกไม่ได้มองว่าคำสอนทั้งสามนั้นเท่าเทียมกัน โดยเป้าหมาย ศาสนาพุทธเหนือกว่าเต๋าและขงจื้อ เพราะมีทัศนะที่สมบูรณ์สูงส่ง และเป็นที่สุด  นี้เป็นเหตุผลทำให้เราต้องพิจารณาถึงประเด็นที่สอง

2) เป้าหมายของการปฏิบัติตามแนวของตรีสาสน์ พระพุทธศาสนานั้นไปได้ไกลกว่าเพราะว่าพระพุทธศาสนามีทรรศนะว่าด้วยเรื่องโลกุตตระ[12] อีกนัยหนึ่งคือว่า เป้าหมาย (aims) ของคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นไปได้ไกลกว่าโลกียะคือโลกแห่งประสบการณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ศาสนาที่สอนเรื่องเหนือโลกได้  ศาสนานั้นจะดีกว่า  ด้วยเกณฑ์นี้  ความเป็นเอกภาพทางสังคมของขงจื้อเป็นการก้าวข้ามกามสุขของวัยรุ่น แต่ก็ยังคงเป็นรองลัทธิเต๋าที่แสวงหาอมตภาพ ส่วนพระพุทธศาสนาสอนเรื่องเหนือโลก (สู่โลกอื่น คือ นิพพาน) ท่านกูไกจึงจัดให้อยู่เหนือสุด

                แม้ว่าทัศนะของท่านกูไกที่มองว่าพระพุทธศาสนามีความโดดเด่นจะไม่เปลี่ยนแปลง ก็ยังจำเป็นที่เราต้องมองให้เห็นว่า ท่านมองพระพุทธศาสนาว่าเป็นมากกว่าแค่คำสอนปลีกวิเวกปฏิเสธโลก   ดังนั้น เราต้องย้อนไปตรวจสอบอัตชีวประวัติของท่านกูไก สำรวจประสบการณ์ที่ทำให้ท่านละจากภูเขากลับไปสัมผัสชีวิตชาวเมืองที่วุ่นวายในช่วงราชสมัยฉางอัน (Ch’ang-an) เป็นเมืองหลวงของจีน

                การอ่านพระคัมภีร์ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของท่านกูไกอีกครั้ง เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 30 ปี ท่านได้พบสำเนา “ไดนิชิเกียว” (มหาไวโรจนสูตร)[13] เราสามารถมองเห็นความเกี่ยวข้องระหว่างงานชิ้นนี้และคัมภีร์เล่มก่อนที่ส่งผลกับท่าน (Kokuzogumonijiho)

                ประการแรก  ผลงานทั้งสองชิ้นเป็นภาษาจีนโดยคน ๆ เดียวกัน นั่นก็คือ สุภากรสิงหา (.. 637-735) ผู้ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกรูปแรกของนิกายพุทธรหัสยะในจีน เพราะได้รับอิทธิพลจากการแปลของสุภากรสิงหา ท่านกูไกจึงได้กลายเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธศาสนาแบบรหัสยะในจีน ดังนั้นเมื่อท่านกูไกเดินทางไปประเทศจีน ท่านจึงสามารถซึมซับเอาคำสอน “มนตรยาน” (Shingon) เป็นเวลานานกว่าสองปี สิ่งนี้เองเป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องไม่เพียงแต่อัจริยภาพของท่านเท่านั้น แต่ท่านยังเป็นศิษย์ชินงอนนิรนามตั้งหลายปี ได้ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนโดยไม่ได้อิงอาศัยโครงสร้างทางพิธีกรรมและเนื้อหาปรัชญาของนิกายชินงอนเลย

                ประการที่สอง  ความเกี่ยวข้องประการที่สองระหว่าง ไดนิชิเกียว กับ โกกูโซคุโมนิจิโฮ ยิ่งน่าสนใจ ดังที่เราได้ทราบแล้วว่า ท่านกูไกได้ปลีกตนไปอยู่ภูเขาเพราะท่านมีความเชื่อว่าการท่องหรือสวดโกกูโซธารนีล้านครั้ง จะสามารถช่วยให้ท่านจดจำและเข้าใจเนื้อความในพระคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาทั้งหมด แต่ท่านกูไกกลับพบว่าท่านไม่สามารถเข้าใจหัวใจของมหาไวโรจนสูตรได้เลย เพราะเหตุที่ไม่มีใครในญี่ปุ่นสักคนจะช่วยให้คำตอบท่านได้ ดั้งนั้นท่านจึงแก้ไขปัญหาโดยการศึกษาแหล่งเกิดของคัมภีร์มหาไวโรจนสูตร  ก็คือเดินทางไปประเทศจีน

                ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่าทำไมความล้มเหลวในการปฏิบัติด้วยการสวดโกกูโซ[14] ไม่ได้ส่งผลให้ท่านกูไกท้อถอย ตรงกันข้ามท่านกูไกกลับยอมเสี่ยงชีวิตเดินทางอย่างอยากลำบากไปยังประเทศจีน คำอธิบายหนึ่งก็คืออาจเป็นได้ที่ท่านพบว่าท่านสามารถเข้าใจถึงหัวใจ (เนื้อหา) แห่งพระคัมภีร์ โดยไม่ต้องอ้างตามพิธีกรรม เพราะเหตุที่ไม่มีเส้นแบ่งครึ่งระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติเชิงรหัสยะ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ชาวญี่ปุ่นยังไม่รู้จักในเวลานั้น ท่านจึงตระหนักว่าความรู้ของท่านควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติ ความเชื่อนี้เองที่ทำให้ท่านกูไกตัดสินใจเดินทางไปสู่จีน

                ยิ่งกว่านั้น  บางทีท่านกูไกอาจหยั่งเห็นจุดเชื่อมโยง (ประนีประนอม) ของบางสิ่งในคัมภีร์ยิ่งกว่าแค่ตีความสัจธรรมในอีกแง่หนึ่ง บางทีท่านอาจหยั่งเห็นหน่อแห่งทฤษฎีการตีความทั้งหมด  สัมพันธ์กับพลัง (แรงผลักดัน) 2 กระแสที่ยังยังไม่เชื่อมโยงกันในชีวิตของท่าน  หนึ่งคือศรัทธาในคัมภีร์ว่าสามารถเผยสัจจะที่เปลี่ยนชีวิตคนได้ และสองคือความเชื่ออย่างรุนแรงว่าสัจจะดำรงอยู่ในการปฏิบัติ ไม่ใช่เนื้อหาปรัชญา ในฐานะปัจเจกบุคคล ท่านกูไกรู้สึกถึงความขัดแย้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งท่านอยู่ในสถานที่สันโดษ ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่พบตามขุนเขา อีกด้านหนึ่งของท่านอยู่ในโลกของถ้อยคำ  คัมภีร์ และวัฒนธรรม  บางครั้งท่านต้องเชื่อมโยงภูเขาเข้ากับเมือง  ลักษณะดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่ชาวธรรมชาติ วิญญาณ และไสยศาสตร์  กับอีกด้านที่ยอมรับบูชานักปราชญ์ การเรียนรู้ และคุณธรรมตามแบบจีน  อาจเป็นความขัดแย้งภายในนี่เอง  (ความขัดแย้งทางบุคคลและวัฒนธรรม) ที่นำพาให้ท่านกูไกยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อขอเข้าใจคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมที่คลุมเครือ

                จะอย่างไรก็ตาม ท่านกูไกก็ไปเมืองจีนและกลับมาหลังจากช่วง 2 ปีครึ่ง ในฐานะเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่แปดแห่งนิกายพุทธรหัสยะ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่แนวทางของท่านก็คือนิกายพุทธ          มันตรยาน  ในทางประวัติศาสตร์ มนตรยานคือสำนักที่ใช้  “มนตรา” หรือ คาถาศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น  คำนี้จึงมีนัยยะถึงการปฏิบัติเชิงพิธีกรรม แต่ในแนวทางความหมายของรูปคำ  ลักษณะของนิกายชินงอนบ่งถึงถ้อยคำแห่งความจริง (สัจพจน์)

                การผจญภัยแสวงหาความจริงของท่านกูไก ดังที่เราทราบ เป็นการแสวงหาสัจจะแห่งวจนะ (สัจพจน์) ทั้งโครงสร้างทางพิธีกรรมและการแสวงหาสัจจะเป็นสิ่งชี้ให้เห็นทฤษฎีชินงอนที่ท่านกูไกได้รับสืบทอดมาและพัฒนาต่อ เพื่อจะให้เข้าใจทฤษฎีการตีความของท่านกูไก เราจะข้ามไปพูดถึงประเด็นทางปรัชญาและพิจารณาเป็นประเด็น ๆ ไป

                หัวใจแห่งการตีความของท่านกูไกเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติ (ลักษณะบ่อเกิด) ของพจน์ (คำ) จากจุดยืนของนิกายชินงอน ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลเป็น “วิสัญญลักษณ์”[15](expressive symbol), monji, แห่งธรรมกาย ในข้อเท็จจริง จักรวาลเป็น “เอกสัญญลักษณ์” [16](symbolic embodiment) แห่งธรรมกาย เช่นเดียวกับพระพุทธองค์, พระมหาไวโรจนะ  (Dainichi) ในประเด็นนี้ตรงกันข้ามกับบางนิกายในพระพุทธศาสนาซึ่งเข้าใจว่าธรรมกายเป็นเป็นพุทธสัจจะนามธรรม แต่นิกายชินงอนยืนยันว่าเอกลักษณ์ระหว่างพระพุทธองค์ (พุทธภาวะ) กับ สัจจะเป็นรูปธรรมและเป็นบุคลาธิษฐาน  เพื่อจะเข้าใจผลกระทบของคำสอนนี้ การศึกษาทฤษฎีของชินงอนจะเป็นประโยชน์มาก เพราะว่าทฤษฎีของชินงอนมีอิทธิพลอยู่ใน 3 ระดับคือ  จักรวาล (cosmic)  จุลจักรวาล (microcosmic)  และมหาจักรวาล (macrocosmic)

                ในระดับจักรวาล  โลกเป็นเพียงพฤติภาพหรือเป็นพฤติการณ์ของของพระมหาไวโรจนะ (ไดนิจิ เนียวไร)  สำหรับผู้บรรลุแล้ว พระมหาไวโรจนะจะอยู่ในภาวะแห่งฌานส่องให้เห็นสัจจะภาวะทางจิต (Mandala)  ก่อให้เกิดเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ทางวาจา (mantra) และก่อให้เกิดท่าทางอันศักดิ์สิทธิ์ (mudra)[17] จากทรรศนะนี้ เราล้วนเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในพฤติการณ์ทางจิตใจ, วาจา, และกาย  ของปัญญาญาณของพระมหาไวโรจนะ  ซึ่งเรียกว่า “ตรีรหัสยะ” (three-mysteries) หรือ “ตรีกรรม” (three-intimacies) เพราะเหตุที่พระมหาไวโรจนะนั้นเปี่ยมไปด้วยปัญญาญาณ  ดังนั้น  จึงไม่มีอะไรถูกปิดบัง สิ่งทั้งหลายจึงเป็นการเปิดเผยตัวตนอันเป็นบรมสุข ในกรณีนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเกี่ยวพันและแนบแน่นอยู่ใน “ตรีกรรม” (three-intimacies)

                ในมุมมองแบบจุลจักวาล กิจกรรมของการตรัสรู้ของพระมหาไวโรจนะถูกเผยออกเป็นเสียงสะท้อนที่สามารถรับรู้ได้ เสียงสะท้อนเหล่านั้นก่อตัวในรูปโครงสร้างดังเช่นธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ  ลม และอากาศ  ปัญญาแห่งจิตใจทั้ง 5  และสัททะทั้ง 5 ที่เป็นพื้นฐานของภาษาทั้งหมด  อันหลังนี้ เราสามารถพูดได้ว่าพื้นฐานของทุก ๆ พจน์  (ตัวอักษร หรือคำ) ล้วนเป็นสัจพจน์ทั้งหมด  เพราะมันแสดงให้เห็นว่า แม้ในระดับย่อยก็อยู่ในกิจกรรมสร้างสรรค์ของพุทธะ

                สิ่งนี้นำเราไปสู่ระดับกายภาพ มหาภาค หรือมหกายภาพ ซึ่งก็คืออาณาจักรของความจริงที่รับรู้ได้ หรือประสบการณ์ของมนุษย์ทั่วไป แม้ว่าจักวาลทั้งมวลเป็นการแสดงตัวของพระมหาไวโรจนะในระดับเหนือประสาทสัมผัส และแม้ว่าจักรวาลถูกก่อตัวขึ้นโดยเสียงสะท้อนที่แสดงกิจกรรมของพระมหาไวโรจนะในระดับจุลจักรวาล  (microcosmic sense) แต่เราลืมคำนึงถึงมิติทางจิตวิญญาณเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิงในชีวิตประจำวัน  ในระดับกายภาพ มหาภาค หรือมหกายภาพ เราเพียงตระหนักถึงวัตถุและเหตุการณ์ประจำวันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โดยการปฏิบัติของชินงอนเราไม่เพียงสามารถตระหนักหรือรับรู้ถึงโลกในฐานะที่เป็นโลกแห่งวัตถุเท่านั้น แต่เรายังรับรู้ถึงโลกแห่งวิสาสะ (คือโลกแห่งความใกล้ชิด สัมพันธ์กัน) ซึ่งแต่ละสิ่งนั้นแสดงหน้าที่แห่งการตรัสรู้ของพระมหาไวโรจนะ  ต่อไปเราจะได้พิสูจน์ลักษณะแห่งการปฏิบัติ ซึ่งถือว่าใกล้ชิดกับประเด็นของพจน์ (อักษรหรือคำ)

                 ดังที่กล่าวไว้แล้ว  มีความลึกลับหรือความเข้าใจที่ลึกซึ้ง 3 แบบ คือ ท่าทางกาย การเพ่งสมาธิ และการเปล่งเสียงหรือคำพูด ในแต่ละความเข้าใจที่ลึกซึ้งนั้น พิธีกรรมเข้ามาสนับสนุนบริบททางวิญญาณ เพื่อทำให้เราเกิดการรับรู้โดยตรงถึงพฤติกรรมอันบริสุทธิ์ทางกาย วาจา และใจของพระพุทธไวโรจนะในกรอบของภาษา เช่น  พิธีกรรมของนิกายชินงอน (Shingon) ให้ระลึกถึงมนตร์หลัก 5 อย่าง คือ อา (A), วา (Va), รา( Ra), ฮา ( Ha) และ คา (Kha) โดยการเปล่งเสียงตามมนตร์นี้ (ด้วยท่าทางทั้งกายและใจที่เหมาะสม)  ผู้ฝึกจะค่อย ๆ ปรับตัวเข้ากับการสั่นสะเทือนของเสียงพื้นฐานที่ก่อให้เกิดทุกภาษา นั่นคือ โดยวิธีการฝึกการเปล่งเสียงมนตรา เราจะเข้าใจความหมายที่แท้ของพจน์ได้โดยตรงซึ่งไม่ใช้การได้ยินอย่างธรรมดา การหยั่งรู้นี้จะเพิ่มพูนประสบการณ์ใน  2  มิติ คือ ประการแรก เราจะตระหนักรู้การสั่นสะเทือนเหล่านี้ว่าเป็นองค์ประกอบมูลฐานของจักรวาลทั้งหมด โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้จะถูกรับรู้โดยทันทีว่าเป็นเพียงเปลือกนอกของความจริงทางจิตวิญญาณอย่างล้ำลึกกว่า ประการที่สอง ความลึกกว่านั้น คือ ความจริงระดับจุลจักรวาลไม่ใช่เป็นจักรวาลในรูปของอะตอม  แต่เป็นการเผยตัวตนในเชิงสัญลักษณ์ของพฤติกรรมเชิงเดี่ยว ซึ่งไม่ใช่อื่นใดแต่คือพุทธะเดียวกัน

                ด้วยภาษาเชิงอภิปรัชญานี้เป็นเหมือนพื้นฐานที่ทำให้เราอธิบายทฤษฏีของท่านกูไกได้ง่าย ในระดับจุลจักรวาล  คำพูดทั้งหมดล้วนจริงเท่า ๆ กัน  เนื่องจากมันแสดงการสะท้อนที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาล    ทุกเสียงก็คือการบอกพระมหาไวโรจนะผ่านมนตรา    ในความหมายนี้ชาวพุทธศาสนานิกายชินงอนที่บรรลุแล้ว อาจจะรับรู้ถึงความจริงที่ไร้เสียง เช่น การพูดเท็จ ความเข้าใจความจริงนี้ไม่ใช่ความเข้าใจเชิงปรัชญา  เนื่องจากมันไม่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกับสิ่งไม่สำคัญอย่างอื่น  ตราบเท่าที่จักรวาลโดยมันเองนั้น คือ พระมหาไวโรจน (Dainichi) นั่นย่อมไม่มีความผิดพลาด

