หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ,ดร. อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (2541-2548) » สถานการณ์และทิศทางของพระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน
 
เข้าชม : ๑๘๒๙๑ ครั้ง

''สถานการณ์และทิศทางของพระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน''
 
พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ,ผศ.ดร. (2546)

สภาพโดยรวมของพระพุทธศาสนาในอเมริกา

· สภาศาสนาแห่งโลก(World’s Parliament of Religions) จัดขึ้นที่นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐(ค.ศ.๑๘๙๓) หรือเมื่อ ๑๐๙ ปีล่วงมาแล้ว นั่นคือจุดเริ่มต้นแห่งการที่พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่อเมริกา

· ต่างชาติที่นำพระพุทธศาสนาเข้าไปในอเมริกาในยุคเริ่มต้นก็คือ จีน(พวกพ่อค้าและผู้อพยพเข้าไปในแคลิฟอร์เนีย)และญี่ปุ่น นิกายที่เข้าไปในยุคแรก คือ ชิน(สุขาวดี) และเซน พ.ศ.๒๔๔๐ (๑๐ ปีหลังจากจัดประชุมสภาศาสนาแห่งโลก) ไดเซ็ต ไตตาโร่ ซูซูกิซึ่งในขณะนั้นอายุเพียง ๒๗ ปี ได้เดินทางไปอเมริกา พร้อมกับนำพระพุทธศาสนานิกายเซนแบบญี่ปุ่นเข้าไปเผยแผ่ โดยไปทำงานเป็นผู้ช่วยของพอล คารุส ที่รัฐอิลลินอยส์ เป็นผลทำให้พระพุทธศาสนานิกายเซนรุ่งเรืองอย่างมากใน พ.ศ.๒๔๙๓(๕๓ ปีหลังจากที่ท่านซูซูกิเข้าไป)

· ริชาร์ด ซีเกอร์ ผู้เขียนหนังสือชื่อ “Buddhism in America” บอกว่า ลักษณะของพระพุทธศาสนาในอเมริกาโดยรวม มี ๓ แบบ คือ

๑. พระพุทธศาสนาแบบที่ศาสนิกเปลี่ยนจากศาสนาอื่นมานับถือ(Convert Buddhism) อาจหันมานับถือเพราะสนใจเอง หรือภาวะจำเป็นบางอย่าง เช่น ภรรยาเป็นชาวพุทธ สามีเป็นชาวคริสต์ สามีหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามภรรยา

๒. พระพุทธศาสนาของคนอพยพ (Immigrant Buddhism) หรือพระพุทธศาสนาแบบชาติพันธุ์(Ethnic Buddhism)

๓. พระพุทธศาสนาแบบผสมระหว่างเอเชียกับอเมริกา (Asian-American Buddhism) ลูกหลานของครอบครัวที่ภรรยาเป็นพุทธ สามีเป็นคริสต์หรือศาสนาอื่น ๆ หรือสามีเป็นพุทธ ภรรยาเป็นคริสต์หรือศาสนาอื่น ๆ คนเหล่านี้หันมานับถือพระพุทธศาสนาตามบิดามารดา

· เจน นัตเตียร์กล่าวไว้ในหนังสือ(บทความ)เรื่อง “Issues in American Buddhism” ว่า โดยภาพรวม พระพุทธศาสนาในอเมริกาแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ

๑. พระพุทธศาสนาแบบนำเข้า(Import Buddhism) หรือพระพุทธศาสนาชั้นนำ (Elite Buddhism) พวกกลุ่มคนชั้นกลางส่วนมากเป็นพวกยุโรป-อเมริกา ซึ่งสนใจปฏิบัติกรรมฐาน มีเวลาและเงินพอที่จะซื้อหนังสืออ่าน หาเวลาไปปฏิบัติกรรมฐานในศูนย์ต่าง ๆ และฟังการบรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

๒. พระพุทธศาสนาแบบส่งออก(Export Buddhism) หรือพระพุทธศาสนาแบบเปลี่ยนศรัทธา(Evangelical Buddhism) โดยเฉพาะกลุ่มที่นับถือนิกายโซกะงักไก อาจเป็นพระพุทธศาสนาแบบที่ประเทศในเอเชียทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนา จัดส่งพระธรรมทูตหรือไปจัดสร้างวัดในอเมริกา หรืออาจเป็นชาวอเมริกาเองนั่นแหละไปอยู่ในประเทศอื่น หันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วนำกลับไปเผยแผ่ในอเมริกา พระพุทธศาสนาแบบนี้ไม่ได้เข้ามาในอเมริกาเพราะความประสงค์ของชาวอเมริกัน แต่เป็นความประสงค์ของคนกลุ่มอื่น

๓. พระพุทธศาสนาของผู้อพยพ(Baggage Buddhism) หรือพระพุทธศาสนาแบบชาติพันธุ์(Ethnic Buddhism) พระพุทธศาสนาแบบนี้เข้ามาสู่อเมริกาในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของผู้อพยพ

กลุ่มนิกายแห่งพระพุทธศาสนา

· ชาร์ลส์ เอส. เพรบิช ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Faces of Buddhism in America” กล่าวถึงกลุ่มนิกายหลัก ดังนี้

Zen Mountain Monastery, the Buddhist Peace Fellowship, Sooka Gakkai International-USA, the Buddhist Churches of America, His Lai Temple, the Insight Meditation Society, Spirit Rock Meditation Center, and Shambhala International.

· ชาร์ลส์ เอส.เพรบิชไม่ได้กล่าวถึงพระพุทธศาสนาที่ถือปฏิบัติอยู่ในกลุ่มคนไทย สร้างวัดไทยในลอสแองเจลิส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ปัจจุบันสถิติของกรมการศาสนาบอกว่า มี ๑๐๓ วัด มีพระภิกษุ ๖๐๓ รูป ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า พระพุทธศาสนาแบบไทยในอเมริกามีนโยบายและทิศทางอย่างไร จะอยู่ในกลุ่มไหน หรือเป็นแบบไร้ทิศทาง ?

