หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาวรเดชา อคฺคเตโช (พรหมเสนา) » ทางสายกลางในฐานะเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน
 
เข้าชม : ๒๗๔๓๕ ครั้ง

''ทางสายกลางในฐานะเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน''
 
พระมหาวรเดชา อคฺคเตโช (พรหมเสนา)

๑.  ความนำ (Introduction)                                          

               

                เรื่องเศรษฐกิจ (Economy) มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก จึงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง  ในปัจจุบันแทบจะดูไม่ออกว่าเศรษฐกิจชนิดไหนมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ เพราะส่วนมากจะแข่งขันกันทางด้านการผลิตเสียมากกว่าเรื่องคุณภาพ ซึ่งส่วนมากจะหวังผลกำไรจากการผลิต (Product) มากกว่าคุณภาพ การพัฒนา (Development) เศรษฐกิจจึงถูกมองข้ามไปเพราะอำนาจทางการเงินที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเงินมีอิทธิพลมากกว่า การทุจริตก็เกิดขึ้นการพัฒนาจึงด้อย เกิดกระแสข่าวในด้านลบเกี่ยวกับเศรษฐกิจ มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีปริมาณมากกว่าคุณภาพ  เมื่อเศรษฐกิจขาดคุณภาพ ปัญหาเศรษฐกิจก็ตามมา ดังนั้นต้องพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพ จึงจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญได้ และเศรษฐกิจจะพัฒนาหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากธรรมชาติ (Nature) และมนุษย์ (Humans) เท่านั้น

                ธรรมชาติและมนุษย์เป็นของคู่กัน เมื่อมนุษย์อาศัยอยู่กับธรรมชาติ ธรรมชาติจึงเป็นผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่างรวมทั้งชีวิตของมนุษย์และสัตว์ มนุษย์ในฐานะผู้อาศัยธรรมชาติและเป็นผู้ประกอบการทางด้านเศรษฐกิจ ต้องรู้จักเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต เพราะเศรษฐกิจเป็นหัวใจในการดำรงชีวิต  สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนไปทางเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นอยู่ของมนุษย์ ถ้าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดีสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก็ดี  มนุษย์ก็มีสุขภาพดี จิตใจดี เศรษฐกิจก็ดีตาม สังคมก็เจริญรุ่งเรืองสงบสุข ถ้าธรรมชาติและสภาพแวดล้อมถูกทำลาย อากาศเป็นพิษ  เศรษฐกิจก็มีปัญหา การแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ สังคมมนุษย์ต้องเอาใจใส่สภาพแวดทางธรรมชาติ และมนุษย์ต้องมีธรรมะ เพื่อเป็นปัจจัยทางด้านการพัฒนาตนเอง สังคม และเศรษฐกิจ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน กล่าวว่า คำว่าธรรมะ หมายถึง ธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติ

                ในสังคมโลกที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมประชากรให้มีการศึกษา แต่เป็นการศึกษาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบตะวันตก มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่มองถึงบุคคลอื่นโดยการมุ่งสร้างความเจริญทางด้านวัตถุ เน้นความเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวกับทางด้านจิตใจ จึงเกิดปัญหาร้ายแรงแก่ชีวิตมนุษย์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม รวมทั้งธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทั่วโลก อีกทั้งประชากรขาดประสบการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ   มุ่งแต่จะแสวงหาเงินทองอย่างเดียว  ลุ่มหลงเป็นทาสทุนนิยมและวัตถุนิยม ไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ขาดการพัฒนาทางด้านจิตใจ  อ่อนแอและหวั่นไหวต่อสื่อทางด้านเศรษฐกิจ มองข้ามประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ใกล้ตัว จึงส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

ดังที่คุณวิทยากร เชียงกูล ให้ทัศนะไว้ว่า ประชาชนไทยถูกอิทธิพลของการศึกษาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกสอนให้คิดแต่เรื่องของตัวเอง และมองเรื่องการศึกษาและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศาสนาอย่างแยกเป็นส่วน ๆ เหมือนกับระบบการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้ง ๆ ที่เราแต่ละคนต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน และชีวิตของคนเราประกอบไปด้วยกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ส่วนตัวจำนวนมากที่เชื่อมโยงมีผลกระทบต่อกันและกันอย่างเป็นระบบองค์รวม

                เมื่ออิทธิพลทางการศึกษาแบบทุนนิยมระบาด จึงเกิดการมองแบบแยกส่วน ต่างคนต่างอยู่และไม่พึ่งพาอาศัยกันและกัน ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นในสังคมจนถึงระดับชาติ ดังนั้น จึงควรหันมาสนใจการพัฒนาจิตใจตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ (The Noble Eightfold Path)

 

 

๒. มูลเหตุเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ (Cause and Economy Development)

                มูลเหตุที่ต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดจากสิ่งประกอบหลายสิ่งหลายประการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามกระแสการความต้องการของสังคม ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นจากผลกระทบจากอำนาจใด ๆ ก็ตาม ย่อมเป็นสาเหตุแห่งการแก้ไขปัญหาสู่การนำไปพัฒนา และสิ่งที่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้นนั้น ก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ใกล้ตัวนั่นเอง เช่น

 

๒.๑ เกิดปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน (Now Problem)

                ปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์  มนุษย์อยู่กับธรรมชาติ แต่มนุษย์ไม่รู้จักคุณค่าของธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นผู้สร้าง แต่มนุษย์เป็นผู้ทำลาย ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจ จึงเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้หรือขาดการศึกษาตัวเอง สภาพแวดล้อม แยกออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังต่อไปนี้

            ก) ปัญหาในชนบท (Countryside Problem) ชนบทประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น การศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่ทำกิน ตัดไม่ทำลายป่า ความยากจน และอบายมุข      ปัญหาดังกล่าวนี้ เป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ และชนบทก็เป็นพื้นฐานของสังคมเมือง  ส่วนมากมีปัญหาก็ย้ายจากชนบท เข้าสู่เมืองหลวงเพื่อขายแรงงาน

                            ข) ปัญหาในเมืองหลวง (Capital Problem) เมืองหลวง มีปัญหามากมาย เช่น การเมือง   การปกครอง   สภาพแวดล้อม  แออัด อาชญากร  ยาเสพติด  อบายมุข และจราจร  เป็นปัญหาสังคมเช่นกันที่ต้องได้รับการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงตามเหตุปัจจัยและสถานการณ์ เพื่อความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย

               

 

๒.๒ ขาดการพัฒนาเศรษฐกิจตามทางสายกลาง (Economy Development on Middle Way)

                ปัญหาส่วนมากเกิดจากมนุษย์นั่นเอง การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ต้องแก้ที่ตัวคนก่อน เพราะคนเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดปัญหา เมื่อคนมีปัญหาจึงส่งผลถึงเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะมีผลเป็นบวกหรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของคนนั่นเอง  ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจต้องพัฒนาด้วยหลักธรรมทางพุทธศาสนาให้ตรงจุดที่ต้องการ ถ้าพัฒนาไม่ตรงจุดก็มีแต่จะเพิ่มปัญหาและทำให้เสียเวลา

                ดังที่พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ทัศนะว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นกิจกรรมของมนุษย์ การที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างนั้น เราจะต้องมีความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ตลอดจนจุดหมายของชีวิตมนุษย์ด้วย คนที่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องของมนุษย์ จะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์  เมื่อเศรษฐกิจเป็นเรื่องของมนุษย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ก่อน ธรรมดามนุษย์ทุกคนที่เกิดมา ไม่มีใครฉลาดตั้งแต่เกิด ไม่มีใครรู้โดยที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

