หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย ผศ.ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร » ภิกษุณีกับการพัฒนาศักยภาพสตรีในพระพุทธศาสนา
 
เข้าชม : ๑๖๑๒๔ ครั้ง

''ภิกษุณีกับการพัฒนาศักยภาพสตรีในพระพุทธศาสนา''
 
ผศ. ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร (2551)

                    ท่ามกลางสังคมที่มีอคติและการกีดกันสตรีมิให้ได้รับสิทธิต่างๆ ทั้งทางการศึกษา       ทางศาสนาและแม้กระทั่งเสรีภาพทางความคิด พระพุทธศาสนาได้แสดงให้ชาวโลกได้ประจักษ์ถึงการยอมรับความเป็นอิสระทางจิตและวิญญาณ ยอมรับความสามารถของสตรีว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาทั้งกาย จิต และปัญญาให้เข้าสู่ภาวะสมบูณ์สูงสุดได้เช่นเดียวกับบุรุษ         

                    ตลอดเวลาแห่งพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงประกาศคำสอน มีบุคคลทุกเพศ  ทุกวัย ทุกวรรณะ อุทิศตนเข้ามาสู่พระธรรมวินัยอันเป็นทางสายกลาง ดังพระพุทธพจน์ว่า

                    “ทางนั้นเป็นทางสายตรง ทิศนั้นไม่มีภัย  รถที่ไร้เสียงประกอบด้วยล้อ

                    คือธรรม ความละอาย(หิริ) เป็นฝาประทุน ความรู้สึกตัว(สติ)เป็นเกราะ

                    หุ้มรถ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำดังสารถี ยานนี้มีแก่ใครไม่ว่าจะเป็นหญิง

                    หรือชาย เขาย่อมถึงนิพพานได้ด้วยยานนี้” (สํ.. ๑๕/๔๖/๓๗)

                    สังคมพุทธประกอบด้วยบุคคล ๔ กลุ่ม เรียกว่าพุทธบริษัท ๔ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา บุคคลทั้ง ๔ กลุ่มมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันรักษาพระศาสนา การประกาศ
พระศาสนาและสืบสานต่อพระธรรมวินัย  มิใช่หน้าที่ของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว      แต่เป็นหน้าที่ของบุคคลทั้ง ๔ หรือพุทธบริษัท ๔   ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสฝากพระธรรมวินัยไว้แก่พุทธบริษัท ๔ ว่า “เมื่อตถาคตปรินิพพาน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยยังมีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในกันและกัน นี้แลเป็นเหตุปัจจัยให้สัทธรรมตั้งมั่นอยู่นาน” (อํ. ปญฺจก. ๒๒/๒๐๗/๒๓๓)  พระพุทธพจน์นี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีหน้าที่รักษาพระศาสนาก็คือพุทธบริษัททั้ง ๔   กล่าวโดยสถานะก็คือทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์

                    แม้ว่าในปัจจุบันภิกษุณีไม่ปรากฏเหลืออยู่ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานิกาย     เถรวาทแล้วก็ตาม แต่ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา บทบาทและความสามารถของภิกษุณีจำนวนไม่น้อยปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ชาวโลกมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล  ภิกษุณีสงฆ์ได้เจริญควบคู่มากับภิกษุสงฆ์ในครั้งนั้น ภิกษุณีที่บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก นอกจากมีคุณธรรม มีความประพฤติอันเป็นคุณสมบัติภายในตนเองอย่างดีจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในหลักคำสอน จนสามารถสอนคนอื่นให้เข้าใจ ตลอดจนสามารถเอาชนะการรุกรานทางความคิดและคำสอนจากลัทธิศาสนาอื่นๆ ได้  ภิกษุณีบางรูปที่บรรลุธรรมแล้ว ได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ดังพระพุทธพจน์ว่า “เขมาและอุบลวรรณา เป็นตราชู เป็นมาตรฐานของภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา” (สํ. นิ. ๑๖/๑๗๒-๑๗๓/๒๒๔-๒๒๕, อํ.ทุก. ๒๐/๑๓๑-๑๓๔/๑๑๘)

                    สถานภาพสตรีในสังคมอินเดียก่อนและสมัยพุทธกาล

                    ความคิดที่ว่าสตรีมีความอ่อนแอและเป็นเพศที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ได้มีปรากฏมาช้านานทั้งในสังคมตะวันออกและตะวันตก สังคมอินเดียโบราณก็เป็นสังคมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าสตรีอยู่ในสภาพที่ต่ำต้อยในสังคมอย่างมาก จนดูเหมือนจะเป็นมนุษย์ชั้นรองหรือที่สอง ทั้งที่การสร้างอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมาในทุกยุคทุกสมัยจะต้องมาจากความร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคม ซึ่งประกอบไปด้วยมนุษย์ทั้งชายและหญิง

                    สตรีในยุคนั้นขาดเสรีภาพทั้งในด้านความคิดและการกระทำ แม้แต่ในช่วงเวลาที่ความคิดทางปรัชญาและศาสนาของอินเดียกำลังงอกงามเบ่งบาน และผู้คนกำลังมุ่งแสวงหาความจริงของชีวิต แต่สตรีก็มิได้รับโอกาสจากสังคมในการมุ่งแสวงหาสัจธรรมเลยแม้แต่น้อย (Thomas, 1964 :176) ในอินเดียค่านิยมทางศาสนามีส่วนอยู่มาก คนอินเดียเชื่อว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ โลกทั้งมวลเป็นของพระเจ้า (Radhakrishnon, 1948 : 41) เทพเจ้าองค์หนึ่งที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตมนุษย์คอยกำหนดหน้าที่ของผู้คนคือมนู (Manu) กฏหมายของมนุษย์ข้อหนึ่งกำหนดบทบาทของสตรีว่า “วัยเด็กจะต้องพึ่งบิดา วัยสาวต้องพึ่งสามี เมื่อสามีตายต้องพึ่งบุตรชาย” สตรีไม่อาจดูแลตนเองได้เลย ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นตลอด กฏหมายของมนูข้อนี้พิจารณาได้ ๒ ทาง ว่า สตรีอินเดียเป็นผู้โชคดีที่สุด เพราะมีผู้คอยดูแลตลอดอายุขัย ถ้ามองอีกแง่หนึ่งสตรีอินเดียถูกกดขี่เพราะกฏหมายของมนู อย่างไรก็ตาม กฏหมายในสังคมอินเดียผู้ชายเป็นคนเขียนขึ้น(Martin, 1964 : 68) ดังนั้น ผู้ที่มากำหนดบทบาทของสตรีอินเดียในยุคนั้นแท้จริง คือ ผู้ชายนั่นเอง สตรียังถูกกีดกันด้วยความเชื่อที่ว่า สตรีจัดอยู่ในระดับเดียวกับผู้ที่อยู่ในวรรณะศูทร ซึ่งถือเป็นวรรณะไม่บริสุทธิ์และต่ำสุด สตรีจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตทางศาสนา ซึ่งถือเป็นมรรควิถีที่จะเข้าถึงพรหม อันเป็นจุดหมายสูงสุดของฮินดู จุดสำคัญของการปฏิเสธสตรีคือการที่พวกพราหมณ์ถือว่า สตรีไม่มีศักยภาพในการพัฒนาทางจิตและวิญญาณ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีการที่แยบยล และโหดร้ายที่สุดที่กระทำต่อสตรี เพราะแม้แต่เสรีภาพทางความคิดและการพัฒนาทางจิตและวิญญาณซึ่งถือเป็นสิทธิ์โดยธรรมชาติของบุคคลก็ยังถูกล่วงละเมิดกีดกัน