                ทฤษฎีมนตรยานเกี่ยวกับสัจพจน์ยิ่งน่าสนใจจากมุมมองระดับมหาจักรวาล  โดยเฉพาะเมื่อมันเหมารวมสิ่งที่เราได้กล่าวมาแล้วเกี่ยวกับสัจพจน์ระดับจุลจักรวาล ในความหมาย เช่น เราจะกล่าวได้อย่างไรว่า สิ่งที่กูไกพูดนั้นจริงยิ่งกว่าคำพูดของคนโกหก  ทั้งหมดล้วนเป็นการแสดงออกระดับมหาจักรวาลของมนตร์แห่งพุทธะทั้งสิ้นมิใช่หรือ ใช่…แต่คำพูดของท่านกูไกสื่อผู้ฟังให้สัมผัสถึงการมีอยู่ของจุลจักรวาล  ซึ่งเป็นความจริงระดับจิตใจ ขณะที่คนโกหกไม่สื่อผู้ฟังแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้  เราจึงย้อนกลับไปที่การเน้นในตอนแรกที่ท่านกูไกกล่าวถึงสิ่งที่คำพูดสื่ออะไร  แทนที่จะเป็นคำพูดบอกอะไร

การแสดงออกของพระพุทธศาสนานิกายชินงอนมุ่งที่จะนำเราจากระดับมหภาคจนกระทั่งเราเข้าสู่ส่วนลึกของระดับจุลจักรวาล                ถ้ากลุ่มของคำพูดที่แสดงออกนำเราให้คำนึงถึงจิตวิญญาณตั้งแต่รากฐานของประสบการณ์ธรรมดาและที่สำคัญกว่าถ้ามันทำให้เราสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและรับผิดชอบการฝึกฝนแบบชินงอน คำพูดที่แสดงออกนั้นก็เป็นความจริงในทั้งระดับ มหภาค และจุลภาค   ดังนั้น เราย่อมทำให้นิยามของสัจพจน์ระดับมหภาคเข้าสู่เกณฑ์การตีความสำหรับแปลความและประเมินทฤษฎีที่หลากหลายทางปรัชญาศาสนา  ยิ่งทฤษฎีนำเราให้ตระหนักเห็นความจริงในมิติของจักรวาล และมหจักรวาล  ทฤษฎียิ่งเป็นความจริงมากเท่านั้น  นั่นคือ  เกณฑ์ของท่านกูไกที่นำมาใช้ในด้านที่สร้างสรรค์ที่สุดในทฤษฎีทางปรัชญาของเขา  นั่นคือ การแสดงภาวะของจิตใจ  10 ขั้นอย่างชัดเจน

ในส่วนที่สำคัญที่กล่าวมาแล้วก็คือทฤษฎีของภาษาซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมากในหมู่ชาวพุทธแบบรหัสยะ โดยแท้จริงท่านกูไกอาจจะเรียนรู้ทฤษฎีนี้ขณะที่อยู่ในประเทศจีน  อย่างไรก็ดี หลังจากที่ท่านกลับมาที่ประเทศญี่ปุ่น ท่านก็ปรับหลักการตีความให้เข้ากับระดับการหยั่งรู้ทางจิตวิญญาณอันสัมพันธ์กับทฤษฏีทางศาสนาและปรัชญาต่าง ๆ

แบบแผนนี้ค่อนข้างเป็นที่แน่ใจว่า เป็นการค้นพบของท่านกูไกเอง เพราะไม่เคยมีแบบแผนที่เหมือนกันในประเทศจีน  ที่แน่ ๆ  การจัดแบบต่างๆ ของ  P’anchiao ที่เกิดขึ้นในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิกายเทียนไท้ (T’ien-t’ai) และ นิกายฮัวเยน (Hua-yen)  นอกจากนี้  คัมภีร์เช่นพระสัทธรรมปุณฑรีกสูตร (Lotus Sutra)   ได้พัฒนาความคิดมาก่อนเกี่ยวกับการสอนที่มุ่งเฉพาะกลุ่มผู้ฟัง   อย่างไรก็ตาม รูปแบบของท่านกูไกใช้แบ่งระดับของจิต  ไม่ใช่เป็นทฤษฎีคำสอน ท่านมองว่าตำราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทัศนะทางโลกกายภาพ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีที่คนเข้าใจและใช้ชีวิตอยู่ในความจริง ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย ตำราคือโลกที่คนใช้ดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับการมีชีวิตอยู่ในโลก ตามความหมายนี้ การเปรียบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ อรรถะตรีสาสน์ (Aims of The Three Teachings) ของเขา งานเขียนก่อนเดินทางไปประเทศจีนและก่อนนิกาย P’an-chiao  ของจีนจะเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น

รูปแบบของท่านกูไกเต็มไปด้วยรายละเอียดในเรื่องของภาวะจิต 10 ขั้น (Ten States of Mind, Jujushinron) และย่อลงมาเป็นเล่ม  กุญแจรัตนะสู่ขุมทรัพย์ลึกลับ (Jeweled Key to the Secret Treasury: Hizohoyaku) ทั้งสองเล่มแต่งประมาณปี ค.. 830 หนังสือจะเป็นการตอบสนองความประสงค์ของพระเจ้าจักรพรรดิ์ที่ต้องการรวมตำราในพระพุทธศาสนาแต่ละนิกาย                ท่านกูไกตกลงใจที่จะทำมากกว่าการรวบรวมคำสอนนิกายชินงอน และได้สรุปคำสอนต่าง ๆ  ของนิกายนี้ด้วย  ผลที่ได้รับคือท่านได้วางผังลำดับขั้นของรูปแบบปรัชญาศาสนาที่รู้จักในญี่ปุ่นในสมัยนั้น ในแต่ละนิกายเขาได้แต่งบทกวีสรุปคำสอน  เขียนร้อยแก้วพรรณนาคำสอนโดยอ้างอิงจากคัมภีร์เป็นส่วนใหญ่ และประเมินข้อเด่นและข้อด้อยในแต่ละนิกาย เราไม่สามารถสรุปแนวคิดนี้ได้อย่างชัดเจนแต่ความเห็นอย่างกว้าง ๆ ของโครงร่างจะเป็นประโยชน์ในความเข้าใจหลักการตีความพื้นฐานของท่านกูไก

1.  ภาพลวงตา: ภาวะจิตเหมือนหน่วยความจำ (The Deluded, Ramlike State of Mind)  ภาวะนี้ไม่ใช่ภาวะของศาสนา  เป็นภาวะเกือบจะเป็นมนุษย์ เพราะบุคคลขาดอุดมการณ์ที่จะกระทำหรือขาดความสามารถที่จะควบคุมตัณหาของตนเอง (ความปรารถนา)

2.  ความไม่รู้: ภาวะจิตเหมือนเด็กทำตามอารมณ์ (The Ignorant, Childlike, but Tempered State of Mind) ภาวะนี้  อุดมการณ์ของบุคคลจะอยู่ในรูปแบบของจักรกล  ทำตามกฎเกณฑ์เหนือกว่าข้อ 1 ตรงที่บุคคลตระหนักถึงผู้อื่น และเริ่มรู้จักความรับผิดชอบทางสังคม  มันเป็นระดับการรับรู้ทางศีลธรรมที่ดั้งเดิมและต่ำที่สุด (คือพวกขงจื้อ : Confucianist)

3.   ภาวะจิตใจได้รับการจัดวางเหมือนทารก (The Infantlike, Composed State of Mind) มนุษย์ในภาวะนี้มองเห็นข้อจำกัดของโลกนี้และสละทิ้ง เพื่อปรารถนาสิ่งอื่นที่ยกระดับจิตใจให้อยู่ในภาวะเงียบสงบและอมตะ มนุษย์ในภาวะนี้คล้ายกับทารกแรกเกิดเริ่มดูดนมจากมารดา  ไม่สนใจความยุ่งเหยิงของโลกและค้นหาสันติในบางสิ่งที่เหนือกว่า (คือพวกลัทธิเต๋า : Taoist)

4.  ภาวะจิตที่ตระหนักเพียงเรื่องขันธ์ 5 ความจริงซึ่งไม่ใช่อัตตา (The State of Mind Recognizing Only Skandhas) มนุษย์ภาวะนี้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องความไม่เที่ยง ตระหนักในความจริงในองค์ประกอบของจิตและผลที่ตามมาคือความว่างเปล่าของตัวตน  ดังนั้น  จึงเอาชนะระดับระดับที่ 1-3 ได้ เพราะภาวะจิตของบุคคลระดับนี้ คือ การกำจัดอวิชชาและตัณหา (คือพวกสาวก-สาวกยาน : Sravaka)

5. ภาวะจิตที่เป็นอิสระจากผลของกรรม (The State of Mind Free of Karmic Seeds) ระดับของมนุษย์ที่ไม่ได้ฟังธรรมะจากอาจารย์ใด ๆ  แต่สามารถค้นพบภายในตนเองว่ารากเหง้าของความทุกข์คือมายา               เมื่อเป็นอิสระจากอวิชชาแล้ว มนุษย์จะเป็นอิสระจากวงจรการเวียนว่ายตายเกิดประสบความประจักษ์แจ้งในตนเอง  (คือพวกปัจเจกพุทธเจ้า-ปัจเจกพุทธยาน : Pratyeka-buddhas)

6.  ภาวะจิตระดับมหายานที่คำนึงถึงผู้อื่น (The State of Mind Awakened to the Unborn Nature of Mind)  โดยการตระหนักว่าธรรมทั้งหลายคือพฤติภาพของจิต  บุคคลเหล่านี้  มองเห็นทั้งบุคคลสุญญตา และธรรมสุญญตา  โดยวิถีทางนี้  พวกเขาสามารถเข้าถึงความเมตตาที่ล้ำลึกของโพธิสัตว์ (คือพวกโยคาจาร :  Hosso, Yogacara)

7. ภาวะจิตที่ตื่นสู่สภาพเดิมแท้ที่ไม่มีการเกิด (The State of Mind Awakened to the unborn Nature of Mind)  โดยผ่านการปฏิเสธหลักการ 8 ประการ[18] บุคคลจะเกิดญาณทัศนะ เห็นความจริง  2 ระดับ[19]  ยอมรับตรรกะทางสายกลาง  บุคคลเหล่านี้  จะหยั่งรู้ว่า จิตโดยสภาพเดิมไม่มีการเกิด  ดังนั้น  ความต่างระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้จึงเป็นเรื่องสัมพัทธ์  ไม่ใช่เป็นที่สุด (คือพวกมาธยมิก: Madhyamika)

8. ภาวะจิตที่ติดตามเอกยาน หรือระดับของการหยั่งรู้จิตเดิมแท้  (The State of Mind Following the One Path Without Artifice) หรือภาวะจิตว่างและไร้วัตถุวิสัย (Objectless) ในภาวะนี้ บุคคลจะทิ้งตรรกะแห่งทางสายกลางมองเห็นเอกภาพในทุกยาน (วิถีทาง) สัจจะคืออุบายธรรมที่ขึ้นกับกลุ่มผู้ฟัง  สิ่งทั้งหลายล้วนอยู่ในจิตหนึ่ง (พวกเทนได หรือเทียนไท : Tendai,  T’ient’ai/)

9. ภาวะจิตที่สมบูรณ์ปราศจากสาระเฉพาะตน (The State of Mind Completely without Individuated Essence) ในภาวะนี้บุคคลจะตระหนักในการแทรกซึมกันอย่างสมบูรณ์ของสิ่งและหลักการทั้งหมด  สิ่งที่ผู้อื่นเห็นว่าเป็นพื้นฐานก็เป็นอย่างนี้  ดังนั้น ปัญญาญาณ (ความหลุดพ้นจึงแฝงอยู่ทุกแห่งอย่างสมบูรณ์ (พวกอวตังสกะ/เคงอน/       ฮัวเหยิน : Kegon, Hua-yen)

10. ภาวะจิตรุ่งโรจน์และเป็นรหัสนัย (The State of Mind Esoteric and Glorious)  ภาวะนี้รองรับคำสอนแบบเปิดเผยทั้งหมด และนำไปสู่ความเชื่อมโยงกับการปฏิบัติรหัสยะกับปัญญาญาณบุคคลไม่เพียงรู้ภาวะการหยั่งรู้ระหว่างสรรพสิ่ง  แต่พวกเขายังเข้าร่วมอยู่ในการหยั่งรู้นั้นผ่านพิธีกรรมอันลึกลับ ธรรมกายจะถูกรับรู้โดยตรงและไม่ใช่เรื่องของการคาดเดาจากความคิดอีกต่อไป (พวกชินงอน : Shingon)

 

ลองพิจารณาดูเกณฑ์ในการจัดรูปแบบนี้ ประการแรกเราจะสังเกตได้ว่าการอธิบายของท่านกูไกไม่มุ่งเน้นที่ความเชื่อมโยงทางปรัชญาในแต่ละระดับ  แต่จะเน้นลักษณะของบุคคลที่เป็นผลจากทัศนะการมองโลกของเขา นั้นคือเหตุผลที่เขาใช้อธิบายภาวะของจิตใจมากกว่าจดระดับคำสอน แน่นอนว่าทัศนะปรัชญาถูกประเมินค่าตามที่มันสื่อ แต่น้ำหนักคงอยู่ที่การ “ใช้” คำปรัชญาเหล่านั้นต่างหาก ในระดับต่ำสุด เช่น  เราพบว่า คนถูกพลังไร้สำนึกซึ่งเป็นแรงขับทางสัญชาตญาณผลักดัน  ท่านกูไกจะถือว่าทฤษฎีเช่นนี้ผิดพลาด  แต่นั้นฐานการตัดสินของท่านไม่ใช่หลักฐานเชิงประจักษ์ แต่คือข้ออ้างของทฤษฎีนั้นนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ชั้นต่ำ นั่นคือ มนุษย์ที่มีชีวิตอย่างไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นแบบสัตว์  เนื่องจากทฤษฎีต่างๆ ในระดับตั้งแต่ 2-10 ได้อธิบายถึงปัจเจกชนอย่างมีมนุษยธรรม  ซึ่งน่าจะเป็นความจริงมากกว่า

การหยั่งรู้อย่างลึกซึ้งทางด้านจิตใจในวิธีการท่านกูไก ก็คือ        ทฤษฎีของเขาเสนอว่าโลกทัศน์ของแต่ละคนก็คือประสบการณ์ของแต่ละคนนั้น บุคคลที่ถูกผลักดันจากความปรารถนาอย่างสัตว์ก็จะเชื่อว่าคนอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน และผู้ที่เชื่อถือในมนุษย์เป็นเช่นนั้นก็จำเป็นที่จะมีความปรารถนาอย่างสัตว์ด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือ จิตใจของมนุษย์จะอยู่ในโลกที่ตรงกับทฤษฎีของเขา นี่คือการรับรู้พื้นฐานของท่าน เราสามารถจะเห็นข้อจำกัดของโลกทรรศนะของเรา เมื่อมองข้ามโลกที่รับรู้ไปในจิตใจระดับอื่นที่เปิดไปในมิติทางศักยภาพที่กว้างกว่า เมื่อนั้นเราจะเห็นความผิดพลาดของโลกทัศน์เดิมของเราเอง การตระหนักในศักยภาพที่สูงกว่าภาวะจิตเดิมในขณะนั้น จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีความปรากฏของพระมหาไวโรจนะ (kaji) ความกลมกลืนของจิตใจระหว่างผู้นั้นกับพระไวโรจนะ  ที่ทำให้ตระหนักในการรับรู้โลกอย่างกลมกลืนภายใน  

ในทางเดียวกันการสอนระดับสูงสุดที่สุดคือนิกายชินงอน อันทำให้คนที่ผ่านการปฏิบัติแนวรหัสยะโดยตรงและทันที  รู้ภาวะจิตวิญญาณในระดับจุลจักรวาล พวกเขายังรับรู้ธรรมกายสากลผ่านความกลมกลืนของสัญลักษณ์ คำสอนทุกศาสนาทำให้เกิดคนในระดับ 2-9 นั่นคือ เขาเป็นผลของคำสอนที่เปิดเผยที่สอนอยู่ในระดับมหจักรวาล  ซึ่งจัดลำดับตามความพร้อมของสาวกที่สามารถรับรู้การดำรงอยู่และความปรารถนาอย่างละเอียดอ่อนที่จะประสบกับประสบการณ์และความจริงอย่างล้ำลึกของจุลจักรวาล ข้าพเจ้าจะขออธิบายอย่างสั้น ๆ ว่าเกณฑ์นี้ก่อให้เกิดการจัดลำดับได้อย่างไร

