หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » คณะสังคมศาสตร์ » เอกสารประกอบวิชาปรัชญาการเมืองตะวันตก
 
เข้าชม : ๒๑๘๓๘๒ ครั้ง

''เอกสารประกอบวิชาปรัชญาการเมืองตะวันตก''
 
กิตติพัฒน์ สุวรรณสิริเมธี (2550)

ปรัชญาการเมืองตะวันตก

 

ปรัชญาการเมือง ( Political Philosophy)

          ปรัชญาการเมือง คือสาขาของปรัชญาประยุกต์ที่ศึกษาถึงชีวิตทางสังคมหรือชีวิตทางการเมืองของมนุษย์ ปัญหาที่ปรัชญาการเมืองศึกษาจึงเป็นเรื่องของสังคม ( Society) และรัฐ ( The State ) ในแง่ของธรรมชาติ ( Essence ) บ่อเกิด ( Origin ) และคุณค่า ( Value ) ของรัฐและสังคม หรืออาจกล่าวได้ง่าย ๆ ว่า นักปรัชญาการเมืองเป็นกลุ่ม  ของนักปรัชญาที่ต้องการเสนอความคิดเกี่ยวกับองค์กรที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือสังคม นักปรัชญาการเมืองไม่ลืมที่จะกล่าวถึงเรื่อง ความยุติธรรม         ( Justice ) และวิถีที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมของสังคม การออกกฎและการเคารพกฎ ดังนั้น ถ้าจะกล่าวให้กระชับยิ่งขึ้น ก็คือ ในขอบข่ายของปรัชญาการเมืองนี้ นักปรัชญาพยายามเสนออุดมการณ์เกี่ยวกับสังคมและรัฐที่เขาคิดว่า ควร จะเป็นนั่นเอง ไม่ได้กล่าวถึงการเมืองการปกครองที่เป็นจริงที่ได้ปรากฏหรือกำลังปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศต่างๆจริงๆ

 

ปรัชญาทางการเมือง

          ๑.   การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ซึ่งอำนาจทางการเมืองเป็นอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน

          ๒.  ผู้ปกครองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด อาจเป็นถึงเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดิน เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดกฎระเบียบให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตาม และมีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะลงโทษผู้ละเมิด แม้กระทั่งโทษประหารชีวิต

๓. นักการเมืองเป็นผู้ออกกฎหมาย รวมทั้งกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งสามารถยกเลิกคำพิพากษา ยกเลิกคำสั่งประหารชีวิตได้

          ๔. อำนาจทางการเมืองที่เป็นผลผลิตของนักการเมืองทำให้คนตายได้ การใช้อำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งสูงสุดของแผ่นดิน เช่น จิ๋นซีฮ่องเต้เกณฑ์คนเป็นล้านเพื่อสร้างกำแพงเมืองจีน ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐ ประชาชน หรือผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สามารถปฏิเสธได้

 

ความคิดทางการเมือง

          ความหมายของการเมือง พอสรุปได้ดังนี้

๑.      การจัดการอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

          ๒.  เป้าหมายของการเมืองที่พึงประสงค์คือความดีงาม

          ๓.  นักการเมืองไม่ดี ทำให้ประชาชนเห็นว่าการเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย

          ๔.  นักการเมืองที่ดีย่อมนำการเมืองไปสู่ความดีงาม

          ๕.  การเมืองและนักการเมืองเป็นคนละส่วนกัน

 

สถาบันการเมืองการปกครอง

          โดยธรรมชาติมนุษย์นั้นไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังตนเองได้ เนื่องจากไม่สามารถสนองความต้องการในปัจจัยพื้นฐานได้ทั้งหมดด้วยตนเอง จึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นถึงแม้มนุษย์จะมีภาวะแตกต่างจากสัตว์ตรงที่มนุษย์มีระบบความคิดที่ซับซ้อน จึงสามารถคิดและให้เหตุผลต่อสิ่งต่างๆ ได้ แต่มนุษย์แต่ละคนก็มีความแตกต่างในระหว่างกัน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของเชื้อชาติ สภาพแวดล้อมทั้งทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี การเลี้ยงดูและอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อความคิดและการกระทำของมนุษย์โดยตรง ซึ่งการกระทำและความคิดนั้นๆ อาจจะไปขัดแย้งกับความคิดและส่งผลกระทบทางลบแก่บุคคลอื่น ความขัดแย้งดังกล่าว ก่อให้เกิดภาวะผู้นำในสังคมนั้น ซึ่งสมาชิกจะให้ความเคารพยอมรับนับถือและเชื่อฟัง มีลักษณะของการมีผู้นำ ผู้ตาม ผู้ออกคำสั่งและผู้รับคำสั่งไปปฏิบัติ ลักษณะของผู้นำในสังคมบรรพกาล ถูกพัฒนาตลอดเวลาจนมีลักษณะเป็นระบบเป็นองค์กรมากขึ้นเป็นลำดับจนถึงปัจจุบันระบบสังคมในแต่ละรัฐหรือประเทศจะใช้สัญชาติเป็นจุดเชื่อมระหว่างรัฐกับสมาชิกของรัฐรัฐจะมีอำนาจเหนือคนที่ตนให้สัญชาติอย่างเต็มที่

 

๑.  แนวคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

           การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของอำนาจที่บุคคลคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเรียกว่าผู้ปกครอง มีอำนาจเหนือบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าผู้อยู่ใต้ปกครองผู้ทำหน้าที่ปกครองจะต้องมีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ในรัฐให้แก่ผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างยุติธรรมทั่วถึง สังคมภายในรัฐนั้นจึงจะสงบสุข โดยทั่วไปผู้ปกครองที่จะสามารถอยู่ในภาวะการเป็นผู้นำได้เป็นระยะเวลายาวนาน จะต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิกในรัฐซึ่งก็คือประชาชนนั่นเอง    การเมืองการปกครอง เป็นเรื่องที่มีการศึกษากันอย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว นักปราชญ์ ชาวกรีก ๒ ท่าน ที่ได้ให้กำเนิดแนวคิดเรื่องการเมือง การปกครอง และนักรัฐศาสตร์ในปัจจุบันที่ศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองหรือที่เรียกว่า รัฐศาสตร์ จะต้องอ้างถึงเสมอคือ เพลโต (Plato,๔๒๗-๓๔๗ ก่อนคริสตกาล) และ อริสโตเติล (Aristotle ,๓๒๒-๒๘๔ ก่อนคริสตกาล)  เพลโต ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง อุดมรัฐ (Republic) ว่ารัฐหรือระบอบการปกครองที่ดีจะต้องมีผู้ปกครองที่มาจากนักปราชญ์ ซึ่งเป็นคนที่มาจากกลุ่มของชนชั้นผู้ปกครองที่มีความรู้ ได้รับการศึกษาอบรมฝึกฝนมาอย่างดี และโดยเฉพาะมีคุณภาพสูง อริสโตเติล ได้เสนอรูปแบบการปกครองในลักษณะ "POLITY" ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่จะต้องมีกฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งชนชั้นปกครองไปทำหน้าที่ปกครองรัฐ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหากประชาชนพบว่า ผู้ปกครองที่ตนเลือกเข้าไปทำหน้าที่บกพร่องหรือทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนมิใช่เพื่อประชาชนส่วนรวม ประชาชนก็มีสิทธิเปลี่ยนผู้ปกครองใหม่ได้  ในยุคต่อๆ มา ศาสนจักรได้สร้างทฤษฎีที่ว่า ผู้ที่จะมีอำนาจปกครองรัฐจะต้องเป็นฝ่ายของศาสนจักรเท่านั้น เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างและกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างตลอดจนความเป็นไปในโลก ฝ่ายศาสนจักรก็คือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้าให้มาทำหน้าที่ผู้ปกครอง ทฤษฎีนี้เรียกว่า Divine Theory   ต่อมา ฝ่ายอาณาจักรได้พยายามต่อสู้โดยนำเสนอแนวคิดที่ว่า ศาสนจักรควรทำหน้าที่เพียงด้านหลักธรรมคำสอนทางศาสนาเท่านั้น แต่ฝ่ายอาณาจักรนั้น นอกจากจะต้องช่วยดูแลและช่วยเหลือ ฝ่ายศาสนจักรในการส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนทางศาสนาแล้ว ยังจะต้องทำหน้าที่ปกครอง ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขด้วย ดังนั้นอำนาจเด็ดขาดในการปกครองรัฐจึงควรจะรวมศูนย์อยู่ที่ฝ่ายอาณาจักร จึงเกิดแนวคิดของการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ขึ้น และถือว่าพระเจ้าเป็นผู้กำหนดขึ้น โดยมอบหมายให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทำหน้าที่ปกครองรัฐ ประชาชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพระมหากษัตริย์ การสืบทอดอำนาจของพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ในรูปของการสืบราชสมบัติเท่านั้น แนวคิดนี้ได้รับการแพร่กระจายไปทั่ว โดยเฉพาะในยุโรป โดยเฉพาะนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ฌอง โบแดง (Jean Bodin ,ค.ศ. ๑๕๓๐-๑๕๙๗)   การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้รับการถ่ายทอดต่อมาจนถึงช่วงศตวรรษที่ ๑๖ โดยเฉพาะนักคิดคนสำคัญทางรัฐศาสตร์คือ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. ๑๕๘๘-๑๖๗๙) ชาวอังกฤษ ก็ได้ยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของผู้ปกครองโดยประชาชนเป็นผู้มอบอำนาจนี้ให้ในลักษณะเด็ดขาด แต่ช่วงต่อมา จอห์น ล๊อค (John Locke, ค.ศ. ๑๖๓๒-๑๗๐๔ ) ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวอังกฤษเช่นกันกลับเห็นว่า จริงๆ แล้วสังคมรัฐจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีประชาชนและผู้ปกครองรัฐจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนยอมรับเท่านั้น โดยเฉพาะต้องปกครองรัฐโดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นที่ตั้ง หากผู้ปกครองทำหน้าที่อย่างไม่ชอบธรรม ประชาชนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ปกครองจะไม่มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แนวคิดของ จอห์น ล๊อค นี้เป็นไปในแนวทางเดียวกับนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส คนสำคัญคือ มงเตสกิเยอ (Mongtesquieu, ค.ศ. ๑๖๘๗-๑๗๕๕) ที่กล่าวถึงหลักสำคัญในการปกครองคือ หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation des Pouvoirs) ว่าอำนาจในการปกครองรัฐ จะต้องไม่ตกอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง หรือโดยกลุ่มใดกลุ่มเดียว มิฉะนั้นประชาชนจะถูกรังแกไม่ได้รับการดูแล ประชาชนจะเดือดร้อนจากการถูกริดรอนและจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ดังนั้นควรแยกอำนาจปกครองออกเป็น ๓ ส่วน แต่ไม่ใช่แยกกันโดยเด็ดขาด แต่จะต้องประสานและถ่วงดุลย์อำนาจกันระหว่าง อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ  แนวคิดของนักปราชญ์คนสำคัญๆ ได้รับการถ่ายทอดตลอดมา ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ถดถอยลง ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ปกครองในประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดความยากจนไปทั่ว แต่ผู้ปกครองกลับสุขสบาย สภาวะดังกล่าวยิ่งส่งผลให้แนวคิดของนักปราชญ์ที่กล่าวถึงแพร่หลายไปในประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว จนในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิวัติครั้งสำคัญ โดยประชาชนของฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ ส่งผลให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกล้มล้างลง และแทนที่ด้วยระบอบการปกครองที่ยึดหลักว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ไม่มีผู้ใดหรือกลุ่มใดมีอำนาจเด็ดขาดอีกต่อไปซึ่งเป็นหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

 

 

 

๒.รัฐและรูปแบบของรัฐ

          ๒.๑ รัฐ     ประเทศหรือบางครั้งก็เรียกว่า รัฐ นั้น ถือเป็นองค์รวมทางการเมืองที่มีความสำคัญที่สุด ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ กระจายอยู่ทั่วโลกเกือบ ๒๐๐ ประเทศการจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐนั้น จะต้องมี ๔ องค์ประกอบครบถ้วน หากขาดองค์ประกอบใดไปก็จะไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการของการเป็นรัฐหรือประเทศคือ

          ๑.  ดินแดน

          ๒.  ประชากร

          ๓.  อำนาจอธิปไตย

          ๔.  องค์กรที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ

               ๒.๑.๑ ดินแดน ดินแดนเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเป็นประเทศ หากไม่มีดินแดนก็คงบอกไม่ได้ว่าประเทศนั้นตั้งอยู่ที่ใดบนโลก และที่สำคัญดินแดนนี้จะต้องเป็นดินแดนที่กำหนดได้แน่นอนชัดเจนว่าอยู่ในทวีปใด ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ติดกับประเทศใด หรือติดกับทะเล หรือมหาสมุทรใด ดินแดนของแต่ละประเทศจะประกอบด้วยดินแดนทางบกทางน้ำและทางอากาศ

                   ๒.๑.๒ ประชากร ใน ๔ องค์ประกอบของการเป็นประเทศ หากพิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นว่า ประชากรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ที่จะนำพาให้ประเทศพัฒนาเจริญก้าวหน้าไม่แพ้ประเทศอื่น หรืออาจทำให้เป็นภาระของประเทศจนไม่สามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าเหมือนประเทศอื่น

                   ๒.๑.๓ อำนาจอธิปไตย การจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศเอกราชได้นั้น จะต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติหรือภายใต้การสั่งการของประเทศอื่น ผู้ปกครองประเทศจะต้องบริหารจัดการดูแลสุขทุกข์ของประชาชนด้วยตนเอง อำนาจอธิปไตยนี้ โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย ๓ ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา ทำหน้าที่ออกกฎหมาย อำนาจบริหารซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลทำหน้าที่บริหารปกครองประเทศ และอำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจของศาลทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีความต่างๆ ๒ อำนาจหลังนี้จะต้องใช้กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราออกมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ และแนวคิดนี้ก็เป็นไปตามหลักของมงเตสกิเยอที่ว่าทั้ง๓อำนาจนี้ต้องสัมพันธ์และถ่วงดุลย์กันเสมอ

          ๒.๑.๔ องค์การที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศทุกประเทศจะต้องมีผู้ทำหน้าที่บริหารปกครองประเทศ ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Government" แต่มิได้หมายความจำกัดเพียง "รัฐบาล" ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเท่านั้นแต่ยังหมายความรวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการด้วย

 

๒.๒รูปแบบของรัฐ

                   เมื่อทราบแล้วว่า การจะเป็นประเทศได้นั้น จะต้องมี ๔ องค์ประกอบสำคัญครบถ้วน และในปัจจุบันมีอยู่เกือบ ๒๐๐ ประเทศ กระจายอยู่ทั่วโลกนั้น ทั้งหมดมีรูปแบบแตกต่างกันอย่างไร รูปแบบของรัฐหรือประเทศแบ่งได้เป็น๒รูปแบบใหญ่ๆคือรัฐเดี่ยวและรัฐรวม

 

                   ๒.๒.๑ รัฐเดี่ยว (Unitary State) ทางรัฐศาสตร์จะไม่เรียกว่า ประเทศเดี่ยว แต่จะเรียกว่า รัฐเดี่ยว เป็นรูปแบบที่กำหนดให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารปกครองประเทศเพียงระดับเดียวคือ ระดับประเทศซึ่งมักเรียกกันว่า รัฐบาลกลาง (มิใช่หมายความเฉพาะคณะรัฐบาลเท่านั้น แต่รวมถึงรัฐสภาและศาลด้วย) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อบริหารปกครองประเทศ ตัวอย่างของประเทศที่มีรูปแบบรัฐเดี่ยวเช่น ไทย ญี่ปุ่นฝรั่งเศสเป็นต้น

                   ๒.๒.๒ รัฐรวม (Composite State) เป็นรูปแบบของประเทศที่ประกอบไปด้วยหลายมลรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ซึ่งนอกจากจะมีรัฐธรรมนูญของประเทศแล้ว แต่ละมลรัฐก็จะมีรัฐธรรมนูญของตนเอง

 

๓. การปกครองและรูปแบบของการปกครอง

          การปกครองเป็นเรื่องของการใช้อำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ๒ กลุ่ม คือ ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของรัฐเดี่ยว หรือรัฐรวม ก็จะเลือกรูปแบบของการปกครองแบบหนึ่งแบบใดใน ๒ แบบนี้ คือ แบบเผด็จการหรือแบบประชาธิปไตย

 

๓.๑ เผด็จการ

          เป็นรูปแบบการปกครองที่อำนาจในการตัดสินใจทุกเรื่องเกี่ยวกับการบริหารปกครองประเทศขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของบุคคลเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว โดยไม่มีฝ่ายที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ลักษณะของเผด็จการอาจเกิดจากการที่ทหารทำปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลเดิมแล้วตั้งตนเป็นผู้ปกครองสูงสุด เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์มหาศาลของประเทศ เผด็จการลักษณะนี้ผู้ปกครองจะเอาเปรียบประชาชนทุกเรื่อง แม้แต่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนก็จะถูกริดรอน เผด็จการแบบนี้เรียกว่าเผด็จการแบบอำนาจนิยม ยังมีเผด็จการอีกแบบหนึ่งเรียกว่า เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีอยู่ ๒ ขั้วคือ เผด็จการขวาจัดที่เน้นเรื่องชาตินิยมและต่อต้านต่างชาติเป็นหลักกับเผด็จการซ้ายจัดที่เน้นความสำคัญและชัยชนะของชนชั้นกรรมกรและชาวนาเป็นหลัก

 

๓.๒ประชาธิปไตย

         เป็นรูปแบบการปกครองที่ยึดหลักสำคัญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ดังนั้น ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารปกครองประเทศไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ประชาธิปไตยให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างมาก และรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะต้องบัญญัติไว้ชัดเจนว่าประชาชนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จนหรือรวย และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนจะต้องได้รับการรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ในกรณีที่ต้องมีการตัดสินใจร่วมกันของประชาชน เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสมาชิก ก็จะใช้มติของเสียงข้างมากเป็นเครื่องตัดสิน

การปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ การเมืองกับเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างมากคือต้องมีการแบ่งปันทรัพยากร กระจายรายได้และบริการ ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสมและทั่วถึง สมัยนี้มีการพูดถึงธรรมรัฐที่แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Good Governance กันมาก และเป็นคำที่ใช้อธิบายถึงการบริหารปกครองของรัฐบาลที่เน้นประโยชน์ของประชาชนโดยรวม เน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ รัฐบาลที่บริหารจัดการด้วยหลักธรรมรัฐ จะได้รับการยอมรับจากประชาชนเสมอ เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยรวมได้อย่างทั่วถึงและยุติธรรม ประเทศที่พัฒนาก้าวหน้ามาก มักจะมีรัฐบาลที่ยึดหลักธรรมรัฐในการบริหารปกครองประเทศ เช่น อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น

 

๔.รัฐบาลและรูปแบบของรัฐบาล

         ทุกประเทศไม่ว่าจะมีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็จะต้องมีผู้ปกครองประเทศที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเงิน ทรัพย์สิน และทรัพยากรทุกชนิดที่อยู่ในประเทศและปกครองประชาชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข องค์กรที่ทำหน้าที่นี้โดยตรงก็คือ รัฐบาล ในหน้าที่ที่กล่าวถึงจะเห็นได้ว่ารัฐบาลจะต้องมีเจ้าหน้าที่และเงินงบประมาณจำนวนมากและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ดังนั้น ภาวะการเป็นผู้นำในการบริหารปกครองประเทศนี้ จึงเป็นสิ่งที่คนทั่วไปแสวงหา และโดยเฉพาะนักการเมืองล้วนพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล

 

๔.๑ รัฐบาล

                   ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า อำนาจอธิปไตยแยกเป็น ๓ ส่วน คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ และฝ่ายที่ทำหน้าที่บริหารและปกครองโดยตรงก็คือ ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีนั่นเอง

รัฐบาลจะต้องจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับประโยชน์ทุกเรื่อง จะต้องดูแลบริหารกิจการภายในประเทศให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ต้องปกป้องประเทศให้ปลอดภัยจากการคุกคามของประเทศอื่น และต้องดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศให้ประเทศของตนสามารถอยู่ร่วมกับประเทศอื่นในประชาคมโลกได้อย่างมีเกียรติ

 

๔.๒ รูปแบบของรัฐบาล

         ทั้งกว่า ๒๐๐ ประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้จะเลือกรูปแบบของรัฐบาลอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ รูปแบบนี้คือ รัฐบาลแบบประธานาธิบดี รัฐบาลแบบกึ่งประธานาธิบดี และรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรี

                   ๔.๒.๑ รัฐบาลแบบประธานาธิบดี ประเทศที่เป็นต้นแบบของรัฐบาลแบบประธานาธิบดีคือ สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีรัฐบาลแบบประธานาธิบดีจะถือว่าประธานาธิบดีและสถาบันประธานาธิบดีเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศ รัฐธรรมนูญจะกำหนดใช้อย่างชัดเจนว่า ประธานาธิบดีซึ่งได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนนั้น เป็นทั้งประมุขของประเทศและเป็นผู้บริหารสูงสุด อำนาจในการตัดสินใจเป็นของประธานาธิบดีแต่ผู้เดียว เราจึงไม่พบคำว่า "รัฐมนตรี" ในรัฐบาลแบบนี้ แต่จะพบคำว่า "เลขานุการของประเทศ" หรือ "เลขานุการของประธานาธิบดี" แทน ประธานาธิบดีจะเป็นผู้บริหารทุกกิจการของประเทศ

สำหรับฝ่ายนิติบัญญัตินั้น ประกอบไปด้วย วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกของทั้ง ๒ สภา จะได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน เพื่อทำหน้าที่หลักในการออกกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปใช้ในการบริหารประเทศ และทำหน้าที่ควบคุมการบริหารให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ อย่างไรก็ตามหากประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขและผู้นำสูงสุดของประชาชนเห็นว่าร่างกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอ จะไม่เป็นผลดีแก่ประเทศโดยรวม ก็อาจใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) กฎหมายฝ่ายนั้นได้ แต่ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา

                   ๔.๒.๒ รัฐบาลแบบกึ่งประธานาธิบดี ประเทศที่เป็นต้นแบบรัฐบาลแบบกึ่งประธานาธิบดีคือ ฝรั่งเศส ซึ่งมีรัฐบาลแบบนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๘ ซึ่งเป็นปีแรกของ "สาธารณรัฐที่ ๕" ของฝรั่งเศสที่อดีตประธานาธิบดี ชาลส์ เดอ โกลล์ (Charles De Gaulles) สถาปนาขึ้นใหม่ เนื่องจากในอดีตจนถึงสาธารณรัฐที่ ๔ ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจมากกว่าฝ่ายบริหาร รัฐบาลมาจากหลายพรรค ขาดเสถียรภาพ ทำให้ถูกควบคุมโดยฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสิ้นเชิงส่งผลให้การบริหารและแก้ปัญหาของประเทศเป็นไปอย่างเชื่องช้าติดขัด ประธานาธิบดี ชาลส์ เดอ โกลล์ จึงเสนอแนวคิดให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจและบทบาทเหนือฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดให้มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและบริหารประเทศบางส่วน แต่การบริหารส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หากมีปัญหาขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ตัดสินประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขของประเทศและเป็นผู้นำของฝ่ายบริหารนั้นได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นผู้กำหนดนโยบายของชาติ มีอำนาจพิเศษซึ่งถือเป็นสิทธิเด็ดขาดคือมีอำนาจฉุกเฉินในการตัดสินใจใดๆเมื่อเกิดภัยคุกคามแก่ประเทศมีสิทธิขอให้ประชาชนทำประชามติในร่างกฎหมายสำคัญๆ ได้

                   ๔.๒.๓ รัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรี ประเทศต้นแบบของรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรีคือ อังกฤษ ประมุขของประเทศที่มีรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรี อาจเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระจักรพรรดิ หรือประธานาธิบดีก็ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ หลักสำคัญก็คือประมุขจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศ จะไม่ทำหน้าที่บริหารหรือปกครองประเทศ  ฝ่ายบริหารคือ คณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาลและมีรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกรัฐสภา  ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภานั้นประกอบด้วยสภาขุนนางและสภาผู้แทนราษฎร ประเทศอื่นๆ ที่เอารูปแบบรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรีที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบไปใช้มักจะแทนที่สภาขุนนางด้วยวุฒิสภา ซึ่งการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกนั้น อาจมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนหรือจากการแต่งตั้งจากประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล แต่มีแนวโน้มว่าจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนมากขึ้น ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นได้รับเลือกตั้งโดยตรงมาจากประชาชน

 

 

 

สรุป

                   ๑. การเมืองการปกครอง เป็นเรื่องของอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรทุกชนิดของประเทศให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและยุติธรรม ประชาชนในประเทศสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข สันติ ดังนั้นผู้ปกครองที่มีความสามารถในการบริหารจัดการเท่านั้น จึงจะได้รับการยอมรับจากประชาชน ผู้ปกครองที่ทำเพื่อความสุขสบายส่วนตนหรือของพวกพ้อง โดยทอดทิ้งประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐจะถูกต่อต้านและถูกล้มล้างไปเหมือนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกล้มล้างลง

                   ๒. ดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตย และองค์กรที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศเป็น ๔ องค์ประกอบหลักของการเป็นประเทศเอกราช ทั้งนี้ไม่ว่าประเทศเอกราชนั้นจะมีลักษณะเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวมก็ตาม

                   ๓. โดยทั่วไปสิ่งที่ประชาชนต้องการก็คือความเป็นอยู่ที่สันติ สงบสุขในประเทศ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตตามยุคสมัย ดังนั้นหากผู้ปกครองตอบสนองความต้องการเหล่านี้แก่ประชาชนได้ ประชาชนก็จะให้การยอมรับและสนับสนุน และในทางตรงกันข้าม หากประชาชนไม่ได้รับการตอบสนองและถูกกดขี่ข่มเหงจากผู้ปกครอง ประชาชนก็จะต่อต้านอย่างรุนแรง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองแบบเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ตาม

                   ๔. รัฐบาลเป็นองค์กรทางการเมืองที่ได้รับมอบอำนาจไปจากประชาชนเพื่อทำหน้าที่บริหารและปกครองประเทศเพื่อประชาชนโดยรวม เนื่องจากแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครอง ที่สืบเนื่องมาอย่างแตกต่างกัน จึงเกิดรัฐบาลหลายรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ ๓ รูปแบบคือ รัฐบาลแบบประธานาธิบดี รัฐบาลแบบกึ่งประธานาธิบดี และรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรี

 

 

 

.............................................................................

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักปรัชญาการเมืองสมัยโบราณ

 

          หมายถึง ปรัชญาการเมืองของนักปรัชญากรีก โดยเฉพาะแนวความคิดของเพลโตและอริสโตเติล ซึ่งเชื่อในความจำเป็นและความเป็นธรรมชาติของรัฐ โดยเฉพาะอริสโตเติล ถือว่า มนุษย์คือสัตว์สังคมหรือสัตว์การเมือง หมายถึง ความจำเป็นที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมโดยธรรมชาติ เพราะอริสโตเติลเห็นว่า รัฐเป็นส่วนที่สามารถอำนวยประโยชน์ให้มนุษย์ได้พัฒนารูปแบบของตน หรือพัฒนาลักษณะเฉพาะของตน นั่นคือ ความมีเหตุผลของมนุษย์ รัฐจึงสามารถทำให้มนุษย์มีคุณธรรมทางปัญญาได้ ส่วนเพลโตนั้นเชื่อในความดีของรัฐที่ปกครองโดยราชาปราชญ์ผู้ที่มีจิตภาคปัญญาเด่น และมีพวกจิตใจกล้าหาญเป็นทหาร และมีพวกลุ่มหลงในกิเลสเป็นคนงาน

 

 

 

 

ปรัชญาการเมืองของ โสกราตีส

 

ประวัติ

          โสกราตีส (๔ มิถุนายน ๔๗๐ ปีก่อน ค.ศ. - ๗ พฤษภาคม ๓๙๙ ปีก่อน ค.ศ.) (ภาษากรีก

Σωκράτης) เป็นนักปราชญ์กรีกและเป็นชาวเมืองเอเธนส์

          โสกราติสเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีผลงานการเขียนอะไรคงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามตัวตนและความคิดของเขายังคงอยู่ถึงปัจจุบันผ่านงานเขียนของบุคคลอย่าง อริสโตเติล (Aristotle) พลาโต (Plato) อริสโตฟานเนส (Aristophanes) หรือ ซีโนฟอน (Xenophon) นอกจากนั้นยังมีทั้งนักเขียน นักคิด และนักปราชญ์ที่เก็บเรื่องราวของโสกราติส อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถรู้ว่าข้อมูลเรื่องเล่าถึงชีวิตของโสกราติสนั้นจริงหรือเท็จได้อย่างแน่นอนตามธรรมเนียมโบราณ โสกราติสนั้นเป็นลูกของโสโฟรนิกัส (Sophronicus) ผู้เป็นพ่อ และ แฟนาเรต (Phaenarete) ผู้เป็นแม่ โสกราติสได้แต่งงานกับซานทิปป์ (Xanthippe) และมีลูกชายถึง ๓ คน เมื่อเทียบกับสังคมสมัยนั้นซานทิปป์ถึงได้ว่าเป็นผู้หญิงอารมณ์ร้าย และโสกราติสเองได้กล่าวว่าเพราะเขาสามารถใช้ชีวิตกับซานทิปป์ได้ เขาใช้ชีวิตกับมนุษย์คนได้ก็ได้เหมือนกับผู้ฝึกม้าที่สามารถทนกับม้าป่าได้ โสกราติสได้เห็นและร่วมรบในสมรภูมิ และ ตามสิ่งที่พลาโตได้กล่าวว่า โสกราติสได้รับเหรียญเกียรติยศสำหรับความกล้าหาญในสมรภูมิ

          ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่กล่าวอย่างชัดเจนว่าโสกราติสประกอบอาชีพใด ใน"ซิมโพเซียม" (Symposium) ซีโนฟอนกล่าวว่าโสกราติสใช้ชีวิตกับการสนทนาปรัชญา โสกราติสไม่น่าที่จะมีเงินมรดกจากครอบครัวเพราะบิดาของโสกราติสเป็นเพียงศิลปิน และตามการบรรยายของพลาโต โสกราติสไม่ได้รับเงินจากลูกศิษย์ อย่างไรก็ตามซีโนฟอนกล่าวใน"ซิมโพเซียม"ว่า โสกราติสรับเงินจากลูกศิษย์ของเขา และอาริสโตฟานเนสก็เล่าว่าโสกราติสได้เปิดโรงเรียนของตนเอง ข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ โสกราติสเลี้ยงชีพผ่านเพื่อนที่ร่ำรวยของเขา เช่นเอลซีไบเดส (Alcibiades)

 

การไต่สวนและเสียชีวิต

          โสกราติสใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาของการเปลียนแปลงในอาณาจักรเอเธนส์ จาก

จุดสูงสุดของอาณาจักรเอเธนส์ถึงยุคเสื่อมภายหลังการพ่ายแพ้ให้กับกรุงสปาร์ตา (Sparta) มีบุคคลสามคนสำคัญที่ยุให้ศาลสาธารณะของกรุงเอเธนส์ไต่สวนโสกราติส โดยกล่าวหาว่า

โสกราติสเป็นผู้ที่สร้างความเสื่อมศรัทธาในศาสนา และเยาวชนในกรุงเอเธนส์ เรื่องราวทั้งหมดนี้สามารถอธิบายได้ เมื่อนึกถึงสถานการณ์ในเมืองเอเธนส์ภายหลังการพ่ายแพ้ให้กับสปาร์ตานั้น ชาวเมืองเอเธนส์ ผู้ยังเชื่อถือในเทพเจ้าผู้ปกป้องเมืองต่างๆ มองว่าการพ่ายแพ้ของเอเธนส์เป็นเพราะเทพเจ้าเอเธนา (Athena) ผู้เป็นเทพปกครองเมืองเอเธนส์นั้นประสงค์จะลงโทษเมืองเอเธนส์เพราะผู้คนในเมืองเสื่อมศรัทธาในศาสนา การที่โสกราติสตั้งคำถามและสนทนาเกี่ยวกับปรัชญาจึงเท่ากับเป็นการทรยศชาติ การไต่สวนตัดสินว่าโสกราติสมีความผิด และเขาถูกประหารโดยการรับพิษ

 

ปรัชญาของโสกราตีส

          ๑.    มนุษย์กับรัฐ   การอยู่ร่วมกันของมนุษย์คือกำเนิดของรัฐ มนุษย์ไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้  รัฐเป็นสิ่งที่ดี  และจำเป็นเพราะรัฐเป็นแหล่งที่คนสามารถพบกับชีวิตที่ดี และสามารถเรียนรู้คุณธรรมจากเพื่อนร่วมสังคม

          ๒. กฎหมายแห่งรัฐ

          ๑.  กฎหมายคือกลไกของรัฐ ที่ส่งเสริมและปกป้องให้มนุษย์ มีชีวิตที่ถูกต้อง

          ๒.  คุณค่าของกฎหมาย การบัญญัติกฎหมายจะต้องทำด้วยความรอบรู้และฉลาด

เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำรงคุณธรรมของสังคมอย่างแท้จริง  ดังนั้นปราชญ์จึงควรเป็นผู้กำหนดกฎหมาย

         ๓.  ราชาปราชญ์ คือ ผู้ปกครองที่ดีตามแนวคิดของโสกราตีส ปราชญ์เป็นบุคคลที่มีความรู้ จึงเป็นบุคคลที่มีคุณธรรม และส่งเสริมให้ประชาชนทำดี

          ๑.  โสกราตีสใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ โดยวิธีวิภาษวิธี (Dialectic) คือการตั้งปัญหาและหาสาเหตุของปัญหาไปเรื่อยๆ รวมทั้งหาข้อคัดค้านมาหักล้างกัน จนหาคำตอบว่าสาเหตุนั้นเกิดขึ้นจากอะไร

          ๒.  สนใจค้นคว้าอยากรู้ว่ามนุษย์เกิดมาต้องการอะไร และพบว่ามนุษย์เกิดมาต้องการความสุข แล้วมนุษย์ทุกคนก็ต้องการความสุขที่แตกต่างกัน หากความสุขที่ได้มาจากความสุจริต ความสุขนั้นจะดี คนมีความสุขกับการกระทำนั้น แต่หากความสุขนั้นได้มาจากสิ่งมิชอบ โดยกระทำสิ่งไม่ดี พอการกระทำปรากฏขึ้นมานั้น ความสุขของคนก็จะหายไป

          ๓.  หากกระทำดี ชีวิตก็จะมีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า “การกระทำความดีอย่างมั่นคง จะทำให้มีความสุขอย่างยั่งยืน” ความรู้เกี่ยวกับความดีสามารถปลูกฝังให้เกิดการเรียนรู้ได้ สังคมสามารถหล่อหลอมให้คนเกิดการเรียนรู้ที่จะทำดีได้ แล้วความรู้เกี่ยวกับความดีนั้นทำให้คนเกิดคุณธรรม แล้วสังคมก็จะเกิดความสุขด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะนักการเมืองหากมีคุณธรรม จะทำให้เกิดคุณธรรมทางการเมือง (Political Virtue) ปกครองหรือใช้อำนาจโดยธรรม จะทำให้ประชาชนมีความสุข มีชีวิตที่ดี 

 

 คุณธรรมทางการเมือง ๕ ประการ ตามแนวคิดของโสกราตีสคือ

          ๑.   ปัญหา (Wisdom) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับความดี เช่น คนเราเกิดมาต้องรู้ว่าพ่อแม่ที่ดีเป็นอย่างไร,การเป็นลูกที่ดีเป็น   อย่างไร, การเป็นครูและนักเรียนที่ดีเป็นอย่างไร และการเป็นนักปกครอบที่ดี หากคนเรารู้เกี่ยวกับความดีและกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความดี เขาเชื่อว่าสังคมจะสันติสุข

          ๒.   ความกล้าหาญ (Courage) เป็นความกล้าหาญในการรักษาความถูกต้อง และความดีงามของสังคม ผู้ปกครองต้อง กล้ายืนหยัดในความถูกต้อง ไม่ใช่เข้าข้าง ยอมจำนนต่อคนชั่ว ดังนั้น ในการรักษาความถูกต้อง ต่อสู้กับความชั่ว บางครั้งต้องเสี่ยงถึงชีวิต แต่โสกราตีสบอกว่าถึงเสี่ยงก็จำเป็นต้องสู้ ต้องยืนหยัดเพื่อให้คนทุกคนในสังคมพร้อมที่จะต่อสู้ด้วยกัน มิฉะนั้นคนชั่วจะครองเมือง

          การเผยแพร่คุณธรรมในลักษณะนี้ ซึ่งเป็นการตอบโต้คนชั่ว จนถูกสมาชิกสภานครรัฐเอเธนส์บางส่วนกล่าวหาว่า โสกราตีสพยายามเผยแพร่คำสอนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้า แล้วนำเข้าไปไต่สวนและถูกตัดสินให้กินยาพิษตาย หลายคนบอกให้หนีแต่เขาก็ไม่หนี เพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ มิใช่เป็นคนขี้ขลาด เสียชื่อต่อวงศ์ตระกูล แต่ในสังคมไทยมีการปลูกฝังให้คนเรารู้จักเอาตัวรอดดังคำสุภาษิตไทย เช่น รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี, อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน, ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด คนไทยขาดการยืนหยัดในการต่อสู้ต่อสิ่งชั่ว สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเกรงกลัวต่อสิ่งเหล่านั้นว่าจะส่งผลไม่ดีมาถึงตนเอง

          ๓.  การควบคุมคนเอง (Temperance) คือการควบคุมตนเองไม่ให้ตกเป็นทาสของความ โกรธ ความโลภ ความหลง นักปราชญ์เชื่อว่าทุกคนเกิดมาจะมีสิ่งเหล่านี้ติดตัวมา แต่ทุกคนมีความแตกต่างกันในเรื่องของการควบคุมตนเอง และการยับยั้งชั่งใจ หากยับยั้งชั่งใจได้มาก ก็แสดงว่ามีคุณธรรมสูง

          ๔.  ความยุติธรรม (Justice) คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่ในการปกครอง หากผู้นำมีความยุติธรรม ก็จะมีแต่คนดีอยู่ใกล้ๆ ผู้นำก็จะไม่เดือดร้อย มีคนคอยเกื้อหนุนช่วยเหลือ

          ๕.  การปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา (Piety) คือ การกระทำความดี และการยกย่องคนดี ดังนั้น ผู้นำก็ควรทำดีเพื่อเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเอาอย่าง และต้องรู้จักยกย่องความดีด้วย เพื่อให้คนที่ทำดีมีกำลังใจในการกระทำความดีต่อไปเพื่อสังคม

 

 

 

แนวคิดของโสกราตีสที่สำคัญมีดังนี้

          ๑.  เป้าหมายแห่งชีวิตมนุษย์  มนุษย์เกิดมาต้องการอะไร ก็คือ ความสุข หากคนเราทำดี ชีวิตก็จะมีความสุข

          ๒.  ความรู้เกี่ยวกับความดี  ปราชญ์เป็นผู้มีความรู้ จึงเป็นผู้มีคุณธรรม เพราะปราชญ์เป็นผู้ใฝ่รู้ แสวงหาสิ่งดี ละเว้นความชั่ว ฉะนั้นจึงควรให้ปราชญ์เป็นผู้นำประเทศ ปกครองประเทศ สังคมจะได้มีแต่สันติสุข แล้วยังส่งเสริมให้ประชาชนทำดี ประพฤติปฏิบัติดี สังคมก็จะเป็นสังคมที่ดี

         แนวคิดการปกครองของโสกราตีส  “ราชาปราชญ์” ให้ปราชญ์เป็นผู้ปกครอง เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย, ด้านบริหาร และมีอำนาจในการตัดสินคดีต่างๆ สังคมจะมีความสุข เพราะปราชญ์จะทำแต่สิ่งดีๆ และส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณธรรม

          ดังนักการเมืองไทยขาดคุณธรรม ไม่ใส่ใจเรื่องความดี มีค่านิยมที่ไม่ดี ทำให้สังคมเรามีแต่ปัญหา ขาดการพัฒนา

 

 

 

…..……………………………………………

 

 

เพลโต  (Plato ๔๒๘ – ๓๔๗ ก่อน ค.ศ.)