ฉะนั้น เมื่อมนุษย์ไม่ได้ฉลาดมาตั้งแต่เกิด มนุษย์ก็ต้องมีความบกพร่องที่ควรจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น และสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นนั้นมี ๓ ข้อ คือ (๑) ศีล (Morality) ความเป็นปกติ (๒) สมาธิ (Concentration) ความตั้งใจมั่นคง (๓) ปัญญา (Wisdom) ความรอบรู้  

ศีล สมาธิ และปัญญาจัดเข้ากับทางสายกลาง ซึ่งเป็นหลักและแนวทางในการพัฒนาชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม อย่างไรก็ตาม  การที่จะพัฒนาให้สำเร็จ ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นผลต่อการแก้ปัญหาเป็นอย่างมาก ต้องศึกษาเหตุผลเป็นปัจจัยสำคัญ ดังที่ท่านพระเทพเวที ให้ทัศนะไว้ว่า

(๑) ปัจจัยภายนอก (Outside Cause) เรียกว่า ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่นหรือเสียงบอกจากผู้อื่น ได้แก่ การรับถ่ายทอดหรืออิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น พ่อ แม่ ครู อาจารย์ เพื่อนที่คบหา หนังสือ สื่อมวลชน และวัฒนธรรม ซึ่งให้ข่าวสารที่ถูกต้อง สั่งสอนแนะนำชักจูงไปในทางที่ดีงาม

(๒) ปัจจัยภายใน (Inside Cause) เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย หมายถึง การคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด หรือคิดเป็น คิดให้เป็นระบบ มีหลักการ นำไปใช้งานได้

ดังนั้น เมื่อมนุษย์ได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดีงามถูกต้อง สมควรแก่การงานแล้ว  มนุษย์ก็สามารถที่จะพัฒนากิจกรรม เช่น เศรษฐกิจ ให้เป็นไปตามต้องการของตนเองและสังคมได้  และเศรษฐกิจจะดีมีคุณภาพ ให้ผลไปในทางประโยชน์สุขได้ ก็เพราะเป็นกิจกรรมที่อาศัยมนุษย์ผู้ซึ่งได้รับการพัฒนาทางด้าน ศีล สมาธิและ ปัญญามาเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น

 

                 

๒.๓ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขาดหลักทางสายกลาง (Economy Development on Another Way)

เศรษฐกิจขาดหลักศีลธรรมจริยธรรม นอกลู่นอกทางไม่เป็นทางสายกลาง ก็มักจะประสบปัญหาตามมา และไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ เช่น

                (๑) มุ่งความร่ำรวย (Richness) หวังแต่ผลประโยชน์ทางวัตถุเพื่อความร่ำรวยอย่างเดียว ย่อมจะนำสังคมไปสู่ความหายนะ ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจจะมั่งมีเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีในขณะนั้นก็ตาม แต่สิ่งที่ตามมาจะปรากฏให้ชัดแก่สังคมถึงความเห็นแก่ตัวและความความอยากเกินขอบเขต มนุษย์ถึงแม้ว่าจะร่ำรวยแค่ไหนถ้าขาดการพัฒนาก็จะสร้างปัญหาให้แก่สังคม

                (๒) ขาดคุณภาพ (Non Quality) มุ่งแต่การผลิตให้ได้ปริมาณที่มากมายมหาศาล เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะมีต่อผู้บริโภค ตามหลักการของมนุษย์ มนุษย์ต้องเกื้อกูลและอาศัยซึ่งกันและกัน ต้องคิดแบบแยบคายหรือแบบละเอียดใจกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ต้องมุ่งความมีคุณภาพคู่กับการผลิตโดยไม่แยกจากกัน เพราะธรรมชาติพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  

(๓) ขัดต่อศีลธรรมจริยธรรม (Oppose to Morals and Ethical Behavior) ศีลธรรมจริยธรรมเป็นตัวนำสังคมให้เจริญงอกงามและสันติสุข การพัฒนาที่ขัดต่อศีลธรรมจริยธรรมหรือขาดจากศีลธรรมจริยธรรมไม่ชื่อว่าการพัฒนา หากแต่เป็นการสร้างปัญหาให้สังคม ไม่ว่าสังคมใดล้วนต้องการความสงบสุข รังเกียจความทุกข์กันทั้งนั้น การรู้จักอกเราอกเขา เอาใจเราไปใส่ใจเขา เอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็คือมีเมตตาต่อกันและกัน ซึ่งเป็นศีลธรรมจริยธรรมของสังคม

               

               

                ๒.๔ ขาดความเข้าใจหลักแห่งทางสายกลาง (Non Understand Major of the Middle Way)              ทางสายกลาง  หรือมัชฌิมาปฏิปทา คือ หลักการปฏิบัติหรือแนวทางการปฏิบัติ หมายถึงการรู้จักประมาณ ความพอดี พอประมาณ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียนและไม่ก่อปัญหาให้แก่ตนเองและผู้อื่น ตามที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ทัศนะไว้ว่า

ความหมายอีกอย่างหนึ่งของความพอดี หรือมัชฌิมา คือไม่เบียดตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นอันนี้เป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา ใช้ตัดสินพฤติกรรมมนุษย์ ไม่เฉพาะในการบริโภคเท่านั้น แต่ในทุกกรณีทีเดียว เป็นมัชฌิมา ก็คือ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คำว่า ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ในพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เฉพาะคนเรามีหลักว่า อหึสา สพฺพปาณานํ แปลว่า ไม่เบียดเบียนชีวิตทั้งปวง ซึ่งสมัยนี้เขาเรียกว่า Ecosystems แปลกันว่าระบบนิเวศ[หรือระบบธรรมชาติของสัตว์โลก

 

               

                ๒.๕ ทางสายกลางมีประโยชน์อย่างไร (What is Benefit of the Middle Way)

                ทางสายกลางในพุทธศาสนาจึงจำเป็นอย่างมากต่อการประกอบการทางเศรษฐกิจ ทั้งผู้ลงทุนและลูกค้าต้องรู้จักตั้งตนให้อยู่ในหลักศีลธรรมจริยธรรมอันจะนำมาซึ่งความสุขทั้งสองฝ่ายคือ ทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค  พุทธศาสนาจึงเน้นเศรษฐกิจแนวพุทธ ซึ่งเป็นจุดความพอดี คือได้ทั้งคุณภาพชีวิตและความพึงพอใจในส่วนดี ดังที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านได้ให้ทัศนะไว้ว่า

                ที่ทำให้เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความพอดี หรือมัชฌิมาปฏิปทา ก็คือการที่บริโภคแล้วทำให้ได้คุณภาพชีวิต แล้วเกิดความพึงพอใจที่จุดนี้ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดที่ทำให้เกิดความพอดี ในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์แบบปัจจุบันแล้ว การสนองความต้องการซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด จะทำให้ไม่มีความพอดีเกิดขึ้น และก็จะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน อันนี้เป็นของความพอดีอย่างหนึ่ง[ต้องรู้จักความพอดีให้เป็นพื้นฐาน

ดังนั้น ทางสายกลางจึงมีประโยชน์เน้นความพอดีและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และการพัฒนาต้องศึกษาที่ต้นเหตุของปัญหาแล้วนำมาพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ตามกระบวนการทางหลักวิชาการเพื่อให้รู้ว่ามีจุดมุ่งหมายไปทางไหน