สภาพของพระพุทธศาสนาเถรวาท

· พระพุทธศาสนาเถรวาทในอเมริกา แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ

๑. พระพุทธศาสนาแบบอนุรักษ์นิยมของผู้อพยพ (More Conservative in Immigrant Communities)

๒. พระพุทธศาสนาวิปัสสนากรรมฐาน (Insight Meditation Group) ดำเนินการโดยกลุ่มฆราวาสทั้งที่เป็นชาวไทย ศรีลังกา พม่า เขมร และชาวอเมริกัน

๓. พระพุทธศาสนาแบบวัดของกลุ่มพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ที่เน้นนโยบายเชิงวิชาการ(Monastic-led)

กระแสของพระพุทธศาสนาในอเมริกาปัจจุบัน

๑. ความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender Equity) กระแสนี้เริ่มก่อตัวขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๕๒๓ พยายามลบภาพความแบ่งแยกระหว่างสตรีกับบุรุษ ระหว่างสมณะกับฆราวาส ระหว่างคนเพศปกติกับกลุ่มคนรักร่วมเพศ ข้อกำหนดเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะบวชเป็นพระภิกษุ เช่น คนมี ๒ เพศ(อุภโตพยัญชนก) ไม่มีสิทธิบวชเป็นพระภิกษุ

๒. ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Engagement) กระแสนี้เริ่มก่อตัวขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๕๐๓ ซึ่งอาจแบ่งเป็น ๒ รูปแบบตามความเชื่อ คือ

๒.๑ กลุ่มที่เชื่อมั่นในพลานุภาพศักดิ์สิทธิ์ จึงพัฒนาตนแล้วกระจายศักยภาพของตนออกไป(Mindfulness-Based Engagement)

๒.๒ กลุ่มที่ไม่เชื่ออย่างนั้น แต่เชื่อพลังเห็นแล้วทำ(Seeing then Acting) จึงให้บริการแก่สังคมโดยตรง (Social-Based Engagement)

๓. สากัจฉาทั้งภายในและระหว่างศาสนา (Intra-Inter Dialogue, or Pan-Buddhism) กระแสนี้ปรากฏทั่วไป หลวงพ่อพุทธทาสก็มีหลักข้อหนึ่งในสามว่า “ให้พยายามทำความเข้าใจระหว่างศาสนา” ติทนัทฮันก็สอนไว้ในศีลข้อที่ ๑ ใน ๑๔ ข้อว่า “อย่าเป็นคนคลั่งลัทธิของตนเอง อย่าถือว่าศาสนาที่ตนนับถือดีที่สุด”(Do not be idolatrous about or bound to any doctrine, theory, or ideology, even Buddhist Ones.)

คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในอเมริกา

· ชาร์ลส์ เอส.เพรบิช ใช้คำที่น่าสนใจหลายคำในหนังสือ “Luminous Passage : The Practice and Study of Buddhism in America” ในการเขียนถึงพระพุทธศาสนาในอเมริกา เช่น Ethnicity, Democratization, Practice, Engagement, and Adaptation.

· เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอเมริกา มีจำนวน ๑๕๙,๐๐๐ เว็บไซต์โดยประมาณ เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ และที่น่าสนใจไปกว่านี้ ก็คือ อาจเป็นไปได้ว่าในอนาคต ที่มั่นของพระพุทธศาสนาจะเคลื่อนจากสุวรรณภูมิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปที่อเมริกา แต่ที่น่าเสียใจอยู่บ้างก็คือว่า เวลาเขาพูดถึงพระพุทธศาสนาในอเมริกา เขาไม่ได้พูดถึงพระพุทธศาสนาแบบไทย แต่เป็นพระพุทธศาสนาที่มีทิศทางแบบเอเชียตะวันออก

รูปแบบใหม่ที่อยู่ในความสนใจปัจจุบัน

· Cybersangha สังฆะในคอมพิวเตอร์ ชุมชนแห่งสังฆะติดต่อกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต รูปแบบนี้กำลังจะก้าวล้ำเข้าไปสู่กระบวนการแห่งสังฆกรรมผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีระบบสนทนาธรรม พูดคุยธุระ หรือพูดคุยสนุกสนานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ความเป็น “สังฆะ” อาจไม่จำเป็นต้องมีพระภิกษุ ๔ รูปมาร่วมประชุมกันอีกต่อไป เกณฑ์อาจจะมีเพียงว่า “มีเครือข่ายอินเตอร์หรือมีอีเมลเชื่อมโยงถึงกัน มีข้อตกลงร่วมกัน” ก็เป็นสังฆะประกอบกิจกรรมที่เป็นทางการได้ นอกจากคำว่า “Cybersangha” แล้ว ยังมีคำอื่นที่ใช้ในความหมายใกล้เคียงกัน คือ “Silent Sangha, Virtual Community”

· ในครั้งพุทธกาล มีการใช้วิธีอุปสมบทแบบ “ทูต(ทูเตน อุปสัมปทา)” สำหรับบวชหญิงแพศยาชื่อ “อัฑฒกาสี” เรื่องมีอยู่ว่า นางอัฑฒกาสีบวชเป็นภิกษุณีในภิกษุณีสงฆ์แล้ว จะไปบวชในฝ่ายภิกษุสงฆ์ เพื่อให้เป็นภิกษุณีอุภโตสงฆ์โดยสมบูรณ์

พวกนักเลงพอได้ยินข่าวว่า อัฑฒกาสีจะเดินทางไปกรุงสาวัตถี ดักซุ่มอยู่ในระหว่างทาง นางทราบว่ามีนักเลงดักคอยประทุษร้ายอยู่ในระหว่าง จึงส่งข่าวไปกราบทูลพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้จัดอุปสมบทโดยทูต

วิธีการก็คือ ให้ภิกษุณีรูปหนึ่งซึ่งอยู่ที่กรุงสาวัตถี ทำหน้าที่เป็นทูต(เป็นตัวแทน) เข้าไปหาภิกษุสงฆ์ บอกให้ภิกษุสงฆ์ทราบถึงเหตุที่ภิกษุณีผู้นั้นมาด้วยตัวเองไม่ได้ ขอให้ภิกษุสงฆ์อนุเคราะห์อุปสมบทให้เธอด้วย และกระบวนการอุปสมบทต้องเป็นแบบญัตติจตุตถกรรม

ในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะนำวิธีการนี้มาใช้ในการอุปสมบทกุลบุตรที่ต่างเมืองกัน และแม้แต่การรื้อฟื้นองค์กรภิกษุณีก็พยายามประยุกต์ใช้วิธีการนี้