ประวัติ
         
เพลโต  เกิด  427 ก่อนคริสต์ศักราช ที่กรุงเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ (Greece)เสียชีวิต 347 ก่อนคริสต์ศักราช ที่กรุงเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ (Greece)

 

ผลงาน

          ตั้งโรงเรียนชื่อ อะเคดามี (Academy)   แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว แต่หลักการปรัชญาของเพลโตก็ยังคงมีอิทธิพลต่อแนวความคิดของการศึกษา ด้านต่าง ๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาจิตวิทยา ธรรมชาติ หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ เพลโตเป็นนักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก อีกทั้งท่านยังเป็นอาจารย์ของนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกอย่าง

อาริสโตเติล เพลโตเป็นนักปรัชญาที่วางรากฐานทางการศึกษาวิชาต่าง ๆ ไว้มากมาย เช่น การปกครอง วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ เป็นต้น

          เพลโตเกิดเมื่อ 427 ก่อนคริสต์ศักราช ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในครอบครัวที่มั่งคั่งและเก่าแก่ครอบครัวหนึ่ง บิดาของ   เพลโตมีชื่อว่า อริสตัน (Ariston) ส่วนมารดาของเขาชื่อว่า เพริเทียน (Peritione) บิดาของเขาเป็นเพื่อนสนิทกับโสเครตีส  Cosrates 399 - 469 BC.) ซึ่งเป็นนักปรัชญ์ชาวกรีกที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง และเป็นลูกศิษย์ของปีทาโกรัส (Pythagoras)   ในเวลาต่อมาเพลโตได้ศึกษาวิชาการด้านต่าง ๆ กับโสเครตีส ทำให้เขามีแนวความคิดคล้ายกับนักปราชญ์ทั้งสองมาก เพลโตเกิด  ขึ้นมาภายใต้ความวุ่นวายทางการเมืองของกรีซ เนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสปาร์ตา(Sparta) และชาวนคร

เอเธนส์ สงครามครั้งนี้ยุติลงด้วยชัยชนะของชาวสปาร์ตา ทำให้ชาวนครเอเธนส์ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้เพลโตมีแนวความคิดต่อต้านการเมืองอย่างรุนแรง เขาจึงมุ่งมั่นอยู่กับการศึกษาและได้รับการศึกษาขั้นต้นเช่นเดียวกับลูกผู้ดีมีเงินทั้งหลาย คือ เรียน ปรัชญา ดนตรี บทกวี และวาทศิลป์ จากอาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ของเฮราไคลตุส (Heraclitus) นักปรัชญาชาวกรีกที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ต่อมาเพลโตได้ไปศึกษาต่อในวิชาขั้นที่สูงขึ้นไปอีกกับโสเครตีส

          ในระหว่างนั้นความเป็นไปในนครเอเธนส์ล้วนมีแต่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อของศีลธรรม การเมือง และอาชญากรรม เพลโต และโสเครตีสจึงได้ร่วมมือกันที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป แต่เป็นที่น่าเสียดายที่โสเครตีสต้องถูกประหารชีวิตเสียก่อน เนื่องจากรัฐบาลต้องการกำจัดบุคคลผู้ที่มีความคิดต่อต้านรัฐบาล ทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองของเพลโตต้องหยุดชะงักไปชั่วเวลาหนึ่งและเดินทางออกจากกรุงเอเธนส์ท่องเที่ยวไปตามเมืองต่าง ๆ นานกว่า 10 ปี แต่ในที่สุดเขาได้เดินทางกลับกรุงเอเธนส์ และดำเนิน

การด้านการเมืองต่อไป หลังจากที่ออกจากกรุงเอเธนส์ไปแล้ว เพลโตได้เดินทางไปที่เมืองเมการา เพื่อไปหายูคลิด (Euclid)  เพลโตได้พักอยู่กับยูคลิดเป็นเวลานาน อีกทั้งยังได้ร่วมมือกันตั้งโรงเรียนขึ้นมาแห่งหนึ่งชื่อว่า สำนักปรัชญาเมการิก โดยได้ร่วมกับนักปรัชญาอีกท่านหนึ่งนามพาร์มีนิดิส (Parminides) ทำให้เพลโตได้ศึกษาหลักปรัชญาจากพาร์มีนิดิสได้อย่างลึกซึ้ง     ต่อจากนั้นเพลโตได้ออกเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ อีกหลายเมือง เช่น อิตาลี อียิปต์ ไซรานี และซิซิลี เป็นต้น ในระหว่างนี้เขาได้ศึกษาหาความรู้จากสำนักที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น เขาได้เข้าศึกษาที่สำนักปีทาโกเรียน (Pythagorean) ของปีทาโกรัส ที่อิตาลี ส่วนที่เกาะซิซิลี เพลโตได้เข้าศึกษา ณ สำนักของพระเจ้าไดโนซีอุสที่ 1แห่งไซราคิวส์ (King Dionysius I of

Syracuse) นอกจากจะศึกษาหาความรู้แล้ว เพลโตยังได้เผยแพร่แนวความคิดทางปรัชญาของเขาให้กับคนทั่วไปได้รับรู้ โดยการไปบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง แต่เพลโตกลับถูกต่อต้านและส่งผลร้ายกลับมาสู่ตัวของเขา คือ เขาถูกจับไปขายเป็นทาสแต่โชคดีที่เพื่อนของเขาผู้หนึ่งได้ไปไถ่ถอนตัวเขาออกมา หลังจากที่เพลโตได้เดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ เป็นเวลานานหลายปี อีกทั้งเขาก็ได้ศึกษาหาความรู้จนมีความเชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ หลายสาขา ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับกรุงเอเธนส์ อีกครั้งหนึ่ง

          เมื่อเพลโตเดินทางมาถึงกรุงเอเธนส์ ประมาณ 387 ก่อนคริสต์ศักราช เขาได้ตั้งโรงเรียนขึ้นแห่งหนึ่งที่กรุงเอเธนส์ชื่อว่า อะเคดามี (Academy) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับวิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อีกทั้งเขายังได้สร้างสวนเพื่อออกกำลังกายสำหรับนักศึกษาในอะเคดามี เพราะหลักการในการเรียนการสอนของเพลโตมีอยู่ว่า ความรู้ทางการบริหาร วรรณคดีและดนตรี เป็นการศึกษาเบื้องต้น ซึ่งเป็นรากฐานของการศึกษาวิชาปรัชญาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาในขั้นสูงต่อไป ส่วนการเรียนการสอนในสถาบันแห่งนี้ก็ทันสมัยต่างจากการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมของกรีซ ที่ลูกศิษย์มีหน้าที่นั่งฟังแต่เพียงอย่างเดียว เชื่อในสิ่งที่ครูบอกทั้งหมด ห้ามโต้แย้งอย่างเด็ดขาด แต่เพลโตได้ใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อให้ลูกศิษย์มีโอกาสได้พูด ใช้เหตุผลในการตอบคำถาม และค้นคว้าหาความจริงด้วยตนเอง การสอนแบบนี้ของเพลโตได้นำมาจากโสเครตีส อาจารย์ของเขานั่นเอง โรงเรียนของเพลโตแห่งนี้มีผู้นิยมส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้สถาบันอะเคดามีของเพลโตยังได้รับการยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกอีกด้วย      การทำงานของเพลโตในสถาบันอะเคดามี เป็นไปได้ด้วยดี และในระหว่างนี้เขายังได้ศึกษาหาความรู้หลายด้านทั้งปรัชญาจิตวิทยา ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้เขายังได้รวบรวมแนวความคิดของนักปรัชญาทั้งหลายเพื่อใช้สอนในสถาบัน และก็ได้ตั้งหลักปรัชญาขึ้นมาใหม่อีกหลายอย่าง โดยงานของเพลโตสามารถแบ่งออกมาได้ถึง 3 ระยะ คือ

          ระยะแรกประมาณบั้นปลายชีวิตของโสเครตีส งานเขียนในระยะนี้จะมีแนวความคิดคล้ายคลึงกับโสเครตีสมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม และความดี เช่น เลกีส (Leges) เป็นเรื่องราวของการค้นคว้าหาความกล้า ไลสีส (Lysis) เป็นเรื่องราวของการค้นหามิตรภาพ และคาร์มีดีส (Charmedes) นอกจากนี้เพลโตยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของโสเครตีสและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในกรุงเอเธนส์

          ระยะที่สองคือช่วงที่เขาออกเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างจะมีหลากหลายลักษณะ เนื่องจากเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักปรัชญาหลายท่าน และในช่วงนี้เองที่เขาได้ตั้ง ทฤษฎีที่ว่าด้วย แบบ (Theory of Forms) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มาจากแนวความคิดของโสเครตีสที่ว่า ความรู้ทั้งปวงมาจากแบบ ละทฤษฎีที่ว่าด้วยแบบนี้เป็นหัวใจหลักของปรัชญาทั้งหมดของเพลโต แต่ทฤษฎีของเพลโตแตกต่างจากโสเครตีส เนื่องจากเพลโตนำมาขยายเนื้อหาทางอภิปรัชญาที่กว้างขวางขึ้น โดยแบบของเพลโตมีความเป็นอิสระและอยู่เหนือจิต เขาได้นำหลักปรัชญานี้มาจากการพิจารณาความเป็นไปของธณรมชาติอีกส่วนหนึ่ง และทฤษฎีนี้ยังได้กำหนดแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ด้วย โดยเพลโตกล่าวว่า การรับรู้จากสัมผัสทั้งหลาย ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ จะแตกต่างกันไปตามความคิดหรือสถานการณ์นั้น เช่น การที่มองเห็นสัตว์ตัวหนึ่ง จะไม่สามารถบอกได้ว่ามันมีขนาดใหญ่หรือเล็ก มันอาจจะมีขนาดใหญ่ถ้าไปเปรียบเทียบกับสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า หรืออาจจะมีขนาดเล็กถ้าไปเปรียบเทียบกับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นต้น และจากทฤษฎีข้างต้นเพลโตสรุปว่า โดยตัวของมันเองไม่มีสรรพสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ที่มีลักษณะแน่นอนตายตัว

          ผลงานในช่วงสุดท้ายของเพลโตเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากที่สุด เนื่องจากประสบการณ์และความรู้ที่มากมายของเพลโต ภายหลังจากที่ตั้งสำนักอะเคดามีแล้ว ทำให้เขามีผลงานจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ปรัชญา จริยศาสตร์ การเมือง การศึกษา และวิทยาศาสตร์ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขาได้นำมาถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ที่สถาบันอะเคดามี และงานชิ้นสำคัญที่สุดในช่วงนี้ก็คืองานเขียนที่ชื่อว่า รีพับลิค(Republic) ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองในความคิดของเพลโต แนวความคิดภายในหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นจากสภาพการเมือง

ในกรุงเอเธนส์ที่วุ่นวายอย่างมากในขณะนั้น หนังสือเล่มนี้ถือได้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่ง ทั้งในขณะนั้นและต่อมาจนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ได้เป็นหนังสือเรียนในวิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เป็นต้น

 

          กฎที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์อีกชิ้นหนึ่งของเพลโตคือ กฎที่เกี่ยวกับแสงที่ว่าแสงเดินทางเป็นเส้นตรง เมื่อแสงมากระทบวัตถุมุมแสงตกกระทบจะเท่ากับมุมแสงสะท้อน เป็นกฎที่ถูกต้องและยึดถือกันมาจนถึงปัจจุบัน เพลโตเสียชีวิตเมื่อ 347 ก่อนคริสต์ศักราชแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่แนวความคิดและผลงานทางวิทยาศาสตร์ของเขาก็มีอิทธิพลต่อนักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

          ดังนั้นแนวความคิดของเพลโตจะมีความเชื่อมั่นในเรื่องคุณธรรม และจริยธรรมเหมือนโสกราตีส ช่วงวัยกลางคน เพลโตเขียนมหาคัมภีร์ทางรัฐศาสตร์ชื่อ “The Republic” หรือ “อุตมรัฐ“ (อุ-ตะ-มะ-รัด) หรือรัฐในอุดมคติ คือลักษณะของรัฐที่ดีที่จะทำให้คนมีความสุข ซึ่งเพลโตต้องการให้มีขึ้น โดยมีแนวความคิดที่สำคัญ ดังนี้

 

๑. อุตมรัฐ  (The Republic)

          ๑.  อำนาจและความยุติธรรม : ผู้ปกครองควรใช้อำนาจโดยธรรม  ซึ่งต่างกับอำนาจที่เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ โดย ทั่วไปผู้ปกครองมักสรุปว่าตนเองมีอำนาจ และการใช้อำนาจของตนเองนั้นชอบธรรม แต่เพลโตมีทรรศนะว่าอำนาจนั้นจะชอบธรรมต่อเมื่อมีประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจนั้น ยินดีปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจ

          ๒.  การปกครองเป็นศิลปะ : เนื่องจากคนในสังคมมีอยู่หลากหลาย การที่จะทำให้เห็นพ้องต้องกันทั้งหมด อาจเป็นการยาก แต่ถ้าผู้ปกครองไปเข้าข้างหนึ่งข้างใด  ข้างที่เหลือก็จะเป็นปฏิปักษ์ ดังนั้นผู้ปกครองต้องหาวิธีทำให้คนส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย เพลโตจึงเห็นว่าการปกครองเป็นศิลปะที่สำคัญที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน ซึ่งจะทำให้การปกครองนั้นเป็นไปโดยราบรื่น

          ๓.  ธาตุแท้ของบุคคลในสังคม : เพลโตเห็นว่ามนุษย์มีความแตกต่างกันตามธรรมชาติมาตั้งแต่กำเนิด แบ่งเป็นดังนี้

          ๑.    กลุ่มธาตุทองคำ มีลักษณะใฝ่รู้ สนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ใช้เหตุผล มีความสามารถในการวิเคราะห์   เข้าใจคุณธรรมและจริยธรรม เหมาะที่จะเป็น “ผู้ปกครอง“

          ๒.    กลุ่มธาตุเงิน มีความรู้ความสามารถและมีชั้นเชิงในการรบ เหมาะที่จะเป็น “นักรบ” ป้องกันประเทศ

          ๓.    กลุ่มธาตุทองแดง มุ่งแสวงหาประโยชน์และกำไร เหมาะที่จะเป็น “ผู้ทำการผลิตให้แก่สังคม” เพื่อรัฐจะได้เก็บภาษีเพื่อนำมาพัฒนารัฐได้

          ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวคิดของเพลโตในการวิเคราะห์ธรรมชาติมนุษย์ จะบอกไว้ชัดว่าคนที่เกิดมามีลักษณะแบบไหน ควรจะทำหน้าที่อะไร à “Put the right man on the right job” (คนที่มีความสามารถอะไรควรให้ทำอย่างนั้น) แนวความคิดนี้มีผลต่อการกำหนดบทบาทของผู้ปกครอง ที่บอกว่าคนที่มีธาตุแท้เป็นทองคำหรือเป็นปราชญ์ควรทำหน้าที่เป็น “ผู้ปกครอง“ ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของโสกราตีสที่เห็นว่าผู้ปกครองควรจะเป็นปราชญ์ เพราะปราชญ์เป็นผู้ทรงคุณธรรม ที่จะทำให้สังคมมีสันติสุข

๔.  การศึกษาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับสังคม     เพลโตเห็นว่าการศึกษาเป็นกลไกสำคัญของรัฐ ถือเป็นกระบวนการของการอบรมหล่อหลอมกล่อมเกลา ให้คนในสังคมมีค่านิยมที่พึงประสงค์ หากต้องการให้คนมีคุณธรรม จริยธรรม กระบวนการในการศึกษาก็ควรจะมุ่งเน้นให้คนเห็นคุณค่าของสองสิ่งนี้ สังคมไทยมีปัญหาในการพัฒนาในหลายเรื่องเพราะค่านิยมของคนไทย เช่น เด็กนักเรียนนัดกันไม่ไปเรียน, ค่านิยมอยากเป็นเจ้าคนนายคน ไม่ต้องทำอะไรมากแล้วสุขสบาย ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมพัฒนาประเทศ             

๕.  ราชาปราชญ์ ควรเป็นผู้ทรงคุณธรรม :

          ๑.  เป็นผู้เสียสละ อุทิศตนและใช้อำนาจในการปกครองเพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชน

          ๒.  ไม่ควรมีทรัพย์สินและครอบครัว เพราะจะทำให้เกิดความโลภและเมื่อไม่มีครอบครัวจะทำให้มีอิสระในการอุทิศ ทุ่มเทในการทำงานให้กับประชาชน เพราะครอบครัวเป็นพันธะผูกคอ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาการสูญพันธ์ของกลุ่มธาตุทองคำ (ปราชญ์) เพลโตจึงให้คัดหญิงงาม คุณสมบัติดี มาเป็นคู่ขยายพันธ์ของผู้ปกครอง เมื่อตั้งครรภ์ให้แยกออกไป โดยมีหน่วยงานของรัฐดูแล และเมื่อคลอดแล้วก็ให้แยกออกไปอีก ให้หน่วยของรัฐอุปถัมภ์เลี้ยงดูเพื่อเป็นผู้ปกครองต่อไป แต่อย่าให้รู้ว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่ และอย่าให้พ่อแม่รู้ว่าใครเป็นลูก ซึ่งแปลว่าเพลโตไม่เคารพสถาบันครอบครัวเลย เพราะเห็นว่าจะนำมาซึ่งความวิตกห่วงใย และไม่พร้อมที่จะเสียสละ อุทิศตนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

          ๓.  เพลโตเห็นว่าผู้ปกครองที่เป็นปราชญ์ สามารถตัดสินปัญหาต่างๆ โดยใช้ดุลพินิจได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย เพราะต้องมาทำการตีความวุ่นวาย ซึ่งแม้ว่าเป็นแนวคิด ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ก็มีผู้นำมาใช้เช่นกัน เช่น พ่อขุนรามฯ ให้คนมาสั่นกระดิ่งหน้าพระตำหนักเมื่อมีปัญหา และออกมาตัดสิน   

 