                    ภาพที่สังคมอินเดียมองสตรีในยุคนั้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ เนื่องจากคัมภีร์เล่มนี้เป็นคัมภีร์ที่เป็นรากฐานทางสังคมของฮินดู ซึ่งกำหนดบทบาทของชายหญิงในสังคมยุคนั้น จึงเป็นคัมภีร์ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการหล่อหลอมแนวความคิด ตลอดจนค่านิยมทางสังคมอันนำไปสู่ท่าทีต่อสตรีในสังคมอินเดีย

                    คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์กำหนดไว้ชัดเจนว่า“สตรีไม่มีสิทธิ์ที่จะศึกษาพระเวท”(Manu.IX.18) หากจะประกอบพิธี ก็ไม่สามารถใช้มนตร์หรือบทสวดจากพระเวท ถ้าสตรีสวดพระเวทหรือใช้มนตร์จากพระเวท จะต้องได้รับโทษรุนแรง ด้วยเหตุที่สตรีไม่มีสิทธิที่จะศึกษาพระเวทนี้เอง สตรีจึงไม่มีความรู้ในเรื่องศาสนา และในการสวดมนตร์จากพระเวทซึ่งเป็นการชำระมลทิน เมื่อสตรีไม่มีสิทธิ์ที่จะสวดมนต์จากพระเวท สตรีจึงเป็นผู้มีมลทิน

                    ดร. อัมเบดการ์(Ambedkar) ถือว่า ทัศนะที่มีต่อสตรีเช่นนี้เป็นทั้งการดูหมิ่นและการทำร้ายสตรีอินเดีย ที่ถือว่าเป็นการทำร้ายเพราะไม่มีหลักเกณฑ์หรือเหตุผลใดๆ เลยที่จะห้ามมิให้สตรีได้ศึกษาหาความรู้ ทั้งที่เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของมนุษย์ทุกคน นอกจากนั้นการที่พวกพราหมณ์ปฏิเสธสิทธิอันชอบธรรมมิให้สตรีได้บรรลุถึงศักยภาพในการพัฒนาจิตวิญญาณ เท่ากับเป็นการประกาศว่า สตรีไร้ศักยภาพในการที่จะบรรลุความหลุดพ้น(Narain&Ahir, 1994 : 45) เมื่อพราหมณ์เชื่อว่า “ในโลกนี้ไม่มีใครที่จะอยู่ใกล้พระเจ้าเท่ามนุษย์” ถ้าหากประโยคนี้เป็นจริงสำหรับมนุษย์ผู้ชาย ไฉนเลยจะไม่เป็นจริงสำหรับมนุษย์ผู้หญิงด้วยเล่า

                    เมื่อพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจที่สำคัญมากมายหลายประการในการปรับเปลี่ยนระบบความเชื่อในสังคมเสียใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทรงจรรโลงสังคมให้มีความเจริญพัฒนานั่นคือความพยายามสอนหักล้างระบบความเชื่อเรื่องวรรณะ และการกีดกันมนุษย์ในด้านต่างๆ  การเข้าถึงพุทธธรรมมิใช่จะมีเฉพาะแต่บุรุษเท่านั้น   พระองค์ได้ประทานสิทธิ์แก่สตรีที่จะได้รับประโยชน์จากพุทธธรรม  เข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่พุทธธรรมจะให้เข้าถึงได้ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ๒๕๓๘ : ๗) แม้ว่าการให้สิทธิ์นี้จะต้องทรงกระทำด้วยความหนักพระหฤทัย และด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเตรียมการวางรูปให้สภาพการณ์ได้สิทธิของสตรีนี้ดำรงอยู่ด้วยดีในสภาพสังคมสมัยนั้น เนื่องจากสิทธิของสตรีในการศึกษาอบรมทางจิตใจได้ถูกศาสนาพระเวทค่อยๆ จำกัดแคบเข้ามาจนแทบจะปิดตายแล้วในสมัยนั้น

                    หลักมนุษยนิยมในพระพุทธศาสนากับการพัฒนาสตรี

                    มนุษยนิยม (Humanism) ตามความหมายทั่วไป หมายถึงทัศนะใดๆ ที่ถือว่ามนุษย์กับประโยชน์สุขของมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นหลักคำสอนที่มุ่งธำรงไว้ เสริมสร้างและพัฒนามนุษยธรรมขึ้นในโลกมนุษย์ ยกย่องคุณค่าและความสำคัญสูงสุดให้แก่มนุษย์ (Runes,Ed., 1942 : 69)  มุ่งแสวงหาแนวทางชีวิตที่ดีที่สุดเพื่อมนุษย์ ถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เป็นมาตรฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง (Schiller, 1991 : 8) มนุษยนิยมถือว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี (Free will)  มีพลังความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความพยายามมีศักยภาพและศักดิ์ศรี มนุษย์จึงอยู่ในวิสัยที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ ไม่ขึ้นอยู่กับพรหมลิขิตหรือเทวลิขิตใด ๆ

                    พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ส่งเสริมหลักมนุษยนิยมในแง่ที่มีลักษณะเป็นอเทวนิยม(Atheistic Element) เป็นธรรมชาตินิยม(Naturalistic Element) นั่นคือ การสอนให้รู้จักความจริงตามสภาวธรรม เป็นไปตามกฏเกณฑ์ของ “ความเป็นธรรมดา” หรือ ยถาภูตะ เป็นเหตุผลนิยม(Rationalistic Element) ในแง่ที่ยอมรับ “เหตุผลและปัญญา” ของมนุษย์ว่าเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดในการจัดการอย่างถูกต้องกับปัญหาใดๆ โดยไม่ใช้กิเลส ตัณหา อุปาทานเป็นแรงผลักดัน พระพุทธศาสนามีความเป็นอิสรเสรีนิยม(Liberalistic Element) เพราะส่งเสริมเสรีภาพในความคิด และการกระทำที่ชอบที่ควร และพิจารณาสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง โดยไม่ยอมให้ความคิดและการกระทำถูกกระแสความเชื่อและค่านิยมของสังคมมาครอบงำ ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากหลักคำสอนเรื่องกาลามสูตร เป็นต้น