· Lay Sangha สังฆะแห่งคฤหัสถ์ ชาวอเมริกันที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา กำลังช่วยกันเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับ “สังฆะ” และถือว่า “สังฆะ” ในอเมริกันต้องเป็น “สังฆะแห่งคฤหัสถ์” สาเหตุก็คือ มีคนแปลความหมายของคำว่า “สังฆะ” ให้ฟังและไม่อธิบายให้ครบกระบวนความ โดยบอกแต่เพียงว่า “สังฆะ” แปลว่า หมู่ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นก็สามารถเป็น “สังฆะ” ได้

อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยก็คือ ชาวอเมริกันที่เผยแพร่แนวคิด “สังฆะแห่งคฤหัสถ์” นี้ นับถือพระพุทธศาสนานิกายเซนแบบญี่ปุ่น และพระสงฆ์เซนแต่งงานมีครอบครัวได้ วิถีชีวิตหลายส่วนเหมือนคฤหัสถ์ ชาวพุทธอเมริกันจึงคิดว่า “พวกเขามีสถานะไม่แตกต่างจากพระสงฆ์แห่งนิกายเซน”

ชาวพุทธอเมริกันไม่ทราบว่า เซนในญี่ปุ่นมาจากจีน และเซนจากจีนมาจากอินเดีย ซึ่งพระภิกษุในนิกายเซนก็ต้องถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มีครอบครัวไม่ได้ พระภิกษุแห่งนิกายเซนในญี่ปุ่นในเบื้องต้นก็ไม่ได้แต่งงาน แต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๑๑ รัฐบาลญี่ปุ่นปิดวัด ไม่ให้พระภิกษุอยู่ และบังคับให้ใช้ชีวิตเป็นคฤหัสถ์

กระแสพระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน

· ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีตัวเลขระบุจำนวนผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ จำนวน ๑๑๙ ประเทศ มีประชากรรวมทั้งสิ้น ๖,๑๕๗,๔๐๐,๕๖๐ คน (ตัวเลขเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔) ในจำนวนประเทศเหล่านี้ มีเพียง ๑๐ ประเทศเท่านั้นที่ระบุว่ามีจำนวนของผู้นับถือพระพุทธศาสนา บางทีอาจมี ๑๑ ประเทศ เพราะข้อมูลบางแห่งบอกว่า ประเทศจีนซึ่งมีประชากรทั้งสิ้น ๑,๒๗๓,๑๑๑,๒๙๐ คน(หนึ่งพันสองร้อยเจ็ดสิบสามล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยเก้าสิบคน) มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา จำนวน ๑๐๒,๐๐๐,๐๐๐ คน คิดเป็น ๘.๐๓ เปอร์เซ็นต์

 

· ประเทศต่าง ๆ ที่ระบุจำนวนผู้นับถือพระพุทธศาสนา มีดังนี้

ที่

ประเทศ

จำนวนประชากร

จำนวนชาวพุทธ/เปอร์เซ็นต์

ไทย

๖๑,๗๙๗,๗๕๑

๙๕ %

กัมพูชา

๑๒,๔๙๑,๕๐๑

๙๕ %

ไต้หวัน

๒๓,๓๗๐,๔๖๑

๙๓ %

พม่า

๔๑,๙๙๔,๖๗๘

๘๙ %

ญี่ปุ่น

๑๒๖,๗๗๑,๖๖๒

๘๔ %

ลาว

๕,๖๓๕,๙๖๗

๖๐ %

เกาหลีใต้

๔๗,๙๐๔,๓๗๐

๔๗ %

เนปาล

๒๕,๒๘๔,๔๖๓

๗.๘ %

แอฟริกาใต้

๔๕,๕๘๖,๐๙๗

๑.๕ %

๑๐

อินโดนีเซีย

๒๒๘,๔๓๗,๘๗๐

๑ %

· เทียบกับจำนวนศาสนิกของศาสนาต่างๆ ทั่วโลก พระพุทธศาสนามีจำนวนศาสนิกอยู่ในอันดับที่ ๕ คือ ๓๕๐,๐๐๐,๐๐๐ คน(สามร้อยห้าสิบล้านคน-จากประชากรโลกประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน)

· ศาสนาที่มีศาสนิกมากเป็นอันดับ ๑ คือ คริสต์ศาสนา จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน (สองพันล้านคน) อันดับ ๒ คือ อิสลาม จำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน (หนึ่งพันสองร้อยล้านคน) อันดับ ๓ คือ ฮินดู จำนวน ๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน (เก้าร้อยล้านคน) อันดับ ๔ คือ ศาสนาแนวนีโอ จำนวน ๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน (เก้าร้อยล้านคน)

· เฉพาะในพระพุทธศาสนาเอง จำนวนศาสนิกของแต่ละนิกาย คือ มหายาน จำนวน ๑๘๕,๐๐๐,๐๐๐ คน (หนึ่งร้อยแปดสิบห้าล้านคน) เถรวาท จำนวน ๑๒๔,๐๐๐,๐๐๐ คน (หนึ่งร้อยยี่สิบสี่ล้านคน) วัชรยาน(ทิเบต) จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ คน (ยี่สิบล้านคน)

ภาวะหลงมิติด้านศาสนา

· แนวโน้มใหม่ที่เรียกว่า “วิกฤติการณ์แห่งอัตตลักษณ์หรือเอกลักษณ์แห่งมวลชน(Mass Identity Crisis)” มีหลายลักษณะ เช่น เป็นคริสต์นิกาย Prebyterian แต่ไม่เชื่อในพระเจ้า เป็นคริสต์นิกายโปรดเตสแตนท์แต่ปฏิบัติโยคะ นับถือยูดายแต่ประกาศว่า “เราเป็นอเทวนิยม” นับถือนิกายลูเทอร์แรน แต่ปฏิบัติกรรมฐานแบบพระพุทธศาสนา กล่าวโดยสรุปก็คือ ศาสนิกของแต่ละศาสนาไม่รู้ศาสนธรรมของศาสนาที่ตนนับถืออยู่ “มองตัวเองไม่ออก บอกตัวเองไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็น”