               

๒.๖ ทางทางสายกลางมีจุดมุ่งหมายอย่างไร (What is the Aim of the Middle Way)

ทางสายกลางมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทางด้านจิตใจและการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมากในสังคมปัจจุบันนี้ เพื่อป้องกันอิทธิพลมืดแบบวัตถุนิยมจากสังคมตะวันตกที่แผ่กระจายเข้ามาสู่สังคมไทย จนมองเห็นแต่ผลกำไรอย่างเดียว ไม่มองถึงคุณภาพหรือความเอกภาพของสังคม เป็นเพราะว่าสังคมไม่เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจไม่ใช่จะให้ผลกำไรเท่านั้น หากผิดพลาดเมื่อไหร่แล้วทุกข์มหันต์จะตามมา ดังที่คุณ วิทยาธร เชียงกูลให้เหตุผลว่า          ในสภาพที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมทั้งของไทยและของโลกมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจชะลอ การดำเนินชีวิตของปัจเจกชนภายใต้ระบบนี้มีปัญหาเรื่องความยากจนและการขาดแคลน ชาวไทยเราควรสนใจศึกษาเรื่องปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและพุทธศาสนาอย่างวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (มีเหตุผล) เราจึงจะเข้าใจถึงสภาพสาเหตุของความทุกข์และหนทางในการดับทุกข์ของทั้งมนุษย์และสังคมได้

                ฉะนั้น เศรษฐกิจแบบทางสายกลาง จึงมุ่งการศึกษาทางด้านศีล สมาธิ ปัญญา  ซึ่งเป็นพื้นฐานทางจิตใจของมนุษย์ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและการบริหารประเทศชาติ  

 

๓. ลักษณะเศรษฐกิจแบบทางสายกลางเป็นอย่างไร (Economy Type of the Middle Way)

                เศรษฐกิจมีหลายลักษณะ มีทั้งที่เป็นไปในทางด้านลบและด้านบวก มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ เป็นไปในด้านส่งเสริมศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม การเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิต ใช่ว่ารู้เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ไม่รู้เรื่องวิธีการทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องลักษณะแห่งเศรษฐกิจซึ่งมีดังต่อไปนี้ คือ

                ๓.๑ ลักษณะทางโลกหรือโลกิยะ (Quality of Secular or Worldly) ได้แก่ การเป็นอยู่ของฆราวาสคนทั่วไปใช้ในระดับเศรษฐกิจครอบครัวตั้งแต่สองคนขึ้นไป มีลักษณะเป็นปกติศีลเป็นจริยธรรมสำหรับการอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขในสังคม ซึ่งประกอบด้วยหลักศีลธรรม ๕ ประการ คือ

                                (๑) เว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ให้ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหงรังแกผู้อื่น

                                (๒) เว้นจากการลักทรัพย์ ไม่ใช้ให้ลัก ไม่ถือเอา ไม่ฉกฉวยสิ่งของผู้อื่น

                                (๓) เว้นจากการประพฤติผิดทางกาม ไม่พอใจ ไม่นอกใจคู่ครอง ไม่แย่งคู่ครอง
                                (๔) เว้นจาการพูดเท็จ ไม่ใช้ให้โกง ไม่โกหกหลอกลวง ไม่ปั้นน้ำเป็นตัว

                                (๕) เว้นจากการดื่มของมึนเมา ไม่ใช้ให้ดื่มสุราเมรัยบุหรี่ ยาบ้า ยาอี ฝิ่นกัญชา

                ๓.๒ ลักษณะทางธรรมหรือโลกุตระ (Quality of Doctrine or Dharma which Releases One from the World) ได้แก่ การเป็นอยู่ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายในชีวิตประจำวัน ตามกฎข้อบังคับระเบียบวินัย ที่พระพุทธองค์ได้วางเอาไว้แล้ว เพื่อดำรงสมณธรรมสู่จุดมุ่งหมายคือนิพพาน ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย ๔ ประการ คือ

                (๑) จีวร  เครื่องนุ่งห่มสำหรับพระสงฆ์มีแค่สามผืน ไม่ใช้เกินความจำเป็น

(๒) บิณฑบาต  อาหารที่ได้รับมาด้วยความบริสุทธิ์ อันเกิดจากศรัทธาชาวบ้าน

(๓) เสนาสนะ  ที่อยู่อาศัยตามสมควรแก่ฐานะ และสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ

(๔) คิลานเภสัช  ยารักษาโรคเป็นสิ่งจำเป็น แก่สังคมมนุษย์และแม้กระทั่งสัตว์

                ดังที่ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ทัศนะไว้ว่า เศรษฐกิจแบบทางสายกลางเป็นได้ทุก สังคมเช่นสังคมของพระสงฆ์ การตั้งอยู่ในระเบียบวินัยสามารถเป็นปัจจัยแห่งเศรษฐกิจสายกลางได้ ยกตัวอย่างเช่นระเบียบวินัยของพระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นชุมชนหรือสังคมหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นมาตามอุดมการณ์ของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ในบทบัญญัติที่เรียกว่าวินัยนี้มีกฎข้อบังคับ หลักปฏิบัติที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ เกี่ยวกับปัจจัย ๔ ซึ่งเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจมากมาย อย่างน้อยตอนแรกก็มีวิธีประกอบอาชีพที่จะเป็นหลักประกันให้ภิกษุ ภิกษุณี ซึ่งอยู่ในชุมชนนั้นหรืออยู่ในสงฆ์นั้นมีปัจจัยสี่ดำรงชีวิตอยู่ได้ อันนี้เป็นฐานเบื้องแรก

นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยปัจจัยทางด้านการศึกษาเข้ามามีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคนหรือมนุษย์ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นั่นก็คือการศึกษาตามหลักทางสายกลาง ดังที่พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ให้ทัศนะไว้ว่า

กระบวนการจัดการศึกษาในพระพุทธศาสนา ยึดหลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ  ปัญญา ซึ่งเป็นการฝึกอบรม (Training) ที่เน้นภาคปฏิบัติมากกว่าจะเป็นการเรียนการสอนในทางทฤษฎี (Teaching) เมื่อกล่าวในเชิงบริหาร เราต้องยอมรับว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การจัดการศึกษาอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงชื่อว่า เป็นศาสนาแห่งการศึกษา การศึกษาจึงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ

 

 

๔. องค์แห่งทางสายกลาง อริยมรรคมีองค์ ๘(The Noble Eightfold Path)

                ทางสายกลางหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อกล่าวกันในด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจแล้ว ก็สามารถที่จะแบ่งแยกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อความผาสุกของสังคมได้ และสามารถจัดทำเป็นกรอบความคิดได้ดังนี้ คือ

                 

๔.๑ กรอบความคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ(Concept Idea)

 

                  ๑. สัมมาทิฏฐิ (Right View) ปัญญาเห็นชอบ เห็นถูกต้อง คือเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ ได้แก่

                                ก) ทุกข์ คือตัวทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศก

                                ข) สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นกิเลส

                                ค) นิโรธ คือความดับทุกข์ ได้แก่ ดับกิเลสตัณหาด้วยอริยมรรค

                                ฆ) มรรค คือหนทางดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ มีปัญญาเห็นชอบ เป็นต้น

                 ๒. สัมมาสังกัปปะ (Right Thought) ดำริชอบ คือ ความคิดที่ถูกต้อง คือมโนสุจริต ๓ คือ คิดออกจากกามจากตัวทุกข์ คิดไม่พยาบาทผู้อื่น คิดไม่เบียดเบียนผู้อื่น  