                    นอกจากนั้น พระพุทธศาสนายังเป็นมนุษยนิยมในแง่ที่มีลักษณะเป็นปฏิบัตินิยม(Pragmatical Element) คือการใช้ประสบการณ์ของมนุษย์ทำให้เกิดความรู้และปัญญา จากการปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการสังเกต การทดสอบ ทดลองพิสูจน์ ตรวจสอบ และการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สิ่งที่เพิ่มเข้ามามากกว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทั่วไปคือ การปฏิบัติจากภายใน คือ ด้านจิตและวิญญาณที่สั่งสมความรู้และปัญญาในประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากการปฏิบัตินั้น  พระพุทธศาสนากล่าวถึงศักยภาพของมนุษย์ว่า มนุษย์ที่ฝึกปฏิบัติและพัฒนาตนเองแล้ว จัดว่าเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ ดังพระพุทธภาษิตว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่า “ในหมู่มนุษย์ บุคคลที่ฝึกตนแล้ว ย่อมเป็นผู้ประเสริฐ(ขุ.ธ. ๒๕/๓๒๑/๗๒) และการที่พระพุทธองค์ทรงยินยอมให้สตรีบวชเป็นภิกษุณี ทั้งที่สภาวะทางสังคมไม่อำนวย ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า สตรีเมื่อบวชในพระธรรมวินัยแล้ว ก็สามารถประจักษ์แจ้งโลกุตรธรรมตั้งแต่โสดปัตติผลถึงอรหัตตผลได้เช่นเดียวกับชาย (วินย. จู. ๗/๕๑๕/๓๒๓) แสดงว่าศักยภาพการพัฒนาของมนุษย์ไม่มีจำกัดเพศ  เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษา  การปฏิบัติทางศาสนาและการบรรลุธรรมยิ่งกว่าลัทธิศาสนาใดๆ

                    ภิกษุณี

                    ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย หมวดเถรีคาถา มีเหตุการณ์กล่าวถึงว่า พระโสมาเถรี เข้าไปนั่งพักอยู่ ณ โคนไม้ต้นหนึ่งในป่า มารประสงค์จะแกล้งหลอก จึงเข้ามากล่าวแก่พระโสมาเถรีว่า

                                “สถานะซึ่งท่านอยู่ได้ยาก เป็นที่เหล่าฤษีพึงลุถึง    สตรีมีปัญญาแค่สองนิ้ว

                                ย่อมไม่อาจบรรลุได้”

                    พระโสมาเถรีกล่าวตอบว่า

                                “ความเป็นหญิงจะเกี่ยวอะไร ในเมื่อใจตั้งมั่นดี   ในเมื่อญาณเป็นไปอยู่แก่

                                ผู้เห็นแจ้งธรรมอย่างถูกต้อง ผู้ใดยังมีความยึดถืออยู่ว่า เราเป็นหญิง   หรือ

                                เราเป็นชาย หรือยังมีความรู้สึกค้างใจอยู่ว่า เรามี เราเป็น มารจึงควรจะพูด

                                กับเขาผู้นั้นได้”  (ขุ. เถรี. ๒๖/๔๓๗/๔๕๑)

                    สตรีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาบวชและพัฒนาตน ฝึกตนในพระพุทธศาสนาได้สร้างชื่อเสียงโดดเด่น และพิสูจน์สติปัญญาความรู้ความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมหลายต่อหลายรูป ดังปรากฏหลักฐานในคัมภีร์ต่างๆ เช่น

                    ในมัชฌิมนิกาย พระธัมมทินนาเถรีมีความรู้ความเชี่ยวชาญยิ่งในพระอภิธรรม สามารถให้อรรถาธิบายพระอภิธรรม ซึ่งเป็นธรรมลึกซึ้งได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระเถรีว่า “ธัมมทินนาเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก”   (. . ๑๒/๔๖๗/๔๑๖)

                    ในสังยุตตนิกาย พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามปัญหาธรรมกับพระเขมาเถรี แล้วนำปัญหานั้นไปทูลถามพระพุทธเจ้า เมื่อฟังคำเฉลยจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงยกย่องพระเขมาเถรีว่า      มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีไหวพริบปฏิภาน สามารถตอบปัญหาได้เทียบกับพระสัพพัญญุตญาณ      ทั้งความหมาย และอักขรวิธีตรงกันทุกอย่าง (สํ. สฬา. ๑๘/๔๑๐/๓๒๙) พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระเขมาเถรีว่าเป็นผู้มีปัญญามาก ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งภิกษุณีผู้เป็นเลิศทางด้านปัญญา                         (อํ. เอกก. ๒๐/๒๓๖/๒๖)

                    พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี ใช้ความสามารถอบรมคนประพฤติทุจริตผิดศีลธรรมให้กลับใจเป็นคนดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนผู้นั้นกำลังคิดประทุษร้ายพระเถรีอยู่ นับว่าเป็นความสามารถพิเศษอย่างยิ่งของผู้สอนเช่นพระเถรีรูปนี้ เพราะการอบรมสั่งสอนคนธรรมดาให้เป็นคนดี เป็นสิ่งที่ไม่แปลกประหลาดอะไร แต่ที่สามารถสั่งสอนโน้มน้าวจิตใจคนชั่วร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังจะทำร้ายตนเอง ให้เกิดความสำนึกผิดเลิกล้มความคิดที่จะกระทำเช่นนั้น และกลับประพฤติเป็นคนดีตั้งอยู่ในศีลธรรม นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เป็นความสามารถที่ควรแก่การยกย่อง

                    หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นส่วนสำคัญที่เป็นแรงกระตุ้นให้สตรีที่เข้ามาอยู่ในพระธรรมวินัย ได้พัฒนาตนเองอย่างเป็นขั้นตอนเป็นระบบ และในบรรดาสตรีที่เข้าสู่พระธรรมวินัยเหล่านี้ มีภิกษุณีที่มีประวัติและชื่อเสียงโดดเด่น จัดเป็น มหาสาวิกา และได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะหรือเป็นเลิศในด้านต่างๆ จำนวน ๑๓ รูป คือ

                    .    พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ได้รับเอตทัคคะทางรัตตัญญู(มีประสบการณ์มาก)

