หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ผญาภาษิตอีสาน » ผญา ภูมิปัญญาอีสาน
 
เข้าชม : ๒๒๘๘๘๖ ครั้ง

''ผญา ภูมิปัญญาอีสาน''
 
พระกิตติพงศ์ ดารักษ์

 

ผญา ภูมิปัญญาอีสาน
                                                                                                                          กิตติพงศ์ ดารักษ์
                                                                                                                              
 ผญา คืออะไร  มีความเป็นมาอย่างไร  ทำไมจึงมีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนอีสาน ?
                 
                ดินแดนที่ราบสูงแถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยทั้ง 19 จังหวัด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ภาคอีสาน ซึ่งเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมอันเก่าแก่มาแต่บรรพกาลแห่งหนึ่งของประเทศไทย      นอกจากนี้ยังมีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง เรียกว่า ภาษาอีสาน    เป็นภาษาที่สืบเชื้อสายมาจากอาณาจักรล้านช้าง
 
ผญาคืออะไร
                ผญา เป็นคำพูดที่ชาวไทยอีสาน ใช้พูดกันเพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาของผู้พูด นักวิชาการและผู้รู้ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความหมายของ ผญา ไว้ดังนี้
                 ปรีชา พิณทอง (2532 : 528)   ได้ให้ความหมายว่า          ผญา (น.)   หมายถึง ปัญญา, ความรู้, ความฉลาด คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้งเรียกว่า ผญา    ส่วน นงลักษณ์ ขุนทวี (มปป.) ให้ความหมายเกี่ยวกับคำว่าผญา ไว้ดังนี้      ผญา เป็นคำภาษาถิ่นอีสาน ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ปัญญาหรือปรัชญา เพราะในภาษาถิ่นอีสาน จะใช้เสียง ผ แทนเสียง ป หรือ ปร ในภาษาไทยกลาง   เช่น    เผด เป็น เปรต,   โผด เป็น โปรด, ผาบ เป็น ปราบ, ผาสาด เป็น ปราสาท
                สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น (2540 : 45)   ได้สรุปความหมายของ ผญา ไว้ดังนี้ ผญา (น) เป็นคำพูดของนักปราชญ์ถิ่นอีสานโบราณ และเป็นภาษาที่มีอายุมากพอสมควร ผญาเป็นคำที่ถ่ายทอดมาจากคำว่า ปัญญา และปรัชญา      ซึ่งอพยพมาตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา นักปราชญ์โบราณอีสานท่านเปลี่ยนจากคำเดิมคือ ปัญญา เป็น ผญา เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความเหมาะสมกับภาษาถิ่นก็อาจเป็นได้ ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ ดังนั้น คำว่า ผญา ก็คงมีความหมายเช่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
                สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ (มปป.)    ให้ความหมายว่า คำผญา หรือ ผะหยา เป็นกาพย์กลอนพื้นเมืองอย่างหนึ่ง ที่แสดงความคิด ปัญญา ความฉลาดหลักแหลมของชาวบ้าน พร้อมกันนั้นก็เป็นคำพูดที่แสดงถึงความมีไหวพรับปฏิภาณอันหนักแน่นระหว่างหนุ่มสาว หญิงชาย ที่ยกขึ้นมาเพื่อถามไถ่เกี่ยวกับความรู้รอบตัว ทัศนคติคุณสมบัติที่มีความรักต่อกัน
                จากทัศนะดังกล่าวเห็นว่า คำว่า ผญา ปัญญา ปรัชญา เป็นกลุ่มภาษาเดียวกัน มีความหมายคล้ายคลึงและใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจใช้แทนกันได้ ดังนั้น สรุปได้ว่า ผญา, ปัญญา, ปรัชญา (wisdom, philosophy, maxim, aphorism)   หมายถึง ปัญญา ความรอบรู้ ไหวพริบ สติปัญญา คำคม สุภาษิต หรือคำที่พูดเป็นปริศนาฟังแล้วได้นำมาคิดมาวิเคราะห์เพื่อค้นหาคำตอบจากปัญหาว่าความจริงเป็นอย่างไร มีความหมายว่าอย่างไร
 