· ความไหลบ่าแห่งทางเลือก ทำให้เกิดภาวะหลงมิติมากขึ้น การเลือกที่จะนับถือศาสนาใด ๆ ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ วิธีการที่จะเข้าหาศาสนาก็มีหลากหลายปรากฏการณ์ทางศาสนาแบบไหนจริง แบบไหนถูกปั้นแต่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยากที่จะแบ่งแยกและตัดสิน

· พระพุทธศาสนาแบบสถาบันในญี่ปุ่น จำกัดบทบาทของตัวเองมาก หรือบางทีเป็นเพราะความไม่นำพาพระธรรมวินัย ทำให้สังคมให้ความสำคัญแก่พระสงฆ์น้อยลง พระสงฆ์เองต้องดิ้นรนประกอบธุรกิจเพื่อยังชีพ บางคนในญี่ปุ่น เรียกพระพุทธศาสนาว่า “พระพุทธศาสนาแห่งงานศพ(Funeral Buddhism) คฤหัสถ์ไม่ได้คาดหวังบทบาทอะไรจากวัด ยกเว้นเรื่องงานและการตาย พระสงฆ์ญี่ปุ่นสูญเสียความสามารถที่จะอบรมประชาชนด้านศีลธรรมโดยสิ้นเชิง

· ที่น่าเศร้ายิ่งขึ้นไปอีกก็คือว่า ในวัดจำเป็นต้องมีสุสาน เพื่อเก็บค่าเช่าเป็นรายของวัด พระสงฆ์มีฐานะเพียงคนเฝ้าสุสาน เมื่อมีคนตาย ชาวญี่ปุ่นเสียค่าจัดงานศพประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ เยนต่อหนึ่งรายในเวลา ๒ วัน(ประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท) ชาวญี่ปุ่นบางคนเรียกพระสงฆ์ญี่ปุ่นแบบดูถูกว่า “พระแดง(Red Monk)” เหมือนในเมืองไทยที่บางคนเรียกพระไทยว่า “จิ้งเหลือง”

วัดแห่งพระพุทธศาสนากับศาลเจ้าแห่งชินโตกำลังต่อสู้กันในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการหารายได้ ข้อแตกต่างก็คือว่า วัดกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับสุสานค่อนข้างจะตายตัวมากกว่าศาลเจ้าแห่งชินโต ใน พ.ศ.๒๕๔๓ มีการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ๗๖.๖ เปอร์เซ็นต์ไม่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ

· ปัจจุบัน ทั้งพุทธและชินโตมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาอีก คือ คริสต์ศาสนา มีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากนิยมแต่งงานแบบคริสต์(Christian Styled Wedding) มีการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ๔๐๐ กลุ่มตัวอย่างที่แต่งงาน ๗๐.๒ เปอร์เซ็นต์บอกว่า “จัดงานแต่งงานแบบคริสต์” ๑๗.๘ เปอร์เซ็นต์แต่งแบบพิธีชินโต ๑๑.๑ เปอร์เซ็นต์ไม่ได้จัดพิธีทางศาสนา และไม่มีใครจัดงานแต่งงานในวัดแห่งพระพุทธศาสนาเลย ถามว่า “เกิดอะไรขึ้นในสังคมญี่ปุ่น ?” ชาวคริสต์ในญี่ปุ่นมีประมาณ ๐.๘ เปอร์เซ็นต์ โบสถ์คริสต์มีเพียง ๖,๕๐๐ แห่ง ศาลเจ้าชินโตมี ๘๐,๐๐๐ แห่ง และวัดแห่งพระพุทธศาสนามี ๗๕,๐๐๐ แห่ง(พ.ศ.๒๕๔๑)

นวนิยมแห่งพระพุทธศาสนา

Buddhistic Modernism

 

ปัจจุบัน มีความพยายามที่จะศึกษาแนวคิด/เรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาทุกระดับ วิเคราะห์และกำหนดประเด็นสำคัญออกมา ศึกษาทิศทางของสังคมปัจจุบันโดยรวม ต่อจากนั้นได้พยายามที่จะอธิบายความใหม่และวางตำแหน่งหลักการทางพระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีการตั้งคำถามในกลุ่มนักวิจารณ์ยุคใหม่ว่า “ในพระพุทธศาสนา อะไรคือจุดขาย ? อะไรคือสิ่งที่สามารถละลายเข้าไปในวิถีชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง ?” จึงมีการกำหนดประเด็นที่เห็นว่าจะเป็นคำตอบ ศาสตราจารย์ ดร. ไฮนซ์ เบเชิร์ต เขียนบทความเรื่อง Buddhistic Modernism: Present Situation and Current Trends” ให้ประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น

๑. การค้นพบใหม่ (Re-Discovery)

การค้นพบใหม่หรือการค้นหาให้พบใหม่ซึ่งคัมภีร์พระพุทธศาสนาดั้งเดิม ในฐานะเป็นแหล่งข้อมูลหลักแห่งความรู้เของเราทั้งหลาย เป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่พระพุทธศาสนาที่แท้จริงได้เป็นมาแล้ว ตรวจสอบคัมภีร์พระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่งว่า อะไรคือพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ประโยชน์มหาชนเป็นตัวตั้งหรือ หรือความหลุดพ้นเฉพาะตนเป็นตัวตั้ง อะไรคือสาระและขอบเขตวิถีชีวิตแบบวัด(Monastic Life) อะไรคือสาระและขอบเขตวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน(Lay-Daily Life)

หลักการที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาระดับพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาดั้งเดิม(Early Buddhism)ทั้งหมดหรือไม่ นักเขียนคัมภีร์ในยุคพระเจ้าอโศกมหาราชหรือในยุคพระเจ้ากนิษกมหาราช อยู่ในสภาพสังคมอย่างไร มีแรงบันดาลอะไรในการเขียนคัมภีร์

๒. การลดทอนความเป็นเทพนิยาย (De-Mythologization)

นำแหล่งข้อมูลดั้งเดิม หรือทฤษฎีดั้งเดิมมาทำให้ทันสมัย เช่น แนวคิดเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาที่สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ เรื่องปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ พวกอสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัวใหญ่ร้อยโยชน์ก็มี สองร้อยโยชน์ก็มี อาศัยอยู่ใต้มหาสมุทร

นี่คืออะไร

มหาสระทั้ง ๗ คือ สระอโนดาด สระกัณณมุณฑ์ สระรถการ สระกุณาละ สระมันทากินี สระสีหปปาตะ ตั้งอยู่ในป่าหิมพานต์ คืออะไร ? มีอยู่จริงหรือไม่ ?