๒.  นิติรัฐ (Laws) รัฐแห่งกฎหมาย

          ๑.  เพลโตใช้เวลานำเสนอแนวความคิดแบบราชาปราชญ์อยู่นาน และพบว่าไม่มีใครอยากเป็นผู้ปกครองแบบ     ปราชญ์ มีแต่คนต้องการสมบัติ อำนาจ จนกระทั่งถึงวัยปลายคน เพลโตจึงยอมจำนนกับความจริงของโลกกับสังคมในขณะนั้น จึงได้นำเสนอแนวคิดใหม่ เขียนหนังสือชื่อ LAWS (นิติรัฐหรือรัฐแห่งกฎหมาย) โดย ยอมรับให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ

          ๒.  เพลโตกำหนดไว้ด้วยว่ารัฐที่ดีควรตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล จะได้สามารถติดต่อค้าขายกับแคว้นอื่นๆ ได้ และให้แบ่งคนในรัฐออกเป็น ๑๒ แคว้น (ตามหลัก ๑ ปีมี ๑๒ เดือน) โดยให้ประชาชนในแต่ละรัฐเลือกตัวแทนขึ้นมาทำหน้าที่ ๓ ส่วน คือ

          ๑.  นิติบัญญัติ - สภาล่าง ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย

          ๒.  บริหาร – สภามนตรี

          ๓.  ตุลาการ – พิพากษาคดี

          จะเห็นได้ว่ามีการนำเสนอแนวความคิดเรื่องอำนาจในการปกครองแบบนี้มานานแล้ว ทุกรัฐมีอำนาจอธิปไตยในการปกครองทั้งสิ้น ความแตกต่างอยู่ที่ใครเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยดังกล่าว เช่น รัฐเผด็จการแต่ดั้งเดิม จะพบว่าผู้ปกครองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หมายความว่าบัญญัติกฎหมายเอง บริหารเอง ตัดสินคดีความเอง แต่ในระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนามาในยุคหลังนี้ กำหนดให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น หากต้องการทราบความแตกต่างในการใช้อำนาจอธิปไตย ให้ดูว่าใครเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งจะทำให้เข้าใจรูปแบบการปกครองได้ดีขึ้น

          ๓.  การบังคับใช้กฎหมาย ในคดีแพ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องชดใช้กัน แต่ในคดีอาญา เพลโตเห็นว่าไม่ว่าจะทำผิดอะไร ถ้าถูกลงโทษแล้วก็ยังเป็นสมาชิกของสังคมนั้น เพราะฉะนั้นการลงโทษควรยึดแนวทางในการปรับเปลี่ยนจิตใจเพื่อให้สำนึก และปรับตัวใหม่ เมื่อพ้นโทษแล้วจะได้กลับมาเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เพลโตไม่เห็นด้วยกับการลงโทษให้หลาบจำ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้แนวความคิดของเพลโตเยอะ ผิดกับประเทศด้อยพัฒนาที่ยังใช้วิธีลงโทษให้หลาบจำ

 

 ****  ความเห็นของโสกราตีสถูกบันทึกโดยเพลโต ต้องแยกให้ออกว่าส่วนไหนเป็นของใคร ซึ่งแนวความคิดของเพลโตก็ได้รับอิทธิพลมาจากโสกราตีสสูง และมุ่งหวังในการมีผู้ปกครองที่ดี หรือคุณลักษณะที่ดีของผู้ปกครองต้องมีคุณธรรม เสียสละ ซึ่งแตกต่างจากผู้นำการเมืองในประเทศด้อยพัฒนาที่แสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเอง

 

 

..............................................................

 

 

อริสโตเติ้ล (Aristotle, ๓๘๔ – ๓๒๒ B.C.)

ประวัติ

          อริสโตเติลเกิดเมื่อประมาณ ๓๘๔ หรือ ๓๘๓ ปีก่อนคริสตกาลที่เมือสตากีรา (Stagira) ในแคว้น

มาเซโดเนีย (Macedonia) ซึ่งเป็นแคว้นที่แห้งแล้งทางตอนเหนือสุดชองทะเลเอเจียน (Aegaeen Sea) ของประเทศกรีก  เป็นบุตรชายของนายนิโคมาคัส (Nicomachus)  ซึ่งมีอาชีพทางการแพทย์ประจำอยู่ที่เมือง

สตาราเกีย และยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าอมินตัสที่ ๒ (King Amyntas II) แห่งมาเซโดเนีย

ในวัยเด็กนั้นผู้ที่ให้การศึกษาแก่อริสโตเติลคือบิดาของเขานั้นเองซึ่งเน้นหนักไปในด้านธรรมชาติวิทยา เมื่อเขาอายุได้ ๑๘ ปีก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อกับปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุดนั้นคือ เพลโต ในกรุงเอเธนส์ (Athens) ในระหว่างการศึกษาอยู่กับเพลโต ๒๐ ปีนั้นทำให้อริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ที่ลือนามต่อมาจากเพลโต ต่อมาเมื่อเพลโตถึงแก่กรรมในปี ๓๔๗ ปีก่อนคริสต์ศักราช อริสโตเติลจึงเดินทางไปรับตำแหน่งเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ในปี ๓๔๓ - ๓๔๒ ก่อนคริสตศักราช ต่อมาในปี ๓๓๖ ก่อนคริสตศักราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าฟิลิป พระองค์จึงได้พระราชทานทุนให้แก่อริสโตเติลเพื่อจัดตั้งโรงเรียนที่สตากิราชื่อไลเซียม (Lyceum)  ในการทำการศึกษาและค้นคว้าของอริสโตเติลทำให้เขาเป็นผู้รอบรู้สรรพวิชา และได้เขียนหนังสือไว้มากมายประมาณ ๔๐๐ - ๑๐๐๐ เล่ม ซึ่งงานต่าง ๆ ที่ได้เขียนขึ้นมานั้น ได้มีอิทธิพลต่อความเชื่อในศาสนาคริสต์จวบจนกระทั่งยุคกลางหรือยุคมืด ซึ่งมีเวลาประมาณ ๑,๕๐๐ ปีเป็นอย่างน้อย

          คำสอนที่น่าสนใจของอริสโตเติลได้แก่ ความเชื่อที่ว่าโลกเรานี้ประกอบด้วยธาตุต่างๆ ๔ ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ ในเรื่องเกี่ยวกับจักรวาลนั้นอริสโตเติลเข้าใจว่า โลกเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาลโดยมีดวงดาวต่าง ๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์โคจรรอบ ๆ สวรรค์นั้นอยู่นอกอวกาศ โลกอยู่ด้านล่างลงมา น้ำอยู่บนพื้นโลก ลมอยู่เหนือน้ำ และไฟอยู่เหนือลมอีกทีหนึ่ง ธาตุต่าง ๆ ของโลกจะเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ทว่าธาตุที่ประกอบเป็นสวรรค์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงจะมีรูปร่างเช่นนั้นตลอดไป ซึ่งคำสอนต่อมาในปี ค.ศ. ๑๖๐๙ โจฮันน์ เคปเลอร์ (Johann Kepler) ได้ตั้งกฏของเคปเลอร์ ซึ่งเป็นการประกาศว่า โลกเราโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี เป็นการลบล้างความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลของอริสโตเติล  และในอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ กรณีของวัตถุสองอย่างที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน จะตกลงถึงพื้นไม่พร้อมกันตามหลักของอริสโตเติล ซึ่งกาลิเลโอ ได้ทำการพิสูจน์ต่อหน้าสาธารณชนที่หอเอนแห่งปิซาว่าเป็นคำสอนที่ไม่จริงในปี ค.ศ. ๑๖๐๐  แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของอริสโตเติลทางด้านชีววิทยานั้นเป็นที่ยกย่องกันมาก เพราะเขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา และพวกสัตว์เลื้อยคลานและได้ทำการบันทึกไว้อย่างละเอียดมาก เขาได้แบ่งสัตว์ออกเป็น ๒ พวกใหญ่ คือ พวกมีกระดูกสันหลัง (Vertebrates) และพวกไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrates) นับว่าอริสโตเติลเป็นผู้บุกเบิกความรู้ทางด้านนี้จนได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

           เป็นลูกศิษย์ของเพลโต ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของการเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) มีแนวความคิดที่สำคัญ ดังนี้

          ๑.  มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองที่อยู่ร่วมกันในชุมชน : ตามลักษณะธรรมชาติสัตว์ส่วนใหญ่จะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เช่นเดียวกับมนุษย์ ที่บอกว่าจะเป็นมนุษย์เมื่ออยู่กับมนุษย์ ต้องการการอยู่ร่วมกัน

          ๒.  ชุมชนที่ถือว่าเป็นการพัฒนาการขั้นสูงสุดของมนุษย์คือรัฐ

          ๓.  รัฐที่ดีก็ต้องสามารถเสริมสร้างให้มนุษย์มีจิตใจที่ดี และร่างกายแข็งแรง

          ๔.  คุณธรรมทางปัญญาและทางศีลธรรม

          ๕.  ปัญญา เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมเกี่ยวกับความดี เพื่อเป้าหมายแห่งความสุขในชีวิต

          ๖.  ศีลธรรม  เกิดจากกระบวนการอบรม บ่มเพาะให้คนประพฤติดี ปฏิบัติดี

 

          การเมือง (Politics) เปรียบเทียบรูปแบบของรัฐ และจำแนกออกเป็น ๖ รูปแบบ หลักในการจำแนกการปกครอง การใช้อำนาจเพื่อการปกครองเพื่อประโยชน์ของตนเอง ถือว่าเป็นนักปกครองที่เลว แต่หากใช้อำนาจในการปกครองเพื่อประโยชน์ของสังคม ถือว่าเป็นนักปกครองที่ดี

 

   อำนาจของผู้ปกครอง

รูปแบบที่เลว

รูปแบบที่ดี

คนเดียว

ทรราชย์  (Tyranny) ผู้ปกครองเป็นเจ้าของอำนาจ

ราชาธิปไตย (Monarchy)

กลุ่มบุคคล

คณาธิปไตย  (Oligachy)  ใช้อำนาจเพื่อพรรคพวกตน

อภิชนาธิปไตย (Aristocracy)

คนจำนวนมาก

ประชาธิปไตย (Democracy) - ปกครองโดยคนหมู่มาก (Citizen) เช่น นครรัฐเอเธนส์    แต่ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือบางกลุ่ม (Aristotle มองว่า ปชต. ในช่วงนั้นไม่ดี แต่ปชต.ในยุคหลังเน้นให้ยึดหลัก Majority Rule และตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม)

โพลิตี้ (Polity) แบ่งคนเป็น ๓ ชนชั้น คือ รวย-กลาง-จน และเลือกชนชั้นกลางเป็นผู้ปกครอง ประนีประนอมผลประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังไม่ปรากฏเป็นจริง        

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยกลาง

 

          หมายถึง นักปรัชญาการเมืองสมัยยุโรปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาคริสต์ ดังนั้น ความรู้สึกต่อรัฐของนักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยกลาง จึงเป็นไปในทางลบ และมองเห็นว่ารัฐเป็นความชั่วร้าย ศาสนจักรจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่ารัฐและควรเป็นฝ่ายควบคุมรัฐ ตัวอย่างของนักปรัชญาการเมืองสมัยกลาง คือ เซนต์ ออกัสติน อย่างไรก็ตาม หลังจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของยุโรป ความคิดเรื่องปัจเจกบุคคลและสิทธิของบุคคลเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แนวโน้มทางความคิดดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปสู่ความคิดที่ว่า รัฐต้องเป็นสิ่งที่เป็นอิสระจากการควบคุมหรือพ้นจากอิทธิพลของอำนาจภายนอก เช่น ศาสจักร ตัวอย่างเช่น ความคิดของมาเคียเวลลี่ เป็นต้น

 

………………………………………

 

เซนต์  ออกุสติน  (ค.ศ. ๓๕๔ – ๔๓๐ ) Saint   Augustin

 

          เจ้าอาวาสและนักเทววิทยาคริสเตียนรุ่นแรกๆ  สืบเชื้อสายจากชาวโรมัน  เขียนหนังสือและบันทึกไว้ ๑๑๓ เล่ม

          มีชีวิตอยู่ในยุคที่อารยธรรมแบบโรมันกำลังพังทลาย  โรมถูกปล้นสะดมผู้รุกรานชาวกอธในปี ค.ศ. ๔๑๐  และพวกโรมันวิจารณ์ชาวคริสต์ที่ไม่สนใจปกป้องการอยู่รอดของรัฐ  เซนต์  ออกุสตินได้เขียนหนังสือ  ชื่อ  เมืองของพระเจ้า  (City  of  God) โจมตีแนวคิดกรีกแบบคลาสิกที่ว่า  มนุษย์เรามีชีวิตที่ดีภายใต้นครรัฐที่มีเหตุผล  โดยเขามองว่ามนุษย์เรานั้น  มีธาตุแท้ที่ไม่มีเหตุผลและเปลี่ยนแปลงไปมาง่าย  นั่นคือเหตุผล  ที่พระเจ้าต้องเข้ามาแทรกแซงรัฐบาลของฆราวาส  เพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ และกฎหมายที่เป็นธรรม

          เขาเห็นว่าพลเมืองมีหน้าที่จะต้องฟังกฎหมาย  และเข้าร่วมต่อสู้ใน  สงครามที่เป็นธรรม  แต่ชะตากรรมที่แท้จริงของมนุษย์นั้นอยู่ที่อื่น  คือ พวกเขาเป็นพลเมืองของอาณาจักรนิรันดร  ซึ่งอยู่ในภพไกลไปจากอาณาจักรปัจจุบัน

 

 

          ปาฏิหาริย์ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติ  เพียงแต่อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับธรรมชาติ

 

 

 

เซนต์  ทอมัส  อะไควนัส  (ค.ศ. ๑๒๕๕ - ๑๒๗๔)

Saint  Thomus  Aquainas

          นักบวชโดมินิกันและนักปรัชญาชาวอิตาลี  เป็นผู้สอนวิชาเทววิทยาในมหาวิทยาลัยปารีส  งานของเขาได้รับอิทธิพลแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์จากอริสโตเติล  เขาเสนอว่า  เหตุผลและศรัทธาเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้  ในแง่ปรัชญาการเมือง  เขาเห็นว่ารัฐบาลควรถูกชี้ขึ้นมาโดยศีลธรรมและขึ้นอยู่กับกฎหมาย  เขาเป็นผู้นำของปรัชญาสำนัก  Scholasticism  ซึ่งพยายามผสมผสานปรัชญาคริสเตียน  โดยการใช้หลักตรรกวิทยาและวิภาษวิธีแบบลัทธิคัมภีร์เข้ากับคำสอนของอริสโตเติลและปรัชญาบางด้านของเพลโต 

          เขามองรัฐในแง่ดี  โดยมองว่ามีกฎธรรมชาติ (Natural law) หรือกฎศักดิ์สิทธิ์  ที่ปกครองทุกอย่างในจักรวาลนี้  ตั้งแต่แรงโน้มถ่วงจนถึงศีลธรรมของมนุษย์  เขาเชื่ออย่างอริสโตเติลว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมและการเมือง  ซึ่งต้องการโดยธรรมชาติที่จะเข้ามาอยู่ร่วมกันในสังคม    แต่การปกครองจะต้องมีหลักการบางอย่าง  ซึ่งสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ  และถ้าหากการปกครองขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ  ประชาชนก็มีสิทธิปฏิเสธผู้ปกครองได้

          แนวคิดเรื่องกกธรรมชาติ  หรือ  สิทธิที่พระเจ้าเป็นผู้กำหนดนี้มีอิทธิพลที่สำคัญในศตวรรษที่ ๑๗ แม้จะมีแนวความคิดแบบสมมุติขึ้น  แต่ก็เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในการวิจารณ์รัฐบาลเผด็จการที่ปฏิบัติต่อพลเมืองอย่างไม่เป็นธรรมได้ในระดับหนึ่ง

 

 

 

 

          กฎที่มนุษย์สร้างขึ้นจะเป็นกฎหมายก็ต่อเมื่อมันสอดคล้องกับเหตุผลที่ถูกต้อง  และด้วยวิธีนี้ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่า  มันหลั่งไหลมาจากกฎธรรมชาติที่ถูกต้องที่เป็นนิรันดร 

          ถ้าหากกฎหมายเบี่ยงเบนไปจากเหตุผลที่ถูกต้อง   เราเรียกมันว่า  กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม  แต่ในกรณีเช่นนี้  มันไม่ใช่กฎหมายด้วยซ้ำ  แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง

 

 

 

 

 

 

 

แมคิอาเวลลี่, นิคโคโล (ค.ศ. ๑๔๖๙ - ๑๕๒๗)

Niccolo  Machiavelli

          เป็นที่ปรึกษาและนักการเมืองชาวฟลอเรนซ์  อิตาลี  เขาเขียนหนังสือชื่อ  The  Prince  ๑๕๑๓  เจ้าผู้ปกครอง หรือเจ้า  อธิบายถึงสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนั้นจริงๆ  ว่าศีลธรรมแบบคริสต์ไม่เหมาะสำหรับเจ้า  ผู้ต้องการสร้างรัฐที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จ  ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเอาชนะศัตรูทุกหนทาง  จะต้องใช้ความฉลาดและความยืดหยุ่นเหมือนหมาจิ้งจอก และใช้ความกล้าหาญเหมือนสิงโต        เขาแตกต่างจากนักปรัชญาคนอื่นคือ  เขาไม่ได้เขียนถึงการเมืองในอุดมคติอย่างที่ควรเป็น  แต่กล่าวถึงยุทธวิธีการเล่นการเมืองของนักการเมืองในสมัยนั้นอย่างตรงไปตรงมา  เหมือนรายงานสภาพจริง  ในขณะเดียวกันก็เหมือนกับจะเย้ยหยัน  หนังสือของเขาทำให้คนตื่นตระหนกและมองเขาว่า เขาสนับสนุนลัทธิฉวยโอกาสที่ไร้ศีลธรรม             หนังสือเรื่องเจ้า (The  Prince)  คัดค้านแนวคิดแบบคริสต์เนื่องจาดเห็นว่า  สถาบันคริสต์ศาสนาในอิตาลีเสื่อมโทรม  ต้องหาศาสนาที่มุ่งคุณธรรมทางโลกเพื่อบ้านเมือง

          แนวคิดทางจริยธรรมของเขาคือ  ต้องการให้เกิดผลในโลกนี้  ต้องการสร้างสังคมที่ดี  แต่การเขียนเรื่องเจ้า  เพื่อแสดงภาพการเมืองที่แท้จริงว่า  ผู้ปกครองใช้เลห์เหลี่ยมอย่างไร  ทำให้คนมองเขาว่า  เขาเน้นเรื่องเลห์เหลี่ยมของผู้ปกครอง  แนวคิดสำคัญของเขาคือ

          ๑.  ต้องรู้จักหยิ่งผยองในตนเองและมหาชน  ไม่ใช่อ่อนน้อมถ่อมตน

          ๒.  ต้องปราบปรามศัตรูให้อยู่ภายใต้อำนาจไม่อ่อนข้อ  ให้อภัยศัตรู

          ๓.  แสดงควากล้าหาญ  ไม่ใช่จะได้มาด้วยการยอมทนทุกข์ทรมาน

          ๔.  ด้วยการลงมือกระทำ  ไม่ใช่ด้วยการสวดอ้อนวอนภาวนา

          ๕.  ต้องมีกองทัพที่เข้มแข็ง  มีความสุขทางโลกเต็มที่  ไม่ใช่อยู่อย่างสมถะแบบชาววัด