ผญา มีความเป็นมาอย่างไร
                วรรณกรรมมุขปาฐะประเภทผญาหรือ คำคม ภาษิตท้องถิ่นอีสานนี้ มีความเป็นมาอย่างไรหรือใครเป็นผู้ให้กำเนิด ยากที่จะตัดสินได้ว่ามาจากไหน ใครเป็นผู้ให้กำเนิดหรือริเริ่ม แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้รู้และนักวิชาการ ที่ทำการศึกษาค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับเรื่องผญา หรือภาษิตอีสาน       ได้สันนิษฐานหรือให้ทัศนะเกี่ยวกับที่มาของผญาพอสรุปได้ดังนี้
                1.   ผญาเกิดจาก คำสั่งสอนและศาสนา    โดยหมายเอา คำสอนของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก ครูบาอาจารย์ที่มีต่อศิษย์ พ่อแม่ที่มีต่อลูกหลาน ทั้งนี้ก็สืบเนื่องจากคำสอนของศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา
                2.   ผญาเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณี โดยหมายเอา ข้อปฏิบัติที่คนในสังคมอีสานปฏิบัติต่อกันในวิถีชีวิต
                3. ผญาเกิดจากการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว    อาจหมายเอาแรงบันดาลใจหรือความรู้สึกภายใจที่อยากจะบอกต่อกันและกัน จึงกล่าวออกมาด้วยคำคมเชิงโวหารภาพพจน์ต่าง ๆ แล้วเกิดการโต้ตอบถ้อยคำแก่กันและกัน
                4. ผญาเกิดจากการเล่นของเด็ก โดยหมายเอา การเล่นกันระหว่างเด็กแล้วมีการตั้งคำถามอย่างเช่น ปริศนาคำทาย แต่แทนที่จะถามโดยตรงกับสร้างเป็นถ้อยคำที่คล้องจองกัน
                5. ผญาเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในวิถีชีวิต โดยหมายเอา สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตแล้วเกิดแรงบันดาลใจให้เกิดถ้อยคำในใจและมีการกล่าวถ้อยคำที่คล้องจองแก่กันและกัน ในโอกาศที่เดินทางไปมาค้าขาย หรือกิจกรรมอื่น ๆ (อดิศร เพียงเกษ, ๒๕๔๔: ๙๖)
                จากการสันนิษฐานที่มาของการเกิดขึ้นของผญา จะเห็นว่าผญานั้นมีความหมายต่อชาวอีสาน ไม่ว่าชาวอีสานอาศัยอยู่สถานที่ใด เมื่อมีกิจกรรมใด ๆ ร่วมกัน หรือสนทนากันในกลุ่ม จะมีการกล่าว ผญาสอดแทรกขึ้นมาเสมอ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผญามีบทบาทหน้าที่และมีความสำคัญต่อสังคมชไทยอีสานตั้งแต่อตีดจนถึงปัจจุบัน อาจแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ   แล้วแต่โอกาสที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมนั้น ๆ
 
 ประเภทของผญา
                ผญาหรือคำคม ภาษิตโบราณอีสานนี้     แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๔ ประเภท ดังนี้
                ๑.   ประเภทคำสอน เรียกว่า ผญาคำสอนหรือผญาภาษิต
                ๒. ประเภทเกี้ยวพาราสี เรียกว่า ผญาเครือ, ผญาย่อย หรือผญา โต้ตอบ
                ๓. ประเภทปริศนา เรียกว่า ผญาปริศนา-ปัญหาภาษิต
                ๔. ประเภทอวยพร เรียกว่า ผญาอวยพร
 
