หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » สังคม » คุณธรรมของพระโพธิสัตว์เวสสันดร
 
เข้าชม : ๖๒๑๓๑ ครั้ง

''คุณธรรมของพระโพธิสัตว์เวสสันดร''
 
พระใบฏีกาอุดร อุตฺตรเมธี (2005)

คุณธรรมของพระโพธิสัตว์เวสสันดร

โดย  อุตฺตรเมธีภิกขุ

 

                คุณธรรม คือเครื่องหมายที่วัดคุณค่าความดีงามที่มีอยู่ในตัวมนุษย์  โดยส่วนมากมนุษย์เรานั้นปรารถนาที่อยากจะมีคุณธรรมในตัวเอง  เพราะถ้าบุคคลใดมีคุณธรรมประจำใจเรา จะเป็นมนต์เสนห์ให้กับชีวิตตนเองและคนที่อยู่รอบข้างพลอยได้รับความสุขไปด้วย   โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เรามีคุณธรรมพื้นฐานอยู่ในจิตใจอย่างน้อยสามประการ ประการที่หนึ่งคือ การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือคน  ประการที่สองคือมีระเบียบวินัย ประการที่สามคือ มีไมตรีจิตมิตรภาพที่ดีต่อกัน  นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า

                เกิดเป็นคนควรศึกษาหาดีเถิด           ดีจะเกิดสุกก่อต่อเป็นผล

                ดีที่หนึ่งเอื้อเฟื้อช่วยเหลือคน            ดีที่สองตั้งตนตามวินัย

                ดีที่สามไมตรีมีในจิต                           คิดเป็นมิตรจิตกว้างกระจ่างใส

                ถ้าทำดีนี้จบครบสามนัย                      จะก่อให้สุกเกิดเพลิดพลิ้งพลัน

          แต่ถ้าเราพูดถึงความดีหรือคุณธรรมของพระโพธิสัตว์แล้ว พระโพธิสัตว์เวสสันดรนั้นมีคุณธรรมที่ยากที่มนุษย์ธรรมดาอย่างเราท่านทั้งหลายจะพึ่งมีได้ คุณธรรมของพระโพธิสัตว์เวสสันดรนั้นคือ

                1.ให้ในสิ่งที่บุคคลให้ได้ยาก

                2.ทำในสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก

                3.ทนในสิ่งที่บุคคลทนได้ยาก

                4.ชนะในสิ่งที่บุคคลชนะได้ยาก

                5.ละในสิ่งที่บุคคลละได้ยาก

                ประการแรก ให้ในสิ่งที่บุคคลให้ได้ยากนั้น  พระโพธิสัตว์เวสสันดรเป็นเนติแบบอย่างของยอดนักเสียสละของโลก เป็นนักให้ที่ยิ่งใหญ่  เพราะพระองค์ยอมสละความสุขทั้งประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมยากที่จะหาบุคคลใดๆ เปรียบได้ เพราะพระเวสสันดรนั้นให้เสียสละ ช้างประจำบ้านเมืองเป็นทาน ลูกอันเป็นสุดที่รักแก่พราหม์ชูชก ให้ภรรยาสุดที่รักยิ่งของตนป็นทาน และยอมเสียสละอวัยวะและชีวิตของตนเอง เพื่อให้ได้ความสุขที่ตนเองปรารถนา

                ประการที่สอง ทำในสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก  การกระทำทิ่มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงตนเองเป็นสำคัญนั้น ยากที่จะหาผู้ใดเสมือนได้ ดังเช่นพระโพธิสัตว์เวสสันดรพระองค์ทรงทำเพื่อหวังให้มนุษยโลกนี้ได้พบกับความสว่างทางแห่งการดำเนินชีวิตในหนทางที่ถูกต้องได้

                ประการที่สาม ทนในสิ่งที่บุคคลทนได้ยาก  พระโพธิสัตว์เวสสันดร พระองค์ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ ทนเจ็บแค้นที่ถูกไล่ออกจากเมือง หนีอยู่ป่าเขาลำเนาไพร ทิ้งชีวิตที่สะดวกสบาย  มุ่งหาสัจธรรมความจริง โดยที่ไม่คำนึงถึงความยากลำบากใด ๆ ถึงแม้จะฉันมันและเผือกเป็นอาหารก็ตาม

                ประการที่สี่ ชนะในสิ่งที่บุคคลชนะได้ยาก  พระโพธิสัตว์เวสสันดรได้ชนะใจตนเอง เพราะตลอดเวลาแห่งการเสวยพระชาติเป็นเวสสันดรนั้น ต้องมีปัญหาอุปสรรคนานัปประการ แต่พระองค์ไม่คิดหวั่นไหว ต่อคำนินทาและคำสรรเสริญ ดุจดั่งหินผาที่แข็งแกร่ง

                ประการสุดท้าย ละสิ่งที่บุคคลละได้ยาก   ละความสุขส่วนตัว ละความเห็นแก่ตัว ละความตระหนี่ที่จะพึงเกิดแก่พระองค์เอง  ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ขวนขวายหาความสุขทางโลกียวิสัยแฉกเช่นสามัญชน แต่มุ่งหาโลกุตตระสุข นำผลให้พระองค์กลายเป็นมหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่ในโลก

          ดังนั้น ตัวละครในเวสสันดรชาดก มีพระนางมัทรี  เป็นแบบอย่างภรรยาที่เป็นกัลยาณมิตรต่อสามี คอยเอาใจใส่ หนุนสามีให้ถึงเป้าหมายชีวิตอันประเสริฐที่สามีตั้งไว้  พระชาลีกัณหา เป็นแบบอย่างลูกที่ประเสริฐเชื่อฟังพ่อแม่   พราหมณ์ชูชก เป็นตัวอย่างของคนที่ยึดติดในกาม มักมากไม่รู้จักความพอดี    พรานเจตบุตร เป็นตัวอย่างของคนดีแต่ไม่มีความเฉลียวฉลาด  กษัตริย์เจตราช เป็นตัวอย่างของเพื่อนแท้ พร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนทุกยาม มีน้ำใจไม่ทอดทิ้งกัน และชาวเมืองกลิงครัฐ เป็นตัวอย่างของกระแสค่านิยม ซึ่งบางอย่างไม่ถูกต้องเสมอไป  เพราะฉะนั้นถ้าหากมนุษย์เราได้ยึดเอาตัวอย่างของตัวละครในเวสสันดรชาดกมาเป็นคติสอนเตือนใจตัวเองแล้ว ในฐานะปุถุชนธรรมดา อย่างน้อยคนในสังคมนี้มีคุณธรรมสักครึ่งหนึ่งของพระโพธิสัตว์เวสสันดร สังคมและโลกใบเล็ก ๆ ใบนี้คงจะเต็มไปด้วยความสุข เพราะคนในสังคมนี้มีทานบารมีและขันติบารมี ซึ่งเป็นคุณธรรมอันเต็มเปี่ยมในจิตใจของเราท่านทั้งหลายนั่นเอง

 

หนังสืออ้างอิง

-ประเพณีชีวิต   พระพิจิตรธรรมพาที  (ชัยวัฒน์  ธมฺมวฑฺฒโน)

               

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