                ทั้งสองข้อนี้จัดเป็น ปัญญา (Wisdom) (อธิปัญญาสิกขา) ได้แก่ศึกษาเรื่องปัญญา พัฒนาความคิด ให้เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วนำไปใช้ให้ถูกต้อง  เพราะปัญญาเป็นแสงสว่างของใจ และเป็นศัตรูโดยตรงกับความโง่ (อวิชชา)  ปัญญามี ๓ ทาง คือ

                                ก) จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจาการพิจารณาเหตุผล มีความคิดในทางดี

                                ข) สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง การศึกษาเล่าเรียน เขียนอ่าน

                                ค) ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฝึกอบรม ลงมือปฏิบัติการจริงทำจริง

๓. สัมมาวาจา (Right Speech) เจรจาชอบ ไดแก่ วจีสุจริต ๔ คือ ไม่พูดเท็จหลอกลวง, ไม่พูดส่อเสียดยุแหย่ให้แตกกัน, ไม่พูดคำหยาบคายเสียหาย, ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ พูดแต่ในทางให้เกิดสามัคคี ปองดอง รักเคารพนับถือกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

                ๔. สัมมากัมมันตะ (Right Action) ประพฤติชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ไม่เบียดเบียน, ไม่ลักทรัพย์ไม่ขโมยของใคร, ไม่ประพฤติผิดในคู่ครอง ไม่เป็นชู้ ไม่นอกใจคนรัก

๕. สัมมาอาชีวะ (Right Livelihood) การงานชอบ ได้แก่ ประกอบการงานในทางสุจริตชอบธรรม, เว้นมิจฉาชีพที่ผิดศีลธรรมผิดกฎหมาย, ประกอบสัมมาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เล่นการพนันอันจะเป็นเหตุให้เสียทรัพย์สินเงินทอง นำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและครอบครัว

                ทั้งสามข้อนี้จัดเป็น ศีล (Morality) (อธิสีลสิกขา) ได้แก่การศึกษาอบรมฝึกฝน เกี่ยวกับความประพฤติ เรียบร้อยทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อการอยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างปกติสุขและสันติสุข ศีลมีหลายระดับ เช่น ศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐ ศีล๒๒๗, และศีล ๓๑๑ นอกจากนั้น ศีลยังทำให้คนมีระเบียบวินัย ทั้งยังเป็นคุณธรรมป้องกันความเสื่อมคืออบายมุขต่าง ๆ เช่น เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร

                ๖. สัมมาวายามะ (Right Ettort) พยายามชอบ ได้แก่ การเพียรพยายามแต่ในทางที่ดีงามมีประโยชน์ ได้แก่เพียรระวังป้องกันอกุศลความชั่ว เพียรละอกุศล เพียรเจริญกุศลความดี เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมสลายไป และเพียรสร้างคุณภาพ ประสิทธิภาพ สมรรถภาพให้สูงยิ่งขึ้น

                ๗. สัมมาสติ (Right Mindfulness) ระลึกชอบ ได้แก่ การมีสติระลึกได้ กำกับดูแลตนเอง ตั้งสติกำหนดพิจารณาความเป็นไปแห่งร่างกาย, เวทนาการเสวยอารมณ์, จิตการคิดอารมณ์, ธรรมสภาพที่เป็นรูปและนาม รู้การเกิดดับของขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

                ๘. สัมมาสมาธิ (Right Concentration) ตั้งใจชอบ ได้แก่ ความมีจิตตั่งมั่นแน่วแน่ จิตใจที่ดำเนินอยู่ในกิจการงานหรืออารมณ์ที่กำหนดได้อย่างสม่ำเสมอ มั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รู้เท่าทันความคิด จินตนาการ มีความตั้งใจ เช่น ทำงานก็ตั้งใจทำงาน มุ่งมันในภารกิจที่ตนรับผิดชอบ

                ทั้งสามข้อนี้จัดเป็น สมาธิ (Concentration) (สมาธิสิกขา) บางทีเรียกว่า อธิจิตตสิกขาได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ ความตั้งใจ มั่นใจ การอบรมฝึกฝน การรวมกระแสจิตให้แน่วแน่ในอารมณ์อันเดียว การทำสมาธิ คือ การค่อย ๆ รวมกระแสจิตหรือกระแสความคิดให้เป็นจุดเดียว

                สมาธิ (Concentration) คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต, ภาวะที่จิตสงบนิ่งจับอยู่ที่อารมณ์อันเดียว เหมาะแก่การทำงาน การเรียนหนังสือ การประกอบอาชีพทุกชนิด สมาธิมี ๓ ระดับ คือ
                                (๑)  ขณิกสมาธิ (Momentary Concentration) คือ สมาธิชั่วขณะ                              

                                (๒) อุปจารสมาธิ (Access Concentration) คือ สมาธิจวนจะแน่วแน่
                                (๓) อัปปนาสมาธิ (Attainment Concentration) คือ สมาธิแน่วแน่

                สมาธิที่ฝึกดีแล้ว ย่อมทำให้ปัญญาแก่กล้า สามารถนำไปพัฒนามนุษย์ พัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญ และย่อมทำให้บรรลุนิพพาน นำไปสู่การพัฒนาสังคมให้เกิดสันติสุข

               

 

๔.๒ รู้จักพอประมาณ (Moderately)

                พอประมาณ คือ รู้ตัวเอง ความพอดี พอเพียง  ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ทิ้งขว้าง เช่น ในอปัณณกปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด, ทางดำเนินที่ไม่ผิด ข้อที่ ๑ได้แก่ โภชเนมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร,รู้จักประมาณในการกิน คือ กินเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนานมัวเมา คำนึงถึงความพอดีอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต มีสติปัญญา มีสัมปชัญญะอยู่เป็นอาจิณ เป็นหลักแห่งทางสายกลาง ฉะนั้น เมื่อรู้จักพอประมาณแล้ว ก็ต้องรู้จักหลักการแนวทางที่จะให้เกิดประโยชน์ทางด้านความสุขทั้งปัจจุบันและจะส่งผลสู่อนาคตที่ดีได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเหตุเป็นอย่างไร ผลก็ต้องเป็นอย่างนั้น

                ๔.๓ รู้จักเหตุรู้จักผล (Reason)

                การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้สำเร็จประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ ก็คือ มีเหตุผลดี มีหลักการ ปฏิภาณพร้อม ประกอบคุณลักษณะของความผู้นำ การรู้จักเป็นคนมีเหตุมีผล ย่อมมีวิจารณญาณที่พร้อมด้วยความรอบรู้ในเหตุปัจจัย ที่จะนำมาพัฒนา แก้ไขและปรับปรุงเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมด้วยหลักการที่มีคุณภาพ นอกจากนั้น ยังต้องมีโลกทัศน์กว้างไกลในการพัฒนาสังคม วิถีชีวิต วิธีการและภาวะของความเป็นผู้บริหารอีกด้วย ดังที่พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ท่านให้ทัศนะไว้ว่า

                หน้าที่ของนักบริหารมีอยู่ ๕ ประการ ตามอักษรภาษาอังกฤษทั้งหน้า คือ P-O-S-D-C ดังนี้             

                                (๑.) การวางแผน (Planning) หมายถึง การกำหนดนโยบายและมาตรการอันเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้  มีรายละเอียดที่เรียกว่าโครงการประกอบด้วย