                ๑.   ประเภทคำสอน
                ผญาคำสอนหรือผญาภาษิต คือ การใช้ถ้อยคำที่กล่าวเป็นร้อยกรองสั้น ๆ แฝงไว้ด้วยคติธรรม คำเตือนใจ หรืออีนัยหนึ่งคือ ข้อความที่เป็นอุปมาอุปมัย ให้ผู้ฟังได้คิดตีความสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามถูกต้อง   
                ตัวอย่าง

“คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า”
“คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มสัปทน อย่าได้ลืมคนจนผู้แห่นำตีนซ้าง”

                                ความหมาย :          ถ้าได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้วก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้างหรือเบื้องหลัง

“ความตายนี้แขวนคอทุกบาทย่าง ไผก็แขวนอ้อนต้อน เสมอด้ามดังเดียว”

                                ความหมาย :         ความตายนี้ย่อม ติดตามเหมือนเงาตามตัว ไม่มีผู้ใดหลุดพ้น

“บุญ บุญนี้บ่แหม่นของแบ่งได้ ปันแจกกันแหล่ว บ่อห่อนแยกออกได้ คือไม้ผ่ากลาง คือจั่งเฮากินข้าว เฮากินเฮาอิ่ม บ่แหม่นไปอิ่มท้อง เขาพุ้นผู้บ่กิน”

                                ความหมาย :        เรื่องของบุญใครเป็นคนทำ คนนั้นได้รับผลเอง ไม่สามารถแบ่งปันได้เหมือนสิ่งของ เหมือนกินข้าวผู้ที่กินผู้นั้นก็อิ่มเอง

“คำสอนพ่อแม่นี้หนักเกิ่งธรณี ผู้ใดยำเยงนบหากสิดีเมือหน้า”
                ความหมาย : ผู้ใดเคารพคำสั่งสอนพ่อแม่จะเจริญก้าวหน้า

“ขอให้อดสาสู้ เพียรไปให้ถืกป่อง คุณอาจารย์ยกใส่เกล้า คนิงไว้อย่าสิลืม”

                                ความหมาย : อดทนสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ยกย่องคุณอาจารย์
 
                ๒. ประเภทอวยพร
                ผญาอวยพร   คือ การใช้ถ้อยคำทีใช้พูดอวยพรในโอกาสต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นคำพูดที่ผู้สูงอายุหรือคนที่เคารพนับถือ พูดเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้ฟังหรือผู้รับพร อาจแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
                 ๒.๑     อวยพรทั่วไป

“ ค่อยอยู่ดีสำบายมั่นเสมอมันเครือเก่า เดอ ให้เจ้าอยู่ดีมีแฮงความเจ็บอย่าให้ได้ความไข้อย่าให้มี ให้ไปดีมาดีผู้อยู่ให้มีชัยผู้ไปให้มีโชค    โชคม้าอยู่เทิงอาน อยู่เทิงเครื่องอลังการสำรับ   นอนหลับให้เจ้าได้เงินพัน นอนฝันให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แบมือไปให้ได้แก้วมณีโชติ โทษฮ้ายอย่ามาพาน มารฮ้ายอย่ามาผ่า ให้เจ้ามีอายุ วรรณัง สุขัง พลัง เดอ

                ความหมาย :         ให้อยู่สุขสบาย ความเจ็บไข้อย่าได้มี ไปดีมาดี ผู้อยู่ขอให้มีชัย ผู้ไปขอ ให้มีโชค อยู่บนเครื่องสำรับอันอลังการ นอนหลับขอให้ได้เงินพันนอนฝันขอให้ได้เงินหมื่น นอนตื่นขึ้นมาขอให้ได้เงินแสน แบมือไปให้ได้แก้วมณีโชติ โทษร้ายอย่ามาพานพบ มารร้ายอย่ามากล้ำกลาย ให้มีอายุวรรณะ สุขะ พละ
 
                ๒.๒   อวยพรคู่บ่าวสาว

“ ให้เจ้าเป็นคู่แก้วคู่ขวัญ ให้เจ้าฮักกันบ่มีเปิด   ลูกแก้วเกิดหญิงชาย สุขสำบายจนแก่เฒ่า สมบัติหลั่งเข้าเนืองนอง เงินทองมีมากล้นเทอญ