กลุ่มความเชื่อตามลัทธิขงจื้อคำนึงถึงศีลธรรมมากกว่ากลุ่มระดับต่ำสุด กระนั้นกลุ่มนี้กลับทุ่มความสนใจเพียงแค่ทำให้เกิดความกลมกลืนอย่างมากในระดับสังคมเหมือนกับไม่มีมติด้านอื่นในการรับรู้หรือความจริง  ดังนั้นกลุ่มความเชื่อเรื่องเต๋าจึงถูกจัดอยู่เหนือกลุ่มนี้ตราบเท่าที่อย่างน้อยพวกเขายอมรับความเป็นไปได้ของมติอื่น ๆ กระนั้นการเห็นคุณค่าของเขาต่อกลุ่มอื่นยังคล้ายกับเด็ก ซึ่งฝันถึงแต่สวรรค์ที่เต็มไปด้วยชีวิตอมตะ  ชาวพุทธนิกายหินยาน ( ภาวะที่ 4 และ 5) เป็นกลุ่มที่อยู่สูงกว่ากลุ่มเต๋าในด้านที่เขารับรู้ต่อโลกของความไม่คงที่และปฎิเสธความคิดเห็นเรื่องตัวตนที่เป็นอมตะ   เขายอมรับความจริงในกระบวนการที่ต่อเนื่องภายใต้ปรากฏการของสสาร  แม้กระนั้นเขายังพลาดได้ง่ายเมื่อความพยายามที่จะบรรลุการประจักษ์แจ้งในตนเองเหมือนกับว่าตนเองได้แยกขาดจากโลกทั้งหมด  ดังนั้นความเข้าใจในทฤษฎีจึงเป็นไปได้เพียงจุลจักรวาล  แต่ไม่ลึกไปสู่ระดับจักรวาล

ภาวะที่ 6 - 9  แสดงคำสอนที่เปิดเผยของมหายาน  เพียงเพื่อให้เกิดการยอมรับหลักการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้รอดพ้นก่อน แนวคิดเรื่องจักรวาลเป็นขั้นตอนใหม่การระลึกถึงความเต็มของจุลจักรวาล  เอกภาพของจักรวาล และธรรมกาย  ในแนวคิดของท่านกูไก                ภาวะจิตทั้ง 4 ระดับของมหายาน เน้นรูปแบบเฉพาะของความเป็นหนึ่งเดียว  ในการเพิ่มขึ้นของการหยั่งรู้ระหว่างกัน เมื่อเราได้ยกระดับจิตเคลื่อนไปในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะ  นิกายฮอซโซ  (Hosso)               เน้นเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของเมตตา (compassion) และปัญญา (wisdom) นิกายแชนรอน (Sanron) เน้นความเป็นหนึ่งเดียวของสังสารวัฎและนิพพาน   นิกายเทนได (Tendai) เน้นความเป็นหนึ่งเดียวของทางไปสู่การประจักษ์แจ้ง  และนิกายเคงอน (Kegon) เน้นในการหยั่งรู้ระหว่างกันของหลักการกับวัตถุ และวัตถุกับวัตถุ   ในทางเดียวกัน  เราเห็นว่าทัศนะการยกระดับจิตของท่านกูไกพัฒนาจากเมื่อเขาเริ่มแต่งหนังสือ เรื่อง อรรถะตรีสาสน์ (Aims of The Three Teachings)  นั่นคือ นิกายพระพุทธศาสนาอธิบายได้ระดับ 6 - 9  โดยเน้นความไม่สามารถแบ่งแยกได้ของการยกระดับจิตและการดำรงอยู่ของจิตใจ  มนุษย์ในระดับอื่นของพระพุทธศาสนาได้วิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนในเป้าหมาย (Aims)  ที่ไม่อาจเห็นได้ในระดับ 5 ขึ้นไปของทั้ง  10  ระดับ  เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราอาจจะคาดการณ์ว่าท่านกูไก  บรมครูของนิกายชินงอน อาจจะมองเห็นตัวเองเมื่อวัยหนุ่มในภูเขาโยชิโน อยู่ในภาวะจิตระดับ  5 หรือปัจเจกพระพุทธเจ้า

ข้อโต้แย้งในการยกระดับจิตและการดำรงอยู่ภายในของจิตใจ  ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนของคุณภาพที่ต่างกันระหว่างระดับ 8 หรือ 9 กับระดับ 10 นั่นคือคำสอนที่เปิดเผยของนิกายเทนไดหรือเคงอน  และคำสอนที่เร้นลับของชินงอน  การตีความของท่านกูไก  คือว่าเคงอน    (และส่วนขยายออกไปเล็กน้อยของเทนได) พัฒนาภาวะจิตสูงสุดของความเข้าใจโดยผ่านวิธีที่เปิดเผย นั่นคือคือการจำแนกผ่านระดับจักรวาลโดยตรง ภาวะของจิตใจระดับนี้ที่เปิดแย้มเพียงแวบเดียวของความสำคัญเชิงปรัชญา เพื่อวางรากฐานของการหยั่งรู้ระหว่างกัน โดยความหมายคือเขาได้ค้นพบภาวะจุลจักรวาลว่าเป็นเหมือนการยกระดับจิต หรือความรู้เบื้องต้น (a priori) ในตรรกะ  หรือความจริง

อย่างไรก็ตาม   ท่านกูไกยืนยันว่า เทนไท และเคงอน ขาดการพิสูจน์ความจริงในการรับรู้เพราะขาดการฝึกฝนที่เร้นลับ  ดังนั้น  นิกายทั้งสองสามารถเพียงคาดเดาในเรื่องจุลจักรวาลโดยปราศจากการสัมผัสจริง ๆ ท่านกูไกยังยืนยันว่าด้วยการฝึกฝนอย่างลับเฉพาะเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยตรงในจุลจักรวาล  ชาวพุทธนิกายชินงอนใช้พิธีกรรมที่จะก่อให้เกิดผลการเรียนรู้ หรือความรู้ส่วนหลัง ( a posteriori) ของจุลจักรวาล ความใกล้ชิดกับการรับรู้นี้ และการสัมผัสโดยตรงกับความลึกลับเป็นหัวใจของท่านกูไก ถ้าเราได้เราได้รับรู้ความจริงตลอดในโลกทัศน์นี้แล้ว เราจะเข้าใจจุลจักรวาลและมหจักรวาลเหมือนกับเป็นความสัมพันธ์ หรือเหมือนกับการเปล่งเสียงของสัญลักษณ์  (Symbolic Expressions : monji)   ของพลังการประจักษ์ของพระพุทธมหาไวโรจนะ

ด้วยเหตุนี้จากจุดยืนลับเฉพาะที่แท้จริง  โดยแท้จริง  ไม่มีภาวะที่เร้นลับของจิตใจ ท่านกูไกจึงเชื่อว่าเรื่องที่เราคาดว่าจะเป็นการตีความแบบมนตรา (Mandalic Hermeneutic)  นั่นก็คือคำสอนทั้งเกิดมาจากธรรมกายโดยตรง ที่จริงชื่อเรื่องที่สมบูรณ์ของงานเขียนของท่านกูไกคือ ความลับของมนตรา 10 ขั้นของภาวะจิต  (Secret Mandala’s Ten states of Minds) มนตรากับพระพุทธมหาไวโรจนะจะอยู่ตรงกลางและขอบเขตของภาวะอื่น ๆ ทั้งหมดจะรายล้อมเป็นวงกลมโดยรอบ คล้ายกับทารกในครรภ์  (หรือศูนย์กลาง)  พระพุทธศาสนาเป็นแก่นในสุดของการเทศนาของพระพุทธมหาไวโรจนะ  แต่ด้วยเหตุที่คำสอนนี้มองจากภายนอกในรูปแบบต่าง ๆ ที่แตกต่างกันที่สามารถเห็นความต่างนั้นได้จากภาวะจิตที่แตกต่างกัน  ตามความเป็นจริงมันอยู่ในรูปที่แตกต่างไม่เฉพาะในโลกทัศน์เท่านั้น  แต่ยังเป็นการมีชีวิตที่ต่างกันด้วย ส่วนที่ใกล้กว่าจะอยู่ใกล้ศูนย์กลางของมนตรา (เช่นเดียวกับภาวะของจิตใจที่แสดงออกโดยคำสอนที่เปิดเผยของท่าน  เทนได (Tendai)                 และเคงอน (Kegon) )  เมื่อเรารู้สึกว่าแรงดึงเข้าหาศูนย์กลางของ “การปรากฏ (grace)” มากเท่าไร  นั่นคือ เรายิ่งดูคล้ายกับทำการก้าวกระโดดไปสู่ความเข้าใจที่กลมกลืนเท่าที่สามารถผ่านความลับเฉพาะมากเท่านั้น  อย่างแน่นอน  เราจะสามารถจะเริ่มอยู่จากจุดไหนก็ได้ในการทำให้เกิดการก้าวกระโดดทันทีไปในภายในศูนย์กลางในความจริงใจ  การฝึกหัดแบบชินงอน  และตระหนักอย่างชัดเจนในคำสอนเรื่องธรรมกาย                     

ถ้าเราจะแปลความหมายรูปแบบของภาวะ 10 ขั้นตอนให้เป็นเหมือนมนตรา  ผลงานอื่นอีก 2 ด้านของท่านกูไกจะนำเป็นรวมกันอย่างชัดเจน 

ประการแรก   มันช่วยให้อธิบายว่า ทำไม?  ท่านกูไก  อยากเขียนเรื่องนิกายอื่น ๆ เมื่อหน้าที่ได้รับมาจากจักรพรรดิ์ของเขานั้นเป็นเพียงอธิบายคำสอนนิกายของเขาตามคำสอนของ  ตามคำสอนของชินงอน ความจริงทั้งหมดและทุกทฤษฎีแสดงความประจักษ์แจ้งของพระพุทธมหาไวโรจนะอย่างสูงสุด    ดังนั้น ภาวะ 10  ขั้นของท่านกูไก  และกุญแจรัตนะ (Jeweled Key)  แต่งออกมาเพื่อแสดงให้เห็นความหลากหลายของโลกทัศน์ที่เกิดขึ้น  แม้กระนั้นโลกทัศน์ทั้งหมดก็เป็นส่วนสำคัญของลักษณะของพระพุทธมหาไวโรจนะ ในเมื่อมนตราสามารถจะแสดงให้เป็นโลกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์ นรก หรือ โลกที่ปรากฏในธรรมกาย ข้อตกลงของท่านกูไกแสดงให้เห็นว่าคำสอนทั้งหมดจะปรากฎอยู่ในคำสอนของธรรมกาย

ประการที่สอง ทฤษฎีการเชื่อมต่อของมนตรา  ในการตีความช่วยอธิบายว่าทำการประเมินนิกายของท่านกูไก  มักอ้างไปสู่ตำราที่ลับเฉพาะบ่อย ๆ อย่างแน่นอนหนังสือทั้ง 2 คือ                ภาวะของจิต 10 ขั้น  และกุญแจเพชร  ท่านกูไกมักอ้างคัมภีร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างเปิดเผย  แต่การอ้างคำในจำนวนที่มากกว่าอย่างมากนั้น  มาจากส่วนลับเฉพาะทั้งสิ้น  ผลก็คือการเตือนผู้อ่านว่านิกายทุกนิกายสามารถจะเข้าใจได้จากด้านลับเฉพาะ  ทุกภาวะมีความคงที่ภายในตัวของทุกภาวะแต่นิกายชินงอนเท่านั้น ที่มีจุดยืนปรากฏออกมาชัดเจนว่า  ส่วนที่ไม่ต่อเนื่องเกิดจากแหล่งเดียวกันในทุกสิ่ง  โดยเฉพาะพระพุทธมหาไวโรจนะ  หรือธรรมกาย

เหตุผลนี้นำเราไปสู่ความเห็นสุดท้ายในทฤษฎีการแปลความของท่านกูไก เราสามารถถามคำถามทั่วไปที่เกี่ยวกับการตีความว่า ความคิดของท่านกูไกมาจากไหน เขาควรจะอ่านตำราที่กำหนดความหมายหรือไม่  ในเมื่อทุก ๆ ตำรา ทุกสิ่งไม่ว่าจะอะไรก็ตาม  โดยแท้จริงก็คือสัญลักษณ์ที่เปล่งออกมาของพระพุทธมหาไวโรจนะ และทุกตำราต้องมีความหมายเชิงลับเฉพาะ ดังนั้น  การตอบสนองแรกสุด และสำคัญที่สุดคือ ผู้อ่านจะต้องตระหนักในความมหัศจรรย์ที่ปรากฏในตำรานั้นความหมายของคำพูด (จิต) เสียง (ระดับเสียง) และท่วงท่า (ร่างกาย) จะปรากฎในการประจักษ์แจ้งของพระพุทธมหาไวโรจนะ  ในอีกความหมายหนึ่ง  ธรรมกายอธิบายธรรมะในทุก ๆ ธรรมะ (ความจริงในทุก ๆ ความจริง)  มันเป็นความสำคัญหลักของ Hossshin seppo  ว่า ท่านกูไกเน้นอย่างมาก  ผลที่ตามมาคือท่านกูไกค้นหามนตราตามตำราที่เปิดเผยให้สัมพันธ์กับส่วนปกปิดภายใน  การวิเคราะห์ของเขา เช่นใน หฤทัยสูตร (Heart  Sutra) เขาเน้นเฉพาะบรรทัดสุดท้าย หรือในสัทธรรม ปุณฑริกสูตร (Lotus Sutra) เขาใช้ชื่อเป็นภาษาสันสกฤตให้เป็นเหมือนมนตราและส่วนสำคัญของงานทั้งหมดของเขา                 

ประการที่สอง  และเป็นทัศนะของท่านกูไกอย่างที่สอง มนุษย์ควรจะมองหาความหมายที่เปิดเผยของตำรา ในวิธีทางใดบ้างที่ตำราได้เสนอมิติที่อยู่ใต้มหจักรวาล ภาษาสามารถที่ชี้ไปที่บางสิ่งนอกจากโลกของวัตถุที่อ้างถึงหรือไม่  ในศัพท์ที่ใช้ร่วมสมัยมากกว่านั้น  ภาษาได้ทำลายโครงสร้างการเห็นตามปกติของโลกเราหรือไม่ ภาษาทำให้เกิดการแตกแยกตัวเองออกจากการใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างคาดคะเนความจริงที่ปรากฏอย่างอิสระหรือไม่  จากหลักของนิกายชินงอน  คำพูดและภาษาที่เป็นจริงนั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้  นี่เป็นความจริงไม่เฉพาะว่าเราเห็นโลกโดยผ่านมโนภาพ (Concept) และคำพูด แม้ว่านิกายฮอซโซ (Hosso) (ระดับ 6) และนิกายแชนรอน (ระดับ 7) จะยอมรับเรื่องนั้น  แต่สำหรับนิกายชินงอนสามารถแสดงออกของคำพูดค่อนข้างจะเน้นตัวมันเองตามธรรมชาติ โลกซึ่งถูกรับรู้โดยผู้ที่ประจักษ์แจ้งก็คือ การประกาศ การเปล่งออกของสัญลักษณ์  ผ่านการกระทำของการประจักษ์แจ้งของพระพุทธมหาไวโรจนะ ดังนั้น หน้าที่ที่แท้จริงของภาษาคือการเปิดเผยในระดับมหาจักรวาลด้วยแนวโน้มการถ่ายทอดการทำลายตัวตน สัจพจน์ในมหจักรวาลจะสลายรวมไปในความลึกลับที่ไม่ได้ยินในลักษณะเสียงสะท้อนกลับของจุลจักรวาล

ดังนั้น  จึงไม่น่าแปลกใจว่า ท่านกูไกมักจะสรุปความซับซ้อนโดยการเขียนเป็นบทกวี  คำกล่าวที่แท้จริงนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนที่อ้างถึง  แต่ขึ้นอยู่ที่มันมีผลต่อเราอย่างไรด้วย  แน่นอนการสอนอาจจะแสดงผ่านสื่อที่มีอยู่ระหว่างนั้น  แต่สำหรับผู้ไม่เข้าใจ  สื่อจะเป็นตัวชี้แนะ และการสอนน้อย ๆ อาจจะได้ผลมากกว่า  ท่านกูไกมักจะชอบศิลปะที่ผ่านคำพูดว่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับคนธรรมดา  เพื่อรักษา “สาระสำคัญทั้งหมดของตำราที่เปิดเผยของชาวพุทธก็คือการบรรยายในเรื่องนั้นตามความเป็นจริง”

กระนั้นเราไม่สามารถสื่อสารโดยไม่ใช้ภาษา  ท่านกูไกซึ่งเป็นนักปรัชญาการค้นคว้าทางศาสนา  เริ่มค้นคว้าคว้าหมายในตำราศักดิ์สิทธิ์  ได้ทำความเข้าใจในจุดนั้นอย่างดีจนอธิบายว่า

“ธรรมะ (ความจริง) อยู่เหนือคำพูด แต่ถ้าปราศจากคำพูดก็ไม่สามารถจะเปิดเผยตัว เองได้   ตถตา (Suchness) จะเหนือรูปแบบ (Forms)  แต่ถ้าไม่มีรูปแบบก็จะรับรู้มันไม่ได้  ดังนั้น  บางครั้ง  มนุษย์อาจจะเข้าใจผิดว่า นิ้วที่ชี้ไปที่ดวงจันทร์นั้น คือตัวดวงจันทร์ คำสอนของพระพุทธเจ้าจะช่วยให้มนุษย์ไปสู่ความไร้ขอบเขต”

สัจพจน์: ทฤษฎีที่ว่าด้วยการตีความของท่านกูไก:

ศึกษาวิเคราะห์ และและวิจารณ์[20]

1. อารัมภบท

 