                                (๒.) การจัดองค์กร (Organizing) คือ การกำหนดตำแหน่งสายบังคับบัญชาในองค์การ ว่ามีตำแหน่งอะไรบ้าง แต่ละตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่เช่นไร โครสั่งการใคร เป็นต้น

                                (๓.) การแต่งตั้งบุคลากร (Staffing) หมายถึง การสรรหาบุคลากรมาบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งที่กำหนดไว้ ตามหลักแห่งการใช้คนให้เหมาะกับงาน

                                (๔.) การอำนวยการ (Directing) คือ กำกับสั่งการและมอบหมายให้แต่ละฝ่ายได้ปฏิบัติงานตามแผนที่ว่างไว้

                                (๕.) การควบคุม (Controlling) คือ การติดตามดูว่าแต่ละฝ่ายปฏิบัติงานไปถึงไหน มีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นที่ใด และสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้ย่อหย่อนต่อหน้าที่ ละทิ้งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่

                แม้ว่าหน้าที่ของนักบริหารทั้ง ๕ ประการ จะถูกกำหนดโดยวิชาการบริหารสมัยใหม่ก็ตาม แต่เมื่อว่ากันทางปฏิบัติแล้วคนไทยเราก็บริหารบ้านเมืองแบบนี้มานานแล้ว หน้าที่ของนักบริหารปรากฏชัดเจนในการปฏิบัติขององค์การในสมัยโบราณ

                ฉะนั้น หลักการที่ว่ามานี้ เป็นเหตุผลที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ในอันที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป และพร้อมที่จะบริหารตนเองและสังคมให้ก้าวไปสู่จุดหมายที่วางเอาไว้ได้อย่างไม่ยากเลย แต่อย่างไรก็ตามการทำงานต้องยึดหลักทางสายกลางจึงจะประสบผลสำเร็จ

               

                ๔.๔ มีภูมิคุ้มกันที่ดี (Immunity)

                ภูมิคุ้มกันในการประกอบเศรษฐกิจทางสายกลาง ก็คือคุณธรรมได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นตัวควบคุมครบวงจร ซึ่งนำไปสู่จริยธรรมทางสังคม เช่น การรู้จักพอประมาณ รู้จักความพอดี ที่สำคัญที่สุดก็คือ การได้คุณภาพชีวิต นอกจากนั้น ยังมีคุณภาพในด้านจริยธรรมคือ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ดังที่ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ทัศนะไว้ว่า

                ความหมายอีกอย่างหนึ่งของความพอดี หรือมัชฌิมา คือ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียนผู้อื่น เป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา ใช้ตัดสินทุกกรณี เป็นมัชฌิมา ในแง่ของพระพุทธศาสนา หลักการทางเศรษฐศาสตร์สัมพันธ์กับเรื่องระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด มีองค์ประกอบ ๓ อย่างคือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ซึ่งทั้ง ๓ อย่างนี้ จะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ประสานกันและเกื้อกูลต่อกันด้วย ในการดำรงอยู่ด้วยกัน

ฉะนั้น พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์จะต้องเป็นไปในทางที่ไม่เบียดเบียนตน คือ ไม่ทำให้เสียคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่ให้เป็นไปในทางที่พัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมคุณภาพชีวิตนั้น และไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม และไม่ทำให้เสียคุณภาพของ Econsystems หรือระบบธรรมชาติแวดล้อม และท่านได้กล่าวอ้างรับรองชูมาเกอร์ไว้ว่า

                ชูมาเกอร์บอกว่า เมื่อมีสัมมาอาชีวะ ก็ต้องมี Buddhist Economics ต้องมีเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ พุทธศาสนาสอนเรื่องทางสายกลาง มุ่งพัฒนาจิตใจให้มีเหตุและผล ให้เข้าใจธรรมชาติ

                ก็คือว่า เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์แล้ว เราก็ย่อมเข้าใจที่นำหลักการที่เต็มไปด้วยคุณภาพ เช่นหลักการที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนา นำมาพัฒนาคนให้กลายเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยคุณภาพ เมื่อมีมนุษย์ที่มีคุณภาพอยู่ในสังคมเป็นจำนวนมาก สังคมก็ย่อมมีคุณภาพตามไปด้วย แสดงว่า ในสังคมนั้นมีมนุษย์ที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะพัฒนาสังคมและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ดังที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ทัศนะไว้ว่า

                ชีวิตจะดีงามมีความสุข ประเทศชาติจะรุ่งเรืองมั่นคง และสังคมจะร่มเย็นเกษมศานต์ ด้วยปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาคน ซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีมีความสุข และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การพัฒนาคนก็คือการศึกษา คนที่มีการศึกษา จึงจะมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ สมรรถภาพ

                นี้ก็ชี้ชัดแล้วว่า การศึกษา ปัญญา ศีล สมาธิ นั้นเป็นตัวพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสังคม และการที่คนมีการศึกษาหรือ พัฒนาให้คนได้รับการศึกษาจึงเป็นความดี เป็นพื้นฐานที่เยี่ยมยอดก่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันต่อไป

               

 ๕. เศรษฐกิจดีเพราะวิชาการดี (Good Academic)

ตามที่กล่าวไว้แล้วว่า ทางสายกลางประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ฉะนั้นแนวทางหรือเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจต้องประกอบด้วยเงื่อนไขทางวิชาการที่มีเหตุผลและน่าเชื่อถือได้ เงื่อนไขที่ว่านี้ ก็คือปัญญา ซึ่งเป็นคุณธรรมจากทางสายกลางมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้แก่

 ๕.๑ มีความรอบรู้  (Expert) คือ มีปัญญา  ในที่นี้ได้แก้รอบรู้ธรรมชาติของมนุษย์ เช่นเมื่อจะพัฒนาเศรษฐกิจก็ต้องรอบรู้เรื่องธรรมชาติ และทฤษฏีที่เกี่ยวความหมายของเศรษฐกิจคืออะไร (What) อย่างไร (How) เพื่อใคร (For) และทำเมื่อไหร่ (When) รวมถึงความสำคัญของระบบเศรษฐกิจด้วย เช่น

                (๑) การจัดหาสินค้าและหรือบริการ ให้แก่สมาชิกในสังคม

(๒) การผลิตสินค้าและหรือบริการ เพื่อสนองความต้องการของสังคม

(๓) การส่งเสริมการผลิต โดยการพัฒนาการผลิต คิดสร้างสรรค์การผลิต

(๔) การแจกจ่ายผลผลิตจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค

(๕) การกระจายรายได้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของสังคม

 

๕.๒ มีความรอบคอบ (Cautious) คือ มีสมาธิ ความตั้งใจมั่น  เป็นคุณธรรมจากทางสายกลาง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ได้ฝึกฝนอบรมมาดีแล้วทางด้านจิตใจ การที่มนุษย์ได้รับการพัฒนามาดีแล้ว ย่อมจะเป็นมนุษย์ที่ดีมีคุณภาพต่อกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ เช่น

                (๑) ควรจะผลิตอะไร (What) หมายความว่า ก่อนที่จะตัดสินใจที่จะลงมือทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น ต้องคิดให้แยบคาย รอบคอบ คิดแล้วคิดอีก จนมั่นว่า สิ่งที่จะทำลงไปนั้นจะให้คุณให้โทษอย่างไร มีผลดีหรือเสียแก่ผู้บริโภคหรือไม่ จะต้องไม่เป็นอันตรายต่อสังคม