สระอโนดาด แวดล้อมด้วยภูเขา ทั้ง ๕ คือ ภูเขาสุทัสสนะ จิตระ กาฬะ คันธมาทน์ และไกรลาส คืออะไร ? มีอยู่จริงหรือไม่ ? ข้อความในวิมานวัตถุบอกว่า “สระอโนดาด มีน้ำนเยือกเย็น มีดอกอุบลน่ารื่นรมย์ อยู่ในป่าหิมพานต์”

แนวทางการตีความเทพนิยายแบบใหม่น่าจะอยู่ในลักษณะ (๑)ทำให้เป็นรูปธรรม (๒)ทำให้ทันสมัย (๓)ทำให้สอดคล้องกับสภาพสังคม (๔)ทำให้เป็นระบบ

๓. ศาสนาแห่งวิทยาศาสตร์ (Scientific Religion)

การวิจัยและนำเสนอสารแห่งกาลามสูตร คำว่า “มา-อย่า” มีนัยที่แท้จริงอย่างไร บางเรื่องต้องอาศัยคนอื่นสอน ถ้าไม่เชื่อคนสอนแล้วจะเริ่มต้นปฏิบัติกันอย่างไร ? นัยของ “มา-อย่า” เป็นนัยเชิงวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างต้องเริ่มด้วยการทดลองด้วยตัวเอง การที่พระสิทธัตถะ โคตมะทรงบำเพ็ญเพียรเป็นเวลา ๖ ปี นั่นคือการทดลองอย่างหนึ่ง จะด้วยจุดประสงค์เพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่า “พระองค์เคยทดลองมาแล้ว” หรือด้วยจุดประสงค์เพื่อค้นหาสัจธรรมจริง ๆ ก็ตาม

การวิจัยและนำเสนอสาระแห่งทฤษฎีนิยาม ๕ เช่น กรรมในฐานะเป็นกฎธรรมชาติ (กรรมนิยาม) จุดประนีประนอมกันระหว่างศรัทธากับปัญญา จุดที่ศรัธทากับปัญญาทำงานร่วมกันได้ ท้ายที่สุดแล้วพระพุทธศาสนาสามารถตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดหรือไม่

๔. เรื่องจริงสำคัญกว่าทฤษฎี

(More Practical Issues than Theoritical Issues)

ความจริง ข้อเท็จจริง เรื่องจริงในสังคม สำคัญกว่าทฤษฎี ทฤษฎีดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับความเป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์สู่ภาคปฏิบัติได้หรือไม่ เกณฑ์ก็คือ ประยุกต์ได้(๑)ง่าย (๒)สะดวก (๓)เป็นประโยชน์ (๔)บริสุทธิ์ (๕)สร้างความรู้สึกในด้านบวก-Optimistic มากกว่าความรู้ด้านลบ-Pessimistic (๕)สร้างกระแส Activistm มากกว่า –Inactivism

วัฒนธรรมแบบ “ได้อย่างเสียอย่าง” ปรากฏชัดเจนในกลุ่มพุทธศาสนา จะเห็นว่าพุทธศาสนิกชนมีหลากหลายอาชีพ บางอาชีพสุจริตด้วย ยุติธรรมด้วย บางอาชีพสุจริต แต่ไม่ยุติธรรม การสมาทานศีล ๕ ก็มีคำบาลีว่า “วิสุง วิสุง-แยก ๆ” รวมอยู่ด้วยหมายถึงว่า ให้รักษาศีลแยกข้อ ละเมิดข้อใดก็เป็นอันขาดเฉพาะข้อนั้น ประโยคในวรรณคดีบาลีที่พบเสมอว่า “ไม่ใช่ความผิดของใคร นั่นเป็นโทษของวัฏฏะ” เป็นการบอกให้รู้ว่า มีหลายเรื่องแม้จะไม่ดีงาม มนุษย์ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บางกรณีได้ธรรม เสียวินัย บางกรณีได้วินัยแต่เสียธรรม

๕. เอาใจใส่ต่องานสังคม (Engage in Social Works)

สืบสานพุทธประสงค์ที่ปรากฏในคราวทรงส่งพระสาวกชุดแรกไปประกาศพระศาสนาว่า “พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนมาก เพื่อสุขแก่คนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ …”

ในประเทศไทยเขตภาคเหนือ การตั้งศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัดเป็นที่นิยมมาก กลุ่มแสงธรรมนำโดยพระอาจารย์สมัย จินตโฆสโก วัดบางไส้ไก่ พระพิศาลธรรมพาที วัดสวนแก้ว เป็นต้น รูปแบบจริยธรรมมี ๔ ประการ คือ (๑)จริยธรรมแห่งวินัย (๒)จริยธรรมแห่งศีลธรรม (๓)จริยธรรมปรัตถนิยม (๔)จริยธรรมเชิดชูสังคม จริยธรรมที่เกื้อเฟื้อแก่พหูชนมากที่สุดก็คือจริยธรรมแบบที่ ๔

๖. ปรัชญาสังคม ปรัชญาแห่งความเสมอภาค

(Social Philosophy, Philosophy of Equality)

สาระแห่งพุทธธรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน ต้องเป็นรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยาแห่งพระพุทธศาสนา เป็นต้น ทฤษฎีทิศ ๖ กระแสแห่งพระพุทธศาสนาแบบคฤหัสถ์ที่ก่อตัวขึ้นในสมัยพุทธกาล เช่น บทบาทของอนาถบิณฑิกเศรษฐี วิสาขามหาอุบาสิกา หรือในยุคหลัง เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้ากนิษกมหาราช กระแสพระพุทธศาสนาแบบสตรีนิยมที่ก่อตัวขึ้นในสมัยพุทธกาล ประมาณพรรษาที่ ๕ แห่งพุทธกิจ การรับพระนางมหาปชาบดีโคตมีและคณะเข้ามาบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา

๗. ประชาธิปไตยในสังคมพุทธ สังคมประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา

(Democracy in Buddhist Society, Democratic Society in Buddhism)