                บทความ เรื่อง “สัจพจน์: การตีความของท่านกูไก” นี้   มีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่น่าวิเคราะห์และทำการศึกษาในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างยิ่ง ประเด็นที่น่าสนใจ และควรค่าแก่การตั้งคำถามในประเด็นต่อไปนี้ก็คือว่า  ผู้เขียนบทความชิ้นนี้คือใคร?   มีความเป็นมาและสำคัญอย่างไร? ทำไม? จึงหยิบงานของท่านกูไกมาวิเคราะห์ ทั้ง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นมีงานเขียนที่เกี่ยวกับหลักการสำคัญของนักปราชญ์มากมาย เช่น  ท่านนิชิเรน แห่งนิกายนิชิเรน  ท่านชินแรนแห่งนิกายโชโดชิน และท่านโดเกนแห่งนิกายโซโตเซ็น[21]แต่ปรากฏว่าผู้เขียนกลับนำแนวคิด และหลักการสำคัญของท่านกูไกมาตีความ 

                สิ่งที่จะต้องคว้าหาคำตอบต่อไปก็คือว่า  ในขณะที่ผู้เขียนนำแนวคิด และหลักการสำคัญของท่านกูไกมาตีความนั้น  ผู้เขียนต้องการที่จะทราบ หรือค้นหาคำตอบในเรื่องอะไร?  และสิ่งที่จะละเลยไม่ได้เลยก็คือ งานของท่านกูไกนั้น สามารถให้คำตอบภายใต้กรอบของศาสตร์แห่งการตีความหรือไม่? เหล่านี้คือประเด็นที่จะต้องหาคำตอบกันต่อไป

 

2. วิเคราะห์ความสำคัญ และเจตจำนงของผู้เขียนต่อการตีความท่านกูไก

 

                ก่อนที่จะนำเสนอภาพของการตีความงานท่านกูไกของผู้เขียนบทความชิ้นนี้  สิ่งที่จำเป็นจะต้องทำควบคู่กันในสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ การทำความรู้จัก และวิเคราะห์แนวคิดของท่านผู้เขียนบทความก่อน  เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว  เราเองก็ไม่สามารถที่จะทราบถึงที่มา และแรงจูงใจของท่านผู้เขียนบทความ  คณะผู้จัดทำเชื่อเหมือน ๆ กับท่านผู้เขียนเชื่อตามทฤษฎีที่เกี่ยวกับการตีความก็คือ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา  วิถีชีวิตและการเลือกที่จะทำเนินชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคลในอดีตนั้น  ถือได้ว่ามีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดและการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน และอาจจะทำให้เราได้มองเห็นความน่าจะเป็นโลกอนาคตของแต่ละบุคคลด้วย

                ฉะนั้น  การมองเห็นความสำคัญในลักษณะดังกล่าว  จะช่วยให้เราได้เข้าใจ และมองการศึกษาและตีความของท่านเขียนที่มีต่องานของท่านกูได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น  อันจะกลายเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์  เพื่อนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์แห่งการตีความในโอกาสต่อไป

 

                2.1 ประวัติและความสำคัญของผู้เขียน

                   โทมัส พี คาซุลิส[22] (Thomas P. Kasulis)  จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกในด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเยล  และจบปริญญาโทด้านปรัชญาเอเซียจากมหาวิทยาลัยฮาวาย  ในเดือนกันยายน  ..1995   ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดีประจำคณะภาษา และวัฒนธรรมตะวันออกในท่านได้เข้าไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio)

        ในปี ค.. 1991 ในฐานะศาสตราจารย์ทางด้านศึกษาเปรียบเทียบ  ท่านมีความเชี่ยวชาญในด้าน เอเซียศึกษา,  ปรัชญาเปรียบเทียบและศาสนาเปรียบเทียบ,  เปรียบเทียบปรัชญากับศาสนา,  ปรัชญาญี่ปุ่น, เทววิทยาด้านศาสนาคริสต์, และประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตก, 

         ตั้งแต่ ปี...1980-1991  ท่านสอนปรัชญาและศาสนาในมหาวิทยาลัยนอร์ทแลนด์ ฯลฯ  เป็นหัวหน้าสาขาวิชาวิชามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ในปี ค..1984 และได้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในปี ค.. 1986

                         ในขณะเดียวกัน  เขาได้เดินทางไปเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น มหาวิทยาลัยชิคาโก, มหาวิทยาลัยโอซาก้าในประเทศญี่ปุ่น, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ฯลฯ

                          เมื่อประเมินจากองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ  โดยเฉพาะด้านญี่ปุ่นศึกษา และปรัชญาญี่ปุ่นนั้น  ทำให้เราเริ่มมองเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้วว่า  ทำไมท่านกูไกต้องเลือกที่จะมาตีความแนวความคิด และปรัชญาของนักปราชญ์ชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านกูไก  และเราจะทราบจุดประสงค์ที่แนวของท่านผู้เขียนอีกครั้งในหัวข้อที่ว่าด้วย “ทำไม? ท่านผู้เขียนจึงหยิบงานของท่านกูไกมาวิเคราะห์”

 

2.2 ทำไมต้อง “สัจพจน์: การตีความของท่านกูไก”

     (Truth Words: The Basis of  Kukai’s Theory  of Interpretation)

 

                   ประเด็นที่ตั้งคำถามเอาไว้ในหัวข้อนี้ก็คือว่า ทำไม? ท่านโทมัส พี คาซุลิส (Thomas P Kasulis)  จึงต้องเลือกที่จะตั้งชื่อเรื่องในบทความของท่านว่า “สัจพจน์: การตีความของท่านกูไก” (Truth Words: The Basis of  Kukai’s Theory  of Interpretation)  หากนำหลักการเกี่ยวทฤษฎีแรงจูงใจของจิตวิทยามาเป็นกรอบทฤษฎีในการอธิบาย เราน่าจะมองได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

                     1) คำว่า “Truth Words” หรือจะแปลอีกนัยหนึ่งก็คือ “วจนะที่แท้”[23] หรือ  “สัจพจน์” [24]   นั้น  ซึ่งตรงกับคำว่า “ชินงอน (Shingon)” ในภาษาญี่ปุ่น  และมาจากภาษาสันสกฤตว่า “มันตระ” ซึ่งหมายถึง “คำศักดิ์สิทธิ์” [25]    ใจความสำคัญของคำเหล่านี้ก็คือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นนิกายชินงอนนั่นเอง

        เมื่อวิเคราะห์จากความหมายของคำเหล่านี้  พอที่จะทำให้เราพอที่จะเข้าใจถึงความประสงค์ของผู้แต่งว่า สาเหตุที่ใช้คำนี้ขึ้นต้นก็เพราะต้องการที่จะบอกให้เห็นถึงความเป็นชินงอน ที่ท่านกูไก พยายามที่จะบอกกับกับหมู่ชนในประเทศญี่ปุ่นว่า หลักคำสอนในนิกายของตนเป็นนั้นเต็มไปด้วยวจนะที่แท้จริง หรือเป็นสัจพจน์  วจนะที่แท้เหล่านั้นจะเผยโฉมออกมาได้ด้วยการสวดตามเนื้อหาที่ปรากฎในพระมหาไวโรจนสูตร

                2)  ประเด็นที่ท่านผู้เขียนได้พยายามที่จะบอกในประโยคหลังว่า “การตีความของท่านกูไก”  การตั้งข้อสังเกตดังกล่าว อาจจะเป็นการตัดสิน หรือการยืนอยู่บนพื้นฐานแนวความคิดของท่านผู้เขียนที่ต้องการจะใช้ศาสตร์แห่งการตีความมาอธิบายแนวคิดของท่านก็ได้  ในความเป็นจริงแล้ว  หากท่านกูไกยังมีชีวิตอยู่อาจจะบอกว่า แนวคิด หรือหลักคำสอนของท่านไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ศาสตร์ของการตีความก็ได้  เพราะหลักปฏิบัติของท่านกูไกนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยการตีความแต่ประการใด  เนื่องจากท่านมุ่งเน้นเรื่องการสวดมนตร์ ในขณะเดียวกันก็มีจิตใจจิตจ่ออยู่กับเสียงสวดมนต์อันเป็นที่มาของสมาธิ และทำให้เกิดปัญญาญาณที่สุด

                เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว  การตั้งหัวข้อตามความเข้าใจของผู้เขียนนั้น   ถือได้ว่าทำได้น่าสนใจ เนื่องจากพยายามที่จะนำหลักการและแนวคิดของท่านกูไกมาอธิบายภายใต้ศาสตร์แห่งการตีความ  ซึ่งหากจะกล่าวว่ามายืนยันและสนับสนุนแนวคิดของท่านก็ไม่ผิดนัก  จะอย่างไรก็ตาม  เนื้อหาที่ปรากฏอยู่ภายในบทความนั้น  นับว่าสอดรับกับหัวข้อที่ท่านผู้เขียนอย่างดีเยี่ยม

 

2.3 ทำไม? จึงหยิบงานของท่านกูไกมาศึกษาวิเคราะห์

                     คำถามนี้  น่าศึกษาและวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง   ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่เก่ง ๆ  หลายท่าน  แต่ทำไมท่านผู้เขียนจึงเลือกที่จะวิเคราะห์งานชิ้นนี้  แรงจูงใจในการหยิบงานท่านกูไกมาวิเคราะห์ของท่านผู้เขียนนั้นน่าจะมองได้จากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน

                    1)  บทบาทและความสำคัญของท่านกูไก  เมื่อกล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของท่านกูไกนั้น  จะพบว่า ไม่มีพระภิกษุรูปที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักแพร่หลาย และได้รับความเคารพนับถืออย่างสุดทุกยุคทุกสมัยเหมือนท่านกูไก[26]  จนท่านได้รับการยกย่องว่า “บรมครูผู้เผยแผ่ธรรม” (Kobo Daichi)[27]

                    2)  เมื่อมีการเปรียบเทียบนิกาย 2 นิกายที่เกิดขึ้นในยุคเฮอัน ซึ่งได้แก่ นิกายเทนได ซึ่งท่าน    ไซโจซึ่งเป็นพี่ชายของท่านกูไกนั้น  จะพบว่านิกายชินงอนนั้นเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการ ปี พ..2497 ดังต่อไปนี้

 

นิกายเกิดในยุคเฮอัน[28]

 

นิกาย

อนุนิกาย

วัดใหญ่

วัดสาขา

พระสงฆ์

ศาสนิก

เทนได

3

4,081

531

5,854

780,091

ชินงอน

6

11,399

2,619

16,702

3,032,743

 

                     3) ท่านเป็นผู้ที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งในความเป็นนักศิลปะ และเป็นนักกวีดังที่ผู้เขียนได้ยกย่องเอาไว้ในบทความ

                     4) ท่านเป็นพระภิกษุรูปแรกของในนิกายชินงอนที่ได้พยายามประมวลคำสอนของนิกายชินงอนเอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ  ในขณะเดียวกัน ท่านได้แต่ผลงานที่มีชื่อเสียง 2 เล่ม คือ หนังสือว่าด้วยระดับจิต 10  ขั้น (Ju-Ju-Shin-Ron)  และหนังสือว่าด้วยอรรถะแห่งพระตรีสาสน์ (Aims of The Three Teaching)  อันเป็นคัมภีร์สำคัญที่ผู้เขียนได้นำมาศึกษาวิเคราะห์และตีความ

                     5)  แนวคิดของท่านกูไกนั้นค่อนข้างจะแตกต่างจากพี่ชายของตนเอง คือ ท่านไซโจซึ่งเป็นผู้นำนิกายเทนได[29]เป็นพระที่พยายามจะประนีประนอมแนวความคิดของชินโตอันเป็นความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นให้บรรสานสอดคล้องกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันหลักการสำคัญในนิการชินงอน  แนวคิดในลักษณะเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างของประชาชนในประเทศญี่ปุ่นจนกลายศาสนิกของนิกายชินงอนในที่สุด

                     จากเหตุผลดังที่ได้กล่าวนั้น  น่าจะเป็นแรงจูงใจสำคัญในการทำให้ผู้เขียนได้หันมาศึกษา และนำหลักการในการคัมภีร์ที่ท่านกูไกได้แต่งไว้ทั้งสองเล่มนั้นมาเป็นคู่มือในการศึกษาวิเคราะห์ศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักแห่งการตีความของท่านกูไก  และสิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้เลยก็คือ ผู้เขียนนั้นเป็นอาจารย์ด้านญี่ปุ่นศึกษาในมหาวิทยาลัยโอไฮไอด้วย  ฉะนั้น  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้เขียนจะมีพื้นความรู้เกี่ยวกับสายวัฒนธรรมและแนวความคิดของชาวญี่ปุ่นได้ดี

2.4  ท่านผู้เขียนบทความต้องการจะทราบจะอะไร?

       เนื่องจากผู้เขียนบทความชิ้นนี้  จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก  ฉะนั้น  ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นนักวิจัย  เราจึงเห็นผู้เขียนนั้นพยายามที่จะกำหนดกรอบปัญหาของการศึกษางานชิ้นนี้เอาไว้ค่อนข้างจะชัดเจน  น่าสนใจ และน่าค้นหาคำตอบเป็นอย่างกล่าว  ซึ่งกรอบความคิดเกี่ยวปัญหาที่ผู้เขียนต้องการจะทราบก็คือ

      1) อะไรเป็นแรงจูงใจทำให้ท่านกูไกอำลาวงการวิชาการในเมือง แต่กลับเลือกที่จะไปใช้ชีวิตแบบสมถะบนภูเขาแทน?

      2) อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ท่านกูไกหันหลังให้กับอาชีพข้าราชการอันแสนจะสบายเพื่อที่จะร่อนเร่ไปบนภูเขาโยชิโนอันหนาวเย็น เดินทางไปพบอาจารย์คนแล้วคนเล่า สนทนากับนักพรตคนแล้วคนเล่า?

       3) อะไรคือผลานิสงฆ์อันเกิดจากการสวดมนตราอันนี้ ซึ่งท่านกูไกให้ค่ายิ่งกว่าการศึกษาวรรณกรรมจีนที่เขาพอใจอย่างยิ่งและเชี่ยวชาญอย่างสูง?

        ถึงแม้ว่าผู้จัดทำจะชื่นชมกับแนวทางการกำหนดกรอบโดยการตั้งปัญหาที่ตนเองต้องการจะทราบเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วก็ตามที  แต่ดูประหนึ่งว่าความชัดเจนดังกล่าวนั้นจะขาดความรัดกุมและขาดประเด็นที่ควรจะตั้งเอาไว้เหมือน ๆ กับ 3 ประเด็นดังที่กล่าวแล้วในเบื้องต้น  และผู้จัดทำคิดว่า ประเด็นที่ขาดหายน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการจะทราบ เนื่องจากผู้เขียนได้นำไปเปิดประเด็นเอาไว้ในหัวเรื่องของบทความชิ้นนี้ว่า “การตีความของท่านกูไก”   อะไรคือสิ่งที่ขาดหายและน่าจะตกหล่นไป  ฉะนั้น เพื่อให้เกิดภาพที่คมชัดมากยิ่งขึ้น ผู้จัดทำจึงใคร่วางกรอบการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็น  คือ

         1) หลักการสำคัญในการนำมาตีความของท่านกูไก

         2) เกณฑ์ที่ใช้ในการตีความของท่านกูไก

         3)  เป้าหมายในการตีความของท่านกูไก

         4) หัวใจในการตีความของท่านกูไก

        ถามว่า ในบทความนี้ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ผู้จัดทำได้ตั้งขึ้นไว้หรือไม่?  คำตอบก็คือ มีแน่นอน แต่ปัญหาก็คือ ทำไม? ผู้เขียนจึงไม่ตั้งเป็นประเด็นคำถามเหมือนกับ 3 คำถามแรก  จะอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะได้นำหลักการและแนวคิดของท่านกูไกมาวิเคราะห์ภายใต้กรอบของศาสตร์แห่งการตีความ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะตกอยู่ภายในปรากฏการณ์ของสองมาตรฐาน (Double Standard) ในสิ่งเดียวกัน

 

3. ผู้เขียนกับแนวทางในการวิเคราะห์ และตีความงานของท่านกูไก

 

                ท่านผู้เขียนบทความชิ้นนี้  เปิดฉากเนื้อหาของการเขียนเอาไว้อย่างน่าสนใจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มุ่งไปที่ประเด็นประวัติศาสตร์และความเป็นมาของสมัยเฮตัน ซึ่งมีพระเจ้ากัมมุเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ที่ 50  ของญี่ปุ่น  หลักจากนั้น  จึงเบนความสนใจมาสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจ สาเหตุของการเลือกที่จะเป็นนักบวช และแทนที่จะเป็นนักวิชาการ และเลือกที่จะเปลี่ยนสถานจากราชการไปสู่ความเป็นนักบวช   นอกจากนั้น  ผู้เขียนก็ยังพยายามที่จะเกาะติดเกี่ยวกับสิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจอีกด้านหนึ่งของท่านกูไก นั่นคือ มนตรา หรือธารณีที่ท่านกูไกพยายามสวดนั้น  จริง ๆ แล้วได้อานิสงค์จริงหรือไม่ ถ้าได้จริง อะไรคืออานิสงส์