                    .   พระเขมาเถรี ได้รับเอตทัคคะทางมีปัญญา

                    .   พระอุบลวรรณาเถรี ได้รับเอตทัคคะทางมีฤทธิ์

                    .   พระปฏาจาราเถรี ได้รับเอตทัคคะทางทรงพระวินัย

                    .   พระธัมมทินนาเถรี ได้รับเอตทัคคะทางแสดงธรรม

                    .    พระสุนทรีนันทาเถรี ได้รับเอตทัคคะทางทรงฌาน

                    .   พระโสณาเถรี ได้รับเอตทัคคะทางปรารภความเพียร

                    .   พระสกุลาเถรี ได้รับเอตทัคคะทางมีทิพยจักษุ

                    .    พระภัททากุณฑลเกสีเถรี ได้รับเอตทัคคะทางตรัสรู้เร็ว

                    ๑๐. พระภัททาปิลานีเถรี ได้รับเอตทัคคะทางระลึกชาติได้

                    ๑๑. พระภัททากัจจานาเถรี ได้รับเอตทัคคะทางทรงอภิญญา

                    ๑๒. พระกีสาโคตมีเถรี ได้รับเอตทัคคะทางครองจีวรสีหม่น

                    ๑๓. พระสิงคาลมาตุเถรี ได้รับเอตทัคคะทางสัทธาวิมุตติ 

                                                                                                (อํ. เอกก. ๒๐/๒๓๕–๒๔๗/๒๖)

                    การเกิดภิกษุณีสงฆ์ และพระเถรีที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธ-ศาสนาเป็นศาสนาที่ให้อิสรเสรีภาพแก่มนุษย์ทุกคน โดยไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะและเพศ ยกย่องคุณค่าของสตรีในฐานะที่เป็นมนุษย์ ภิกษุณีในพระพุทธศาสนาได้พิสูจน์สมรรถภาพให้โลกเห็นว่า  ศักยภาพของสตรีในการบรรลุธรรมมิได้ย่อหย่อนไปกว่าบุรุษเพศ การที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องภิกษุณีให้เป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมุ่งหมายจะยกสถานะของสตรีในสมัยนั้น ให้ทัดเทียมกับบุรุษ เช่นเดียวกับที่ทรงมุ่งขจัดการแบ่งชั้นวรรณะ เพราะทรงเห็นว่าทุกคนมีความเสมอภาคกันในความเป็นมนุษย์และสิ่งที่กำหนดความสูงต่ำของบุคคลก็คือคุณธรรมจากการพัฒนาปัญญาภายในมนุษย์นั่นเอง

                    ความหมายและกำเนิดภิกษุณี

                    คำว่า “ภิกษุณี” หมายถึงสตรีผู้ได้รับการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา โดยปกติแล้วผู้ที่อุปสมบทในพระพุทธศาสนา เรียกว่า อุปสัมบัน มี ๒ ประเภท คือ ภิกษุและภิกษุณี ส่วนผู้ที่ไม่ได้อุปสมบท เรียกว่า อนุปสัมบัน

                    สตรีผู้จะบวชเป็นภิกษุณีต้องผ่านพิธีการรับเข้าหมู่คณะอย่างเข้มงวดกวดขัน มีขั้นตอนและใช้เวลานาน โดยขั้นแรกเปิดโอกาสให้สตรีผู้สมัครใจทดลองวิถีชีวิตของนักบวชขั้นพื้นฐานรักษาศีล ๑๐ ข้อ เรียกว่า สามเณรี  เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี บริบูรณ์ให้รักษาธรรมคือสิกขาบท ๖ ข้อ เรียกว่า สิกขมานา จนครบ ๒ ปี จะต้องได้รับความยินยอมจากภิกษุณีสงฆ์ที่จะให้เธอบวชได้ แล้วขอบวชจากสงฆ์สองฝ่าย ผู้ขอบวชต้องมีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีพันธะใดๆ มีผู้ให้คำรับรอง มีเครื่องใช้ที่จำเป็น(บริขาร) การบวชต้องทำพิธีต่อหน้าสักขีพยานหลายคน และต้องได้รับเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์ บวชแล้วรักษาศีล ๓๑๑ ข้อ การครองชีพ ภิกษุณีเป็นพรหมจาริณีต่างจากผู้ครองเรือน ปลงผมตัดเล็บไม่ประดับตกแต่งใด ๆ ใช้ผ้าจำกัดเพียง ๕ ผืน พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับที่พักของภิกษุ เคารพเชื่อฟังภิกษุ อยู่จำพรรษาปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย

                    ในบรรดาพุทธบริษัท ๔ นั้น ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นภายหลังบริษัทอื่น ในพรรษาที่ ๕ (Horner, 1990 : 103)  ในการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์นั้น  ปรากฎเรื่องราวในพระไตรปิฎกว่า  ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ  นิโครธาราม  เขตเมืองกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท  พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ขอเข้าเฝ้า  และทูลว่า  “ขอสตรีพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว”

                    พระพุทธองค์ทรงห้ามว่า  “อย่าเลย  โคตมี  เธออย่าชอบใจการที่สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว”      

                    พระนางมหาปชาบดีทูลขอถึงสามครั้ง  พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามเหมือนครั้งแรก  พระนางเสด็จกลับด้วยความน้อยพระทัยยิ่ง

                    ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากเมืองกบิลพัสดุ์  ทรงจาริกต่อไปยังเมืองเวสาลี  ประทับอยู่ที่กุฎาคารสาลา  ป่ามหาวัน  พระนางมหาปชาบดีทรงปลงพระเกษา  ทรงพระภูษาย้อมฝาดพร้อมด้วยนางสากิยานีมากด้วยกัน  เสด็จตามพระพุทธองค์ด้วยพระบาทลุถึงเมืองเวสาลี  ครั้นมาถึงยังที่ประทับของพระพุทธองค์  เวลานั้น  พระนางมีพระบาททั้งสองพอง  มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี  มีทุกข์เสียพระทัย  มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร  ประทับยืนกรรแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก

                    พระอานนท์พุทธอนุชาเมื่อได้เห็นพระนางพร้อมกลุ่มสตรีในราชสำนักในสภาพเช่นนั้น  จึงเข้าไปถามไถ่ความเป็นมา  เมื่อทราบพระประสงค์ของพระนางที่จะออกบวชเป็นบรรพชิต  จึงรับอาสาเข้าไปทูลขอพระพุทธานุญาต  พระพุทธเจ้าก็ทรงห้ามพระอานนท์เช่นเดียวกับที่เคยห้ามพระนาง แม้จะทูลขอถึง ๓ ครั้งก็ตาม

                    ในที่สุด  พระอานนท์คิดว่า  “พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว  อย่ากระนั้นเลย  เราพึงทูลขอพระองค์ให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วด้วยอุบายบางอย่าง”  จึงทูลถามว่า  “สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต  ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะสามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล  อนาคามิผล  หรืออรหัตผลได้หรือไม่

                    พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “อานนท์ สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว สามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผลได้”

                    พระอานนท์จึงกราบทูลว่า “ถ้าสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผลได้  พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก ทรงประคับประคองเลี้ยงดู ทรงถวายเกษียรธารา เมื่อพระชนนีสวรรคต ได้ให้พระผู้มีพระภาคเสวยเกษียรธาร ขอประทานวโรกาส สตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