          ๖.  จริยธรรมไม่ได้มีอย่างเดียว  มี    อย่าง  คือ  จริยธรรมส่วนตัวและจริยธรรมการเมือง  การหลอกลวง  และการใช้ความรุนแรง  เพื่อประโยชน์ของมหาชน  เป็นความชอบธรรม

          ๗.  การให้เสรีภาพแก่ประชาชนที่ยังไม่พร้อม  เป็นอันตรายเหมือนการปล่อยสัตว์เลี้ยงที่ไม่คุ้นกับการทำมาหากินเองให้เป็นอิสระ  สังคมควรถูปกครองโดยผู้ปกครองที่มีคุณธรรม

          แม้ว่า  แม้ว่าแมคิอาเวลลี่จะคิดว่า  การปกครองแบบสาธารณรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจะเป็นรูปแบบรัฐบาลที่ดีที่สุด  เขาตระหนักว่าประชาชนจะสนใจในความมั่นคงของชีวิตพวกเขามากกว่าสนใจศีลธรรมของรัฐบาล  เขามองเห็นว่า  อำนาจ  ที่รู้จักใช้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ปราณีปราศรัยคือสิ่งที่จะสร้างและรักษาความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรื่อง  หนังสือเรื่องเจ้า  ที่โด่งดังของเขาปูทางให้กับปรัชญาการเมืองแนวใหม่ที่มองธรรมชาติมนุษย์อย่างสมจริงและเย้ยหยัน  และไม่ได้มองรัฐและหน้าที่ของรัฐอย่างอุดมคติเหมือนนักคิดคนอื่นๆ

          เครื่องป้องกันการคิดกบฏต่อเจ้าที่มีทรงพลังมากที่สุดก็คือ  การหลีกเลี่ยงการทำให้ประชาชนเกลียด    มนุษย์เราไม่เคยทำดี  นอกเสียจากว่ามีความจำเป็น

ฌอง  โบแด็ง  (ค.ศ. ๑๕๓๐ - ๑๕๙๖) Jean  Bodin

 

          นักกฎหมายและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้เสนิแนวคิดเรื่อง  อำนาจอธิปไตยของรัฐ  (Soverreignty)  เป็นคนแรกๆ  ( ก่อน ทอมัส  ฮอบส์)

          โบแด็ง  เคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย  ทนายความ  อัยการ  ผู้แทนในรัฐสภาฐานันดรแห่ง  บลัวส์ ที่ปรึกษาดุ้คแห่งอังลู

          โบแด็ง  อยู่ในยุคสมัยของสงครามกลางเมืองระหว่างนิกายคาทอลิก  และโปรเตสแตนต์  เขาอยู่ในกลุ่มโพลิติคส์  ที่เห็นควรรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนานิกายที่ต่างกัน  ในยุคที่ยุโรปเกิดสงครามเนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา  พวกเขาเห็นว่าเราควรแยกผลประโยชน์ทางโลก  และทางธรรมออกจากกัน  และต้องรักษาเอกภาพของชาติไว้แม้ว่าจะไม่มีเอกภาพทางศาสนา  พวกเขาต้องการให้กษัตริย์เป็นกลางและเป็นผู้ปกป้องศาสนาทุกนิกาย  กษัตริย์ที่แข็งแกร่งและมีอำนาจสูงสุด  เท่านั้นที่จะช่วยรักษาและธำรงเอกภาพของชาติไว้ได้

          โบแด็ง  เขียนหนังสือเรื่อง รัฐ  ซึ่งมีความหนาถึง  ๖ เล่ม  อธิบายว่า  สภาพที่แม้จริงของรัฐคืออะไร  และระบอบการปกครองที่ดีที่สุดควรเป็นระบอบแบบใด

          โบแด็ง  มองว่ารัฐ  คือ  ประชาคม  จากหลายครอบครัวที่ปกครองกันโดยศีลธรรม  เป็นผู้อยู่ใต้ปกครองที่มีอิสระที่ต้องเคารพปฏิบัติตามกฎหมาย  อำนาจอธิปไตย  หรืออำนาจสูงสุดในรัฐคือ  อำนาจออกและยกเลิกกฎหมาย  เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม

          เขาเห็นว่าอำนาจอธิปไตยจะต้องเป็นหนึ่งเดียวและแบ่งแยกไม่ได้เป็นอำนาจถาวรที่ไม่ขึ้นต่ออำนาจอื่นใด  ไม่ว่าจะเป็นสันตะปาปาจักรพรรดินอกราชอาณาจักร  สภาฐานันดร  หรือคณะผู้พิพากษา 

          เขาวิเคราะห์ว่า  อำนาจอธิปไตยในทางทฤษฎีอาจจะอยู่ที่มวลชน(ประชาธิปไตย) อยู่ที่คนกลุ่มน้อย(อภิชนาธิปไตย)  หรืออยู่ที่คนเดียว (ระบอบกษัตริย์) แต่ละรูปแบบต่างก็มีข้อดีข้อเสียของตนเอง  แต่ตัวเขาชอบรัฐกษัตริย์มากที่สุด  แต่ต้องเป็นรัฐกษัตริย์ที่ชอบธรรม  ที่กษัตริย์คารพกฎหมายธรรมชาติที่จรรโลงไว้ซึ่งเสรีภาพธรรมชาติ  และทรัพย์สินของผู้อยู่ใต้ปกครอง

          โบแด็ง  มีความเห็นแตกต่างจากพวกลัทธิเทวสิทธิที่อธิบายว่ากษัตริย์ได้อำนาจโดยตรงจากพระเจ้า  เขาเห็นว่ารากฐานของอำนาจการเมืองเป็นเรื่องของเหตุผลที่สอดคล้องกับเจตจำนงของพระเจ้า  ซึ่งเป็นผู้สร้างธรรมชาติและเหตุผลของมนุษย์  เขายังเห็นว่า  มนุษย์และสังคมมีลักษณะตามธรรมชาติสภาพแวดล้อมทางภูมิประวัติศาสตร์ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้  ดังนั้น  รัฐจึงมีหน้าที่ต้องปรับสถานภาพให้เข้ากับธรรมชาติของราษฎร  และปรับกฎหมายให้เข้ากับสภาพของสถานที่ตั้ง  บุคคล  และกาลเวลา

          อำนาจอธิปไตยของรัฐ  แม้จะเป็นอำนาจเด็ดขาดสูงสุด  ไม่ขึ้นต่ออำนาจอื่นใดแต่จะถูกกำจัดโดยกฎหมายธรรมชาติ (สิทธิคนทั่วไปควรได้รับ  เช่น สิทธิเสรีภาพทางร่างกายและทรัพย์สินส่วนบุคคล)  และกฎศีลธรรม

          ดังนั้นเขาจึงไม้สนับสนุนลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolutism)  แบบที่กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด  และยังเห็นว่า  สิทธิธรรมชาติ  เสรีภาพ  ของปัจเจกชนและกลุ่มเป็นรากฐานของอำนาจอธิปไตยที่เหนือกว่าเรื่องการสืบเชื้อสาย (Heredity) ของผู้ปกครอง

 

 

 

.............................................................

 

 

นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่

 

          หมายถึงว่า นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่ มีแนวโน้มที่มองเห็นความจำเป็นของรัฐ ถึงแม้ว่ารัฐจะไม่ใช่สถาบันธรรมชาติของมนุษย์ แต่รัฐนั้นมีอำนาจจำกัดลง เพราะกำเนิดของรัฐเกิดจากข้อตกลงของราษฎร์ หรือปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นอิสระตามสภาพธรรมชาติ หรือมีสิทธิบางอย่างโดยธรรมชาติ เมื่อตกลงกันโอนอำนาจตามธรรมชาติของตนให้คนเพียงคนเดียวหรือคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อนั้นรัฐหรือสังคมจึงเกิดขึ้น แต่การตกลงของราษฎร์เกิดขึ้นเพราะราษฎร์เห็นประโยชน์จากการมีรัฐที่สามารถรักษาสิทธิ์ที่ตนมีโดยธรรมชาติดีกว่าไม่มีรัฐ นั่นคือ นักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ยึดถือทฤษฎีสัญญาประชาคม ( Social Contract ) ดังนั้น ถ้ารัฐหรือ

กลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจไม่สนองตามความต้องการของราษฎร์หรือประชาชน ประชาชนมีสิทธิ์เรียกอำนาจคืนและโอนให้บุคคลอื่น ๆ ได้ ตัวอย่างของนักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่ คือ โธมัส ฮอบส์, จอห์น ล๊อค และรุสโซ

 

 

 

โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. ๑๕๘๘ – ๑๖๗๗)

 

          ฮอบส์เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๑๓๑ สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในวัยเพียง ๒๐ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๙๑

          โทมัส ฮอบส์(Thomas Hobbes) นักปรัชญาคนสำคัญของอังกฤษ ผู้ค้นคิดทฤษฎีสัญญาประชาคมในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งโลกตะวันตกยามนั้นเชื่อว่าอำนาจของผู้ปกครองเป็นโองการจากสวรรค์ชั้นฟ้า แต่ฮอบส์ยืนยันในทางตรงข้ามว่า "อำนาจนั้นมาจากการตกลงมอบให้โดยประชาชนผู้ถูกปกครอง"

          แม้ว่าสิทธิธรรมของประชาชน ในการขัดขืนอำนาจรัฐ จะมิได้อยู่ในความคิดของฮอบส์ (เชื่อกันว่าเจตนาของเขาคือ มุ่งใช้แนวคิดวัตถุนิยม สนับสนุนอาญาสิทธิ์ของกษัตริย์) แต่ฮอบส์ก็เป็นคนแรกที่สาธิตอย่างเป็นระบบว่า รัฐเป็นเพียงองค์กรเทียม (artificial organization) ที่มนุษย์รวมตัวกันสถาปนาขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในหมู่ตน เป้าหมายของการปกครอง จึงเป็นอื่นไปมิได้ นอกจากเพื่อจรรโลงสวัสดิภาพของปวงชน นี่คือจุดเริ่มต้นของกระแสความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ ที่สืบทอดไปสู่นักคิดหัวก้าวหน้ารุ่นหลัง นับจากจอห์น ล็อก และฌ็อง-ฌากส์ รุสโซ ผู้ "เหยียบบ่า" ของฮอบส์ขึ้นไปสู่ความคิดที่ว่า ถึงที่สุดแล้ว ประชาชนย่อมมีสิทธิจะรวมตัวกัน ถอดถอนผู้ปกครองได้ ไปจนถึงคาร์ล มาร์กซ์ ผู้จัดวางขั้นตอนที่มุ่งสู่การสลายตัวของรัฐ เพื่อปลดปล่อยมนุษย์อย่างแท้จริง

          ฮอบส์มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับกาลิเลโอ นิวตัน และเดการ์ตส์ ขณะที่ปราชญ์สามคนหลังนี้ เพียรพยายามเข้าถึงความลับของจักรวาล ฮอบส์หันมาทุ่มเทสติปัญญาทั้งหมดของเขา แก่การไขปริศนาว่าด้วยมนุษย์ และสังคมด้วยสปิริตแบบวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน

 

ชีวิตนี้มีเพื่อคิด

          ฮอบส์เคยเล่าถึงเกร็ดชีวิตของเขาไว้ว่า เขาถือกำเนิดพร้อมกับฝาแฝดคนหนึ่งชื่อ "Fear" (ความกลัว) กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๕๘๘ มารดาได้คลอดเขาออกมาก่อนกำหนด เนื่องจากตระหนกกับข่าวกองทัพเรืออาร์มาดาของสเปน กำลังจะบุกมาโจมตีเกาะบริเตนใหญ่ นี่เป็นอารมณ์ขันแบบอังกฤษ เพราะอันที่จริงแล้ว เกร็ดอันฟังดูเหมือนไร้สาระนี้ พาดพิงไปถึงค็อนเส็ปต์เรื่อง "ความกลัว" (ในที่นี้คือ ความรักตัวกลัวตาย) ของมนุษย์ ซึ่งฮอบส์ใช้เป็นคำอธิบายกำเนิดของสังคม ในผลงานปรัชญาการเมืองของเขา อีกทั้งยังแฝงนัยถึงอุปนิสัยของตนเอง อันมีความประหม่าเป็นลักษณะเด่นอีกด้วย

          ฮอบส์เป็นผู้คงแก่เรียน เขาแตกฉานในภาษากรีก และละตินตั้งแต่ยังเด็ก และได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดก่อนถึงเกณฑ์อายุ โดยศึกษาในคณะโมดลินฮอลล์ (Magdalen Hall) ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในคณะฮาร์ฟอร์ด (Hertford College) ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ในบรรดาสรรพวิชาที่เขาศึกษา วิชาหลักคือ วรรณคดีกรีกและโรมัน เมื่อจบการศึกษาในปี ๑๖๐๘ ฮอบส์ได้เข้าทำงานกับตระกูลแคเวนดิช (Cavendish) ซึ่งมีบารมีและอิทธิพลสูงในสังคมอังกฤษ โดยทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือ แก่กุลบุตรในตระกูลนี้รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไปตลอดชีวิตอันยาวนานถึง ๙๑ ปี 

          ช่วงที่ฮอบส์ศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น ตรงกับระยะที่ราชวงศ์สจ็วต (Stuart) ซึ่งมีพื้นเพจากสก็อตแลนด์ เริ่มเข้ามาปกครองอังกฤษ เหตุการณ์นี้ ส่งผลกระทบต่อการเมืองของประเทศอย่างมหาศาล เนื่องจากกษัตริย์ในราชวงศ์ดังกล่าว ทรงมุ่งมั่น ที่จะสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นในอังกฤษ โดยอ้างอิงถึงความเชื่อเรื่องเทวสิทธิ์ (Divine Right) ของกษัตริย์ซึ่งแพร่หลายอยู่ในยุโรปภาคพื้นทวีป อันมีหลักการว่า กษัตริย์รับสนองโองการจากพระผู้เป็นเจ้า จึงทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในทุกเรื่องเพียงผู้เดียว แนวคิดนี้ ขัดกับประเพณีการปกครองของอังกฤษที่มีมาช้านาน ซึ่งยึดหลักปฏิบัติว่า กษัตริย์ต้องบริหารราชการแผ่นดิน ร่วมกับรัฐสภา (Parliament) อันประกอบด้วย กลุ่มตัวแทนของขุนนาง และของสามัญชนอย่างใกล้ชิด 

ความพยายามของกษัตริย์ในราชวงศ์สจ็วต ที่จะบรรลุเป้าหมายของพระองค์ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงอยู่เนือง ๆ ระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์ กับฝ่ายนิยมรัฐสภา จนปะทุเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ (The English Civil War, ค.ศ. ๑๖๔๒-๑๖๔๙) สงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภา ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ แห่งราชวงศ์สจ็วต แล้วต่อมาได้สถาปนา การปกครองในลักษณะสาธารณรัฐกึ่งเผด็จการขึ้น เป็นระยะเวลา ๑๐ ปี โดยมีโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) เป็นประมุข หลังจากนั้นได้มีการรื้อฟื้นราชวงศ์สจ็วตขึ้นมาใหม่ ซึ่งปกครองประเทศ จวบจนเข้าสู่ช่วงปลายศตวรรษ รัฐสภาจึงก่อการปฏิวัติ ด้วยการลักลอบไปอัญเชิญกษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ มาแย่งชิงราชบัลลังก์จากราชวงศ์สจ็วต โดยเสนอเงื่อนไขแลกเปลี่ยนว่า กษัตริย์จะต้องยอมรับธรรมนูญปกครอง ที่ลดพระราชอำนาจลงอย่างมาก รวมทั้งเพิ่มอำนาจแก่รัฐสภา และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้นตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ฮอบส์ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ อยู่ในตระกูลแคเวนดิชในชนบทอันห่างไกล แต่เขาเฝ้าติดตามข่าวเหตุวิกฤตต่าง ๆ ของบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด ประวัติศาสตร์การเมืองอันวุ่นวายของอังกฤษในศตวรรษที่ ๑๗ นี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ฮอบส์คิดใคร่ครวญ เกี่ยวกับธรรมชาติของการเมืองการปกครอง และสาวลึกต่อไปถึง ธรรมชาติของมนุษย์ เขาแสดงทัศนะทางวิชาการออกมา ในช่วงที่บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ดังนั้น แม้จะมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหลายโดยตรง เขาย่อมตกเป็นเป้าของการมุ่งร้ายหมายขวัญ จากหลายฝ่ายอยู่นั่นเอง ทว่าบารมีของตระกูลแคเวนดิชอันยิ่งใหญ่ ก็ช่วยคุ้มกันภัยให้ฮอบส์ได้ดีพอสมควร 

          ฮอบส์ดำเนินชีวิตอันราบเรียบ ตามแบบฉบับผู้อุทิศตนให้กับวิชาความรู้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงชีวิตการทำงาน เขาได้เดินทางไปพำนักในยุโรปภาคพื้นทวีปหลายครั้งด้วยกัน  และมักจะเป็นครั้งละนาน ๆ โดย ๓ ครั้งแรก (ค.ศ. ๑๖๑๐-๑๕, ๑๖๒๙-๓๐ และ ๑๖๓๔-๓๖) เป็นการพาลูกศิษย์ไปท่องเที่ยว และทัศนศึกษา และตัวเขาเอง ก็ถือโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับนักปราชญ์สำคัญ ๆ ของยุโรปมากหน้าหลายตา (ในการเยือนยุโรปครั้งที่ ๓ ฮอบส์ได้เดินทางไปเยี่ยมกาลิเลโอ ซึ่งถูกจองจำอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ตามประกาศิตของศาลศาสนาด้วย) การได้สัมผัสบรรยากาศทางภูมิปัญญาในภาคพื้นทวีป กระตุ้นให้เขาสนใจคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญ ให้เขาพัฒนาแนวคิดวัตถุนิยมทางการเมืองขึ้นมา ในช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๖๔๐-๕๑ ฮอบส์ได้หลีกหนีความขัดแย้งในอังกฤษ ไปพำนักอย่างยาวนานในกรุงปารีส ณ ที่นั้น เขาได้สร้างสายสัมพันธ์กับนักคิด ในสกุลเหตุผลนิยม (rationalism) ของฝรั่งเศส และยังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญคนหนึ่ง ของ เดการ์ตส์ (Descartes) เจ้าตำรับแนวคิดในสกุลดังกล่าวอีกด้วย 

          คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ของยุโรป ได้ชื่อว่าเป็นยุคแห่งการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (The Age of Scientific Revolution) อันสืบเนื่องจาก การตื่นตัวขนานใหญ่ของภูมิปัญญาทางโลก ซึ่งหลับใหลมายาวนาน ด้วยเสียงกล่อมของบทสวด แม้ยังธำรงไว้ซึ่งศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่นักคิดในโลกตะวันตก ก็เริ่มผละออกจากคำอธิบายสรรพสิ่ง ด้วยปัจจัยทางจิตวิญญาณ หรือเจตจำนงที่มาจากอำนาจเหนือธรรมชาติ พวกเขาหันมามองโลก และจักรวาล ว่าแท้จริงแล้วดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของวัตถุสสาร ซึ่งมนุษย์สามารถทำความเข้าใจได้ด้วย การสังเกตข้อเท็จจริง และการคิดด้วยเหตุผล ทัศนะเช่นนี้เรียกในทางปรัชญาว่า        "วัตถุนิยม" (materialism) ในชั้นแรกเริ่มนั้น ทัศนะดังกล่าวแสดงออกในการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับจักรวาล โดยเฉพาะในด้านดาราศาสตร์ (คอเปอร์นิคัส, เคปเลอร์, กาลิเลโอ) ต่อมาจึงขยายมาสู่สรรพวัตถุในโลกของเรา ดังที่ปรากฏในงานบุกเบิกด้านฟิสิกส์ (นิวตัน, เดการ์ตส์) ส่วนฮอบส์นับเป็นคนแรก ที่นำทัศนะแบบวัตถุนิยม มาใช้ทำความเข้าใจมนุษย์และสังคม พร้อมไปกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ   ในสายตาของคนปัจจุบันอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรัชญาการเมืองของฮอบส์ มีความเป็นอนุรักษนิยม (conservatism) สูงมาก งานวิชาการชิ้นแรกของเขา ซึ่งตีพิมพ์ในปี ๑๖๒๙ คือ ผลงานแปลหนังสือ ว่าด้วยสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา เรื่อง The Peloponnesian War (สงครามแห่งเพโลพอนนีซัส) ของทูซีดิดิส (Thucydides) นักประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เป็นที่ทราบกันดีว่าหนังสือเล่มนี้ แฝงการวิพากษ์ระบอบประชาธิปไตย ในยุคทองของเอเธนส์ เมื่อหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล ว่าเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะผลประโยชน์แอบแฝง และการแก่งแย่งกัน ใช้คารมเล่นลิ้นหลอกลวงฝูงชน จนในที่สุดระบอบดังกล่าว ก็นำสังคมเอเธนส์ไปสู่ความหายนะ 