                ประเด็นการตั้งคำถามเพื่อเปิดทางไปสู่การตีความคัมภีร์เขียนนั้น ทำได้อย่างน่าทึ่งและน่าสนใจเป็นอย่างมาก  ฉะนั้น  เพื่อให้คำถามของผู้เขียนที่ได้ตั้งเอาไว้  ได้เกิดภาพที่คมชัดมากยิ่งขึ้น ท่านจึงใช้หลักแห่งการตีความโดยย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์และความเป็นมา[30]ของท่านกูไก  โดยท่านผู้แต่งมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า สิ่งที่ท่านเลือกที่จะเป็น เลือกที่จะทำ  เลือกที่จะเป็นอยู่  หรือบริบทต่าง ๆ ในอดีตของท่านกูไกนั้น น่าจะเป็นกุญแจที่จะไขไปสู่คำตอบของของการเลือกที่จะทำ เป็นอยู่  และเลือกที่จะกระทำการณ์ในทุก ๆ ด้านของท่านกูไกได้

                ฉะนั้น  ต่อไปนี้เราจะตามไปดูประวัติและความเป็นมาของท่านกูไก  เพื่อให้สอดรับกับเจตนารมณ์ของท่านผู้เขียน (ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ก็ตาม)

 

 

 

3.1 ประวัติและความเป็นมาของกูไก  โคโบไดชิ (Kukai  Kobo daishi)

      3.1.1  อัตตชีวประวัติของท่านกูไก

      กูไก เกิดในปี ค.. 774 ในตระกูลเซไก (ซึ่งเป็นสายหนึ่งของตระกูลโอโตโม (Otomo) ที่ทรงอิทธิพล) ที่จังหวัดซานุกิ (Sanuki) บนเกาะคิวชู (Kyushu) คำว่า “กูไก” หมายถึง “นภาและสมุทร” หรือ “สมุทรแห่งสุญญตา” ส่วนคำว่า “โคโบ ไดชิ” (Kobo daishi) นั้นหมายถึง “บรมครูผู้เผยแผ่ธรรมะ” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ท่านได้รับหลังจากสิ้นชีวิต ในการเปิดเผยถึงอัตชีวประวัติเกี่ยวกับท่านกูไกนั้น  ท่านชิบะ เรียวตาโร (Shiba Ryotaro) ได้พูดถึงสภาพแวดล้อมที่กูไกถือกำเนิดว่า

จังหวัดซานุกิที่กูไกเกิดตั้งอยู่ใกล้ห้าจังหวัดรอบเมืองหลวง มีแม่น้ำจินุ (Chinu) กลาง ทุ่งราบกว้างขวาง เนินเขาทรงกรวยแต่งแต้มภูมิประเทศราวกับปะพรมผืนทุ่งกว้าง เป็นไปได้ว่าเพราะทุ่งราบอันกว้าง ท้องฟ้าเปล่งประกายรับกับท้องทะเลกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เมฆาเคลื่อนคล้อยเป็นกลุ่มก้อนแล้วแปรเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ทัศนียภาพเช่นนี้หรอกหรือที่หล่อเลี้ยงเกื้อกูลวิสัยทัศน์ให้กับผู้คน?

                    กูไกก็เหมือนชนชั้นสูงทั่ว ๆ ไปที่ได้รับการศึกษาในวัยเด็ก ได้เรียนศิลปวิทยาการแบบจีน จากนั้นก็เข้ามหาวิทยาลัยในเมืองหลวง  กระนั้น  ในฐานะที่เป็นชาวชิโกกุ (Shikoku) ท่านจึงเติบโตขึ้นห่างไกลจากความซับซ้อนของเมืองใหญ่และวิถีชีวิตของราชสำนักนารา แม้ว่าท่านเป็นเพื่อนกับพระจักรพรรดิ์และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำนาญการทางวัฒนธรรม แต่ว่าท่านไม่ได้หลงไหลในแสงสีแบบชาวเมืองแต่ประการใด กลับชื่นชอบจิตวิญญาณแห่งภูเขา ซึ่งท่านได้แสดงออกมาอย่างชัดแจ้ง  ปีต่อ ๆ มา ท่านกูไกชอบที่จะอ้างถึงธรรมชาติในนามของท่าน

 

สาเหตุอันใดเล่าที่ข้ามุ่งสู่คิรี

ท่านถามว่า เหตุใดครูจึงจมอยู่ในพสุธาอันหนาวเหน็บ

สถานที่ยากลำบากท่ามกลางยอดเขาลึกและสูงชัน

ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด และอันตราย

สถานที่ซึ่งเทพารักษ์แห่งภูเขา และรุกขเทวดาอาศัยเป็นวิมาน

ไม่มีเหตุอันใดที่ต้องอยู่ในเมืองต่อไป

ข้าพเจ้าจำต้องไป....ต้องไป

แต่ไม่หรอก ข้าพเจ้าอยู่ในเมืองไม่ได้หรอก

บรมครูแห่งสุญญตานี้ เป็นพระบุตรแห่งสมุทรขีร์

ไม่ย่อท้อเพื่อยลบรรดาก้อนหินและต้นสนในโกยะคีรีแต่ประการใด

และยังคงไหลเลื่อนอย่างชัดเจนอยู่ไม่ขาดสาย

หาหลงระเริงกับชื่อเสียงและลาภยศไม่

ไม่ยอมถูกกลืนกินโดยโลกมายาอันเกรี้ยวกราด

ผู้สละซึ่งโลกใช้ชีวิตพรหมจรรย์ ย่อมบรรลุอาณาจักรแห่งธรรมกายในไม่ช้า

 

                   ขณะกูไกมีอายุ 18 ปี ท่านได้ท่องเที่ยวไปในเมืองหลวงเพื่อศึกษาและได้เสริมให้ความศรัทธาต่ออภิจิตของภูเขามีอิทธิพลขึ้นมา นิกายต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา หรือ 6 สำนักแห่งนารา ซึ่งได้รับรองโดยรัฐบาลยึดแนวคันถธุระ ซึ่งเน้นการศึกษาพระคัมภีร์เหนือการปฏิบัติ แท้จริงแล้ว เจ้าสำนักต่าง ๆ ในเมืองหลวง เช่น ท่านโกเมียวแห่งแห่งนิกายโยคาจาร ท่านเต๋าซวนแห่งนิกายวินัย-อวตังสกะ และท่านโดจิแห่งมาธยมิก[31] ดูเหมือนว่าท่านเหล่านี้ก็ได้เดินทางไปยังภูเขาโยชิโนเพื่อปฏิบัติธรรมเป็นระยะ ๆ เช่นเดียวกัน ดังนั้น สำหรับกูไกแล้วการสละชีวิตเมืองจึงไม่ใช่ลัทธินอกรีตแต่ประการใด เพียงแต่ท่านทำอย่างจริงจังและจิตมุ่งมั่น

                 หลังจากท่านกูไกหลบออกจากมิตรอาณาจักร ท่านก็ได้ปลีกตนไปอยู่ป่าเขาเป็นเวลาหลายปี ท่านได้รจนาคัมภีร์วิจักษ์ศึกษา (critical study) ชื่อ อรรถแห่งพระไตรสาสน์ (Aims of the Three Teaching)

       3.1.2  สาเหตุของการเดินทางไปประเทศจีน

       ความคิดที่จะเดินทางไปประเทศจีนเกิดขึ้นมาคราวที่ท่านกูไกได้ปลีกตนไปอยู่ภูเขาเพราะท่านมีความเชื่อว่าการท่องหรือสวดมนต์ล้านครั้ง จะสามารถช่วยให้ท่านจดจำและเข้าใจเนื้อความในพระคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาทั้งหมด แต่ท่านกูไกกลับพบว่าท่านไม่สามารถเข้าใจหัวใจของมหาไวโรจนสูตรได้เลย เพราะเหตุที่ไม่มีใครในญี่ปุ่นสักคนจะช่วยให้คำตอบท่านได้ ดั้งนั้นท่านจึงแก้ไขปัญหาโดยการศึกษาแหล่งเกิดของคัมภีร์มหาไวโรจนสูตร  ก็คือเดินทางไปประเทศจีน

                    ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่าทำไมความล้มเหลวในการปฏิบัติด้วยการสวดโกกูโซ[32] ไม่ได้ส่งผลให้ท่านกูไกท้อถอย ตรงกันข้ามท่านกูไกกลับยอมเสี่ยงชีวิตเดินทางอย่างอยากลำบากไปยังประเทศจีน คำอธิบายหนึ่งก็คืออาจเป็นได้ที่ท่านพบว่าท่านสามารถเข้าใจถึงหัวใจ (เนื้อหา) แห่งพระคัมภีร์ โดยไม่ต้องอ้างตามพิธีกรรม เพราะเหตุที่ไม่มีเส้นแบ่งครึ่งระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติเชิงรหัสยะ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ชาวญี่ปุ่นยังไม่รู้จักในเวลานั้น ท่านจึงตระหนักว่าความรู้ของท่านควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติ ความเชื่อนี้เองที่ทำให้ท่านกูไกตัดสินใจเดินทางไปสู่จีน

                  ยิ่งกว่านั้น  บางทีท่านกูไกอาจหยั่งเห็นจุดเชื่อมโยง (ประนีประนอม) ของบางสิ่งในคัมภีร์ยิ่งกว่าแค่ตีความสัจธรรมในอีกแง่หนึ่ง บางทีท่านอาจหยั่งเห็นหน่อแห่งทฤษฎีการตีความทั้งหมด  สัมพันธ์กับพลัง (แรงผลักดัน) 2 กระแสที่ยังยังไม่เชื่อมโยงกันในชีวิตของท่าน  หนึ่งคือศรัทธาในคัมภีร์ว่าสามารถเผยสัจจะที่เปลี่ยนชีวิตคนได้ และสองคือความเชื่ออย่างรุนแรงว่าสัจจะดำรงอยู่ในการปฏิบัติ ไม่ใช่เนื้อหาปรัชญา ในฐานะปัจเจกบุคคล ท่านกูไกรู้สึกถึงความขัดแย้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งท่านอยู่ในสถานที่สันโดษ ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่พบตามขุนเขา อีกด้านหนึ่งของท่านอยู่ในโลกของถ้อยคำ  คัมภีร์ และวัฒนธรรม  บางครั้งท่านต้องเชื่อมโยงภูเขาเข้ากับเมือง  ลักษณะดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่ชาวธรรมชาติ วิญญาณ และไสยศาสตร์  กับอีกด้านที่ยอมรับบูชานักปราชญ์ การเรียนรู้ และคุณธรรมตามแบบจีน  อาจเป็นความขัดแย้งภายในนี่เอง  (ความขัดแย้งทางบุคคลและวัฒนธรรม) ที่นำพาให้ท่านกูไกยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อขอเข้าใจคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมที่คลุมเครือในประเทศจีน

 

        3.1.3 จุดประสงค์ในการเลือกที่จะศึกษามนตรยานในจีน

                        ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือว่า ในขณะที่พี่ชายของท่านกูไกคือท่านไซโจเดินทางไปประเทศจีน และได้ศึกษาพระพุทธศาสนานิกายเทียนไท้ และกลับมาก่อตั้งนิกายใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “เทนได”  แต่อิทธิพลทางความคิด และการแสดงออกของท่านไซโจซึ่งเป็นพี่ชายนั้นท่านไม่ได้มีอิทธิพลต่อท่านกูไกแม้แต่น้อย  เพราะท่านกูไกนั้นกลับเลือกที่จะเดินไปสู่มรรควิถีแห่ง “มนตรยาน” ซึ่งแนวความคิดต่อยานนี้ ได้เผยให้เราได้เห็นตั้งแต่คราวที่ท่านกูไกได้ปลีกตัวเองออกไปจากเมืองเข้าไป ณ ภูเขาโยชิโนนั้น  ตำราทางด้านศาสนาที่ท่านกูไกได้อ่านเล่มแรก  คือ  โกกุโซคุโมนจิโฮ (Kokuzogumonijiho) แต่เมื่อท่านอายุได้  เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 30 ปี ท่านได้พบสำเนาคัมภีร์มหาไวโรจนสูตร[33]

                       สิ่งที่ทำให้เราสามารถมองเห็นความเกี่ยวข้องระหว่างงานคัมภีร์ทั้งสองเล่มนี้ คือ   ผลงาน  ทั้งสองชิ้นเป็นภาษาจีนโดยคน ๆ เดียวกัน นั่นก็คือ สุภากรสิงหา (.. 637-735) ผู้ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกรูปแรกของนิกายพุทธรหัสยะในจีน เพราะได้รับอิทธิพลจากการแปลของสุภากรสิงหา ท่านกูไกจึงได้กลายเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธศาสนาแบบรหัสยะในจีน ดังนั้นเมื่อท่านกูไกเดินทางไปประเทศจีน จึงเป็นการง่ายที่ท่านกูไกเลือกที่จะศึกษาแนวความคิดของ “มนตรยาน”  และในขณะเดียวกัน ท่านจึงสามารถซึมซับเอาคำสอน “มนตรยาน” (Shingon) เป็นเวลานานกว่าสองปี

       3.1.2  การเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น

       หลังจากที่ท่านกูไกเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น  ท่านกูไกได้แต่งคัมภีร์ขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง คือ ภาวะจิต  10  ขั้น  (Ten States of Mind)  เพื่อใช้เป็นหลักการในแบ่งภูมิธรรมของมนุษย์ตามหลักการและทฤษฎีของท่านกูไก   จากการประเมินในเบื้องต้นสามารถทำให้เราได้มองเห็นภาพของการวิวัฒนาการของคัมภีร์อรรถะตรีสาสน์ (The Aims of Three Teachings) เนื่องจากก่อนที่จะเดินทางไปเมืองจีนนั้น ท่านกูไกได้ประพันธ์งานชิ้นนี้เอาไว้  โดยเป็นการประยุกต์หลักการสำคัญของลัทธิขงจื้อ เต๋า และพระพุทธศาสนา  ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมปรัชญาและแนวความคิดของศาสนาและลัทธิที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและแนวความคิดของคนในยุคนั้น มาใช้เป็นหลักการสำคัญของนิกายชินงอน 

        ฉะนั้น เราจะเห็นว่า  การจัดระดับจิตทั้ง  10  ขั้นตามนัยของกูไกนั้น  ก็นำเอาแนวคิดของลัทธิขงจื้อ เต๋า และพระพุทธศาสนานั้นมาเป็นกรอบเบื้องต้นในการจัดระดับ  ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาการทางจิตตั้งแต่ระดับที่ 2-10  ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางจิตตั้งแต่ระดับจิตของผู้นับถือลัทธิขงจื้อไปจนถึงผู้นับถือพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะนิกายชินงอน  ซึ่งท่านถือว่าระดับจิตตั้งแต่ผู้นับถือขงจื้อไปจนถึงชินงอนเท่านั้นเป็นสิ่งที่จริงแท้ และถือว่าเป็นพัฒนาการที่ถูกต้อง

 

 

3.2  แรงจูงใจที่ทำให้ท่านกูไกเลือกที่จะใช้เป็นนักบวชแทนที่จะเลือกงานด้านวิชาการ

                เมื่อนำทฤษฎีแรงจูงใจของจิตวิทยามาวิเคราะห์ถึงที่มาของการเลือกที่จะใช้ชีวิตของความเป็นนักบวช แทนที่จะเป็นนักวิชาการในเมืองหลวงนั้น เมื่อประเมินจากบทความ การเลือกดังกล่าวนั้น ประกอบด้วยแรงจูงใจ  2 ด้าน คือ  แรงจูงใจภายใน และแรงจูงใจภายนอก

                3.2.1 แรงจูงใจภายนอก  ในประเด็นนี้ เราสามารถที่จะประเมินได้จากการที่ท่านชิบะ เรียวทาโร ได้ถึงสภาพแวดล้อมของท่านกูไกถือกำเนิดว่า

“จังหวัดซานุกิที่กูไกเกิดตั้งอยู่ใกล้ห้าจังหวัดรอบเมืองหลวง มีแม่น้ำจินุ (Chinu) กลาง ทุ่งราบกว้างขวาง เนินเขาทรงกรวยแต่งแต้มภูมิประเทศราวกับปะพรมผืนทุ่งกว้าง เป็นไปได้ว่าเพราะทุ่งราบอันกว้าง ท้องฟ้าเปล่งประกายรับกับท้องทะเลกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เมฆาเคลื่อนคล้อยเป็นกลุ่มก้อนแล้วแปรเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ทัศนียภาพเช่นนี้หรอกหรือที่หล่อเลี้ยงเกื้อกูลวิสัยทัศน์ให้กับผู้คน

                สภาพแวดล้อมดังกล่าวน่าจะเป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่ท่านกูไกรับซึมซับเอาไว้ตั้งแต่วัยเยาว์   เมื่ออยู่ในวัยหนุ่มอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น  จึงน่าจะกลายเป็นแรงจูงใจภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลให้ง่ายต่อการตัดสินใจของท่านกูไก

                3.2.2  แรงจูงใจภายใน  ในประเด็นนี้  เราสามารถที่จะประเมินได้จากการบทกวีของท่านกูไกที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะเลือกเส้นทางของท่านว่า