          ความหมาย :    ขอให้คู่บ่าวสาวจงมีความรักต่อกันอย่าได้เสื่อมกัน ให้ได้ลูกหญิงลูกชายให้มีความสุขในครอบครัวจนแก่เฒ่าชรา มีทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองมากมายอย่าขาดมือ
 
                .๓   อวยพรพิธีสู่ขวัญ                     

“ผูกเบื้องซ้ายให้ขวัญเจ้ามา ผูกเบื้องขวาให้พระเจ้าอยู่ ฝ้ายเส้นนี้มีคำแถน นำมาผูกแขนผอวนเจ้า อย่ามีศรีเศร้าตัวเจ้าอย่างหมองหม่น คุณพระพุทธ พระ ธรรมมากล้นไหลตื้อตื่นประสงค์ เจ้านอนหลับให้ได้เงินหมื่น เจ้านอนตื่นให้ได้เงินแสน แปนมือไปให้ได้แก้วมณีโชติ โทษร้ายอย่าพานมารร้ายอย่าเบียด”

                ความหมาย :        ผูกแขนซ้ายขอให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว ผูกแขนขวาขอให้คุณพระคุณเจ้าอยู่คุ้มครอง ฝ้ายผูกแขนเส้นมีคำพรจากเทวดาให้นำมาผูกแขนเจ้า อย่าให้มีความเศร้าหมองอยู่ในตัว ด้วยคุณพระรัตนตรัยมีมากล้นขอให้เจ้าได้ทุกสิ่งสมประสงค์   เมื่อเจ้านอนหลับขอให้ได้เงินหมื่น นอนตื่นขอให้ได้เงินแสน ยื่นมือออกไปขอให้ได้แก้วแหวนเงินทอง ภัยร้ายทั้งปวงอย่าได้มาเบียดเบียน
                                               
                ๓. ผญาประเภทปริศนา-ปัญหาภาษิต
                ผญาปริศนา-ปัญหาภาษิต  คือ การใช้ถ้อยคำที่แทรกข้อคิด ปรัชญา คติชีวิต ในเชิงเปรียบเทียบในถ้อยคำ ทำให้ผู้ฟังต้องนำไปขบคิดและตีความเอาเอง
                ตัวอย่าง

 “อัศจรรย์ใจแข้   หางยาว ๆ สังบ่ได้ฮองนั่ง  
บาดกระต่ายหางแป ๆ กระต่ายหางก้อม ๆ สังมาได้นั่งฮอง”

                ความหมาย :         อัศจรรย์ใจ ที่ผู้มีความรู้มามาก ๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ผู้ร่ำเรียนมาน้อยกลับมีความสามารถประกอบอาชีพการงานได้สำเร็จและมั่นคงในชีวิต          

“อัศจรรย์ใจโอ้     โอทองสังมาแตก
บาดว่ากะโปะหมากพร้าว   สังมามั่นกว่าโอ

                ความหมาย :         อัศจรรย์ใจ ผู้ที่มีเชื้อสายจากสกุลใหญ่โต มีเกียรติยศชื่อเสียง ทำไมจึงแตกแยกขัดแย้งกันได้ แต่ทำไมผู้อยู่ในตระกูลธรรมดาสามัญชนทั่วไป กลับมีความกลมเกลียวมีความสามัคคีกันดี

    “กวางกินหมากขามป้อม     ไปคาก้นขี้มั่ง
คันแม่นมั่งบ่ขี้                        สามมื้อกระต่ายตาย
คันกระต่ายตายแล้ว             เห็น อ้ม ผัดเน่าเหม็น”

                ความหมาย :         ลูกหลานกระทำความผิด มีผลกระทบถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่นานก็จะเป็นปัญหากระทบไปถึงญาติพี่น้องเดือดร้อนกันไปหมด (รวมถึงสถาบันด้วย)