          หลังจากนี้ ผลงานค้นคว้าและข้อคิดเห็นของฮอบส์ ในเรื่องต่าง ๆ จะทยอยปรากฏออกมาอย่างไม่ขาดระยะ มีทั้งหนังสือด้านคณิตศาสตร์ เรขาคณิต ตลอดจนฟิสิกส์ (เช่น Tractatus Opticus หรือ ตำราวิชาแสง) และแน่นอนที่สุด ข้อเขียนอันมากมายด้านปรัชญาการเมือง เล่มที่เด่นเล่มแรกคือ Elements of Law (พื้นฐานกฎหมาย) ซึ่งในปี ๑๖๔๐ ฮอบส์พิมพ์แจกจ่ายในวงแคบ (และพิมพ์เผยแพร่อย่างจริงจัง ๑๐ ปีต่อมา) ตามด้วย De Cive (ว่าด้วยพลเมือง) ทว่าผลงานชิ้นเอกที่ถือกันว่าสมบูรณ์ที่สุด ก่อให้เกิดปฏิกิริยาร่วมสมัยรุนแรงที่สุด และทำให้ชื่อของฮอบส์ ติดอยู่ในความทรงจำของนักคิดรุ่นต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบันคือ Leviathan (ลีวายอะทัน) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ๑๖๕๑ ต่อจากนี้ไป ความคิดของฮอบส์ ก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องของการเมืองการปกครอง จนกระทั่งเข้าสู่บั้นปลายของชีวิต เขาจึงได้หวนกลับมาทำงานประเภทที่ยังความเจริญใจให้แก่เขามาก่อน นั่นคือ การแปลหนังสือโบราณ คราวนี้เขาแปล Odyssey (พิมพ์ปี ๑๖๗๓) และ Illiad (พิมพ์ปี ๑๖๗๖) ซึ่งถือเป็นสุดยอดวรรณกรรมอมตะของโฮเมอร์ ในปี ๑๖๗๙ ฮอบส์ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบในวัย ๙๑ ปี ีทิ้งผลงานไว้เป็นมรดกแก่โลกทั้งสิ้น ๔๒ เล่ม

 

ธรรมชาติมนุษย์ สัญญาประชาคม และอำนาจปกครอง

          หัวใจของหนังสือเรื่อง ลีวายอะทัน อยู่ที่การเสนอแนวคิดว่าด้วย "สัญญาประชาคม" (social contract)(คลิกอ่านเชิงอรรถ ๒) เพื่อตอบคำถามว่าสังคมมนุษย์ และรัฐก่อกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร อันที่จริง ศาสนจักรและอาณาจักรในสมัยนั้น มีคำตอบสำเร็จรูปสำหรับคำถามนี้แล้วว่า สังคมเกิดจากการสถาปนาโดยองค์พระผู้สร้าง ซึ่งประทานอำนาจของพระองค์แก่กษัตริย์ เพื่อให้ปกครองมนุษย์ แต่ฮอบส์ซึ่งไม่พอใจกับคำตอบแนวจิตนิยมนี้ ต้องการค้นหาคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ เขาจึงต้องเริ่มต้นด้วย การพิจารณาธรรมชาติของมนุษย์อย่างถ้วนถี่    เช่นเดียวกับนักคิดในแนววัตถุนิยมหลายคนในยุคนั้น ฮอบส์มองสรรพสิ่งในโลกว่า ล้วนดำเนินไปตามกลไกที่อาศัยแรงขับเคลื่อน (movement) ทางกายภาพ ซึ่งตัวมนุษย์ก็อยู่ในข่ายของกฎสากลดังกล่าว และมิใช่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับร่างกาย (แรงขับเคลื่อนจากการไหลเวียนของโลหิต) แต่ยังรวมถึงส่วนที่เรียกว่า "จิตใจ" (mind) อีกด้วย สำหรับฮอบส์ การรับรู้ด้วยผัสสะ และอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ เป็นการตอบสนองด้วยแรงขับเคลื่อนภายใน ต่อแรงกระทำจากภายนอก แรงขับเคลื่อนภายในนี้ ส่งทอดต่อไปยังสมอง ก่อเกิดเป็นความคิด (idea) และทิ้งร่องรอยไว้เป็นภาพ (image) ในความทรงจำ สิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความนึกคิด (thought) ความปรารถนา (desire) หรือเจตจำนง (will) จึงมิใช่อะไรอื่น นอกจากแรงขับเคลื่อนในสมองล้วน ๆ แรงขับเคลื่อนดังกล่าวนี้เอง ที่ไปกระตุ้นให้เกิดอากัปกิริยา การกระทำ และคำพูดต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งมีความพึงพอใจส่วนตนเป็นเป้าหมาย    ในความพยายามของฮอบส์ที่จะเข้าใจถึงธาตุแท้ของมนุษย์ ในขั้นต่อไปนั้น เขาได้ตั้งสมมุติฐานถึงสิ่งที่เรียกว่า "สภาพธรรมชาติ" (state of nature) ขึ้นมา ซึ่งหมายถึงสภาพที่เผ่าพันธุ์มนุษย์เคยดำรงอยู่ ก่อนหน้าที่จะมีการก่อตั้งสังคมใดๆ ขึ้น แม้ว่าภาวะดังกล่าว หากเคยมีอยู่จริง จะเป็นสิ่งที่เราไม่มีวันล่วงรู้ได้อีกแล้วก็ตาม แต่จินตนาการทางทฤษฎีนี้ ก็จำเป็นต่อการคิดพิจารณาว่า ถ้าปราศจากอารยธรรม มนุษย์จะอยู่ในสภาวะเช่นไร (จะว่าไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นถึงกับต้องสาวย้อนไปสู่สภาพธรรมชาติ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปอย่างของฮอบส์ เพียงเราพินิจดูมนุษย์ใน "สภาพอารยะ" ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ก็น่าจะได้ภาพที่ใกล้เคียงกันไม่น้อย) จากการสันนิษฐานดังกล่าว ฮอบส์พบว่ามนุษย์ในสภาพธรรมชาติ มิใช่สิ่งที่โสภาน่าชื่นชม หากกล่าวเปรียบด้วยภาษาแบบปัจจุบัน มนุษย์ก็เป็นเหมือนหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ ที่ถูกตั้งโปรแกรมให้มุ่งแสวงหาความพึงพอใจใส่ตนอย่างไม่มีขีดจำกัด มนุษย์จึงเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ต่างคนต่างมุ่งเอาเปรียบผู้อื่น บังคับให้ผู้อื่นทำตามใจตน และถือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ในสภาพธรรมชาติ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ จึงแสดงออกมาอย่างเต็มที่ ดังฮอบส์กล่าวว่า    "หากมนุษย์สองคนปรารถนาในสิ่งเดียวกัน ซึ่งไม่มีวิธีใดที่เขาทั้งสองจะแบ่งปันกันได้ เขาก็ย่อมกลายเป็นศัตรูกัน และในอันที่จะบรรลุเป้าหมายของแต่ละคน ซึ่งได้แก่การธำรงรักษาตน (their own conservation) เป็นหลัก และบางครั้งเพียงเพื่อความสุขสมอารมณ์หมายของตน (their delectation only) ทั้งคู่ก็จะเพียรพยายามทำลายล้าง หรือสยบซึ่งกันและกัน" (ข้อความแปลทั้งหมดในบทความนี้ ผู้เขียนแปลจาก Leviathan ฉบับของสำนักพิมพ์ Basil Blackwell, Oxford ไม่ระบุปีพิมพ์ มีแจ้งเพียงว่าได้แก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมดในฉบับพิมพ์ปี ๑๖๕๑ แล้ว)   ตามตรรกะของป่าดงดิบนี้ ย่อมไม่มีการแบ่งแยกใด ๆ ทั้งสิ้นว่าอะไรถูก อะไรผิด สิ่งใดเป็นธรรม สิ่งใดไม่เป็นธรรม หรือหากแม้นว่ามีการแยกแยะดังกล่าว ก็คงไม่มีเกณฑ์ที่ใช้เป็นมาตรฐานร่วมกันได้เลย ทั้งนี้เพราะ   "ตราบใดที่มนุษย์ยังดำรงอยู่ในสภาพธรรมชาติอย่างแท้จริง (ซึ่งก็คือภาวะการมุ่งทำลายล้างกัน) เขาก็จะใช้ความปรารถนาเฉพาะตนของเขา เป็นมาตรวัดว่าอะไรดี อะไรเลว"   การยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ เป็นเหตุให้เกิดการพิพาทกันในทุกๆ เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ และศักดิ์ศรี มนุษย์จะใช้กำลังแก่งแย่งชิงดี และเบียดเบียนกันอยู่ตลอดเวลา จนหาความสงบสุขมิได้ ความขัดแย้งอันไม่มีที่ยุติดังกล่าว จึงเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความหายนะของทุกคนร่วมกัน กล่าวคือ   "หากพฤติกรรมของมนุษย์ถูกชี้นำด้วยความคิดเห็นส่วนตน และความปรารถนาส่วนตนเพียงถ่ายเดียว พวกเขาจะไม่มีทางปกป้องคุ้มครองตนเอง จากศัตรูภายนอก หรือจากการเบียดเบียนกันเองได้เลย"   ในภาวะมิคสัญญีที่ "มนุษย์กลายเป็นหมาป่าสำหรับมนุษย์ด้วยกัน" (Homo homini lupus) นี้ มีเพียง "ความรักตัวกลัวตาย" (fear of death) เท่านั้น ที่ทำให้มนุษย์ได้คิด สำหรับฮอบส์แล้ว มนุษย์มิได้ต่างจากสัตว์ในแง่ที่มีจิตใจประเสริฐกว่า หากแต่มนุษย์เป็นจักรกลที่รู้จักคำนวณผลได้ผลเสีย จากการกระทำต่างๆ ของตน  นั่นคือ รู้จักคิดด้วยเหตุผลมากกว่าสัตว์อื่น มนุษย์จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะแสวงหาสันติภาพร่วมกัน มากกว่าที่จะเบียดเบียน ทำลายล้างกันอยู่เช่นนี้ ในความคิดดังกล่าว ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม แต่เปลี่ยนเป็น "ความเห็นแก่ตัวแบบยั่งยืน" เพราะกำกับไว้ด้วยสติปัญญา มิใช่เห็นแก่ตัวอย่างโง่เขลา เอาแต่ได้ จนในที่สุดไม่มีใครได้อะไรเลยอย่างแต่ก่อน

          ฮอบส์เชื่อว่าทางออกของปัญหาที่มนุษย์ค้นพบคือ การตกลงกันมอบอำนาจแก่คนกลาง ให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ และจัดระบบระเบียบของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสินใจก้าวออกจากสภาพธรรมชาติ มาสู่การก่อตั้งสังคมขึ้น ดังที่ฮอบส์กล่าวว่า

          "วิธีการเดียวที่จะสถาปนาอำนาจหนึ่งเดียวร่วมกัน (commom power) ในอันที่จะปกป้องพวกเขา จากการรุกรานของคนภายนอก และจากการเบียดเบียนกันเองภายใน และในอันที่จะประกันว่า พวกเขาจะสามารถประกอบสัมมาชีพ และเก็บเกี่ยวพืชผลจากแผ่นดิน เพื่อดำรงชีวิตอย่างพึงพอใจได้ ก็คือ มอบอำนาจ และกำลังทั้งหมดของแต่ละคน ให้แก่บุคคลเพียงคนเดียว (one man) หรือกลุ่มคนคณะเดียว (one assembly of men) ผู้จะสามารถลดทอนเจตจำนงอันหลากหลายของผู้คน ให้เหลือเพียงเจตจำนงหนึ่งเดียว (one will)" 

          บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากทุกคน ดังที่กล่าวมาก็คือ ผู้ปกครอง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อธิปัตย์ (sovereign) ซึ่งจะทำหน้าที่หลักในการวางกฎระเบียบ เพื่อแยกแยะว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด และบังคับใช้กฎระเบียบเหล่านั้น โดยมีอำนาจลงโทษผู้ฝ่าฝืน รวมทั้งวางนโยบายสำหรับกิจกรรมต่างๆ ของส่วนรวม สิ่งที่มนุษย์ได้รับตอบแทน จากการสละ "อำนาจ และกำลัง" ของตนให้แก่อธิบัตย์คือ ประชาสังคม (civil society) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สหไพบูลย์ (commonwealth) ซึ่งฮอบส์เชื่อว่าจะเป็นภาวะที่ช่วยบรรเทาการพิพาท ประกันความสงบสุข และพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น สำหรับรูปแบบของสหไพบูลย์นี้ ก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนระหว่างผู้ปกครอง กับผู้ถูกปกครอง ดังฮอบส์ได้แบ่งไว้ง่าย ๆ ดังนี้

          "เมื่ออธิปัตย์เป็นบุคคลคนเดียว สหไพบูลย์จะเป็นระบอบราชาธิปไตย (monarchy) เมื่ออธิปัตย์คือ ที่ประชุมของทุกคนที่มารวมกัน จะเป็นระบอบประชาธิปไตย (democracy) หรือสหไพบูลย์ปวงชน (popular commonwealth) หากอธิปัตย์ประกอบด้วยสมาชิกบางส่วนของสหไพบูลย์ ก็จะเป็นระบอบอภิชนาธิปไตย (aristocracy)"  แต่ไม่ว่าสหไพบูลย์จะเป็นรูปแบบใด (ตัวฮอบส์นั้นแสดงความพอใจ ในระบอบราชาธิปไตยมากที่สุด) เขาก็เน้นย้ำอย่างมากว่า อำนาจปกครองของอธิปัตย์มีที่มาจากการตกลงทำสัญญากันเอง ระหว่างผู้อยู่ใต้ปกครอง มิได้มาจากมหิทธานุภาพเหนือธรรมชาติใด ๆ ทั้งสิ้น ดังเขาบรรยายรายละเอียดของการทำสัญญาว่า   "การกระทำดังกล่าวมิได้เป็นเพียงการตกลงยินยอม (consent) แต่เป็นการหลอมรวมทุกคนไว้เป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง (a real unity of them all) ด้วยการที่ ทุกคนทำสัญญา (covenant) ต่อกัน เสมือนหนึ่งทุกคนกล่าวแก่ทุกคนว่า 'ข้าพเจ้าได้ยินยอมมอบสิทธิในการปกครองตนเอง ให้แก่บุคคลผู้นี้ หรือแก่บุคคลคณะนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ท่านเองก็ต้องยินยอมมอบสิทธิของท่านแก่เขาเช่นกัน' " 

          นี่คือการยืนยันว่า อำนาจปกครองเป็นผลผลิตของมนุษย์ รัฐเป็นองค์กรเทียม ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นจากการตกลงร่วมกัน คำยืนยันนี้ดูเหมือนสามารถส่งผลสืบเนื่องต่อไปได้อีก ในหลายทิศทาง แต่ฮอบส์กลับเลือกใช้ตรรกะที่จะดึงข้อสรุปในขั้นต่อไปว่า แหล่งกำเนิดจากเบื้องล่างของอำนาจปกครองนี้เอง เป็นปัจจัยสนับสนุนให้อำนาจดังกล่าวสมบูรณ์เด็ดขาด(เพราะมีความชอบธรรม เสียยิ่งกว่าอำนาจที่มาจากเทวโองการ) ดังนั้น "ผู้ใต้ปกครองจะต้องเคารพเชื่อฟังอธิปัตย์ในทุกๆ สิ่ง โดยมีเงื่อนไขว่า การเคารพเชื่อฟังนั้น ไม่ขัดกับกฎของพระผู้เป็นเจ้า" และต่อข้อโต้แย้งที่อาจจะเกิดขึ้น (ดังที่ผู้เขียนบทความเอง ก็คิดโต้แย้งทฤษฎีสัญญาประชาคมทุกรูปแบบมาโดยตลอด) ในทำนองว่า เมื่อตอนเราลืมตาขึ้นมาดูโลกในสังคม เรามิได้ไปทำสัญญาตกลงกับผู้ใด ว่าจะยอมรับอำนาจของอธิปัตย์ หรือแม้เมื่อบรรลุนิติภาวะ ก็มิได้รับการสอบถามความสมัครใจใด ๆ ต่อข้อโต้แย้งที่ว่ามานี้ ฮอบส์ก็ได้เตรียมคำตอบเอาไว้แล้วว่า "หากบุคคลผู้นั้นใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของอธิปัตย์อย่างเปิดเผย ถือได้ว่าเขายอมรับเงื่อนไข ของการถูกปกครองนั้น" ซึ่งในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนบทความนี้ เห็นว่า เป็นการอนุมานที่หละหลวมอยู่มากทีเดียว อันที่จริงแล้ว ในสายตาของฮอบส์ สถานะของอธิปัตย์ซึ่งมาจากสัญญาประชาคมก็คือ มรรตัยเทพ (mortal god) ผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ และฮอบส์ยังนำเอาชื่อของปลายักษ์เจ้าสมุทร ในตำนานของพวกฟีนิเชียน ตามที่ปรากฏใน       พระคัมภีร์ไบเบิล นั่นคือ Leviathan มาใช้เรียกอธิปัตย์อีกด้วย การที่ฮอบส์เสนออำนาจเด็ดขาดให้แก่อธิปัตย์นั้น น่าจะเกิดจากทัศนะมองมนุษย์ในแง่ร้ายอย่างสุดขั้ว กล่าวคือ เขาไม่เชื่อถือในความมุ่งมั่นจริงจังของมนุษย์ ที่มาทำสัญญากัน ความโลเลอาจทำให้มนุษย์ผิดสัญญาได้ทุกเมื่อ ดังที่ฮอบส์กล่าวว่า "สัญญาที่ไม่มีคมดาบคอยกำกับ ก็เป็นเพียงลมปาก" (Covenants, without the Sword, are but words.)     เราลองมาดูกันว่า ฮอบส์เสนออำนาจล้นฟ้าแก่อธิปัตย์อย่างไร 