“สาเหตุอันใดเล่าที่ข้ามุ่งสู่คิรี

ท่านถามว่า เหตุใดครูจึงจมอยู่ในพสุธาอันหนาวเหน็บ

สถานที่ยากลำบากท่ามกลางยอดเขาลึกและสูงชัน

ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด และอันตราย

สถานที่ซึ่งเทพารักษ์แห่งภูเขา และรุกขเทวดาอาศัยเป็นวิมาน

ไม่มีเหตุอันใดที่ต้องอยู่ในเมืองต่อไป

ข้าพเจ้าจำต้องไป....ต้องไป

แต่ไม่หรอก ข้าพเจ้าอยู่ในเมืองไม่ได้หรอก

บรมครูแห่งสุญญตานี้ เป็นพระบุตรแห่งสมุทรขีร์

ไม่ย่อท้อเพื่อยลบรรดาก้อนหินและต้นสนในโกยะคีรีแต่ประการใด

และยังคงไหลเลื่อนอย่างชัดเจนอยู่ไม่ขาดสาย

หาหลงระเริงกับชื่อเสียงและลาภยศไม่

ไม่ยอมถูกกลืนกินโดยโลกมายาอันเกรี้ยวกราด

ผู้สละซึ่งโลกใช้ชีวิตพรหมจรรย์ ย่อมบรรลุอาณาจักรแห่งธรรมกายในไม่ช้า”

บทกวีของท่านกูไกได้ทำให้เรามองเห็นถึงแรงจูงใจภายนอกอย่างชัดแจ้งว่า  สังคมเมืองก็ดี  ลาภยศชื่อเสียงอันจะเกิดจากการทำงานก็ได้  ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่ของท่าน  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  สัจธรรมคือความจริง หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการเข้าถึงอาณาจักรธรรมกายต่างหากคือสิ่งที่ท่านมุ่งหวัง

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว จะเห็นว่า  แรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการหันหลังให้กับตำรับตำรามาใช้ชีวิตตามป่าเขาลำเนาไพรนั้น ก็คือ การแสวงหาทางพุทธิปัญญาอย่างแท้จริง

 

3.3  สาเหตุที่ทำให้ท่านกูไกเปลี่ยนสถานของตนเองจากอาชีพข้าราชการไปสู่นักบวช

สาเหตุสำคัญที่นำพาให้ท่านกูไกต้องหันหลังให้กับอาชีพข้าราชการอันแสนจะสบายเพื่อที่จะร่อนเร่ไปบนภูเขาโยชิโนอันหนาวเหน็บ และเดินทางไปพบอาจารย์คนแล้วคนเล่า สนทนากับนักพรตคนแล้วคนเล่า  เราสามารถที่จะประเมินจากบทความของท่านผู้เขียนบทความได้ดังต่อไปนี้

3.3.1 ดังที่ได้กล่าวแรงจูงใจในการเลือกที่จะเดินทางไปสู่ภูเขาแล้วว่า ท่านตัดสินใจที่จะละทิ้งลาภยศ  สรรเสริญ  และความสุขที่จะเกิดขึ้นในการทำงาน  เพื่อแสวงหาพุทธิปัญญา อันได้แก่ธรรมกาย  แต่ในขณะที่ท่านเองแสวงหาธรรมกายอยู่นั้น  ถึงแม้ว่าท่านจะพยายามที่จะศึกษาหาความรู้จากคัมภีร์สักปานใด  สวดธารณีสักปานใด ท่านก็ไม่สามารถที่จะเข้าความจริงที่ซ่อนอยู่ในคัมภีร์มหาไวโรจนสูตรได้  และในขณะเดียวกัน  ท่านก็พยายามที่จะแสวงหาคำตอบนักพรต และอาจารย์ทุกท่านที่รู้จักในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ไม่พบทางออก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ท่านต้องเดินทางไปประเทศจีน

3.3.2       ขณะกูไกมีอายุ 18 ปี ท่านได้ท่องเที่ยวไปในเมืองหลวงเพื่อศึกษาและได้เสริมให้ความศรัทธาต่ออภิจิตของภูเขามีอิทธิพลขึ้นมา นิกายต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา หรือ 6 สำนักแห่งนารา ซึ่งได้รับรองโดยรัฐบาลยึดแนวคันถธุระ ซึ่งเน้นการศึกษาพระคัมภีร์เหนือการปฏิบัติ   ท่านจึงมองว่าแนวทางเหล่านั้น  มันไม่สามารถทำให้ท่านเข้าถึงความจริงได้  เพราะท่านเองก็พยายามที่จะศึกษาตามแนวของนิกายเหล่านั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้เคยศึกษาตามแนวของนิกายอวตังสกะ  แต่การศึกษาดังกล่าวนั้น มุ่งจะที่ให้ความสำคัญแก่ความรู้ในเชิงปริยัติมากจนเกินไป

เพื่อค้นหาความจริงจากปริยัติที่ท่านได้ศึกษามา ในขณะที่ท่านเดินทางออกจากเมืองนั้น ท่านคิดอยู่เสมอว่า ทฤษฎีไม่สามารถตอบคำถามของตัวเองได้  ฉะนั้น จึงแสวงหาแนวทางในทางปฏิบัติ  ฉะนั้น  ท่านจึงตัดสินใจที่จะเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปยังภูเขาโยชิโน

ทั้งสองประการนั้น คือสิ่งที่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับเหตุผลในการเลือกที่จะเดินทางออกจากเมือง แล้วไปเสาะแสวงหาคำตอบจากสิ่งที่ตัวเองได้เรียน   และบางคราวก็พยายามที่จะถามอาจารย์ และนักพรตมากมาย  แต่สุดท้ายท่านก็ถึงทางตัน  จึงถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ท่านจะต้องเดินทางไปประเทศจีน

3.4  ผลานิสงส์จากการมุ่งเน้นในเรื่องการสวดมนตรา

ในคัมภีร์มหาไวโรจนสูตรได้ชี้ให้เราได้มองเห็นอานิสงส์ของการสวดมนตราได้ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ การเน้นย้ำให้แต่ละคนนั้นสาธยายมนตราด้วยความใคร่ครวญ  ซึ่งจะมีลักษณะและอานิสงส์ ดังต่อไปนี้

3.4.1 สาธยายมนตราในขณะที่เราลักษณะแห่งตัวอักษรให้เกิดขึ้นในใจ  เช่นนี้เรียกว่า “ความตรัสรู้ของใจ”

3.4.2 ระลึกให้เห็นความแตกต่างของเสียงแต่ละตัวอักษร

3.4.3 ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของวลีแต่ละวลี ว่ามีความสำคัญอย่างไร

3.4.4  ทำการฝึกลมหายใจ ซึ่งเราต้องฝึกบังคับการฟายใจของเราเพื่อจะใคร่ครวญถึงการรวมตัวกันระหว่างผู้ภักดี กับพุทธมหาไวโรจนะ

เมื่อเราพยายามที่จะทำการสาธยายมนตราภายในกรอบของการปฏิบัติเช่นนี้   สิ่งที่จะตามมาในขั้ดสุดท้ายก็คือ มนตรานั้นจะทำให้เราเข้าถึงความแห่งถ้อยคำว่า ถ้อยคำที่เราพยายามสวด หรือสาธยายนั้น  แท้ที่จริงแล้วมันก็คือ สัจพจน์ (Truth Words)  อันหมายถึงการเข้าถึงความจริงขั้นสูงสุดตามนัยของพระพุทธศาสนานิกายชินงอน      

แต่ประเด็นปัญหาที่น่าตั้งข้อสังเกตในช่วงท้ายก็คือว่า ก่อนที่ท่านกูไกจะเดินทางไปศึกษา        มนตรยานในประเทศจีน ท่านก็เคยเกี่ยวข้องกับการสวดมนตรามาก่อน (ดังที่สวดในภูเขาโยชิโน)  แต่ก็ไม่สามารถทำให้มองเห็นอานิสงส์ของการสวดมนตราได้  แต่เมื่อกลับมายังประเทศญี่ปุ่นแล้ว  อะไรคือกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) อันเกิดจากการท่องบ่นมนตรา เหล่านี้คือประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์

3.4.1 การสวดมนตราของท่านกูไกตามกรอบความคิดเดิม (Old Paradigm) นั้น  เป็นการสวดที่มุ่งตัวหนังสือ หรือเนื้อหามากเกินไป  หากแต่ไม่ได้ดูที่จุดมุ่งหมายของการสวดว่าทำเพื่ออะไร  และในขณะเดียวกัน   วิธีการ หรือพิธีกรรมที่จะเข้ามาสนับสนุน หรือเกื้อกูลการสวดนั้น ก็ไม่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางที่จะก่อให้เกิดการเข้าถึงความจริงได้   ฉะนั้น จึงกลายเป็นว่า การสวดมนตรากลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการขวางท่านไม่ให้เข้าถึงความจริง

3.4.2 เนื้อหาในบทสวดนั้นจะไร้ความหมายไปในทันที   หากผู้สวดมุ่งเฉพาะเนื้อหา หรือทฤษฏีโดยไม่ได้สนใจแนวทางในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริง  เราจะพบว่า กรอบความคิดเดิมเกี่ยวกับการสวดของท่านกูไก หรือนักพรตต่าง ๆที่ทำกันบนภูเขาโยชิโนนั้น เป็นเพียงการทำภายใต้กรอบของทฤษฎีเท่านั้น  แต่ไม่สามารถถอดรหัสถ้อยคำเหล่านั้นมาสู่แนวทางของการปฏิบัติได้

3.5 หลักการสำคัญในการนำมาตีความของท่านกูไก

หลักการสำคัญที่ท่านกูไกนำมาเป็นกรอบในการตีความนั้น  เราสามารถที่จะประเมินและสรุปได้จากหนังสือ 2 เล่มด้วยกัน กล่าวคือ และเล่มที่สองนั้นเป็นหนังสือที่ท่านกูไกรจนาขึ้นหลังจากที่ท่านเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ได้พัฒนาขึ้น หรือต่อยอดจากเล่มแรก  ดังจะเห็นวิเคราะห์ตามนัยของผู้เขียน ดังนี้

3.5.1 อรรถะตรีสาสน์  (Aims of The Three Teachings)  หนังสือเล่มแรกนั้นเป็นหนังสือที่ท่านกูไกได้ทำการศึกษาในเชิงวิพากษ์ อันเป็นการประมวลแนวความคิด ทฤษฎี และหลักการสำคัญในลัทธิขงจื้อ  เต๋า และพระพุทธศาสนา มาผสมผสานในเชิงประนีประนอม  เพราะว่าคนในสังคมญี่ปุ่นสมัยนั้นต่างก็ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและแนวความคิดจากทั้งสามศาสนานั้น

เหตุผลในการแต่งคัมภีร์เล่มนี้

1) ท่านต้องการขอขมาญาติพี่น้องที่ท่านละทิ้งการศึกษาลัทธิขงจื้อ เพื่อชีวิตนักบวชในทางพระพุทธศาสนา

2)  เพราะเหตุที่ในผลงานนี้มีความพยายามอันแรงกล้าที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตอย่างเหลวแหลก ดังนั้น ท่านกูไกจึงหวังว่างานของท่านจะสามารถใช้ได้ผลกับหลานชายของท่านเอง

ข้อสังเกตเกี่ยวกับคัมภีร์

1) ท่านกูไกมีความชัดเจนในสิ่งท่านกำลังทำและพยายามทำให้สำเร็จโดยเขียนงานขึ้น คำนำแรกเริ่มนั้นได้เปรียบเทียบงานของท่านกับงานอื่น ๆ  ทั้งในภาษาจีน และญี่ปุ่น เป็นที่ชัดเจนว่าเรื่องแต่ง นั้น  ถูกประเมินจากผลกระทบที่มีต่อผู้อ่านมากกว่าเนื้อหาหรือรูปแบบงานเขียน ดังนั้น งานที่กอปรด้วยเจตคติแห่งการสอนและเรียนรู้ (ดังเช่นของท่านกูไก) จึงเป็นการแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่ มากกว่างานที่มีลักษณะยั่วยวน โน้มน้าว ปลุกเร้าอารมณ์ หรืองานประเภทบันเทิงคดี ณ ประเด็นนี้ทำให้เราทราบแนวโน้มของท่านกูไกที่จะตีความหมายพระคัมภีร์ที่ “การใช้” คำเท่า ๆ กับ “การสื่อ” คำ (คำในพระคัมภีร์ใช้บ่งอะไร  ไม่ใช่แค่การเขียนลอย)

                2) เราสามารถเปรียบเทียบท่านกูไกกับเพลโตได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทสนทนาช่วงต้นและกลางของชีวิตท่าน ท่านกูไกมองว่าสถานะของศาสนาและปรัชญาอยู่ที่ผู้เชื่อและยึดถือ หมายความว่ามาตรฐานหลักในการประเมินคำสอนอยู่ที่ประสิทธิภาพของคำสอนเองที่มีต่อผู้เข้าถึง ท่านกูไกได้กล่าวไว้ในหัวเรื่องของงานของท่านว่าท่านสนใจในเป้าหมาย (aims) ของตัวคำสอนมากกว่าเนื้อหาสาระ เพราะท่านมองว่าเป้าหมาย (aims) ไม่สามารถแยกออกจากเนื้อหาได้ ท่านมองว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ (no sharp distinction between theory and practice)

                3) งานของท่านกูไกชี้ให้เห็นว่างานยุคแรก ๆ ท่านใช้จินตนาการเป็นสื่อสำหรับแสดงธรรมะ ในการอธิบายความคำสอนของขงจื้อ เต๋า และพระพุทธศาสนา ท่านกูไกใช้อุบายเชิงศิลปะ กล่าวคือการก่อให้เกิดการสนทนาแบบนิยายในระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนวิถีชีวิตของคำสอน 3 แบบนั้น  (three life-style) ท่านกูไกไม่เคยหวนกลับไปพูดถึงบ่อเกิดของตัวคำสอนอีก[34] แต่ท่านกลับใช้การแสดงออกเชิงศิลปะเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะ[35]และบทกวี[36] ซึ่งท่านมองว่าเป็นสื่ออุดมคติที่ถ่ายทอดสัจจะอันสุขุมคัมภีร์ภาพได้ลึกซึ้งที่สุด

สาระสำคัญของของคัมภีร์

1) เนื้อหาของแนวคำสอนและแนวปฏิบัติ เราสามารถที่จะสังเกตได้ว่าหลักคำสอน  3 แบบ (ขงจื้อ, เต๋า, และพระพุทธศาสนา) ล้วนมุ่งเพื่อเป็นมรรควิธีสำหรับคนวัยรุ่น ขงจื้อเน้นหน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และสถาบันกษัตริย์  ขงจื้อกล่าวว่าหากวัยรุ่น (คนหนุ่ม-สาว) ศึกษาคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เขาก็จะพบความกลมกลืนในปัจเจกชน และในสังคมมากกว่าจะเถลไถลไปกับความพอใจระยะสั้น ๆ ที่เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างย่อหย่อนในกฎระเบียบ สำหรับเต๋าแล้ว ชีวิตที่บริสุทธิ์และอายุที่ยืนยาวจะเป็นของผู้ที่ปฏิบัติตามวิถีแห่งการใคร่ครวญตนเอง

ส่วนทรรศนะของพระพุทธศาสนาแล้ว จะมองไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามจากทัศนะของขงจื้อและเต๋าซึ่งมุ่งเน้นในเชิงโลกียวิสัย เพราะพระพุทธศาสนามองว่าโลกแห่งโลกียะเป็นโลกแห่งอนิจจังและเต็มไปด้วยความทุกข์ สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือพระนิพพานอันเป็นบรมสุข อันเป็นพื้นฐานของปัญญาญาณ และความเมตตาสำหรับมวลมนุษย์ โดยสรุปแล้ว ทั้งสามทรรศนะล้วนชี้ให้เห็นทางแห่งความเสื่อมด้านศีลธรรม เพื่อจะเยียวยาชีวิตสำมะเลเทเมา ทั้งสามทรรศนะต่างถือว่ามีประสิทธิภาพ (คือใช้ได้)  อย่างไรก็ตาม ท่านกูไกไม่ได้มองว่าคำสอนทั้งสามนั้นเท่าเทียมกัน โดยเป้าหมาย ศาสนาพุทธเหนือกว่าเต๋าและขงจื้อ เพราะมีทัศนะที่สมบูรณ์สูงส่ง และเป็นที่สุด  นี้เป็นเหตุผลทำให้เราต้องพิจารณาถึงประเด็นที่สอง

2) เป้าหมายของการปฏิบัติตามแนวของตรีสาสน์ พระพุทธศาสนานั้นไปได้ไกลกว่าเพราะว่าพระพุทธศาสนามีทรรศนะว่าด้วยเรื่องโลกุตตระ[37] อีกนัยหนึ่งคือว่า เป้าหมาย (aims) ของคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นไปได้ไกลกว่าโลกียะคือโลกแห่งประสบการณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ศาสนาที่สอนเรื่องเหนือโลกได้  ศาสนานั้นจะดีกว่า  ด้วยเกณฑ์นี้  ความเป็นเอกภาพทางสังคมของขงจื้อเป็นการก้าวข้ามกามสุขของวัยรุ่น แต่ก็ยังคงเป็นรองลัทธิเต๋าที่แสวงหาอมตภาพ ส่วนพระพุทธศาสนาสอนเรื่องเหนือโลก (สู่โลกอื่น คือ นิพพาน) ท่านกูไกจึงจัดให้อยู่เหนือสุด