วิจัยและนำเสนอสาระของคำบาลีว่า “สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ” ความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว นัยเดิมก็คือ (๑)ภิกษุมาประชุมพร้อมกันตามเกณฑ์ (๒)นำฉันทะของภิกษุที่อยู่ในวัดซึ่งไม่สามารถเข้าประชุมได้ (๓)ภิกษุที่ประชุมอยู่นั้นไม่มีใครคัดค้าน

พิธีกรรมที่เป็นทางการของพระสงฆ์ ๔ ประการ คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม กรรม ๓ ประการหลังถือเป็นต้นแบบแห่งประชาธิปไตยแบบหล่อหลอมสังคม มติในเรื่องใด ๆ ต้องเป็นเอกฉันท์

วิธีการแก้ปัญหาที่เรียกว่า “อธิกรณสมถะ” ถือเป็นต้นแบบแห่งวิธีการแก้ปัญหาสังคมทุกยุคทุกสมัย วิธีการแก้ปัญหาต้องไม่มีสูตรสำเร็จเพียงสูตรเดียวกัน ต้องมีหลากหลาย เช่น

เรื่องสำคัญเกี่ยวกับพระศาสนา หรือส่วนบุคคล เช่น ความเห็นไม่ตรงกับว่า “นี้เป็นธรรม นี้เป็นอธรรม นี้เป็นวินัย นี้มิใช่วินัย” ต้องมีโจทก์มีจำเลย เรื่องอย่างนี้ใช้วิธี “สัมมุขาวินัย” คือพร้อมหน้าสงฆ์ บุคคล วัตถุ และธรรม

เรื่องเกี่ยวกับการนินทาว่าร้ายคนดีศรีสังคม เพื่อปกป้องพระอรหันต์หรือคนดีของสังคมอย่างนี้ ใช้วิธี “สติวินัย” คือ สงฆ์รับประกันความบริสุทธิ์ให้

เรื่องเกี่ยวกับคนที่อาจวิกลจริตไปชั่วขณะ หรือทำผิดไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ การปกป้องคนเช่นนี้ ใช้วิธี “อมูฬหวินัย” คือ รับประกันความบริสุทธิ์ให้

การตัดสินลงโทษตามคำรับสารภาพ ใช้วิธี “ปฏิญญาตกรณะ”

เรื่องการทะเลาะวิวาท นินทาว่าร้ายกัน หรือความเห็นลงรอยกันที่ไม่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย ใช้วิธี “เยภุยยสิกา” คือ ลงคะแนนตัดสินเอาตามเสียงข้างมาก

การลงโทษแก่ผู้ทำผิด ใช้วิธี “ตัสสปาปิยสิกา”

เรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ที่ไม่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย แต่เป็นการแข่งดีกันระหว่างกลุ่ม หรือเรื่องความเชื่อถือที่ไม่ตรงกัน มีศรัทธาในบางเรื่องไม่เสมอกัน ใช้วิธี “ติณวัตถารกวินัย” คือ ประนีประนอมกัน

๘. ชาตินิยมแห่งพระพุทธศาสนา (Buddhist Nationalism)

ต้นแบบลัทธิชาตินิยมแห่งพระพุทธศาสนามี ๒ ประเทศ คือ ศรีลังกากับพม่า แต่ประเทศอื่นที่จะดำเนินรอยตามไม่ควรใช้วิธีการอย่างเดียวกัน ๒ ประเทศดังกล่าว วิธีการที่พึงประสงค์น่าจะเป็นการเชิดชูวัฒนธรรมแห่งพระพุทธศาสนาให้โดดเด่นเหนือวัฒนธรรมอื่น ๆ

๙. สติปัฏฐานแห่งพระพุทธศาสนา (Buddhist Mindfulness)

การปฏิบัติกรรมฐานปรากฏให้เห็นทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐาน การรื้อฟื้อและประชาสัมพันธ์ศูนย์กรรมฐานเป็นที่นิยมกันทั่วโลก ปรากฏการณ์แบบ Mass Meditation มีให้เห็นทั่วไป ความใหม่ของกรรมฐานในพระพุทธศาสนาก็คือ ความที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรสำเร็จได้ถ้าปราศจากกรรมฐาน นี่คือความจริง

แนวโน้มใหม่ ๆ ในพระพุทธศาสนาร่วมสมัย

New Trends in Contemporaray Buddhism

๑. กระบวนการสีเขียว (Green Movement)

พระพุทธศาสนาสีเขียวได้รับการตอบรับจากสังคมโลกดีมาก ในเมืองไทย มีการระบุถึงอาจารย์พงษ์ศักดิ์ เตชธมโมที่เชียงใหม่ การสืบสานกระแสแนวคิดปาฏเทสนียะและเสขิยวัตร เป็นแนวทางของกระบวนการสีเขียว

๒. ชาตินิยมแห่งพระพุทธศาสนา (Buddhist Nationalism)

รูปแบบชาตินิยมแห่งพระพุทธศาสนาอาจมีหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแต่การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง การเป็นเจ้าของกิจการ หรือการประท้วงเรียกร้องสิทธิ การเชิดชูคุณธรรมทางพระพุทธศาสนา การชี้นำทางสังคมในแนวทางของพระพุทธศาสนา การยืนยันในหลักการของตัวเองที่สอดคล้องกับความเป็นในสังคม ถือว่าเป็นชาตินิยมแห่งพระพุทธศาสนาได้

อย่างไรก็ตาม กระแสชาตินิยมแห่งพระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นแล้วในประเทศไทย เมื่อมีการชุมนุมของพระสงฆ์และคฤหัสถ์จำนวนมาก เรียกร้องให้ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย เรียกร้องให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย”

๓. ย้อนกลับไปทบทวนคำสอนและคุณค่าของพระพุทธศาสนาแบบเดิม

(Re-Assertion of the Teaching and Values of Traditional Buddhism)

หลักการและแนวทางของพระพุทธศาสนากระแสหลัก(ไม่ใช่ดั้งเดิม) ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ ? สอดคล้องกับสภาพความเป็นไปของสังคมปัจจุบันหรือไม่ ? การเผยแผ่พุทธธรรมเน้นที่การพูดให้ฟังหรือควรอยู่ในรูปแบบไหน ?