          "เนื่องจากเป้าหมายของสถาบันดังกล่าวคือ ความสงบสุข และความปลอดภัยของทุกคน และเนื่องจากผู้มีสิทธิธรรมในเป้าหมายดังกล่าว (right to the end) ย่อมต้องมีสิทธิธรรมในวิถีทาง (right to the means) ที่จะใช้ให้บรรลุเป้าหมายด้วย ดังนั้น บุคคล หรือคณะบุคคลที่ถืออำนาจปกครองอยู่ ย่อมมีอำนาจตัดสินใจว่า จะใช้วิธีการใด เพื่อสร้างความสงบสุข และปลอดภัย และเพื่อขจัดอุปสรรค และภยันตรายทั้งปวง และย่อมสามารถกระทำสิ่งใดก็ตาม ที่เขาคิดว่าจำเป็นต้องกระทำเพื่อการดังกล่าวได้"  พอจะเห็นได้ว่า ณ จุดนี้ ทฤษฎีของฮอบส์ เบนออกจากการวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ไปสู่การแสดงทัศนะส่วนตัวทางการเมืองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตรรกะเกี่ยวกับ "เป้าหมาย" และ "วิธีการ" ที่ฮอบส์ใช้ดึงข้อสรุปออกมานั้น ทำให้เราแว่วยินสำเนียงแบบอำนาจนิยม เหมือนในประโยคอันโด่งดังของมาเคียเวลลี (Machiavelli) นักคิดในยุคเรอเนสซองซ์ ที่ว่า "เป้าหมายย่อมให้ความชอบธรรมแก่วิธีการที่ใช้" (The end justifies the means) ซึ่งปรากฏในตำราการปกครอง อันเป็นที่นิยมในหมู่กษัตริย์แนวสมบูรณาญาสิทธิราช ในยุโรปภาคพื้นทวีปมาจนถึงเผด็จการยุคปัจจุบัน  หนังสือเรื่อง ลีวายอะทัน ของฮอบส์นี้ตีพิมพ์ออกมาในปี ๑๖๕๑ ซึ่งต้องนับว่าผิดกาละเทศะเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเมืองอังกฤษขณะนั้น อยู่ในช่วงวิกฤตสุดขีด นั่นคือ การสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ แห่งราชวงศ์สจ็วตเพิ่งจะผ่านพ้นไป และฝ่ายรัฐสภาที่ได้รับชัยชนะ ในสงครามกลางเมืองอังกฤษ ก็ได้ยึดอำนาจปกครองประเทศ ฝ่ายรัฐสภาจึงไม่สนใจมองเจตนา ต่อต้านทฤษฎีเทวสิทธิราช ที่อยู่ในหนังสือ หากสนใจแต่เพียงส่วนที่สนับสนุนอำนาจกษัตริย์ ส่วนฝ่ายของกษัตริย์ก็ไม่นิยมชมชอบฮอบส์ เพราะถือว่านักปราชญ์ผู้นี้ มาบ่อนเซาะอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายตน ด้วยแนวคิดแบบวัตถุนิยม ฮอบส์จึงตกอยู่ในสถานการณ์ "หว่างเขาควาย" อย่างช่วยไม่ได้ และผู้อ่านในสมัยของเขาย่อมอดไม่ได้ ที่จะอ่านหนังสือของเขาด้วยอคติ ตราบจนวิกฤตต่าง ๆ ผ่านพ้นไปแล้ว คุณค่าทางวิชาการของหนังสือนี้ ในแง่ที่เป็นแรงกระตุ้นให้คิดต่อ (ไม่ว่าจะต่อเติมหรือต่อต้าน) จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น    สำหรับการสานต่อแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมของฮอบส์นั้น กรณีที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ รุสโซ (Rousseau) ซึ่งนำงานของฮอบส์มาคิดต่อได้อย่างมีสีสันเร้าใจ จนคนทั้งหลายมักเข้าใจกันไปว่า เขาเป็นต้นคิดเรื่องสัญญาประชาคมเสียเอง

          รุสโซยืนยันคล้ายคลึงกับฮอบส์ว่า สังคมมนุษย์เกิดขึ้นจากการทำสัญญาตกลงร่วมกัน ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ ทว่ารุสโซมองการเปลี่ยนสภาพของมนุษย์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวในทิศทางกลับกันกับ ฮอบส์ กล่าวคือ สำหรับรุสโซ ความชั่วร้ายต่าง ๆ นานาของมนุษย์นั้น เกิดขึ้นภายหลังสัญญาประชาคม และเป็นผลโดยตรง จากการที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันในสังคมนั่นเอง รุสโซจินตนาการกลับด้านกับฮอบส์ว่า ในสภาพธรรมชาติ มนุษย์จะมีอุปนิสัยเรียบง่าย สมถะ รักสงบ แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกัน ตรรกะของสังคม จะสอนให้มนุษย์แก่งแย่งชิงดี และเอารัดเอาเปรียบกัน    สิ่งที่ทำให้เราต้องยอมรับว่า รุสโซก้าวหน้ากว่าฮอบส์ก็คือ รุสโซถือว่าการทำสัญญาประชาคมครั้งที่ผ่านมานั้น เป็นความผิดพลาด เนื่องเพราะเป็นการทำสัญญาระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง และยังเป็นการมอบอำนาจให้แก่อธิปัตย์อย่างถาวร ชนิดที่เรียกคืนไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเลวร้ายในสังคมอย่างที่เราเห็น ๆ กัน รุสโซจึงเสนอให้มนุษย์กลับไปทำสัญญาประชาคมกันใหม่ โดยในคราวนี้ มนุษย์จะต้องทำสัญญามิใช่ระหว่างกันเอง หากแต่ละคนจะต้องทำสัญญากับ "เจตจำนงร่วมกัน" (general will) ซึ่งทอนมาจากเจตจำนงของแต่ละคน เพื่อให้คนทั้งหมดมีสถานะ เป็นทั้งผู้ถูกปกครอง และผู้ปกครองพร้อมกันไป ระบบของรุสโซจึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า เมื่อมีเหตุอันควร ผู้ถูกปกครองย่อมมีสิทธิโต้แย้งอำนาจปกครอง (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นของตนเอง) ได้  แม้ผู้เขียนบทความนี้จะไม่เคยเชื่อว่า รัฐเกิดขึ้นจากการตกลงกันอย่างยินยอมพร้อมใจของผู้คน และค่อนข้างคล้อยตามคาร์ล มาร์กซ์ว่า รัฐเกิดจากการที่คนกลุ่มน้อย คิดค้นวิธีการที่จะมอมเมา และเอาเปรียบคนกลุ่มใหญ่ เพื่อประโยชน์ของตนเสียมากกว่า แต่ผู้เขียนก็เห็นว่า แนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมเป็นจินตนาการทางทฤษฎี ที่น่าสนใจในเชิงภูมิปัญญา และในทางปฏิบัติ ภาพมายาทางความคิดนี้ ก็อาจจุดประกาย ให้แวบเห็นทางออกจากวังวนของปัญหา การเมืองสมัยใหม่ได้บ้าง แม้จะเห็นอย่างสลัวรางก็ตามที

 

 

แนวคิดเกี่ยวกับการเมือง  ฮอบส์มีแนวคิดดังนี้

          ๑.     ในสภาวะธรรมชาติสังคมมนุษย์ไม่มีกฎเกณฑ์ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพ มีอิสระเต็มที่ และมีความเท่าเทียมกันภายในธรรมชาติ แต่ภายในสภาวะธรรมชาตินั้นให้มนุษย์ดิ้นรนต่อสู้ เพราะธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลง มีภัยพิบัติ อุทกภัย ความแห้งแล้ง ทรัพยากรมีน้อย มนุษย์ต้องแย่งชิง รบราฆ่าฟัน ต้องอยู่ภายใต้สภาพที่โหดร้าย

          ๒.  มนุษย์ต้องมีชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและแร้นแค้น ทุกข์ยากและอายุสั้น

          ๓.  มนุษย์ต้องการความปลอดภัย

          ๔.  เนื่องจากมนุษย์มีเหตุผลจึงแสวงหาความปลอดภัยด้วยการทำ “สัญญาประชาคม” ร่วมกัน

          ๕.  ประชาชนมอบสิทธิตามธรรมชาติให้แก่ “องค์อธิปัตย์” (Leviathan) หมายถึงกษัตริย์หรือผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุด

          ๖.  องค์อธิปัตย์เป็นผู้ทรงอำนาจอธิปไตยแต่เพียงผู้เดียว เพื่อจะได้อำนาจนั้นในการปกป้องให้ประชาชนปลอดภัย 

          ๗.  ประชาชนทำสัญญากับประชาชนและมอบอำนาจให้กับองค์อธิปัตย์ ประชาชนมิได้ทำสัญญากับองค์อธิปัตย์ 

          ๘.  ประชาชน ไม่มีสิทธิ์โค่นล้มองค์อธิปัตย์ ตราบเท่าที่องค์อธิปัตย์ใช้อำนาจเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน

          ๙.  ในกรณีที่องค์อธิปัตย์มิได้ใช้อำนาจเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ให้ประชาชนโค่นล้มอำนาจได้

 

          ฮอบส์  สรุปว่าอำนาจสูงสุดยังคงเป็นของปวงชน ถ้าผู้ปกครองนั้นไม่ได้ใช้อำนาจในการรักษาความปลอดภัยกับปวงชน กล่าวคือเมื่อใดผู้ปกครองเปลี่ยนสภาพจากราชาปราชญ์ เป็นทรราชย์ ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเอง ให้ประชาชนลุกขึ้นมาโค่นล้มองค์อธิปัตย์ได้ แต่ในความเป็นจริง หากองค์อธิปัตย์เปลี่ยนจากราชาปราชญ์ เป็นทรราชย์ ย่อมต้องมีกองกำลังไว้ปกป้องตัวเองจำนวนมาก และเป็นการยากที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยมือเปล่าได้ ดังนั้นแนวคิดของฮอบส์ จึงยังไม่ชัดเจนหลายประการ

 

 

 

..............................................................

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จอห์น  ล๊อค (John  Locke, ค.ศ.๑๖๓๒ – ๑๗๐๔ )

 

          ชาวอังกฤษ นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่อง Trust ซึ่งมีอิทธิพลต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตยมาก และถูกนำไปใช้ในคำประกาศเอกราชหรือหลักการปกครองของสหรัฐฯ เรียกว่า Pure Locke เพราะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ Locke มาก มีแนวความคิดที่สำคัญ ดังนี้

          ๑.  สภาวะธรรมชาติ เป็นสภาวะทางธรรมชาติโดยสมบูรณ์ เป็นสภาวะแห่งความเสมอภาค เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ หรือกติกาที่จะมากำหนด หรือจำกัดเสรีภาพ

          ๒.  สภาวะธรรมชาติ  มีข้อบกพร่อง    ประการ คือ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีตุลาการ ไม่มีอำนาจบริหาร

          ๓.  มนุษย์ต้องได้รับความยุติธรรมในการใช้สิทธิทางธรรมชาติ Locke จึงเสนอให้ประชาชนทำสัญญาประชาคมร่วมกัน

          ๔.  โดยยอมสละเสรีภาพทางธรรมชาติบางประการ เพื่อสร้างประชาคมการเมืองที่สามารถใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนอย่างเสมอภาค

          ๕.  ประชาคมการเมืองที่ตั้งขึ้น มีลักษณะเหมือน “ทรัสต์“ หรือบริษัทผู้ถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นมีอำนาจถอดถอนผู้บริหารชุดนี้ออกได้ และเลือกตั้งชุดใหม่เข้าไปบริหารแทนด้วยหลักการนี้ ให้ประชาคมการเมืองมีลักษณะเหมือน Trust คือ ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ปกครองโดยแบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละเขตเป็นผู้เลือกผู้แทนเข้ามา และแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยทั้ง ๓ ฝ่ายเป็นอิสระจากกัน และให้นิติบัญญัติมีอำนาจสูงสุด (Supreme Power) ฝ่ายบริหาร ต้อง บริหารตามที่กฎหมายกำหนด

 

สิ่งที่ควรรู้ :   * พระราชบัญญัติ (พรบ.)  เป็น กฎหมายที่ต้องเสนอผ่านกระบวนการของการบัญญัติกฎหมายทั้งหมด มีการ   อภิปรายตามวาระ ก่อนในหลวงลงพระปรมาภิไธย จนมีผลบังคับใช้

                 * พระราชกำหนด (พรก.)  เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายได้ในขณะที่สภาปิดสมัยประชุม  และมีเรื่องด่วน ๔ ประการ เช่น ภัยพิบัติต่อประเทศ,วิกฤตที่กระเทือนสภาวะเศรษฐกิจ, ภัยต่อความมั่นคงของ ประเทศ, ความเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการเงินของประเทศ (ดูเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ) รัฐบาลจึงสามารถออกพระราช กำหนดได้ และมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เช่น พรก. สัญญานสื่อโทรคมนาคม หรือมือถือ แต่ทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อสภาเป็นวาระแรก แต่ห้ามสภาอภิปราย ทำได้อย่างเดียว คือ ลงมติว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ในกรณีรัฐบาลปัจจุบันมีเสียงข้างมาก พระราชกำหนดก็จะผ่าน แต่หากลงมติไม่ผ่านให้ พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ไม่มีผลย้อนหลังในกิจกรรมที่ได้บังคับใช้ไปแล้ว

                * พระราชกฤษฎีกา : มีกฎหมายพระราชบัญญัติบอกไว้ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ในกรณีที่จะตั้งหน่วยงานราชการใหม่ หรือ การยุบหน่วยงานที่มีอยู่ ให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา มีกฎหมายแม่บังคับอยู่ คือ พระราชกำหนด เป็น กฎหมายลูก ที่ต้องอ้างอิงกฎหมายแม่  กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็น Supreme Power ไม่ได้หมายความว่า จะมีอำนาจเหนือประชาชน เพราะ Locke ให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หากฝ่ายนิติบัญญัติ บัญญัติกฎหมายมาไม่ถูกต้อง และประชาชนต้องการให้เปลี่ยน และรัฐบาลไม่ยอมแก้ไข ประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอน หรือไม่เลือกตั้งเข้ามาอีกสมัยหน้า และถ้าถอดถอนแล้วให้เลือกผู้แทนเข้ามาใหม่ จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของ Lock เป็นรูปธรรม สามารถปฏิบัติได้ชัดเจน จึงมีอิทธิพลต่อระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันมาก

 

          ๖.  Locke แยกให้เห็นว่ารัฐเป็นเป็นเรื่องส่วนรวม และศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ในอดีตยุคหนึ่งของตะวันตกศาสนจักรยิ่งใหญ่มาก ใครจะเป็นกษัตริย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากศาสนจักร Locke เห็นว่าทั้งศาสนจักร และอาณาจักรไม่ควรแทรกแซงกันและกัน ศาสนาเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล แต่ในเรื่องของรัฐหรือการเมืองนั้น Locke เห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม

          *  การกำหนดให้ประชาชนต้องไปเลือกตั้ง ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่,

ไม่เป็น เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของประชาชน ที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

          *  โดยปกติ รัฐมีการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล เช่น การเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ การบังคับให้เสียภาษี การเกณฑ์ทหาร จึงจะเห็นได้ว่าเสรีภาพไม่เหลืออยู่ในสังคมแล้ว และเสรีภาพมากับความรับผิดชอบ เช่น ต้องไปเกณฑ์ทหารเพราะ เราต้องปกป้องประเทศ ร่วมกัน เป็นหน้าที่ ที่ต้องสละชีพเพื่อชาติ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รุสโซ (ค.ศ.๑๗๑๒-๑๗๗๘) Jean Jacgues Rousseau

 

          ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาในเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เป็นนักปราชญ์ที่เขียนเรื่อง Social Contract ที่โด่งดังมาก และมีแนวความคิดที่สำคัญ ดังนี้

          ๑.  มนุษย์เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพ (Man is born free) แต่โดยธรรมชาติมนุษย์มีความแตกต่าง จึงต้องมาดูว่าทำอย่างไรจึงจะมีเสรีภาพโดยเท่าเทียมกัน

          ๒.  ธรรมของผู้มีอำนาจ อำนาจย่อมไม่ก่อให้เกิดธรรม ยกเว้นผู้ใช้อำนาจจะใช้อำนาจโดยชอบธรรมเท่านั้น

          ๓.  การเป็นทาส (Slavery)  ผู้ใดยอมรับความเป็นทาสผู้นั้นเห็นว่าทาสไม่ใช่มนุษย์ เพราะทาสไม่มีเสรีภาพ 

          ๔.  สัญญาประชาคม รุสโซเสนอให้ประชาชน ทำสัญญาประชาคมร่วมกัน เพื่อสร้างประชาคมการเมืองขึ้น และใช้เป็นหลักประกันให้ประชาชนมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน

          ๕.  ผู้ทรงอำนาจอธิปไตย (The Sovereign) ประชาชนประชุมร่วมกันในฐานะผู้ทรงอำนาจอธิปไตยเพื่อทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย ด้วยหลักการที่ว่าชนชั้นใดบัญญัติกฎหมายก็เพื่อประโยชน์ประชาชนนั้น     รุสโซไม่เห็นด้วยกับการโอนอำนาจไปให้ผู้หนึ่งผู้ใด เพราะเห็นว่าอำนาจอธิไตยควรเป็นของประชาชนเท่านั้น

          ๖.  ประชาชนทำหน้าที่เป็นพลเมืองในการปฏิบัติตามกฎหมาย

          ๗.  เจตจำนงทั่วไป (The General Will) ในฐานะผู้ทรงอำนาจอธิปไตย ประชาชนจะต้องบัญญัติกฎหมาย ให้ตอบสนองเจตจำนงทั่วไปของประชาชน ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย

          ๘.  การเลือกผู้แทนราษฎร รุสโซเห็นว่า การเลือกผู้แทนราษฎร คือ จุดเริ่มต้นของอวสานแห่งเสรีภาพของเสรีชน รุสโซไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้แทน เพราะในไม่ช้าตัวแทนจะช่วงชิงอำนาจไปจากประชาชน ในสแกนดิเนเวีย ประชาชนเห็นว่าป่าไม้ควรถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ โดยมีเงื่อนไขว่าใช้แล้วต้องไม่ให้เกิดความสูญเสีย มีมาตรการปลูกทดแทนที่เข็มงวดและมีประสิทธิภาพสูงมาก ไม่เหมือนประเทศไทย ที่มีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้

 

 

 

 

 

 

มองเตสกิเออ  (ค.ศ. ๑๖๘๙ - ๑๗๕๕)  Montesquieu

 

          นักกฎหมายและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส  ผู้เป็นต้นตำรับของ ทฤษฎี การแบ่งอำนาจและคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหาร  และฝ่ายตุลาการ  เพื่อมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป  ซึ่งจะนำไปสู่การใช้อำนาจแบบกดขี่ได้

          มองเตสกิเออ  เป็นลูกขุนนาง  ได้เรียนวิชาคลาสสิกและวิชากฎหมาย  และจบมาทำงานเป็นผู้พิพากษา  แต่เป็นคนชอบการอ่านและการเขียนและท่องเที่ยวหาความรู้  เขาเขียนหนังสือเชิงสารคดี  และประวัติศาสตริมาก่อนที่จะเขียนหนังสือขนาดมหึมาเรื่อง  เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย  ซึ่งจริงแล้วเป็นการวิเคราะห์เรื่องการเมืองการปกครองมากกว่า

          หนังสือเล่มนี้ออกมาในปี ๑๗๔๘  และเป็นหนังสือที่นิยมอ่านกันอย่างแพร่หลาย  แปลออกมาหลายภาษาและพิมพ์หลายครั้ง  ตอนที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมากที่สุดคือ  ตอนที่ ๑๑  เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพทางการเมืองในระบบอบรัฐธรรมนูญ