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว  ลักษณะในการตีความของท่านในคัมภีร์นี้นั้น  เป็นความพยายามที่จะประนอมแนวความคิดของคนในประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น  หล่อมเป็นหนึ่งแนว  หรือจะกล่าวอีกนัยก็คือพยายามที่จะสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) ขึ้นมา จากกรอบ หรือกระบวนทัศน์เดิม (Old Paradigm) ที่มีอยู่   เพื่อนำเป้าหมายหลัก คือ เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมกาย  หรือพระพุทธมหาไวโรจนะ  ดังจะเห็นได้จากภาพดังต่อไปนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

¾Ô¸Õ¡ÃÃÁ

·èÒ·Ò§

ÈÔÅ»Ð

¡ÇÕ

Á¹µÃÒ

µÃÕ¡ÃÃÁ

(¡Ò  ÇÒ¨Ò áÅÐã¨)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 


จะเห็นได้การตีความ หรือการเข้าถึงธรรมกาย หรือพระพุทธไวโรจนะนั้น  จะต้องผ่านกระบวนการของตรีกรรมเป็นเบื้องต้น  หลักจากนั้นก็จะตรีกรรมเป็นเครื่องมือที่จะไขไปสู่ความจริงโดยผ่านสื่อหรือภาษาในรูปแบบเช่น การสวดมนตรา การอ่านกวี  เป็นต้น  (ดังรูปภาพ)   เมื่อ   ตีความผ่านกระบวนเหล่านี้แล้ว  เขาก็จะเข้าถึงธรรมกายได้

3.5.2  ภาวะจิต 10 ขั้น (Ten States of Mind) ท่านกูไกพัฒนาการแบ่งมนุษย์เป็นประเภทต่าง ๆ ตามระดับของจิตใจ 10 ระดับ ตั้งแต่ภาวะแรกที่ยังไม่จัดว่าเป็นจิตของมนุษย์ เพราะจิตในระดับนี้ยังอยู่ใน

ภาพลวงตาหรือมายา   จึงมีการกระทำไปตามแรงความปรารถนาของตนเองเท่านั้น จิตที่จัดว่าเป็นมนุษย์คือจิตตั้งแต่ระดับที่ 2 จนถึงระดับที่ 10 ซึ่งเป็นการพัฒนาสูงสุดที่หยั่งรู้ในทุกๆ สิ่ง โดยเฉพาะพระธรรมกายของพระไวโรจนพุทธ  

การแบ่งประเภทของมนุษย์ตามแนวคิดนี้ตามโลกทัศน์ที่แสดงออก  ทั้งนี้ท่านกูไกเชื่อว่าโลกทัศน์ก็คือโลกของประสบการณ์ของคนนั้น  การแสดงออกของโลกทัศน์ที่แตกต่างกันจึงอยู่ในรูปแบบของถ้อยคำและการกระทำทางกาย  โดยที่ท่านกูไกให้ความสำคัญในส่วนของการกระทำต่อผู้อื่นหรือเพื่อผู้อื่นเป็นตามหลักความเชื่อของพุทธศานานิกายมหายาน ในการมุ่งบำเพ็ญบารมีด้วยการทำประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ให้พ้นวัฏสงสารก่อน เป็นโพธิสัตวธรรมบารมีในโลกนี้ก่อน เพื่อให้กลับมาเกิดใหม่และเป็นอรหันต์  ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า มนุษย์ตามการจัดแบ่งของท่านกูไกระดับจิตที่ 4 และ 5 คือสาวกและปัจเจกพุทธะ ซึ่งมุ่งบำเพ็ญตนให้บรรลุอรหันตผล และเป็นแนวทางการปฏิบัติสูงสุดของหินยานจึงถูกจัดเป็นมนุษย์ที่มีระดับจิตในภาวะกลาง ๆ  เท่านั้น

ความพิเศษที่ท่านกูไกเสนอไว้ก็คือความสามารถที่จะตรัสรู้หรือหยั่งรู้ (Insight) ได้ในชาตินี้ ถ้าได้ปฏิบัติในส่วนที่เป็นรหัสยนัย หรือความลับภายในที่ถ่ายทอดเฉพาะอาจารย์และลูกศิษย์เท่านั้น  การสอนของท่านกูไกนี้ผิดกับมหายานนิกายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงความเป็น “พุทธะ” ได้ในชาตินี้ ต้องตั้งจิตอธิษฐานให้กลับมาเกิดใหมม่อีกครั้งจึงจะสามารถบรรลุอรหันตผลได้  เพราะไม่มีการปฏิบัติที่เป็นความลับ ที่ทำให้สัมผัสกับพระธรรมกาย หรือสาระของธรรมะ หรือพุทธะ แต่ของนิกายชินกอนนี้การปฏิบัติตามรหัสยนัยจะเป็นหนทางนำไปสู่การสมานเข้ากับพระไวโรจนพุทธ ได้โดยตรง

การปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมจะเริ่มที่ระดับจิตใดก็ได้ แต่ที่สำคัญต้องมีการปฏิบัติ ที่เป็นรหัสยนัย  ดังจะเห็นได้จากภาพ ดังนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

พวกสาวกยาน

พวกปัจเจกพุทธยาน

พวกอวตังสกะ/เคงอน/ฮัวเหยิน

ÀÒÇТͧ¨Ôµ  10  ¢Ñé¹

ไร้ศาสนา

พวกขงจื้อ

พวกเต๋า

พวกโยคาจาร

พวกมาธยมิก

พวกเทียนไท/เทนได

พวกชินงอน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

จะเห็นว่า หลักการข้างต้นนี้ จะท่านกูไกพยายามที่จะประมวลแนวความคิดของแต่ละลัทธิขงจื้อ  เต๋า  และพระพุทธศาสนานิกายกายต่าง ๆ เข้าไปหนึ่งเดียว   อันเป็นกรอบของการพัฒนาจากสิ่งที่หยาบที่สุดไปสู่สิ่งที่ละเอียดที่สุด นั่นก็คือธรรมกาย (ดังรูปภาพ)

3.6 เกณฑ์ที่ใช้ในการตีความของท่านกูไก

เกณฑ์หรือมาตรฐานหลักในการในการตีความหรือการประเมินคำสอนอยู่ที่ประสิทธิภาพของคำสอนเองที่มีต่อผู้เข้าถึง ท่านกูไกได้กล่าวไว้ในตอนต้นของเรื่องว่าท่านสนใจในเป้าหมาย (aims) ของตัวคำสอนมากกว่าเนื้อหาสาระ เพราะท่านมองว่าเป้าหมาย (aims) ไม่สามารถแยกออกจากเนื้อหาได้ ท่านมองว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ (no sharp distinction between theory and practice) 

การแบ่งมนุษย์ตามระดับจิต 10 ประเภทนั้น เป็นการแสดงให้เห็นความแตกต่างของโลกทัศน์และวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ดำรงชีวิตสอดคล้องกับความเชื่อนั้นๆ ของตน ส่วนแตกต่างกันจึงเป็นเพราะระดับจิตใจที่แตกต่างกัน ในการพัฒนาจิตนั้นจึงขึ้นอยู่กับ ความพร้อมในแต่ละบุคคล ระดับจิต และการกระทำที่เป็นศรัทธาที่มั่นคง ซึ่งต้องสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนทั้งสามส่วน โดยแท้จริงแล้ว ท่านกูไกยังเชื่อว่าส่วนไม่มีส่วนที่เร้นลับของจิตใจ เมื่อเกิดภาวะการเชื่อมประสานกันอย่างหยั่งรู้ระหว่างกัน ฉะนั้นภาวะจิต 10 ระดับจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นธรรมกาย

3.7 เป้าหมายในการตีความของท่านกูไก

เนื่องจากนิกายชินงอนของท่านกูไกนั้น มุ่งเน้น และให้ความสำคัญอย่างมากกับสิ่งที่เรียกว่า “สัจพจน์”  หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง สัจพจน์คือหัวใจของนิกายชินงอนก็คงไม่ผิดนัก  ฉะนั้น  สิ่งที่นิกายนี้ให้ความสำคัญก็คือ เป้าหมายของการตีความ หรือการสื่อในรูปแบบต่าง ๆ  ถ้าคำนั้นมุ่งหน้าไปสู่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือความจริงขั้นสูงสุด หรือจริงแท้ ได้คำนั้น เรียกว่าสัจพจน์ แต่ถ้าไม่เป็นไปเพื่อสิ่งเหล่านั้น ไม่ถือว่าเป็นสัจพจน์  ฉะนั้น  นิกายนี้ จึงมุ่งไปที่ จุดมุ่งหมาย (end)  มากกว่าวิธีการ ( mean )

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  การตีความนั้น ต้องมุ่งไปที่เป้าหมาย (Aims) ก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนภาษา ซึ่งได้แก่ ตัวอักษร ถ้อยคำ ประโยค ข้อความ เรื่องราว ข้อความ ถือได้ว่าเป็นประกอบที่จะต้องเป็นแรงสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ได้  ฉะนั้น  การตีความทฤษฎี หรือแนวคิดใด ๆ ก็ตาม จะต้องเป็นไปเพื่อผลในทางปฏิบัติ  โดยการนำหลักการต่าง ๆ ที่ตนเชื่อมาปฏิบัติเพื่อทำให้ผู้ตีความเข้าถึงความจริง หรือเป้าหมายที่แท้จริง คือ นิพพาน

ความแตกต่างกันมนุษย์เป็นสาระสำคัญของการนำไปสู่การเห็นลักษณะของพระไวโรจนะในระดับจุลจักรวาล   และเป็นการย้ำเตือนให้ค้นหาความหมายภายในที่ซ่อนอยู่ในส่วนที่เปิดเผยของคัมภีร์ต่าง ๆ

3.8 หัวใจในการตีความของท่านกูไก

                หัวใจหลักเกี่ยวกับการตีความของท่านกูไก คือ ธรรมชาติของ “คำ”[38] แต่เมื่อพลิกดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานทำให้เราได้เข้าใจถึงความหายของคำอย่างแจ่งชัดว่า “คำ หมายถึง  เสียงพูด  หรือลายลักษณ์อักษรที่เขียนหรือพิมพ์ขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็น  โดยปรกติถือว่าเป็นหน่วยที่สุดซึ่งมีความหมายในตัว”[39]  และเมื่อย้อนกลับไปดูศาสตร์ที่ว่าด้วยการตีความของท่านอาจารย์กีรติ บุญเจือ จะพบว่า “คำ” กลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่จะต้องนำมาตีความเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามแต่เจตนารมณ์ของผู้ที่ตีความ

                “คำ”  ที่นับได้ว่าเป็นหัวใจของการตีความ  สำหรับท่านกูไกแล้วถือได้ว่าคำเหล่านี้จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือโดยผ่านกระบวนการของภาษาที่ใช้ในการสวดมนตรา  ฉะนั้น  การสวดมนตรานั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยถอยคำที่เปล่งออกมาเป็นเสียง แล้วนำเสียงที่แฝงเอาไว้ด้วยมนตรานั้นเป็นเครื่องมือให้เราเข้าใจความจริง

                นอกจากมนตราที่จำเป็นต้องใช้ “คำ”แล้ว  คำนั้นยังแฝงเอาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษรที่ท่านกูไกแสดงผ่านบทกวี  งานเขียนของท่าน  สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่าน หรือได้ยินได้ฟังนั้นบังเกิดความสงบภายในใจ  อันเป็นการฝึกสมาธิในอีกรูปแบบหนึ่ง

                ในทัศนะของท่านกูไกถือว่า ธรรมะกับมนตราเป็นอันเดียวกัน  ทุกครั่งที่เปล่งมนตรา ตัวธรรมจะเกิดทุกคราวไป  เพราะว่าตัวมนตรานั้นจะทำให้เราเข้าถึงธรรมกายได้[40]

                ในขณะเดียวกัน เรายังไม่สามารถที่จะตีความ หรือเข้าใจธรรมโดยปราศจากคำพูดได้  ท่านกูไกได้ยืนไว้อย่างชัดเจนว่า “ธรรมอยู่เหนือถ้อยคำ  แต่ปราศจากถ้อยเราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจตัวธรรมะได้  ตถตา (Suchness) อยู่เหนือรูปแบบ  แต่ปราศจากรูปแบบเราก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้ง     (ตถตา) ได้”[41]

                ฉะนั้น หัวใจของการตีความของท่านกูไกก็คือ การใช้ภาษาอันจะเกิดจากพิธีกรรมเป็นเครื่องมือที่จะสื่อให้เราเข้าถึงพระธรรมกาย  โดยเริ่มจากสิ่งที่หยาบที่สุดในมหาจักวาล ไปสู่จักวาล และสิ่งที่ละเอียดที่สุดในระดับจุลจักรวาล  และจะเข้าถึงพระไดนิชิ (พุทธมหาไวโรจนะ) หรือธรรมกายในที่สุด ดังจะเห็นได้จากรูปภาพดังนี้

 

 

 

Cosmic

Macrocosmic

 



Microcosmic

 



Dainichi

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 


4. สรุปและวิเคราะห์: การตีความของท่านกูไกตามทัศนะของโทมัส พี คาซุลิส

                การศึกษาวิเคราะห์จากบทความเรื่อง ““สัจพจน์: การตีความของท่านกูไก”  โดย  โทมัส พี       คาซุลิส (Thomas P Kasulis)  ทำให้เราได้มองเห็นภาพรวมของการนำหลักการ แนวคิด และทฤษฎี รวมไปถึงประวัติและพัฒนาการในมิติต่าง ๆ ของท่านกูไกมาอธิบายภายใต้กรอบแห่งการตีความ 

                ฉะนั้น การนำเสนอของท่านเจ้าของบทความนั้น ทำให้เราได้มองเห็นการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  นั่นก็คือ

                1) การหาคำตอบถึงที่มาของแรงจูงใจในการเลือกที่จะละทิ้งวงวิชาการไปสู่เพศสมณะ

                2) การหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องการละทิ้งเมืองแล้วเข้าไปสู่ป่าของท่านกูไก

                3) การหาคำตอบถึงอานิสงส์ของมนตราที่ท่านกูไกพยายามทำและแนะนำลูกศิษย์ให้ทำตาม

                นอกจากนั้น แล้ว เรายังได้มองเห็นและเข้าใจถึงกรอบ และหลักการตีความของท่านกูไก  โดยนำหลักการทางลัทธิและศาสนาที่ถือว่าเป็นกระบวนทัศน์แบบเก่า  มาอธิบายในรูปแบบใหม่   ซึ่งการนำเสนอในรูปลักษณ์เหล่านี้ ถือว่าเป็นการนำเสนอและตีความเพื่อตอบสนอง และพยายามที่จะประนีประนอม รวมไปถึงความเชื่อมโยงแนวคิดแต่ละกระแสที่มีอยู่ในสังคมญี่ปุ่น 

                ความพยายามของท่านผู้เขียนบทความ และความพยายามที่จะนำเสนอทางเลือกใหม่ของท่าน กูไกนั้น  นับเป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจ   และถือเป็นแนวทางในการศึกษา และน่าจะนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางเพื่อพัฒนาการศึกษา  การเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

5. หนังสืออ้างอิง

 

ภาษาไทย

 

ภรัต ซิงห์ อุปัธยายะ.  นักปราชญ์พุทธในประเทศญี่ปุ่น.  กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2542.

พระธรรมปิฏก (..ปยุตฺโต). พระพุทธศาสนาในอาเซีย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, 2540.

จี. เอช. ซาซากิ. นิกายสำคัญในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ:มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2542.

กีรติ  บุญเจือ. ทฤษฎีการตีความทางศาสนาและปรัชญา (กรุงเทพฯ: เอกสารประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนากับศาสตร์แห่งการตีความ,มปป.), . 2.

เอดเวิร์ด คอนซ์. พระพุทธศาสนา: สาระและพัฒนาการ แปลโดย นิธิ  เอียวศรีวงศ์  (กรุงเทพฯ: สามัคคีสาสน์, 2530.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์, 2530.

อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์.  พระพุทธศาสนามหายา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539.

.ศิวรรักษ์.  ความเข้าใจในเรื่องมหายาน  .กรุงเทพฯ: ส่องศยาม, 2542.

เอดเวิร์ด คอนซ์. พระพุทธศาสนา: สาระและพัฒนาการ แปลโดย นิธิ  เอียวศรีวงศ์.  (กรุงเทพฯ: สามัคคีสาสน์, 2530.

เสฐียร  พันธรังษี. พุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543.

 

อินเตอร์เน็ต

http://www.msu.ac.th/satit/ART/teacher.html

 http://mahamakuta.inet.co.th/tipitaka/tipitaka3/tipi~231.html

http://www.msu.ac.th/satit/ART/teacher.html

 http://mahamakuta.inet.co.th/tipitaka/tipitaka3/tipi~231.html

Http://www.acs.ohio-state.edu/osu/newsrel/Archive/93-09-01 Trustee Appointments.

