หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » สังคม » โลกธรรมกถา
 
เข้าชม : ๑๒๑๔๗ ครั้ง

''โลกธรรมกถา''
 
พระใบฏีกาอุดร อุตฺตรเมธี (2006)

โลกธรรมกถา*

โดย พระใบฏีกาอุดร อุตฺตรเมธี **

                              **************************

ความเจริญของโลก เป็นความเจริญทางด้านวัตถุที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ที่เราทุกท่านนั้นได้พบเจออยู่ทุกวัน บางครั้งเราไม่ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางโลก ทำให้เราไม่ได้เตือนสติตัวเราเอง ทำให้บางครั้งเราอาจไม่มองเห็นคุณค่าประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง ทำให้บางคนนั้นรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะบางครั้งหวังในสิ่งหนึ่งแต่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตนเองต้องการ กับอีกคนหนึ่งไม่มีความต้องการสิ่งนั้นกลับได้สิ่งนั้นมา อย่างที่โบราณท่านกล่าวว่า ที่ได้ไม่ดีที่ดีไม่ได้เป็นต้น ทำให้บางคนกลายเป็นคนเจ้าทุกข์  จิตใจไม่มั่นคง คิดมาก ท้อแท้กับชีวิตท้ายที่สุดอาจทำให้ตนเองตกไปในทางที่ชั่วก็มีมากมาย  เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องของโลกโดยความเป็นจริงที่ถูกต้องจึงจำเป็นอย่างยิ่ง  จะช่วยให้เราท่านทั้งหลายมีความทุกข์   น้อยลง และสามารถที่จะยืนหยัดอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างผู้ชนะ

ตามหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเกี่ยวกับโลกธรรม ๘ คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้รับสรรเสริญและถูกนินทา ได้สุข ได้ทุกข์  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราท่านทั้งหลายต้องได้ประสบพบเจออยู่ทุกวัน ถึงแม้ว่าเราท่านทั้งหลายจะเกิดมาในโลกใบนี้หรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อเราท่านทั้งหลายอยู่ในโลกแห่งสมติสัจจะนี้ ย่อมที่จะถูกกระทบกระทั่งบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ตลอดระยะเวลาแห่งการที่เรามีลมหายใจอยู่ ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านกล่าวว่า มีลมมีเรื่อง หมดลมหมดเรื่อง ดังนั้นตราบใดที่เรามีลมหายใจแห่งความเป็นปุถุชนอยู่        ย่อมต้องเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงเช่นนี้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็เคยเจอสิ่งเหล่านี้มาแล้วในอดีต เพียงแต่ว่า การถูกกระทบด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ นั้นระหว่างพระอริยเจ้าทั้งหลายกับปุถุชนเช่นเราท่านทั้งหลายนั้นไม่เหมือนกัน เพราะพระอริยเจ้าท่านไม่วิตกกังวล ไม่หวั่นไหวยินดียินร้ายกับสิ่งที่ชอบใจ และท่านก็ไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่โศกาอาดุลที่เกิดขึ้น

            ดังนั้น เรื่องของโลกเราจะไปคาดหวังอะไรไม่ได้  แม้แต่ตัวเราท่านทั้งหลายเอง และสรรพสิ่งที่อยู่ในโลก เพราะทุกสิ่งชีวิตย่อมอาศัยอยู่ในโลกแห่งสมมติด้วยกันทั้งสิ้น พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา  สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ    เพราะความเที่ยงแท้ไม่มีในโลก     แต่มีอยู่เหนือโลกที่เราเรียกว่า โลกุตตระ    หลวงตาแพรเยื่อไม้    ท่านได้เข้าใจโลกแห่งสมมุติสัจจะ   ท่านจึงได้ประพันธ์บทกลอนสอนใจเราท่านทั้งหลายว่า