รูปแบบการศึกษาพระธรรมวินัยมีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน ที่ควรจะแก้ไขและเสริมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ระบบสมณศักดิ์ยังเข้มแข็งดีหรือไม่ ? คุณค่า(หรือมูลค่า)ของพระพุทธศาสนากระแสหลักสูงส่ง เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน แต่ก็เป็นคุณค่าปฐมภูมิ ถามว่า “คุณค่าอย่างนี้เกื้อกูลแก่ประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ ?” ถามต่อไปอีกว่า “คุณค่าระดับทุติยภูมิอยู่ที่ไหน ? อะไรคือคุณค่าระดับทุติยภูมิ ?” คุณค่าระดับทุติยภูมิก็อยู่ที่คุณค่าระดับปฐมภูมินั่นแหละ แต่ถูกประยุกต์หรือถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน

ในความรู้สึกของคนไทย อุโบสถหรือพระอุโบสถศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ? พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ? พระเถระ พระมหาเถระ พระสุปฏิบัติที่มีคนเคารพนับถือมาก เป็นพระที่ทรงคุณค่าหรือไม่ ? คำตอบก็คือ “ศักดิ์สิทธิ์ ทรงคุณค่า” นี่คือคุณค่าระดับปฐมภูมิ ถามว่า “คุณค่าระดับทุติยภูมิอยู่ที่ไหน ?”

พระพุทธเจ้าหลังจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสด็จลงมาโลกมนุษย์ เกิดประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติแพร่หลาย นี่คือคุณค่าระดับทุติยภูมิ บั้งไฟพญานาคก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน

๔. ย้อนกลับไปหารากฐานดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา

(Redical Return to te Root of Buddhism)

วิถีชีวิตแบบฤาษีและเรียบง่าย อาศัยปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค สิ่งที่หล่อเลี้ยงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่จำเป็นจริง ๆ คืออะไรบ้าง ?

ชุมชนสันติอโศกดำเนินชีวิตกิจกรรม โดยตีความหมายคัมภีร์ใหม่อย่างอิสระ ยึดรูปแบบที่ใกล้เคียงชีวิตกิจกรรมแห่งพุทธบริษัทในสมัยพุทธกาลมากที่สุด วัฒนธรรมแห่งพระพุทธศาสนาแบบเดิมในสังคมนั้นอิงอาศัยกฎหมายบ้านเมืองมากเกินไป นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน กฎหมายสำหรับพระสงฆ์ มี ๔ ฉบับหลัก คือ

กฎหมายพระสงฆ์ สมัยรัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๔๓๙ มี ๑๐ ข้อ

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๔๕ มี ๔๕ มาตรา

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ สมัยรัชกาลที่ ๘ มี ๖๐ มาตรา

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ สมัยรัชกาลที่ ๙ มี ๔๖ มาตรา

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มี ๔๖ มาตรา

กฎมหาเถรสมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๑ มี ๒๔ ฉบับ มีระเบียบมหาเถรสมาคมอีกจำนวนมาก ไม่นับรวมกฎกระทรวงในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์ไทย จึงเป็นที่สงสัยว่า “องค์กรสงฆ์ในประเทศไทยปัจจุบัน อิงกฎหมายหรือพระธรรมวินัย ?” ชุมชนสันติอโศกหรือชุมชนอื่นใดที่มีแนวทางคล้ายกัน ล้วนตั้งข้อสงสัยในประเด็นนี้ทั้งนั้น

๕. เปลี่ยนวัฒนธรรมแห่งอรัญญวาสีใหม่

(Renewal of the Ideas of Forest-Monk)

การสร้างป่าในบ้าน หรือสร้างบ้านในป่า วิธีการไหนจะให้ความสมบูรณ์แก่ธรรมชาติได้มากกว่ากัน โดยธรรมชาติ มนุษย์ต้องอยู่ในป่าใช่หรือไม่ ? วัดต้องปลูกต้นไม้อย่างน้อยวัดละ ๑๐ ต้นต่อปี วัดทั่วประเทศไทย ๓๒,๗๐๐ วัดโดยประมาณ จะได้ต้นไม้ปีละ ๓๒๗,๐๐๐ ต้น

อรัญญวาสีไม่ใช่เรื่องของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปก็ต้องบำเพ็ญตนเป็นอรัญญวาสีด้วย คนกับป่าต้องอยู่ด้วยกัน

๖. รื้อฟื้นสมถกรรมฐาน

(Revival of Samatha Meditation)

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นไปเพื่อตัดกิเลส สมถกรรมฐานเป็นไปเพื่อประกอบอาชีพในปัจจุบัน ทุกงานต้องใช้กรรมฐาน ศูนย์ปฏิบัติธรรมควรเน้นแนวสมถะพอ ๆ กับแนววิปัสสนา เพราะไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนจะไปนิพพานกันหมด คนมีภาระด้านครอบครัว มีภาระกับคนรอบข้าง มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน หรือคนที่วาสนาบารมียังไม่เต็ม แต่อยากมีความสุขในปัจจุบันก็มีไม่น้อย ความจริง สมถะกับวิปัสสนาย่อมเกื้อกูลกัน “ฌานย่อมไม่มีแก่คนที่ไม่มีปัญญา ปัญญาก็ไม่มีแก่คนที่ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีแก่บุคคลใด บุคคลนั้นย่อมอยู่ใกล้นิพพาน” นี้คือหลักฐาน การปฏิบัติธรรมที่ไม่ได้ผลเต็มที่ อาจเป็นเพราะเน้นจุดใดจุดหนึ่งเกินไปก็ได้

๗. รื้อฟื้นลัทธิพิธีกรรมและเผยแผ่ตันตรยาน

(Revival of Ritualism and Spread of Tantrayana)

สร้างคุณค่าแก่ชีวิตและสังคมโดยอาศัยพิธีกรรม การให้รู้สึกสำนึกในพลังศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ระเบียบปฏิบัติของพระพุทธศาสนาแบบตันตระ แม้จะมีนัยลึกลับ แต่ให้ความหมายที่ยากจะบรรยาย

๘. รูปแบบใหม่แห่งลัทธิสังคหพระพุทธศาสนา

(New Type of Buddhist Syncretism)