                (๒) ควรจะผลิตอย่างไร (How) หมายความว่า เมื่อตัดสินใจแน่นอนแล้วว่า จะลงมือทำจริง ๆ ก็ต้องคิดแบบแยบคายอีกครั้งว่า จะผลิตอย่างไรถึงจะดี ไม่มีโทษ ไม่ใช่ว่าคิดแต่ได้ผลกำไรอย่างเดียว ต้องคิดถึงคนผู้บริโภคด้วย ใช้อุปกรณ์การผลิตแบบไหน ต้องคิดถึงสังคมเป็นหลัก

                (๓) ควรจะผลิตเพื่อใคร (For) หมายความว่า เมื่อตัดสินใจดีแล้วว่าจะผลิต ก็ต้องคิดให้ดีแบบแยบคายว่า จะผลิตเพื่อใคร ใครจะบริโภค บริโภคแล้วเกิดอันตรายหรือไม่ ไม่ใช่ คิดแต่จะผลิตเพื่อผลกำไร และประโยชน์แก่ตนเองฝ่ายเดียว ต้องดูสังคมด้วย

                (๔) ควรจะผลิตเมื่อไหร่ (When) หมายความว่า เมื่อจะผลิตก็ต้องคิดให้ดีละเอียดรอบคอบว่า ควรจะผลิตเมื่อไหร่ดี ต้องดูเวลาหรือกาลเทสะ โอกาส วัน เวลา สถานที่ ให้แน่นอน ต้องแน่ใจว่าจะไม่รบกวนคนอื่น  เป็นปัญหาสังคมหรือไม่

 

๕.๓ มีความระมัดระวังและตั้งใจ (Be Careful)  คือ  มีสติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว  มีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่เผลอ ไม่ประมาท และสมาธิ ความตั้งใจ ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ ให้ทัศนะไว้ว่า อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือความเพียรที่มีสติ เป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความเจริญก้าวหน้า ตระหนักในสิ่งที่พึงทำและพึงละเว้น ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่อันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบ และรุดหน้าเรื่อยไป

เมื่อมีสติ สัมปชัญญะและสมาธิควบคุม การงานทุกอย่างย่อมไม่เสียหาย การพัฒนาสังคมศาสนา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเศรษฐกิจก็มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

 

๖. เศรษฐกิจดีเพราะมีคุณธรรม (Virtue)

                คุณธรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน หากสังคมรู้จักคุณธรรมที่เป็นหลักสำคัญเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นแนวทางนำไปสู่วิธีการในการพัฒนามนุษย์ให้เร่งรุดไปสู่จุดหมายในทางที่เจริญ มั่นคง และพ้นทุกข์ได้ ซึ่งก็ได้แก่

                ๖.๑ มีความซื่อสัตย์ (Honest) เป็นองค์คุณของคนดี เป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นสมบัติของผู้ดี หากใครไม่มีชาตินี้เอาดีไม่ได้ มีความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอดถมไป คดโกงแล้วไซร้ ไม่มีเพื่อนอยากร่วมการงาน และผู้ผลิตก็ต้องซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค กล่าวคือ ปัจจัยการผลิตต้องประกอบด้วยสิ่งดีมีคุณภาพ จัดเป็นมโนสุจริต ความประพฤติชอบด้วยใจ, ความสุจริตทางใจ มี ๓ อย่าง คือ

                                (๑)   อนภิชฌา (To be without Covetousness)ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น

(๒)  อพยาบาท (To be free from Ill-Will)ไม่พยาบาทปองร้ายคนอื่น

(๓)  สัมมาทิฏฐิ (Right View) เห็นชอบตามคลองธรรมศีลธรรมจริยธรรม
                 ๖.๒ มีความสุจริตใสสะอาด  (Truthful) เป็นคุณธรรมของผู้บริหาร  เป็นองค์คุณความดี  ที่หาได้ยากมากในสังคมปัจจุบัน สุจริตคือความประพฤติชอบ ประพฤติดี ทำดี เป็นหลักธรรมในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองอย่างมาก  ประกอบด้วย กายสุจริต  วจีสุจริต และ มโนสุจริต     

                ๖.๓ มีความขยันหมั่นเพียร (Persevere) เป็นคุณธรรมของคนดี ได้แก่ อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น  ในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิต การเล่าเรียน การทำธุระหน้าที่ของตน ความขยัน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการงานทั่วไปและโดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ และวิริยะ เพียรเพื่อทำให้สำเร็จและใช้ปัญญาเป็นตัวควบคุมให้เกิดประสิทธิภาพ คุณภาพ และสมรรถภาพ

                ๖.๔ มีความอดทนอดกลั้น (Endure) เป็นคุณธรรมของคนดี ได้แก่ ขันติ ความอดทน ต่อความทุกข์ยาก ความเจ็บแค้น หนักเอาเบาสู้ เพื่อให้บรรลุความสำเร็จที่ตั้งใจเอาไว้ ผู้ที่มีความอดทนย่อมจะได้รับความสำเร็จในธุรกิจของตนเอง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในทางพัฒนาเศรษฐกิจ

                ๖.๕ รู้จักแบ่งปันเผื่อแผ่เจือจุน (Portion out) เป็นคุณธรรมสำหรับผูกมิตร ได้แก่ ทานํ คือการแบ่งปัน สละให้ เฉลี่ยให้ เป็นหลักสำหรับผูกมิตร ทางพระพุทธศาสนา เป็นหนึ่งใน ๔ ข้อ ของ สังคหวัตถุ ทาน นอกจากจะหมายถึงการให้วัตถุสิ่งของแล้ว ยังหมายถึง การให้อภัย ซึ่งจริยธรรมทางจิตใจด้วย ทาน จึงเหมาะแก่การแก้ปัญหาสำหรับผู้ทำงานธุรกิจทั่วไปรวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

                               

 

๗. เศรษฐกิจดีเพราะเข้าใจชีวิต (Understanding)

                ชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและประเสริฐสุด พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตมนุษย์หรือชีวิตสัตว์และสิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิตในโลกนี้  ที่สำคัญต้องเข้าใจเรื่องชีวิต ธรรมชาติของชีวิต และทุกชีวิตก็หนีไม่พ้นกฎไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ดังที่ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) กว่าวอธิบายไว้ว่า

                ไตรลักษณ์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ แปลว่าลักษณะที่ทั่วไป หรือเสมอเหมือนกันแก่สิ่งทั้งปวง ซึ่งได้ความหมายเท่ากัน เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ จะแสดงความหมายของไตรลักษณ์ (The Three Characteristics of Existence) โดยย่อดังนี้

                (๑.) อนิจจตา (Impermanence) ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เป็นสภาพเกิดดับตลอดเวลา

                (๒.) ทุกขตา (Stress and Conflict) ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว  คือการเป็นอยู่อย่างลำบาก ทนได้ยาก

                (๓.) อนัตตตา (Soullessness หรือ Non-Self) ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเองไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา เพียงอาศัยร่างกายทำคุณงามความดีเท่านั้น