          มองเตสกิเออเห็นว่า  เสรีภาพที่คนเราสามารถจะทำในสิ่งที่เราพึงต้องการ  และไม่บังคับให้กระทำในสิ่งที่เราไม่พึงต้องการ  จะต้องมีกฎหมายเป็นคนกลางมากำหนด  ว่าประชาชนจะทำอะไรได้แค่ไหนอย่างไร  เพราะถ้าให้ประชาชนมีอำนาจที่จะทำในทุกสิ่งที่เขาต้องการได้  เสรีภาพ  ของคนหนึ่งก็อาจจะไปรบกวนเสรีภาพของประชาชนคนอื่นได้

          เสรีภาพที่ว่านี้อาจจะมีได้ในระบอบการปกครองแบบกษัตริย์หรือสาธารณรัฐก็ได้  แต่ไม่อาจมีได้ในระบอบทรราชย์  ซึ่งเขาเห็นจากตัวอย่างของพวกเตริกและรุสเซียในสมัยนั้นว่าเป็นรับอบที่เลวร้ายที่สุด  และไม่เป็นธรรมชาติ  เพราะปกครองโดยใช้อำนาจให้ประชาชนหวาดกลัว

          มองเตสกิเออเป็นนักคิดเสรีนิยม  ที่นิยมระบบอบอภิชนาธิปไตยแบบเสรีนิยมของอังกฤษในขณะนั้นซึ่งเขาเห็นว่าเป็นระบอบที่มีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายกษัตริย์  ขุนนาง  และประชาชน  ได้ดีกว่าระบอบอื่น  เขาเสนอว่า  อำนาจที่สำคัญ ๓ อย่าง  คือ  อำนาจออกกฎหมาย  อำนาจบริหารเกี่ยวกับกิจการสาธารณะ  และอำนาจตัดสินอาชญากรรมหรือข้อพิพาทของเอกชน  ไม่ควรอยู่ในมือของคนคนเดียว  หรือองค์คณะบุคคลเดียวกัน  เพราะจะนำสู่อำนาจเผด็จการแบบทรราชย์  และประชาชนไม่อาจมีเสรีภาพได้  เขายอมรับระบอบกษัตริย์ว่ายังอาจมีเสรีภาพอยู่ได้  เพราะแม้ราชอาณาจักรส่วนใหญ่ในยุโรปจะรวบอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารไว้  แต่ก็ยังปล่อยให้มีคณะบุคคลอื่นเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

          จริงๆ แล้ว  มองเตสกิเออ ไม่ได้เสนอให้มีการแบ่งแยก    อำนาจ  อย่างเด็ดขาด อย่างที่มีการตีความหมายขยายความกันในภายหลัง  เขาเพียงแต่ต้องการเห็นความประสานกลมกลืนและการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสามองค์กร  คือ  กษัตริย์  ขุนนาง  และประชาชน  (ผ่านรัฐสภา) ผู้ใช้อำนาจสูงสุดร่วมกันและอย่างแยกไม่ได้  เขาให้ความสำคัญกับขุนนาง  เช่นควรมีสภาขุนนางที่มีอำนาจออกและยับยั้งกฎหมาย   ร่วมกับสภาที่มาจากการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชน  โดยเขาเห็นว่าผู้แทนควรเป็นฝ่ายนิติบัญญัติด้านเดียว  รวมทั้งการออกเสียงลงมติเรื่องงบประมาณประจำปี  และอนุมัติกองทุนถาวรประจำปี แต่ไม่ควรเข้ามาใช้อำนาจบริหาร  เพราะพวกเขาไม่มีความสามารถที่จะทำได้ดี  เหมือนคณะเสนาบดี  ที่มาจากการเลือกของกษัตริย์

          ส่วนกษัตริย์นั้นไม่ควรมีอำนาจออกกฎหมาย  แต่มีอำนาจยับยั้ง  เพื่อปกป้องพระองค์ไม่ให้ต้องถูกออกจากอำนาจภายในไม่ช้า  รวมทั้งอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้  อย่างไรก็ตาม  ฝ่ายสภาหรือนิติบัญญัติยังมีอำนาจตรวจสอบว่ากฎหมายที่ออกไปมีการบังคับใช้อย่างไร  โดยสามารถกล่าวหาและเอาผิดกับที่ปรึกษากษัตริย์หรือเสนาบดีผู้รับผิดชอบการบริหารแทนกษัตริย์ได้  เป็นการถ่วงดุลฝ่ายบริหาร

          แนวคิดของมองเตสกิเออ  มีอิทธิพลต่อการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐและประเทศอื่นๆในสมัยต่อมา

          เสรีภาพทางการเมืองในพลเมืองคนหนึ่งคือความสงบทางจิตใจซึ่งมาจากการที่คนคนนั้น  มีความมั่นใจในความปลอดภัยของเขา, และเพื่อที่จะให้พลเมืองมีเสรีภาพดังกล่าวนี้  รัฐบาลต้องบริหารประเทศชนิดที่พลเมืองคนหนึ่ง  ไม่ควรหวาดกลัวพลเมืองคนอื่น

 

……………………………………….

 

 

อิมนานูเอล  คานท์ (ค.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๘๐๔) Immanuel Kant

 

          นักปรัชญาเชิงวิพากษ์ชาวเยอรมัน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองต่างจังหวัดที่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย  และผลิตงานชิ้นสำคัญๆหลังจากอายุ ๕๗ ปี  เขาผลิตงานอย่างต่อเนื่องจนเสียชีวิตเมื่ออายุ ๘๐ ปี และได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่คนแรกนับจากยุคกลาง  เพราะเขาเป็นนักคิดริเริ่มที่ไม่เหมือนใคร  เขาคือผู้พยายามสังเคราะห์  คติเหตุผลนิยม  (Rationalism)  และประจักษ์นิยม (Empiricism) ซึ่งดต้แย้งกันอยู่เข้าด้วยกัน  และพยายามวางรากฐานด้านเหตุผลให้เข้ากับ

จริยศาสตร์  และสุนทรียศาสตร์  และสร้างมุมมองใหม่ให้กับญาณวิทยาหรือทฤษฎีการเรียนรู้

          ในด้านปรัชญาสังคม  คานท์เห็นว่าคนเราอาจตระหนักเรื่องสิทธิ หรือหน้าที่ได้โดยการคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์เอง  แต่มนุษย์มีเหตุผล  ซึ่งต่างจากสัตว์อื่น  การประพฤติปฏิบัติของมนุษย์จึงควรถูกกำหนดโดยกฎแห่งเหตุผลคือ  การหลีกเลี่ยงการขัดแย้งกันเองระหว่างความคิดและการกระทำ  และปฏิบัติตัวให้อยู่ในกฎซึ่งทำให้เป็นกฎสากล  ที่ใช้สำหรับทุกคน เช่นเราควรพูดจริง  มากกว่าพูดโกหกเพราะถ้าเรายอมรับให้การโกหกเป็นสากล  จะไม่มีใครเชื่อถือไว้วางใจใครอีกต่อไป

          คานท์สนับสนุนการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย  และไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดตำแหน่งทางการเมืองโดยสายเลือด  แต่เขาก็มองว่าระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมีประโยชน์อยู่มากและที่ใดยังมีพวกขุนนางอยู่ ก็ควรให้พวกเขามีสิทธิอยู่ต่อไป  แต่กษัตริย์ไม่ควรแต่งตั้งขุนนางใหม่อีก

          คานท์ผู้มีแนวคิดแบบโลกนิยมเป็นผู้เสนอให้ประเทศต่างๆร่วมมือกันจัดตั้ง  สันนิบาตประชาชาติ  เพื่อกำหนดกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นธรรมชาติและมีเหตุผล  เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกโดยส่วนรวม

          “ศีลธรรมจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องหลักในการทำให้เรามีความสุข  แต่เป็นเรื่องว่า  เราจะทำตัวให้มีคุณค่าเหมาะสมกับ  การมีความสุขได้อย่างไร”

          “มี ๒ สิ่งที่ทำให้จิตใจของข้าพเจ้าพิศวงงงงวยเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ...ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาวที่อยู่เหนือข้าพเจ้าไป  และกฎของศีลธรรมภายในตัวข้าพเจ้า”

 

 

………………………………………

 

ยัง ยาคส์  รุสโซ (ค.ศ. ๑๗๑๒ - ๑๗๗๘) Jean – Jacques  Rousseau

 

          เป็นชาวสวิส  เกิดในเจนีวาสมัยที่เป็นรัฐอิสระ  มาจากครอบครัวยากจนที่แม่เสียชีวิตตั้งแต่เขาเกิดและมีพ่อที่ใช้ชีวิตแบบไร้จุดหมาย  แต่ยังดีที่สอนให้เขาอ่านออกเขียนได้  เขาได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการน้อยมาก  ต่างจากนักปรัชญาคนสำคัญอื่นๆ  แต่นี้ก็เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขามีความคิดที่เป็นอิสระ แทนที่จะคิดตามแนวคิดรวบยอดของคนอื่นๆ  รุสโซเรียนรู้จากชีวิตที่โหดร้ายที่ถูกผลักไสให้ไปทำงานเป็นลูกมือคนนั้นคนนี้  ต้องระเหเร่ร่อนไปทำงานหลายชนิดในหลายประเทศ  มีลูกนอกสมรสกับเมียผู้ทำงานเป็นสาวรับใช้ที่ไร้การศึกษา ๕ คน เขมุ่งไปฝรั่งเศสโดยหวังจะสร้างชื่อเสียงทางดนตรีที่เขาได้พบดิเดโรต์  และกลุ่มนักเขียนสารานุกรมคนอื่นๆและได้รับคำชวนให้ไปเขียนเรื่องดนตรี  แต่ต่อมาจะเป็นงานเขียนความเรียงร้อยแก้วที่สร้างชื่อเสียงให้เขา

          รุสโซเริ่มเขียนความเรียง  ๒ เรื่อง Discpurse  on Sciences and  the Arts (๑๗๕๐) เป็นเรียงความที่เขาส่งประกวดและได้รางวัลชนะเลิศที่ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงและ Discpurse  on  the  Origions  and Founddations  of  Inequality (๑๗๕๔)  ต่อมาในช่วงปี ๑๗๖๑ – ๑๗๖๒ เขาได้เขียนงานที่มีชื่อเสียง ๓ เรื่อง คือ La Nouvelle  Holoise, Emile และ Social  Contract  หนังสือสองเล่มหลังถูกประณาม  โดยรัฐสภาในปารีส  เพราะเสนอความคิดที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลและศาสนา

          เขาชื่นชมกับยุคชุมชนบุพกาลว่า  คือ ยุคทองของมนุษย์และ Emile (๑๗๖๒) เสนอทฤษฎีทางการศึกษาเพื่อที่จะดึงธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำลาย  และความสามารถของเด็กให้ออกมาใช้ได้มากที่สุด  งานเขียนชิ้นสำคัญคือ  Social  Contract  (๑๗๖๒) เสนอว่ารัฐบาลคือผู้ที่ประชาชนมอบหมายอำนาจทางการ ให้ปกครองและถ้ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญาสังคม ประชาชนก็จะถอนอำนาจทางการนี้ได้  แนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติประชาธิปไตยทั้งในสหรัฐอเมริกา  ฝรั่งเศสและที่อื่นๆ

          รุสโซต้องไปหลบภัยที่สวิสเซอร์แลนด์  แต่ก็ถูกรัฐบาลสวิสต่อต้าน จนเขาต้องหนีไปอังกฤษตามคำเชิญของ เดวิด  ฮูม  นักปรัชญาชาวสก๊อต  ซึ่งเป็นที่รู้จักกัน  รักและนับถือของบรรดานักเขียนสารานุกรมในฝรั่งเศสแต่ที่อังกฤษ  รุสโซก็เกิดโรคประสาท  เขาโจมตีว่า ฮูมต้องการทำลายชื่อเสียงเขา  และหนีกลับฝรั่งเศส  จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี ๑๗๗๘ 

          รุสโซได้เสนอแนวคิดที่มีลักษณะปฏิวัติที่มีอิทธิพลในโลกตะวันตก ๓ ข้อ คือ

          ๑.  อารยธรรมไม่ใช่สิ่งที่ดีเหมือนที่ใครๆชอบสรุปกัน และไม่ได้เป็นกลางด้วย  แต่เป็นสิ่งเลวร้าย

          ๒.  เราควรตั้งคำถามต่อทุกสิ่งในชีวิตของเราไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือสาธารณะ  ไม่ใช่สนองตอบต่อเหตุผล  แต่เพื่ออารมณ์และสัญชาตญาณธรรมชาติของเรา  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  ความรู้สึกควรมาก่อนเหตุผล  ในการเป็นผู้ชี้นำชีวิตและการตัดสินใจของเรา

          ๓.  สังคมมนุษยืเป็นสังคมรวมหมู่  ซึ่งเป็นเจตจำนงของมันเอง  ซึ่งต่างจากผลรวมของเจตจำนงของสมาชิกที่เป็นปัจเจกชนแต่ละคน  และพลเมืองควรเชื่อฟังเจตจำนงร่วมกัน โดยสิ้นเชิง

          รุสโซเชื่อว่า  มนุษย์เกิดมาดี แต่ถูกฉ้อฉลจากประสบการณ์ของการโตขึ้นในสังคมเขาเชื่อว่ามนุษย์เรามีสัญชาตญาณที่ดี  ซึ่งตรงกันข้ามกับฮอบส์  เขามองว่ามนุษย์ตอนแรกคือ  คนป่าที่มีจิตใจดีงาม  แต่เมื่อเติบโตในสังคมที่อ้างว่ามีอารยธรรม พวกเขาถูกสอนให้กดดันและคับข้องใจกับสัญชาตญาณธรรมชาติ  ต้องสะกดกลั้น  ความรู้สึกที่แท้จริงและรับเอาแนวคิดที่ไม่เป็นธรรมชาติของคนอื่น  เสแสร้งทำเป็นไม่คิดไม่รู้สึกอย่างที่เขาคิดและรู้สึกจริงๆ  ทำให้เขาเกิดความรู้สึกแปลกแยกจากตัวตนที่แท้จริงของเขา  ดังนั้นอารยธรรมจึงเป็นตัวการที่ฉ้อฉลมอมเมา  และทำลายค่านิยมที่แท้จริงของคน  ไม่ใช่เป็นผู้สร้างและเผยแพร่อย่างที่หลายคนเข้าใจ

          แต่เมื่อคนเราก้าวเท้าเข้าในอารยธรรมแล้ว  คนเราก็ไม่มีทางเลือกจะกลับไปสู่สังคมบริสุทธิ์แบบดั้งเดิมได้อีก  ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนอารยธรรมเสียใหม่  ที่จะเปิดทางให้สัญชาตญาณของเรา และความรู้สึกของเราได้แสดงออกอย่างเต็มที่  มากกว่าอารยธรรมแบบเก่า

          รุสโซเสนอการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานที่การศึกษาว่า  การศึกษาไม่ควรกดและจัดระเบียบแนวโน้มทางธรรมชาติของเด็กๆ  อย่างที่ทำอยู่  หากควรทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม  คือ  ส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกและพัฒนาธรรมชาติของพวกเขาอย่างอิสระ   เครื่องมือในการสอนควรเน้นภาคประสบการณ์ของคนและสิ่งต่างๆมากกว่าการสอนด้วยคำ  สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาคือ  ครอบครัว  ไม่ใช่โรงเรียน  และแรงจูงใจทางธรรมชาติ  คือ ความเห็นอกเห็นใจและความรัก  ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับกฎหรือการลงโทษ  เขาเสนอแนวคิดเรื่องการศึกษาไว้ใน Emile๑ ซึ่งต่อมาจะมีอิทธิพลต่อการศึกษาในยุโรปอย่างสำคัญ

          ในเรื่องการออกกฎหมายหรือการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย  รุสโซ เห็นว่าน่าจะทำได้โดยการให้ประชาชนมาประชุมอภิปรายและออกเสียงกันโดยตรงแบบในนครรัฐกรีก  หรือเมืองในสวิส  สิ่งที่ได้คือ เจตนารมณ์ร่วม  ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคมโดยส่วนรวม  หลังจากนั้นก็ให้รัฐบาลซึ่งน่าจะมาจากผู้นำที่เป็นนักกฎหมาย  ผู้เข้าใจเจตนารมณ์ร่วม  เป็นผู้นำกฎหมายไปบังคับใช้

          แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยของรุสโซเป็นแนวคิดที่เน้นเจตนารมณ์ร่วมที่มีอำนาจชอบธรรมเหนือเสรีภาพของปัจเจกชน  ต่างจากประชาธิปไตยของล็อค  ซึ่งเน้นการปกป้องและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของปัจเจกชนงานของรุสโซมีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสทั้งในแง่อารมณ์และปัญญา

         

สรุปปรัชญาการเมืองและสังคมของ  ยัง ยาคส์ รุสโซ   

          ๑.  ยกย่องธรรมชาติ  ถือว่าโดยพื้นฐานมนุษย์มีธรรมชาติที่บริสุทธิ์แต่สังคมภายนอกทำให้เลวร้าย

          ๒.  คัดค้านแนวคิดของปัจเจกชนสมันนั้นที่เน้นว่าความก้าวหน้านำสังคมไปสู่ความเจริญ

          ๓.  พันธสังคม  การอยู่อย่างรักใคร่ปองดองกัน  ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย  เข้าใจว่าจำเป็นสำหรับพวกเขา  ประชาชนต้องเข้าประชุมด้วย  ไม่ใช่แค่เลือกผู้แทน

          ๔.  ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม  รัฐบาลจะต้องไม่ใหญ่เกินไปประชาชนจึงจะมีเสรีภาพรัฐที่ใหญ่ทำให้เสรีภาพของประชาชนลดลง

          แนวคิดแบบต่อต้านอารยธรรมของรุสโซ  จะกลับมาปรากฏภายหลังโดยนักปรัชญาในศตวรรษที่ ๑๙ เช่น  พรูดอง และ นิทเช่  งานของเขามีอิทธิพลต่อ ซิกมุนด์  ฟรอยด์  นักจิตวิทยาคนสำคัญและเน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกทำให้เขาเป็นพวกนักเขียนสำนักโรแมนติกรุ่นแรกๆที่ต่อมาจะก้าวขึ้นมาแทนกลุ่มนักเขียนสำนักคลาสสิกในศตวรรษที่๑๘ 

 

          “มนุษย์เราเกิดมาอย่างอิสระ  และทุกหนแห่งเขาต้องถูกจำจองด้วยโซ่ตรวน”

          “คนที่ใช้ชีวิตได้ยาวนานที่สุด  ไม่ใช่คนที่อายุยืนที่สุด  แต่คือคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีสำนึกมากที่สุด”

          “ กฎหมายเป็นประโยชน์ต่อผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่เสมอ, และเป็นอันตรายต่อผู้ไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย”

 

         

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

จรูญ  สุภาพ.  หลักรัฐศาสตร์ .  กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพาณิชย์, ๒๕๒๒.

ประยงค์  สุวรรณบุบผา. รัฐปรัชญา  แนวคิดตะวันออก- ตะวันตก.  กรุงเทพฯ: โอเดียรสโตร์,  ๒๕๔๑.

วิทยากร  เชียงกูล  ปรัชญาการเมือง  เสรษฐกิจ  สังคม. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์เดือนตุลาจำกัด, ๒๕๔๘.

สุพิศวง  ธรรมพันทา. มนุษย์กับสังคม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ภูมิไทย, ๒๕๔๓.

สุรพล  สุยะพรหมและคณะ  ปรัชญาการเมือง , กรุงเทพฯ:  มหาจุฬาบรรณาคาร, ๒๕๔๗.

สุลักษณ์  ศิวรักษ์. แนวคิดทางปรัชญาการเมืองของอริสโตเติล. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๔๓.

(ที่มา: ดูที่ บรรณานุกรม )
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