มหาตมะ คานธีบอกว่า “มีขันติธรรมต่อศาสนาอี่นยังไม่เพียงพอ ต้องเคารพศาสนาอื่นเหมือนกับเคารพศาสนาของตัวเองด้วย”

ติท นัท ฮันบอกว่า “รูปแบบต่างของพระพุทธศาสนาต้องเปลี่ยน เพื่อว่าสาระแห่งพระพุทธศาสนาจะได้คงอยู่ สาระที่ว่านี้ประกอบด้วยหลักการที่มีชีวิต(พลวัต)ที่ไม่สามารถมีสูตรเฉพาะได้”

๙. เล่าเทพนิยายแห่งพระพุทธศาสนารูปแบบใหม่

(Re-Mythologization of the Buddhist Tradition)

การปลูกฝังความเชื่อเกี่ยวกับเทพเทพี ผีป่า ผีบ้าน ให้ประโยชน์แก่การดำเินชีวิตได้ไม่น้อย ความเชื่ออย่างนี้เป็นปัจจัยเชิดชูกตัญญูกตเวทิตาธรรมได้เหมือนกัน

๑๐. สตรีนิยมแห่งพระพุทธศาสนา

(Buddhist Feminism)

พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์อยู่แล้วที่จะให้สตรีบวชเป็นพระ พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาเป็นองค์ประกอบจำเป็นในพระพุทธศาสนา วิเคราะห์และวิจัยสาระแห่งพระพุทธพจน์ที่ว่า

“อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบการที่มาตุคามได้ออกบวชจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย”

“ถ้ามาตุคามไม่ออกบวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา พรหมจรรย์จะดำรงอยู่ได้นาน สัทธรรมจะดำรงอยู่ได้ถึง ๑,๐๐๐ ปี แต่เพราะมาตุคามออกบวช พรหมจรรย์จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน สัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น” คำว่า “สัทธรรม” หมายถึงปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

วิเคราะห์และวิจัยสาระแห่งพระพุทธพจน์ที่ว่า “พระพุทธศาสนาที่มีนักบวชหญิงจะตั้งอยู่ได้ไม่นาน เหมือนเรือนที่มีชายน้อยสตรีมาก ย่อมถูกปล้นได้ง่าย”

“พระพุทธศาสนาที่มีนักบวชหญิงจะตั้งอยู่ได้ไม่นาน เหมือนนาข้าวสาลีที่ถูกหนอนขยอกลง ย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นาน”

“พระพุทธศาสนาที่มีนักบวชหญิงจะตั้งอยู่ได้ไม่นาน เหมือนไร่อ้อยที่ถูกเพลี้ยลง ย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นาน”

ในกลุ่มสตรีนิยมนี้ รวมเอากระแสแห่งพระพุทธศาสนาแห่งความเสมอภาค(Buddhism of Equality)ไว้ทั้งหมด เช่น พระพุทธศาสนาแห่งคฤหัสถ์(Lay-Oriented) และพระพุทธศาสนาแห่งความเสมอภาคทางเพศ(Gender Equal) รวมทั้งความเป็นประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา เป็นแนวโน้มแห่งโลกอนาคต

๑๑. พระพุทธศาสนาแห่งการค้นพบ (Exploratory Buddhism)

กระแสลัทธิหลังยุคโครงสร้างนิยมหรือหลังยุคใหม่ (Poststructuralism, or Postmodernism) เข้ามามีบทบาทในกลุ่มคนที่อ่านคัมภีร์แล้วมีความเห็นไม่ตรงกัน คำตอบต่อปัญหาหนึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่ง ศาสตร์แห่งการตีความ(Hermeneutics)ก็เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้

กระแสนี้ในเบื้องต้นไม่เชื่อข้อความในคัมภีร์เสียทั้งหมด หรือไม่เชื่อปรากฏการณ์เสียทั้งหมด แต่เชื่อในกฎแห่งเหตุผล ผลิตผลทั้งหมดมีองค์ประกอบอื่นบางอย่างที่เหนือขึ้นไปสร้างขึ้นมา “ในความไม่เชื่อของหลังนวนิยม กลับมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่แฝงเร้นอยู่” นั่นคือ “ไม่เชื่อว่ามีแค่นี้ แต่ต้องมีมากกว่านี้” แต่บทสรุปต้องเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้นั้นต้องค้นพบด้วยตัวเองจริง ๆ

๑๒. พระพุทธศาสนาแห่งชุมชนและสำนึกทางสังคม

(Community-Oriented and Socially Conscious)

พ.ศ. ๒๔๔๙ มหาตมะ คานธีตั้ง “สัตยาเคราะห์อาศรม” เป็นศูนย์รวมของคนต่างเชื้อชาติศาสนา ยึดถือสัจธรรม งดเว้นความรุนแรง ต่อสู้กับการริดรอนสิทธิของชาวอินเดียในแอฟริกาใต้

พ.ศ. ๒๔๙๙ ดร.พิมราว อัมเบดการ์รวมกลุ่มคนวรรณะต่ำ ให้ความช่วยเหลือกันตามฐานะ ต่อมา ร่วมกับพวกคนวรรณะต่ำประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คน ประกาศตัวเป็นชาวพุทธใหม่ ที่นาคปูร์ อินเดีย

พ.ศ. ๒๕๐๑ อหังคมเน ทูดอร์ อริยรัตเน ตั้งกลุ่ม “สารโวทัย(Sarvodaya Shramadana Movement)” จัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสในศรีลังกา คำว่า “สารโวทัย” เป็นคำที่มหาตมะ คานธีได้คิดขึ้น ท่านได้แปลหนังสือของจอห์น รัสกิน ชื่อ Unto This Last” จากภาษาอังกฤษ(?)เป็นภาษาคุชราตี แล้วตั้งชื่อหนังสือนี้ใหม่ว่า “สารโวทัย(สรรโวทัย)”

ท่านอื่น ๆ เช่น ติท นัท ฮัน ตั้งกลุ่มศาสนาเพื่อสังคมในเวียดนาม เป็นสาเหตุให้ต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ในฝรั่งเศส ที่ “Plum Village (หมู่บ้านลูกเกด)” เบอร์นี่ กร๊าซแมน หรือโจแอนน่า แมคซี่ เป็นต้น ท่านเหล่านี้ล้วนแต่ดำเนินกิจกรรมพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม

**********

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