                ความเพียรพยายามในการพึ่งตนเอง และรู้จักแก้ไขปรับปรุงตนเอง นี้ก็เป็นข้อสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงสอนย้ำบ่อย ๆ ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน หรืออย่าง ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อกฺขาตาโร ตถาคตา  ตถาคตทั้งหลายเป็นผู้บอก เป็นผู้ชี้ทางให้ ที่เป็นเรื่องที่พยายามให้คนเรามีความเพียรพยายามในการกระทำ อย่าไปมัวหวังพึ่งปัจจัยภายนอกอยู่ เพราะปัจจัยภายนอกนั้นมันไม่ยั่งยืนและมันไม่อยู่กับตัวเอง มันไม่แน่นอน และถึงอย่างไรก็ตาม ตัวเรานี่ก็ต้องทำ ถ้าจะให้เกิดผลสำเร็จแท้จริงแล้ว จะต้องทำจะต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้อยู่เสมอ พยายามให้เราหันมาพึงตัวเองให้มากขึ้น ลดความพึ่งปัจจัยภายนอก ความเชื่อถือในเรื่องสิ่งที่จะมาอำนวยผลประโยชน์ของเราโดยทางลัด ให้มันน้อยลงไป ๆ อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง พระพุทธเจ้ามีวัตถุประสงค์หลายอย่างในการสอนเรื่องกรรม

                นอกจากนั้นชีวิตเราต้องมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต คือต้องรู้จักจุดหมายปลายทาง รู้จักการวางแผนสู่อนาคต จึงจะเอาตัวเองรอดได้เพราะชีวิตมีเป้าหมาย

                ดังที่อาจารย์สนิท ศรีสำแดง ให้ทัศนะไว้ว่า เป้าหมายด้านการดำรงชีพ (Livelihood) การดำรงชีวิตเป็นเรื่องสำคัญพื้นฐาน พุทธศาสนาก็ให้ความสำคัญด้านนี้ ในฐานะเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต ในการให้อุปสมบทกุลบุตร อุปัชฌาย์จะสอนว่า ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อสฺสาโห กรณีโย ฯ (การพรรพชาอยู่ได้ด้วยการบิณฑบาต ท่านต้องขยันตลอดชีวิต)

                ในอริยมรรค ๘ ประการ อันเป็นทางดำเนินชิวิตของอารยชน ได้พูดถึงหลักการดำเนินชีวิตว่า จะต้องเป็นสัมมาชีพ (สัมมาอาชีวะ) ไว้ในข้อที่ ๖ หลักนี้เสริมอาชีพถูกต้องทุกอย่าง และปฏิเสธอาชีพทุจริต (มิจฉาชีพ) ทั้งปวง รวมถึงอาชีพต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เช่น การค้าขายที่ผิด ๕ อย่าง คือ ขายอาวุธ ชายมนุษย์ ขายสัตว์เพื่อเอาไปฆ่า ขายน้ำเมายาเสพติด และขายยาพิษ

                พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า ทรัพย์เป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต จึงตรัสหลักธรรมว่าด้วย ประโยชน์เฉพาะหน้า (ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์)ไว้และเมื่อทรงกล่าวถึงความสุขของผู้ครองเรือน ก็ทรงเน้นเรื่องทรัพย์เป็นเรื่องที่สำคัญ ในการดำเนินชีวิตจากทรัพย์ที่หามาได้ พระพุทธองค์ตรัสแนะนำให้ใช้ทรัพย์ให้สมค่า

                พุทธศาสนามุ่งเน้นด้านการใช้แรงงาน โดยชี้ประโยชน์ของการทำงาน คือ

(๑)  เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ใช้และพัฒนาความสามารถของตน

(๒) ช่วยให้มนุษย์ขจัดอัตตา สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

(๓)  เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตและบริการอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ 

                ๗.๑ เศรษฐกิจแนวพุทธ (Buddhist Economy)

                พระพุทธศาสนามีส่วนช่วยเหลือสังคมทางด้านเศรษฐกิจมากที่สุด กล่าวคือ มีหลักคำสอนที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหมด

มีผู้กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจเป็นระบบของการให้คำมั่นสัญญาและปฏิบัติตามพันธสัญญาที่มีต่อกันอย่างมั่นคง การรักษาคำมั่นสัญญาดังกล่าวในทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า ธรรมะ อาจแยกความหมายเป็น ๒ ประการคือ

(๑.) จริยธรรม (Morality) ซึ่งว่าด้วยหลักข้อปฏิบัติแห่งการดำรงตนในสังคม หลักข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความดีและความชั่ว ถูกผิด ควรไม่ควร มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์

(๒.) สัจธรรม (The Truth) ซึ่งได้แก่ตัวสัจจะ ความจริงตามสภาวะ ความจริงที่เป็นไปตามธรรมดา เป็นกฏเกณฑ์ของสิ่งทั้งหลาย หรือกฎของธรรมชาติ การที่สิ่งทั้งหลายดำเนินไปตามเหตุตามปัจจัยเหล่านี้ คือเรื่องของสัจธรรม ธรรมชาติความเป็นไปของโลก

โดยทั่วไปแล้วพอพูดถึงเศรษฐกิจ เรามักจะมองแต่ด้านวัตถุธรรมของการผลิตอย่างเดียว แต่เบื้องหลังของการผลิตจะถูกมองข้ามไป ในความจริงแล้วจริยธรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจซึ่งเราควรจะสนใจศึกษา คือ จริยธรรมที่พูดถึงในที่นี้มีความหมายรวมไปถึงคุณธรรมและคุณค่าทางจิตใจ คุณธรรม และความประพฤติดีความประพฤติชั่ว หรือสภาพจิตใจที่เป็นไปต่าง ๆ ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

มีการสมมติว่า ถ้าในสังคมบ้านเรามีเหล่ามิจฉาชีพมากทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนไม่มีความปลอดภัยภาวการณ์เช่นนี้ย่อมต้องกระทบต่ออุตสาหกรรมหรือการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องของเศรษฐกิจด้วย เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็พลอยได้รับการกระทบกระเทือน ชาวต่างชาติพอรู้ข่าวว่าเมืองไทยไม่มีความปลอดภัย เขาก็ไม่อยากมา เมื่อเป็นเช่นนี้จริยธรรมจึงมีผลต่อการเจริญหรือเสื่อมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

                ๗.๒ สังคมเศรษฐกิจแนวพุทธ (Economic Society) พระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งความสงบสุข มีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาสังคมเป็นอย่างมากในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจในสังคมไทย เช่น

                พระพุทธศาสนากับศิลปะ (Buddhism and Art) งานศิลปะของพระพุทธศาสนาจัดว่าเป็นงานศิลปะอันสวยงามเป็นเลิศ เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เจดีย์ และภาพจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสวยงาม ดนตรีและนาฏศิลป์ของคนไทยจะมีเรื่องของพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ในส่วนของวรรณคดี เช่น เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ไตรภูมิพระร่วง หรือ ไตรภูมิกถา จะเห็นพระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อจิตใจของคนไทยอย่างชัดเจน

                ผลอันเกิดจากการที่มีพุทธศิลป์ ได้กลายเป็นศิลปะอันล้ำค่าของประเทศไทยทั้งด้านประณีตศิลป์เป็นศูนย์รวมจิตใจ และยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติผู้มาเยือนเมืองไทย เป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

                ๗.๓ มีความสมดุล (Equilibrium) คือความพอดี หมายถึงสิ่งสองอย่างมาบรรจบกันอย่างลงตัว ให้คุณภาพชีวิตและความพอใจ  ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ทัศนะไว้ว่า ในทางพุทธศาสนา มีข้อปฏิบัติที่เต็มไปด้วยเรื่องมัชฌิมา ความเป็นสายกลาง ความพอดี, มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ รู้จักพอดี เต็มไปหมด ตลอดจนสมตา เทียบกับที่เราใช้คำว่า สมดุลหรือดุลยภาพ คำเหล่านี้เป็นคำสำคัญในทางพระพุทธศาสนา