                    พระพุทธองค์ตรัสว่า “ถ้าพระนางรับครุธรรม ๘ ประการได้ ก็ให้ครุธรรมนั้นแหละเป็นอุปสัมปทาของพระนาง” (วินย.จูฬ. /๔๐๓/๓๑๖)

                    พระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา

                    แรงจูงใจที่สตรีออกบวช

                    สังคมอินเดียโบราณก่อนยุคอารยัน สตรียังมีบทบาทสูงเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางในสังคม ราว พ.. ๕๐๐ บทบาทสตรีเริ่มลดลง เพราะคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ (Manusmriti)  ได้กำหนดบทบาทสตรีไว้ต่ำกว่าบุรุษ(Ghosh, 1972 : 34) ตามประเพณีโบราณอย่างหนึ่งของคนอินเดีย คือ การบวช ถือว่าในช่วงชีวิตของบุคคลคนหนึ่งที่เกิดในวรรณะสูง ๓ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์  แพศย์ จะต้องได้ดำรงชีวิตให้ครบ ๔ ขั้น เรียกว่า “อาศรม (Âshräma) ได้แก่

                    ๑. ระยะถือพรหมจรรย์                   เรียกว่า พรหมจารี

                    ๒. ระยะครองเรือน                        เรียกว่า คฤหัสถ์

                    ๓. ระยะออกไปอยู่ป่า                     เรียกว่า วานปรัสถ์

                    ๔. ระยะสละสมบัติออกบวช        เรียกว่า สันยาสี

                    การประพฤติตามหลักอาศรมจะมุ่งเพียงฝ่ายชายเท่านั้น ฝ่ายหญิงนั้นได้ถูกห้ามศึกษาพระเวทที่ถือว่าเป็นคัมภีร์สำคัญ จึงทำให้สตรีไม่มีโอกาสออกบวช

                    นักบวชในพระพุทธศาสนามีการดำเนินชีวิตคล้ายกับนักบวชประเภทสันยาสี มีชีวิตอยู่เรียบง่าย ปลงผมและหนวดเกลี้ยงเกลา นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด เที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต การบวชเป็นเรื่องฝืนกระแสโลก (ขุ. อิติ. ๒๕/๑๐๙/๓๒๘) สมัยแรกมีเพียงภิกษุหรือพระผู้ชายเท่านั้น ต่อมาในปีที่ ๕ หลังการตรัสรู้จึงเกิดภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุณีกลุ่มแรกที่มาอุปสมบทก็เพราะประสบความยุ่งยากในชีวิตที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเพราะมีแรงจูงใจต่างกัน   แรงจูงใจในการออกบวชมีดังนี้

                    บวชเพราะเบื่อหน่ายชีวิตคฤหัสถ์              

                    พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี เมื่อพระสวามีปรินิพพาน พระนางกลายเป็นหญิงหม้าย ทั้งพระโอรสพระธิดาและพระนัดดาพากันออกบวชแล้วทั้งสิ้น พระนางจึงไร้พระญาติผู้ใกล้ชิด จึงมี
พระประสงค์จะบวช ครั้งแรกพระศาสดาไม่ทรงอนุญาต ต่อมาจึงตัดพระเกษาของตน นุ่งหุ่มผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จติดตามพระพุทธองค์ไปเมืองเวสาลีพร้อมกับนางสากิยานีอีกจำนวนมากที่ปรารถนาจะบวชด้วยกัน ได้รับความช่วยเหลือจากพระอานนท์เข้าไปกราบทูลพระศาสดาจนได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรก

                    พระอัฑฒกาสีเถรี เคยเป็นหญิงนครโสเภณี ต่อมาเบื่อหน่ายชีวิตคฤหัสถ์ต้องการบวชพวกนักเลงอันธพาลรู้ข่าวได้ไปดักซุ่มหวังประทุษร้าย  นางส่งคนไปกราบทูลพระศาสดาจึงได้
รับพระพุทธานุญาตให้มีการบวชโดยส่งตัวแทนได้

                    บวชเพราะปัญหาชีวิตครอบครัว

                    พระอิสิทาสีเถรี นางปรนนิบัติสามีประดุจเทวดา ตามค่านิยมในสังคมที่ให้ภรรยาปรนนิบัติสามี  อยู่ได้เพียงหนึ่งเดือนก็ถูกสามีขับไล่ออกจากบ้าน นางเสียใจจึงไปบวช

                    พระจาปาเถรี นางเป็นภรรยาของอุปกาชีวก เมื่อมีบุตร  สามีหนีไปบวช เพราะความละอายที่ถูกภรรยาตำหนิว่าเป็นคนไม่มีความรู้ นางต้องรับหน้าที่ดูแลบุตร ต่อมาเกิดเบื่อระอาจึงตามสามีไปบวช

                    พระสุนทรีนันทาเถรี พระเชนตาเถรี ทั้งสองเกิดในตระกูลกษัตริย์ มีรูปงาม รับหมั้นไว้กับชายว่าจะสมรส ด้วย ในวันรับหมั้นปรากฏว่าชายคู่หมั้นเสียชีวิต จึงถูกบังคับให้บวช

                    พระธัมมทินนาเถรี เคยเป็นภรรยาของวิสาขอุบาสก เมื่อสามีบรรลุอนาคามิผล มอบสมบัติให้ทั้งหมด นางปฏิเสธบอกว่าไม่อาจกลืนอาเจียนที่คนอื่นคายทิ้งไว้ให้ได้ จึงขออนุญาตสามีไปบวช

                    พระมุตตาเถรี นางมีสามีหลังค่อม เบื่อหน่ายจึงขออนุญาตไปบวช

                    พระปฏาจาราเถรี นางเผชิญปัญหาชีวิตจนต้องกลายเป็นคนวิกลจริต สามีถูกงูกัดตาย บุตรชายคนหนึ่งถูกกระแสน้ำพัดพาไป อีกคนหนึ่งถูกเหยี่ยวโฉบเอาไป บิดามารดาและพี่ชายถูกบ้านทับเสียชีวิตขณะฝนตกหนัก นางกลายเป็นคนบ้ากระเซอะกระเซิงจนได้พบพระพุทธเจ้า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ เมื่อได้สติสัมปชัญญะกลับคืนมา จึงขอบวช

                    พระกีสาโคตมีเถรี นางไม่เคยพบเห็นคนตาย เมื่อบุตรเสียชีวิตจึงอุ้มร่างลูกน้อยเที่ยวหาหมอ ไม่มีใครช่วยนางได้ กระทั่งได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแนะนำให้นางรู้จักความตายโดยับสั่งว่า เมล็ดผักกาดสามารถชุบชีวิตบุตรของนางได้  แต่ต้องเป็นเมล็ดผักกาดในบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย  ต่อมา นางจึงรู้สัจธรรมว่า ทุกคนต้องตายมิใช่ตายเฉพาะบุตรของนางเท่านั้น  จึงได้ขอบวช