 

ภาษาอังกฤษ

Thomas P. Kasulis “Truth Words: The Basis of  Kukai’s Theory  of Interpretation,” in  Buddhist Hermeneutics  edited by  Donald  S.. Lopez, Jr. (Honolulu: University of Hawaii Press, 1952.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8. ประวัติผู้ทำวิจัย

 

ชื่อ                           พระมหาหรรษา

ฉายา                      ธมฺมหาโส

นามสกุล               นิธิบุณยากร

วัน/เดือน/ปี เกิด  15  มิถุนายน  2515

มาตุภูมิ                  บ้านท่าคอยนาง  .สวาย   .ปรางค์กู่  .ศรีสะเกษ

การศึกษา             

q       นักธรรมเอก,  เปรียญธรรม 6 ประโยค

q       พุทธศาสตรบัณฑิต (ปรัชญา)  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

q       ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พุทธศาสนศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

q       หลักสูตรการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโครงการสิ่งแวดล้อมโดยสันติวิธี  สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และสถาบันพระปกเกล้า

q       หลักสูตรความรู้พื้นฐานด้านการป้องกัน และไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท

       ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยสันติวิธี  กรมส่งเสริมคุณภาพ

                       สิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสถาบันพระปกเกล้า

q       หลักสูตรการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการขอโทษ: หลักการ ปฏิบัติการ และนโยบาย  สถาบันพระปกเกล้า

q       หลักสูตรประกาศนียบัตรหลักสูตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความ ขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะด้วยสันติวิธี รุ่นที่ 2 สถาบันพระปกเกล้า

q       หลักสูตรนักเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

       กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตำแหน่ง                เลขานุการ/ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหม่

จำพรรษา              วัดใหม่ แขวงบางขุนนนท์  เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

                                0-2882-4798  Email: hunsa15@hotmail.com

 



[1] แปลจากหนังสือ “Thomas P. Kasulis “Truth Words: The Basis of  Kukai’s Theory  of Interpretation,” in  Buddhist Hermeneutics  edited by  Donald  S.. Lopez, Jr. (Honolulu: University of Hawaii Press, 1952), p. 257-271”.  (พระมหาหรรษา  ธมฺมหาโส และภารณี  วนะภูติ ผู้แปล)

[2] เป็นพระเจ้าจักพรรดิ์องค์ที่  50 ของประเทศญี่ปุ่น

[3] เอฮัน แปลว่า ราชธานีแห่งสันติ (ดูเพิ่มเติมใน พระธรรมปิฏก (..ปยุตโต), พระพุทธศาสนาในอาเซีย (กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, 2540), . 93).

[4] ธารณี หมายถึง การร่ายมนต์ หรือสวดมนต์ มนต์ต่าง ๆ นั้น เรียกว่า ธารณี  ซึ่งธารณีนั้น อาจจะเป็นของพระพุทธเจ้าบ้าง พระโพธิสัตว์บ้าง  ทวยเทพบ้าง  ที่ประทานไว้แก่สัตว์โลก บางบทก็ยาว บางบทก็สั้น ขนาดพยางค์เดียวก็มี เช่น คำว่า “อะ”  หรือ บทสวดที่ได้รับความนิยมก็คือ “โอม มณี ปัทเม หุม” (ดูเพิ่มเติมใน อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์  พระพุทธศาสนามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539), . 303)

[5] The text’s true meaning is not in the letters written on the page, but in the dynamics between the words and reader.

[6] รหัสยนัยทางกายนั้น แสดงออกด้วยท่ามุทราต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องมือในการประกอบพิธีกรรม เช่น ระฆัง วัชระ ดอกบัว ซึ่งสามารถสื่อถึงพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ และพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ

   รหัสยนัยทางวาจา แสดงออกด้วยการมนต์ หรือธารณี ซึ่งใช้ในการบริกรรม

   รหัสยนัยทางจิต แสดงออกด้วยการบำเพ็ญสมาธิภาวนา  ซึ่งสามารถทำให้เข้าถึงปัญญาที่แท้จริงได้ (ดูเพิ่มเติมใน  .ศิวรรักษ์,  ความเข้าใจในเรื่องมหายาน  (กรุงเทพฯ: ส่องศยาม, 2542), . 202-203)

[7] เกี่ยวกับลักษณะผลงานรจนาว่าเป็นผลงานประเภทใด

[8] ในที่นี้ หมายถึง  คำสอนของลัทธิขงจื้อ เต๋า  และพระพุทธศาสนา

[9] หมายความว่าท่านไม่สนใจในเรื่องที่มาที่ไปของตัวคัมภีร์ แต่สนใจเฉพาะเป้าหมาย

[10] อภิรัฐ เทียนสี มองว่าศิลปะมีคุณค่าต่อการพัฒนามนุษย์ และสังคม ดังนี้
                  1) ศิลปะเป็นสื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันทางวัฒนธรรม ศิลปธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี
                  2) ศิลปะเป็นสื่อสะท้อนสภาพทางสังคมและยกระดับค่านิยมของสังคมให้เจริญสูงขึ้น
                  3) ศิลปะจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดอารมณ์สุนทรียภาพทำให้มีความเพลิดเพลินเกิดความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนดีงามทำให้จิตใจและอารมณ์เจริญงอกงามในทางที่ดีอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข (http://www.msu.ac.th/satit/ART/teacher.html)

[11] กวีนั้น แบ่งออกเป็น 4  ชนิด คือ 1. จินตกวี  แต่งโดยความคิด 2. สุตกวี แต่งโดยได้ฟังมา  3. อรรถกวี แต่งตามความเป็นจริง  4. ปฏิภาณกวี แต่งโดยปฏิภาณ เช่น กลอนสด (ดูใน ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ..2525 (กรุงเทพฯ:  อักษรเจริญทัศน์, 2525), . 65.)

เมื่อนำประเภทของกวีมาประเมินการแต่งกวีของท่านกูไก  กวีของท่านน่าจะจัดอยู่ในประเภทที่ 3  อันหมายถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการคิด การฟัง และการปฏิบัติมาหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวจนเป็นที่มาของการแต่งกวีบนพื้นฐานของความจริงที่ตนได้ค้นพบจากการปฏิบัติ.

[12] ไม่ได้หมายความพระพุทธศาสนาดีกว่าศาสนาอื่น แต่หมายความว่า ทรรศนะของพระพุทธศาสนาว่าด้วยเรื่องโลกกุตตระ (transcendence) ซึ่งทั้งขงจื้อและเต๋าไม่ได้ว่าไว้

[13] พระสูตรนี้มีทั้งสิ้น 7 ผูก เป็นพระสูตรที่มีชื่อเสียงของคัมภีร์ฝ่ายลัทธิมนตรยาน ภายหลังได้มีการก็จัดสงเคราะห์ลงในหมวดไวปุลยะ อันเป็นการจัดพระสูตรให้เป็นหมวดหมู่ตามนัยของพระสูตรมหายาน ได้แก่ หมวดอวตังสกะ  หมวดไวปุลยะ หมวดปรัชญา หมวดสัทธรรมปุณฑริก หมวดปรินิรวาณ  (ความรู้เรื่องพระไตรปิฏก ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์  โดย  เสถียร โพธิ-นันทะ ใน http://mahamakuta.inet.co.th/tipitaka/tipitaka3/tipi~231.html)

ส่วนเนื้อหาที่ปรากฏในพระสูตรนี้จะชี้ให้เห็นถึงอำนาจแห่งมนตรา ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างตอนหนึ่งในมหาไวโรจนสูตรที่ว่า “เป็นเพราะปณิธานแห่งพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ทีเดียว พลังอันน่าอัศจรรย์จึงมีอยู่ในมนตร์  ดังนั้น เมื่อได้กล่าวซึ่งมนต์ เราก็จะได้บุญอย่างเหลือประมาณ” และพระสูตรเดียวกันนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ความสำเร็จในแผนการของเราโดยอาศัยมนตร์นั้น  เกิดขึ้นเนื่องจากการบันดาลของพระพุทธเจ้าซึ่งได้ประทานอิทธิพลที่ลึกซึ้ง แต่สังเกตเห็นไม่ได้ในมนตร์นั้น” (ดูเพิ่มเติมใน เอดเวิร์ด คอนซ์, พระพุทธศาสนา: สาระและพัฒนาการ แปลโดย นิธิ  เอียวศรีวงศ์  (กรุงเทพฯ: สามัคคีสาสน์, 2530), .263.)

[14] โกกุโซ  เป็นคัมภีร์เล่มแรกที่ท่านกูไกได้ใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา และใช้สวด  หลังจากที่เดินทางไปปลีกวิเวกเพื่อปฏิบัติธรรมที่ภูเขาโยชิโน

[15] ในที่นี้ หมายถึง สัญลักษณ์ที่ถูกแสดง (หรือเผย) ออกมาจากธรรมกายเดียวกัน

[16] ในที่นี้ หมายถึง รูปร่างในเชิงสัญลักษณ์ตาง ๆ ของธรรมกาย เช่น ธรรมกายในก้อนหิน  ธรรมกายในรูปของน้ำ  ชีวิต  และพืชพรรณต่าง ๆ

[17] มุทรา หมายถึง คือ ท่าทางศักดิ์ ซึ่งมักแสดงออกในการใช้มือทำสัญลักษณ์  เช่น  พนมมือ หรือใช้นิ้วกลางจดกับนิ้วโป้ง ในเวลาสวดมนต์ และทำสมาธิแบบมนตรยาน (ดูเพิ่มเติมใน  เสฐียร  พันธรังษี, พุทธศาสนามหายาน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543), .105.)

[18] การปฏิเสธ  8  ประการของมาธยมิก คือ  การถือว่าสิ่งทั้งหลายไม่เกิด ไม่ดับ ไม่ขาดสูญ ไม่ถาวร ไม่เหมือน ไม่ต่าง  ไม่ปรากฏ และไม่ใช่ไม่ปรากฏ  (ดู Mulamadhamikakarika ของ Nagarjuna)

[19] ในที่นี้ ได้แก่  สมมติสัจจ์ และปรมัตถสัจจ์

[20] พระมหาหรรษา  ธมฺมหาโส

[21]ภรัต ซิงห์ อุปัธยายะ, นักปราชญ์พุทธในประเทศญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2542), 125-128.

[22] Http://www.acs.ohio-state.edu/osu/newsrel/Archive/93-09-01 Trustee Appointments.

[23] พระธรรมปิฏก (..ปยุตฺโต), พระพุทธศาสนาในอาเซีย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, 2540), . 94.

[24] ผู้แปลนิยามความหมายของคำว่า “Truth Words” หมายถึง  “สัจพจน์”

[25] จี. เอช. ซาซากิ,นิกายสำคัญในพระพุทธศาสนา (กรุงเทพฯ:มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2542),. 40.

[26] ภรัต ซิงห์ อุปัธยายะ, นักปราชญ์พุทธในประเทศญี่ปุ่น, อ้างแล้ว, .125.

[27] บทความของผู้เขียน  .

[28] ดูเพิ่มเติมในพระธรรมปิฏก (..ปยุตฺโต), พระพุทธศาสนาในอาเซีย, อ้างแล้ว, . 118.

[29] นิกายนี้ถือเอาท่านนาคารชุนเป็นปฐมสังฆปริณายก ฉะนั้น หลักการและแนวคิดต่าง ๆ จึงสอดคล้องกับนิกายมาธยมิก นอกจากนั้น นิกายนี้ก็พยายามที่จะนำหลักการของนิกายอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ด้วย  แต่สิ่งที่นิกายนี้ไม่ค่อยเน้นคือ การสวดมนตร์ดังที่ท่านกูไก ได้ปฏิบัติ

[30] กีรติ  บุญเจือ, ทฤษฎีการตีความทางศาสนาและปรัชญา (กรุงเทพฯ: เอกสารประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนากับศาสตร์แห่งการตีความ,มปป.), . 2.

[31] อีก 3 นิกายใน 6 นิกายที่ผู้เขียนไม่ได้พูดถึงก็คือ  นิกายริตสุ (นิกายฝ่ายเถรวาทที่สอนให้เคร่งครัดในศีลวัตร)  นิกายกุชา (นิกายสรวาสติวาทิน หรือ อภิธรรมโกษศาสตร์  และ นิกายโจจิตสุ (นิกายเสาตรานติกะ หรือ สัตยสิทธิศาสตร์), ดูเพิ่มเติมใน พระธรรมปิฏก (..ปยุตฺโต), พระพุทธศาสนาในอาเซีย, อ้างแล้ว , . 90.)

[32] โกกุโซ  เป็นคัมภีร์เล่มแรกที่ท่านกูไกได้ใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา และใช้สวด  หลังจากที่เดินทางไปปลีกวิเวกเพื่อปฏิบัติธรรมที่ภูเขาโยชิโน

[33] พระสูตรนี้มีทั้งสิ้น 7 ผูก เป็นพระสูตรที่มีชื่อเสียงของคัมภีร์ฝ่ายลัทธิมนตรยาน ภายหลังได้มีการก็จัดสงเคราะห์ลงในหมวดไวปุลยะ อันเป็นการจัดพระสูตรให้เป็นหมวดหมู่ตามนัยของพระสูตรมหายาน ได้แก่ หมวดอวตังสกะ  หมวดไวปุลยะ หมวดปรัชญา หมวดสัทธรรมปุณฑริก หมวดปรินิรวาณ  (ความรู้เรื่องพระไตรปิฏก ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์  โดย  เสถียร โพธินันทะ ใน http://mahamakuta.inet.co.th/tipitaka/tipitaka3/tipi~231.html)

ส่วนเนื้อหาที่ปรากฏในพระสูตรนี้จะชี้ให้เห็นถึงอำนาจแห่งมนตรา ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างตอนหนึ่งในมหาไวโรจนสูตรที่ว่า “เป็นเพราะปณิธานแห่งพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ทีเดียว พลังอันน่าอัศจรรย์จึงมีอยู่ในมนตร์  ดังนั้น เมื่อได้กล่าวซึ่งมนต์ เราก็จะได้บุญอย่างเหลือประมาณ” และพระสูตรเดียวกันนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ความสำเร็จในแผนการของเราโดยอาศัยมนตร์นั้น  เกิดขึ้นเนื่องจากการบันดาลของพระพุทธเจ้าซึ่งได้ประทานอิทธิพลที่ลึกซึ้ง แต่สังเกตเห็นไม่ได้ในมนตร์นั้น” (ดูเพิ่มเติมใน เอดเวิร์ด คอนซ์, พระพุทธศาสนา: สาระและพัฒนาการ แปลโดย นิธิ  เอียวศรีวงศ์  (กรุงเทพฯ: สามัคคีสาสน์, 2530), .263.)

[34] หมายความว่าท่านไม่สนใจในเรื่องที่มาที่ไปของตัวคัมภีร์ แต่สนใจเฉพาะเป้าหมาย

[35] อภิรัฐ เทียนสี มองว่าศิลปะมีคุณค่าต่อการพัฒนามนุษย์ และสังคม ดังนี้
                  1) ศิลปะเป็นสื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันทางวัฒนธรรม ศิลปธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี
                  2) ศิลปะเป็นสื่อสะท้อนสภาพทางสังคมและยกระดับค่านิยมของสังคมให้เจริญสูงขึ้น
                  3) ศิลปะจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดอารมณ์สุนทรียภาพทำให้มีความเพลิดเพลินเกิดความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนดีงามทำให้จิตใจและอารมณ์เจริญงอกงามในทางที่ดีอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข (http://www.msu.ac.th/satit/ART/teacher.html)

[36] กวีนั้น แบ่งออกเป็น 4  ชนิด คือ 1. จินตกวี  แต่งโดยความคิด 2. สุตกวี แต่งโดยได้ฟังมา  3. อรรถกวี แต่งตามความเป็นจริง  4. ปฏิภาณกวี แต่งโดยปฏิภาณ เช่น กลอนสด (ดูใน ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ..2525 (กรุงเทพฯ:  อักษรเจริญทัศน์, 2525), . 65.)

เมื่อนำประเภทของกวีมาประเมินการแต่งกวีของท่านกูไก  กวีของท่านน่าจะจัดอยู่ในประเภทที่ 3  อันหมายถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการคิด การฟัง และการปฏิบัติมาหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวจนเป็นที่มาของการแต่งกวีบนพื้นฐานของความจริงที่ตนได้ค้นพบจากการปฏิบัติ.

[37] ไม่ได้หมายความพระพุทธศาสนาดีกว่าศาสนาอื่น แต่หมายความว่า ทรรศนะของพระพุทธศาสนาว่าด้วยเรื่องโลกกุตตระ (transcendence) ซึ่งทั้งขงจื้อและเต๋าไม่ได้ว่าไว้

[38] The heart of Kukai’s hermeneutic is a theory about the nature of words. P.262.

[39] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์, 2530), . 26.

[40] The Dhummakaya expouns the Dhumma though every Dhumma, p.270..

[41] The Dhumma is beyond  speech, but without speech it cannot be revealed.  Suchness transcends forms, but without depending on forms it cannot be realized.

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