อันโลกนี้เหมือนโรงละคร                     ปวงนิกรเราท่านเกิดมา

ต่างร่ายรำทำทีท่า                                ตามลีลาของบทละคร

บางครั้งก็เศร้า บางคราวก็โศก             บางทีก็ทุกข์หัวอกสะท้อน

มีร้างมีรักมีจากมีจร                              พอจบละครชีวิตก็ลา

อันวรรคตอนละครชีวิต                       เป็นสิ่งน่าคิดพินิจหนักหนา

กว่าฉากจะปิดชีวิตจะลา                      ต้องทรมากันสุดประมาณ

เพราะฉะนั้น  เราสมมติกัน ยกย่องกันว่าเป็นบุคคลคนนั้น คนนี้  ชื่อนั้น ชื่อนี้ ตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้  แต่เมื่อร่างกายสังขารแตกสลายย่อยยับไป  ธาตุต่างๆก็เปลี่ยนไปตามสภาพที่ควรเป็น คือธาตุดินกลายเป็นดิน ธาตุน้ำกลายเป็นน้ำ ธาตุไฟกลายเป็นไฟและธาตุลมกลายเป็นลมไปในที่สุด  ตราบใดที่ยังอยู่ในโลกใบนี้ ก็ต้องมีคลื่นแห่งชีวิตพัดมากระหน่ำบ้าง ตามแต่กรรมลิขิต เปรียบได้กับการออกสู่ท้องทะเล ที่กว้างใหญ่ไพศาล ย่อมที่จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา เช่นบางครั้งคลื่นลมก็สงบ บางครั้งก็ถูกคลื่นพายุบ้าง ดังนั้นเราท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่ออาศัยอยู่ในโลก ก็ต้องถูกโลกธรรมครอบงำบ้างเป็นธรรมดา   เป็นรสชาติแห่งชีวิต   มีได้บ้าง   เสียบ้าง สุขบ้าง  ทุกข์บ้าง  ได้รับคำสรรเสริญบ้าง  ได้รับการถูกตำหนิ  นินทาบ้าง ได้ยศฐาบรรดาศักดิ์บ้าง เสียยศฐาบรรดาศักดิ์ไปบ้าง  ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามจังหวะแห่งชีวิต เมื่อเกิดสิ่งใดขึ้นก็ตาม    ขอเพียงเราไม่หวั่นไหวกับสิ่งนั้น ๆ  เหมือนกับพระพุทธสุภาษิตของ        พระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า “ สุเขน ผุฎฺฐา อถวา ทุกฺเขน น อุจฺจาวจํ       ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ”  ธรรมดาบัณฑิตเมื่อยามได้สุข ใจท่านก็ไม่ฟู หรือเมื่อยามได้ทุกข์ ใจท่านก็ไม่แฟบ         เราท่านทั้งหลายควรประคองชีวิตด้วยสติที่มั่นคง  ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสแห่งเหตุนั้น ๆ   จงพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น       ว่าสิ่งนี้ไม่เที่ยง        แปรปรวนได้ไม่คงที่ถาวร แล้วใช้สติปัญญาไตร่ตรองตามเหตุปัจจัยนั้นๆ จึงจะเข้าใจชีวิตได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น  เมื่อเราท่านทั้งหลายปฏิบัติได้อย่างนี้แล้ว แม้เราท่านทั้งหลายจะอยู่ในโลกอันอลวนวุ่นวายเพียงใด ท่านก็สามารถหาความสุขได้  เหมือนกับพุทธพจน์ของ พระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า “ภูผาหินเขา มีความแข็งแกร่งฉันใด  จิตใจของมนุษย์ย่อมมีความแข็งแกร่ง ฉันนั้น”  จึงขอให้ท่านทั้งหลาย จงดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา มีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   เป็นประทีปส่องทาง ให้ได้เข้าสู่มรรคผลนิพพานในอนาคตกาลด้วยเทอญ***

_____________________________________________

* ออกอากาศรายการธรรมะวาไรตี้    ทางสถานีวิยุเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลง

   กรณราชวิทยาลัย   วิทยาเขตแพร่  วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๙

**  นธ.เอก,ปวค,พธ.บ,M.A.

***เอกสารอ้างอิง จากหนังสือประวัติชีวิต  การงาน หลักธรรมของพระพุทธวรญาณ

      (มงคล วิโรจโน)

 

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