                    พระโสณาเถรี นางมีบุตร ๑๐ คน ภายหลังสามีบวช นางมอบมรดกแก่บุตรและสะใภ้ไม่เหลือเก็บไว้เลย อาศัยบุตรคนนั้นบ้างคนโน้นบ้าง ต่อมาบุตรและสะใภ้ดูหมิ่นดูแคลน จึงไปขอบวช

                    พระภัททากุณฑลเกสีเถรี นางฝืนคำสั่งบิดามารดาได้โจรเป็นสามี ถูกสามีลวงไปหวังฆ่าชิงทรัพย์ แต่ใช้ไหวพริบฆ่าสามีตายแล้วจึงไปบวช

                     บวชเพราะแรงจูงใจอย่างอื่น

                    ภิกษุณีมีแรงจูงใจด้านสัทธาจริต มีความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธเจ้า ส่วนใหญ่ภิกษุณีฟังเทศนาจึงเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ถือเอาคำสอนเป็นที่พึ่งและสามารถสมานความคับแค้นใจตลอดจนความทุกข์ยากได้เป็นอย่างดี เช่น พระจิตตาเถรี พระโสมาเถรี พระมิตตากาฬีเถรี พระเขมาเถรี

                    วิธีบวชภิกษุณี    วิธี

                    ในสมัยพุทธกาล สตรีที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีมี ๓ จำพวก   พวกหนึ่งเป็นหญิงโสด  มีอายุครบ ๑๘  ปี  อีกพวกหนึ่งมีสามีแล้วแต่อายุไม่ถึง ๑๘ ปี  อีกพวกหนึ่งมีอายุเกิน ๒๐ ปี  สังคมอินเดียโบราณมิได้กำหนดอายุสตรีว่าควรแต่งงานเมื่อมีอายุเท่าไร  บางคนพ่อกับแม่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจับจองกันไว้ตั้งแต่คู่บ่าวสาวยังอยู่ในครรภ์  (วิ. มหา. ๑/๓๐๔/๒๓๖) ในคัมภีร์ภิกขุนีวิภังค์กำหนดอายุสตรีที่จะบวชต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๒ ปี  (ถ้ามีสามี)  ถือว่ามีความรับผิดชอบทางครอบครัว  ดูแลตัวเองได้  แต่ถ้าอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี  และยังโสดห้ามให้บวช

                    คัมภีร์สมันตปาสาทิกา  แสดงวิธีอุปสมบทของสตรี ๓  วิธี 

                    แบบที่ ๑ เรียกว่า  ครุธรรมปฎิคคหณูปสัมปทา  วิธีนี้มีเพียงพระนางมหาปชาบดีโคตมีที่ได้บวช  พระนางเป็นภิกษุณีรูปแรก  ได้บวชเป็นกรณีพิเศษ   เพียงรับว่าจะปฏิบัติ ครุธรรม    ข้อ  ได้ตลอดชีวิตก็ถือว่าบวชเป็นภิกษุณี  ครุธรรม  หมายถึง  ข้อปฏิบัติหนักหรือปฏิบัติได้ยาก  ได้แก่

                    ๑. ภิกษุณีแม้บวชได้ ๑๐๐ พรรษา  ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้ที่บวชได้วันเดียว

                    ๒. ภิกษุณีจะอยู่ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุไม่ได้

                    ๓. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน

                    ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ 

                     โดยได้เห็น  โดยได้ยิน  โดยรังเกียจสงสัย

                    ๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก  ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย คือ  ฝ่ายภิกษุสงฆ์และ           ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์  ๑๕ วัน

                    ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย  เพื่อสิกขมานา

                    ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าโดยปริยายไร ๆ

                    ๘. ภิกษุณีต้องไม่ว่ากล่าวภิกษุ  แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้  (วินย.จู. ๗/๔๐๒/๒๓๑)

                    แบบที่ ๒ เรียกว่า  อัฎฐวาจิกาอุปสัมปทา  วิธีนี้มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก  อรรถกถาวินัยปิฎก  แสดงว่าเด็กหญิงอายุ  ๑๐  ปี  ที่แต่งงานแล้วปรารถนาจะบวชเป็นภิกษุณีต้องประพฤติข้อปฏิบัติ  (สิกขาสมมติ)  อีก    ปี   จนอายุครบ ๑๒  ปี  จึงบวชได้  ถ้ามีอายุ  ๑๑  ปี  จะต้องอยู่ประพฤติ สิกขาสมมติอีก ๒  ปี  จนมีอายุครบ  ๑๓  ปี  หรือถ้ามีอายุ  ๑๒–๑๓–๑๔–๑๕–๑๖–๑๗–๑๘  ปี จะต้องอยู่ประพฤติสิกขาสมมติอีกคนละ ๒ ปี  จนมีอายุครบ  ๑๔–๑๕–๑๖–๑๗–๑๘–๑๙–๒๐ ปี  (วิ.อ.  ๒/๑๑๑๙/๕๑๙)  ซึ่งจะต้องรักษาข้อปฏิบัติคนละ   ปี

                    สตรีผู้จะบวชเป็นภิกษุณีต้องผ่านการทดสอบอย่างกวดขันมีขั้นตอนและใช้เวลานาน  ขั้นแรกเปิดโอกาสให้ทดลองปฏิบัติตามวิถีชีวิตนักบวช  ให้รักษาศีล ๑๐ ข้อ  เรียกว่า  สามเณรี  พออายุได้  ๑๘  ปี  ให้ปฏิบัติธรรม  (ศีล ๖)  เรียกว่า  สิกขมานา  เมื่อปฏิบัติได้ดีไม่ล่วงละเมิดศีลครบ ๒ ปี  ถ้าผิดพลาดเช่นล่วงละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง ต้องเริ่มนับกำหนดใหม่  และจะต้องได้รับความพร้อมใจจากภิกษุณีสงฆ์ว่าสมควรให้สตรีผู้นั้น  บวชหรือไม่  ถ้าได้รับอนุญาตจากภิกษุณีสงฆ์ บวชแล้วจะต้องไปบวชกับภิกษุสงฆ์ซ้ำอีก  จึงถือว่าบวชตามพระพุทธบัญญัติ

                    ขั้นตอนการบวชมี    ระยะ

                    ๑. เป็นสามเณรี  รักษาศีล  ๑๐  ข้อ

                    ๒. เป็นสิกขมานา  รักษาศีล    ข้อ

                    ๓. ขอบวชกับภิกษุณีสงฆ์

                    ๔. ขอบวชกับภิกษุสงฆ์

                    แบบที่ ๓ เรียกว่า  ทูเตนอุปสัมปทา  วิธีนี้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นกรณีพิเศษต่อผู้จะบวชแต่ไม่อาจเดินทางไปบวชได้ด้วยตนเอง  ทรงอนุญาตให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ทรงอนุญาตแก่นางอัฑฒกาสี ผู้เดียว 