                ความพอดี คือ จุดที่คุณภาพชีวิตกับความพึงพอใจมาบรรจบกัน หมายความว่า เป็นการได้รับความพึงพอใจด้วยการตอบสนองความต้องการคุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิตที่ทุกคนต้องการก็คือ ความมีสุขภาพแข็งแรง มีจิตใจสดชื่น เบิกบาน ไม่เป็นทุกข์ มีความสุขกายสบายใจ แน่นอนซึ่งถ้าหากว่าเศรษฐกิจดี สุขภาพกายใจก็ดีกันทั่วหน้า แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่ก็เกิดทุกข์ภาพตามมา

                ๗.๔ มีความมั่นคงและ ยั่งยืน (Secure and  Endure) ความมั่นคงและยั่งยืน เป็นวัตถุประสงค์ที่ใคร ๆ ก็อยากจะให้เกิดขึ้น เมื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เป็นทางสายกลางเกิดขึ้น ความเอารัดเอาเปรียบคดโกงต่าง ๆ ก็หายไป เหลือไว้แต่ความสมานสามัคคี ความพอดี ความรู้จักประมาณ ความเป็นสายกลาง ความเป็นกลาง ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทฤษฎีทางพระพุทธศาสนาที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเหมาะแก่การนำไปเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม                           

                ความมั่นคงและยั่งยืนจะมีได้นั้น ก็เป็นผลมาจากเศรษฐกิจเป็นปัจจัย ซึ่งก็เกิดจากผลงานของมนุษย์นั่นเอง เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ก็อยู่ที่มนุษย์เป็นผู้สร้างเอง

 

๘. บทสรุป (Conclusion)

                ทางสายกลาง (The Middle Way)คือ อริยมรรคมีองค์แปด  (The Noble Eightfold Path) เป็นสุดยอดแห่งหลักธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจในสังคมปัจจุบันต่อ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม นอกจากจะพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าเป็นปัจจัยต่อการดำรงชีวิตที่ดีแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนามนุษย์ให้มีจิตใจดีงาม เข้มแข็ง ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งก็เป็นหัวใจสำคัญแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจนั่นเอง และอีกทั้งทางสายกลางก็จัดเข้าได้กับหลัก ไตรสิกขา (The Threefold Learning)  คือ

(๑)  ศีล (Morality) ความประพฤติเรียบร้อยทางกาย อันเป็นปัจจัยพื้นฐานการอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ทำให้บ้านเมืองมีระเบียบวินัยทำให้มีเสน่ห์ น่ารัก น่าเคารพนับถือ น่าเข้าใกล้

(๒) สมาธิ (Concentration) ความตั้งใจมั่นคง, ความสงบระงับ, ความมีใจเป็นหนึ่ง, จิตใจแน่วแน่ นักบริหารงานการงานก็สำเร็จ นักเรียนเรียนหนังสือก็เก่ง ดี มีความสุข

(๓)  ปัญญา (Wisdom) ความรอบรู้, รอบคอบ, รู้แจ้งแทงตลอดในมรรคผลและนิพพาน

และศีล สมาธิ และปัญญา ยังเป็นหลักจริยธรรมที่ให้เสรีภาพในทุกด้าน เช่น เสรีภาพในการประกอบความดีความถูกต้อง  รักษาความดีที่มีอยู่มิให้เสื่อม ป้องกันความชั่วมิให้เกิดมีในตน ละความชั่วที่มีอยู่ในตน ยกย่องสรรเสริญสนับสนุนผู้ทำความดี และ ตำหนิติเตียน ลงโทษผู้ทำความชั่ว

นอกจากนั้น ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการบรรลุคุณภาพชีวิตที่เป็นประโยชน์ในปัจจุบันอนาคต  และความเป็นอิสระ ทั้ง ๓ ประการ คือ

(๑)   ทิฏฐธัมมิกัตถะ (Benefits Obtainable Here and Now) คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ซึ่งมีความมั่นคงเพียงพอแก่ชีวิตในด้านเศรษฐกิจ

(๒) สัมปรายิกัตถะ (The Good to be Won  in the life to Come) คือ ประโยชน์ในอนาคต ทางด้านจิตใจ ที่เป็นคุณธรรมในด้านคุณภาพชีวิต

(๓)  ปรมัตถะ (The Highest Good) คือ ประโยชน์สูงสุด ได้แก่นิพพานหรือความเป็นอิสระคือเป้าหมายสูงสุดที่มีในจิตใจทุกตัวตนอยู่แล้ว

อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางสายกลางอันประเสริฐและเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบในวันที่ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งแต่ละข้อมีรายละเอียด และเนื้อหาสาระตามเหตุและผลซึ่งจะนำไปสู่จุดประสงค์ทางเศรษฐกิจตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเป็นเรื่องของการดำรงชีวิต และชีวิตแต่ละชีวิตก็เป็นเรื่องธรรมชาติสิ่งมีชีวิตในโลกนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ชีวิตแต่ละชีวิตก็ล้วนแต่ต้องการความเป็นอยู่ที่สงบสุข และเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น สิ่งมีชีวิตในโลกจึงต้องงดเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน หันหน้าเข้าหากัน แบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนความเข้าใจ ช่วยกันวางแผนการพัฒนาสังคม คิดหาทางออก แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไป ป้องกันปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้น ไม่แยกพรรค ไม่แยกพวกไม่เห็นแก่ได้จนมองข้ามศีลธรรมจริยธรรม เช่น

นักการเมืองก็ต้องบริหารบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรมมุ่งความสงบสุขสู่ประเทศชาติเป็นสำคัญ ผู้ผลิตก็ต้องผลิตแบบมีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก คนขับรถก็ต้องมีน้ำใจดูแลให้ความปลอดภัยและต่อทรัพย์สินของผู้โดยสาร เป็นหัวใจหลักของมนุษยสัมพันธ์ ต่างก็อาศัยซึ่งกันและกันดำเนินชีวิต รู้ภาระ รู้หน้าที่ตนเอง ยึดหลักทางสายกลางแห่งพระพุทธศาสนา นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งปัจจุบันและเตรียมพร้อมสู่อนาคต ที่สำคัญสิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ผู้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาเท่านั้น ย่อมสามารถพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม เป็นธรรมาธิปไตย เพื่อให้เป็นเส้นทางที่ราบเรียบ สะอาด เหมาะแก่การนำพาตนและผู้อื่นมุ่งสู่ความพ้นทุกข์ก้าวสู่สันติสุขได้ต่อไป

เมื่อบุคคลดำเนินชีวิตโดยถูกธรรมชอบธรรม ก็จะเป็นผู้มีชีวิตล้ำเลิศประเสริฐสุด ความร้อนรุ่ม กลุ่มใจ ร้อนรน  กระวนกระวาย กระสับกกระส่ายก็ ไม่มี มีแต่ความปีติ อิ่มเอิบ เบิกบาน เย็นใจ สบายใจ สงบใจ ย่อมสามารถที่จะวางแผนงาน ดำเนินงาน และแก้ไขปัญหาทุกชนิดได้ เพราะบำเพ็ญคุณธรรมที่ประเสริฐสุด คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือทางสายกลางนั่นเอง

ดังสุภาษิตที่ว่า

พัฒนาประเทศต้องรู้จักแนวคิด พัฒนาชีวิตต้องรู้จักวางแผน ฯ

 

 

(ที่มา: พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ของโลก)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