                    สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงวางกฎเกณฑ์ไว้เคร่งครัด 

                    ๑.  เพื่อคัดเลือกและทดสอบสตรีผู้ปรารถนาจะบวช   ว่ามีจิตใจเข้มแข็งจริงจังเพียงใด  เมื่อเข้ามาบวชแล้วจะสามารถอดทนความทุกข์ยากตลอดจนข้อปฏิบัติอื่น ๆ  ได้หรือไม่

                    ๒. เพื่อฝึกฝนอบรมผู้ที่จะเข้ามาเป็นภิกษุณีให้มีความรู้ขั้นมูลฐาน  จะได้มีความเฉลียวฉลาด  เมื่อได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว   เพราะในช่วงที่เป็นสิกขมานา    ปี  ต้องอยู่ใกล้ชิดกับภิกษุณีอื่น ๆ  จึงเป็นการเรียนรู้สมณจริยาและข้อวัตรอย่างอื่นด้วย

                    ๓.  เพื่อให้ภิกษุณีเกิดความหวงแหนในความเป็นสมณะของตน  จะได้ไม่ต้องประพฤติเสียหาย  อันเกิดอันตรายต่อเพศพรหมจรรย์  ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้มายากลำบาก  เพราะธรรมดาสิ่งที่ได้มายากย่อมจะมีคุณค่าสูง

                    ๔.  เพื่อป้องกันมิให้สตรีเข้ามาบวชมากจนเกินไป

                    การพัฒนาปัญญา(ของสตรี)

                    พระพุทธศาสนามุ่งประโยชน์สุขของมนุษย์ เน้นมนุษย์เป็นแกนกลาง “ทางสายกลาง” ก็คือหลักการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ตามระบบไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา การพัฒนามนุษย์ จะต้องมีองค์ประกอบช่วยสนับสนุน ทั้งที่เป็นองค์ประกอบภายนอกและภายในตัวมนุษย์ คือ

                    ๑. ข้อมูลจากภายนอก หมายถึงมีสิ่งแวดล้อมดี  เรียกว่าปรโตโฆสะ

                    ๒. รู้จักใช้ความคิด คือ คิดเป็น เรียกว่าโยนิโสมนสิการ (อํ. ทุก. ๒๐/๑๒๗/๘๓)

                    เมื่อมีองค์ประกอบครบ กระบวนการพัฒนาก็ดำเนินไปตามหลักไตรสิกขา บุคคลผู้พัฒนาศักยภาพได้บริบูรณ์ เรียกว่า
พระอรหันต  หมายถึงผู้จบการศึกษา เป็นอเสขะ ไม่มีกิจที่ต้องศึกษาอีก

                    ในพระพุทธศาสนามีการพัฒนาปัญญาหลายขั้นหลายตอนจนกว่าจะบรรลุจุดหมายสุดท้าย คือ มีปัญญาที่รู้เท่าทันโลกและชีวิต  เมื่อปัญญาเจริญอย่างถูกต้องก็จะส่งผลแก่จิตใจ ทำให้จิตใจดีงาม มีความสุข และเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิตด้วย การพัฒนามีหลักใหญ่ ๔ ประการ คือ

                    . กายภาวนา พัฒนาทางกาย

                    . ศีลภาวนา พัฒนาทางศีลคือระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมในสังคม

                    . จิตภาวนา พัฒนาทางจิตใจ

                    . ปัญญาภาวนา พัฒนาทางปัญญา  (อํ.ปญฺจก. ๒๒/๗๙/๑๒๑)          

เมื่อเปลี่ยนรูปเป็นคุณศัพท์จะเปลี่ยนเป็นคำแสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์ คือ

                    . ภาวิตกาย มีกายที่ภาวนา คือ พัฒนาแล้ว

                    . ภาวิตศีล มีศีลที่พัฒนาแล้ว

                    . ภาวิตจิต มีจิตใจที่พัฒนาแล้ว

                    . ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว

                    เรียกว่า เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ซึ่งเข้าถึงจุดหมายของการพัฒนาชีวิตอย่างแท้จริง

                    กระบวนการพัฒนาศักยภาพยังมี “อุปนิสัย” คือพฤติกรรมภายในที่เอื้อต่อการพัฒนาอีก คัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวถึงอุปนิสัย คือพฤติกรรม มีด้านบวก(กุศลจริยา) กับด้านลบ(อกุศลจริยา)  ได้แก่

                    ๑. มุ่งไปทางรักสวยรักงาม(ราคจริยา)

๒.มุ่งไปทางโกรธเคือง(โทสจริยา)
๓. มุ่งไปทางท้อแท้หงุดหงิด(โมหจริยา)

๔.มุ่งไปทางคลุกคลีหมู่คณะชอบพูดคุย(วิตักกจริยา)

๕. มุ่งทางเลื่อมใสเบิกบาน(สัทธาจริยา)

๖. มุ่งพิจารณาเหตุผล(พุทธิจริยา)             (วิสุทฺธิ. /๑๓๕)

                    มนุษย์ทุกคนมีจริยาเหล่านี้อย่างเดียวหรือมีหลายจริยา ภิกษุณีมีสัทธาจริยากับพุทธิจริยา ควบคู่กัน เพราะเป็นกุศลจริยา คือ ใฝ่ดีงาม ใฝ่สงบ

                    ภิกษุณีปฏิบัติธรรม ๒ แบบ คือ  สมถะ กับ วิปัสสนา

                    -วิธีแบบสมถะ หมายความว่าพิจารณาอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิไม่ฟุ้งซ่าน ได้อาศัยอารมณ์สมาธินั้นเป็นพื้นฐานพิจารณาสู่ขั้นวิปัสสนาต่อไป

                    -วิธีแบบวิปัสสนา หมายความว่าผู้ปฏิบัติไม่เคยปฏิบัติสมาธิมาก่อน เริ่มวิปัสสนาทันที กำหนดพิจารณากฎของไตรลักษณ์ จนได้พัฒนาปัญญาอย่างสูงสุด ภิกษุณีในเถรีคาถา ๗๓ รูป มีเพียงรูปเดียวเท่านั้นที่ปฏิบัติวิธีนี้จนได้รับผลสำเร็จ

                    อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจภายในสำคัญที่ทำให้เกิดการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพภิกษุณี ได้แก่ความเลื่อมใส คือ ศรัทธา     นอกจากนั้นปัญหาชีวิตที่รุมเร้า ประสบการณ์ในชีวิต ตลอดจนความป่วยไข้
ก็เป็นแรงผลักดันให้ภิกษุณีฝึกฝนพัฒนาไม่ย่อท้อ ความอดทน ความจริงจัง และการควบคุมสติ เป็นคุณสมบัติอันจำเป็นสำหรับผู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง

                    สรุป

                    แม้สตรีในสังคมอินเดียโบราณถูกปิดกั้นศักยภาพทางปัญญา ไม่มีสิทธิในการศึกษาพัฒนาตนเอง จนเกิดเป็นค่านิยม “ช้างเท้าหลัง” ตามสามีอยู่ตลอดเวลา เมื่อพระพุทธศาสนามีคำสอนเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก ยอมรับศักยภาพความเป็นมนุษย์ ถือว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ ยกย่องมนุษย์ว่าผู้ที่ฝึกฝนอบรมพัฒนาตนดีแล้วคือผู้ประเสริฐ คำสอน
เรื่องทางสายกลาง มีมนุษย์เป็นแกนกลาง จึงเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์
ดังนั้น สิทธิด้านการศึกษาของสตรีจึงเปิดกว้างรับสตรีทุกวรรณะเข้ามาในรูปของภิกษุณีสงฆ์ คือกลุ่มพระผู้หญิง แม้การที่พระพุทธศาสนาเปิดโอกาสทางการศึกษาพัฒนาให้แก่สตรีเช่นนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงทำด้วยความระมัดระวัง เพราะสมัยนั้นสิทธิทางการศึกษาของสตรีถูกปิดกั้นมาโดยตลอด

                    พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งสังคมสงฆ์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสังคม พระพุทธเจ้ามิใช่ผู้ประกาศลัทธิหรือเผยแพร่คำสอนอย่างไร้จุดหมาย พระองค์ทรงมุ่งให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์ทุกครั้ง ทั้งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะที่ทรงเป็นกัลยาณมิตรของชาวโลก สังคมสงฆ์มีรูปแบบเป็นของตน พระองค์เปรียบเหมือนช่างดอกไม้ใช้เส้นด้ายร้อยรัดดอกไม้เป็นช่องาม
ทรงวางข้อบัญญัติคือพระวินัยเป็นกรอบควบคุมความประพฤติของผู้เข้ามาสู่สังคมสงฆ์ เพราะคนที่เข้ามาในสังคมนี้มีพื้นฐานความรู้และมีความประพฤติแตกต่างกัน แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในพระวินัยอันเดียวกันก็สามารถฝึกฝนพัฒนาตนไปสู่จุดหมายสูงสุดแห่งคำสอนได้

                    ภิกษุณีสงฆ์ก็เป็นสังคมตัวอย่างของผู้ที่ได้พัฒนาศักยภาพ ในอดีต ภิกษุณีที่พัฒนาตนแล้วเรียกว่าพระอริยบุคคล คือ พระอรหันต์ เป็นอเสขะจบการศึกษา เป็นตัวอย่างของผู้กระทำความดี ภาพชีวิตของพระอริยบุคคลมีความเป็นอยู่เรียบง่าย สงบ มีระเบียบในชีวิต ไม่มีความสับสนทางจิตใจ มองโลกด้วยความรู้ความเข้าใจ ดำเนินชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ด้วยจิตใจบริสุทธิ์ และใช้ปัญญา คอยเกื้อกูลผู้อื่นตามโอกาสของตน ความสมถะนี้เองจึงทำให้ท่านมีความกังวลน้อย และเราจะพบว่าวิถีชีวิตของคนที่มีความกังวลน้อยมักจะสร้างคุณประโยชน์ได้อเนกอนันต์

 

รายชื่อภิกษุณีในเถรีคาถา ๗๓ รูป

 

๑. พระอัญญตราเถรี

๒. พระมุตตาเถรี

๓. พระปุณณาเถรี

๔. พระติสสาเถรี

๕. พระอัญญตราติสสาเถรี

๖. พระธีราเถรี

๗. พระวีราเถรี

๘. พระมิตตาเถรี

๙. พระภัทราเถรี

๑๐. พระอุปสมาเถรี

๑๑. พระมุตตาเถรี

๑๒. พระธัมมทินนาเถรี

๑๓. พระวิสาขาเถรี

๑๔. พระสุมนาเถรี

๑๕. พระอุตตราเถรี

๑๖. พระวุฑฒปัพพชิตสุมนาเถรี

๑๗. พระธัมมาเถรี

๑๘. พระสังฆาเถรี

๑๙. พระอภิรูปนันทาเถรี

๒๐. พระเชนตาเถรี

๒๑. พระสุมังคลมาตุเถรี

๒๒. พระอัฑฒกาสีเถรี

๒๓. พระจิตตาเถรี

๒๔. พระเมตติกาเถรี

๒๕. พระมิตตาเถรี

๒๖. พระอภยมาตุเถรี

๒๗. พระอภยาเถรี

๒๘. พระสามาเถรี

๒๙. พระอปราสามาเถรี

๓๐. พระอุตตมาเถรี

๓๑. พระอปราอุตตมาเถรี

๓๒. พระทันติกาเถรี

๓๓. พระอุพพิรีเถรี

๓๔. พระสุกกาเถรี

๓๕. พระเสลาเถรี

๓๖. พระโสมาเถรี

๓๗. พระภัททกาปิลานีเถรี

๓๘. พระอัญญตราเถรี

๓๙. พระวิมลาเถรี

๔๐. พระสีหาเถรี

๔๑. พระสุนทรีนันทาเถรี

๔๒. พระนันทุตตราเถรี

๔๓. พระมิตตากาฬีเถรี

๔๔. พระสกุลาเถรี

๔๕. พระโสณาเถรี

๔๖. พระภัททากุณฑลเกสาเถรี

๔๗. พระปฎาจาราเถรี

๔๘. พระติงสมัตตาเถรี

๔๙. พระจันทาเถรี

๕๐. พระปัญจสตามัตตาเถรี

๕๑. พระวาสิฎฐีเถรี

๕๒. พระเขมาเถรี

๕๓. พระสุชาตาเถรี

๕๔. พระอโนปมาเถรี

๕๕. พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี

๕๖. พระคุตตาเถรี

๕๗. พระวิชยาเถรี

๕๘. พระอุตตราเถรี

๕๙. พระจาลาเถรี

๖๐. พระอุปจาลาเถรี

๖๑. พระสีสูปจาลาเถรี

๖๒. พระวัฑฒมาตุเถรี

๖๓. พระกีสาโคตมีเถรี

๖๔. พระอุบลวรรณาเถรี

๖๕. พระปุณณาเถรี

๖๖. พระอัมพปาลีเถรี

๖๗. พระโรหิณีเถรี

๖๘. พระจาปาเถรี

๖๙. พระสุนทรีเถรี

๗๐. พระสุภากัมมารธีตุเถรี

๗๑. พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี

๗๒. พระอิสิทาสีเถรี

๗๓. พระสุเมธาเถรี

 

 

บรรณานุกรม

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มหาจุฬาเตปิฏกํ.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลง กรณ

                     ราชวิทยาลัย, ม.ป.ป.

_______. อรรถกถาภาษาบาลี.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, โรงพิมพ์

                    วิญญาณ, ๒๕๓๒- ๒๕๓๓.

Horner, I.B. Woman Under Primative Buddhism. Delhi : Motilal Banarasidess, 1990.

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