“อยากกินข้าว                      ให้ปลูกใส่พะลานหิน
อยากมีศีล                             ให้ฆ่าพ่อตีแม่
อยากให้คนมาแวะ              ให้ฆ่าหมู่เดียวกัน”

                ความหมาย :         ถ้าหากต้องการความสำเร็จ มีกินมีใช้ร่ำรวย ต้องเป็นผู้มีความอดทน เพียรพยายาม ต่อการทำทาน มีขันติธรรม (ปลูกข้าวใส่พะลานหิน)   ถ้าอยากเป็นผู้มีคุณธรรม เอาชนะใจตนเองได้ ต้องดับตัวกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสทั้งปวง (ฆ่าพ่อตีแม่) และถ้าต้องการให้คนเคารพนับถือ ชื่นชอบ ต้องขจัดพฤติกรรมที่เลวร้ายไปให้หมด มีความเห็นแก่ตัว(ฆ่าหมู่เดียวกัน) เป็นต้น และให้สำรวมกาย วาจา ใจ
 
                ๔. ผญาประเภทเกี้ยวพาราสี 
                ผญาประเภทนี้มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปว่าผญาเครือ, ผญาย่อยหรือผญาโต้ตอบ คือการใช้ถ้อยคำพูดโต้ตอบกันเชิงเกี้ยวพาราสี ทักทายปราศัย สรรเสริญเยินยอ หรือความอาลัย  
                ตัวอย่าง 

“ฝันคืนนี้ฝันเป็นประหลาดต่าง ฝันว่าเสาเฮือนเนิ้งไปทางตะวันออกฝันว่าปอกมีดโต้ตกน้ำล่องหนี ฝันว่าธำมะรงเหลื้อมในมือกระเด็นแตกเกรงว่านาถเจ้าใจเลี้ยวจากเฮียม”

                ความหมาย :     ฝันเมื่อคืนช่างฝันประหลาดนัก ฝันว่าเสาเรือนเอียงไปทางทิศตะวันออก ฝันว่าปลอกมีดตกไปในน้ำ ฝันว่าแหวนเพชรในมือหล่นแตก เกรงว่าจะเป็นลางร้ายหรือน้องจะจากไป

“สิบปีกะสิถ่าซาวพรรษากะสิอยู่ คันบ่ได้เป็นคู่เห็นแต่อุแอ่งน้ำกะปานได้นั่งเทียม”

                ความหมาย :       สิบปี ยี่สิบปีก็จะรอน้องอยู่ ถึงไม่ได้เคียงคู่น้องมองเห็นแค่ตุ่มใส่น้ำก็เหมือนได้นั่งเคียง

“อย่าให้เสียแฮงอ้ายเดินทางหิวหอด คือดั่งม้าอยากน้ำเดือนห้า หอดหิว คันบ่กูร์ณาอ้าย เห็นสิตายม้อยระแหม่ง เห็นสิตายหอดแห้งหิวน้ำหอดแฮง

                ความหมาย :        อย่าให้เสียแรงที่พี่ต้องดั้นด้นมาหา ได้โปรดกรุณารับไมตรีพี่ไว้อย่าแล้งน้ำใจนักเลย

“พี่สิลาจากน้องกลับต่าวเคหัง ปาสิลาวังเวินเสิ่นไปคือฮุ้ง ทุงสิไลลาผ้า  สาหนองสิลาบวก  ฮวกสิลาแม่น้ำ   นางน้องค่อยอยู่ดี แด่เนอ”

                ความหมาย :         พี่ต้องลาจากน้องไปแล้ว เหมือนปลาที่ลาจากน้ำ นกลาจากหนอง ขอให้น้องอยู่สุขสบายดีนะ

“พี่นี้ปลอดอ้อยซ้อย เสมออ้อยกลางกอ กาบกะบ่ห่อ หน่อน้อย  กะบ่ซอน ชู้บ่ซ่อนเมียอ้ายบ่มี

                ความหมาย :        พี่นี้ยังเป็นโสด ไร้คู่ใจเหมือนต้นอ้อยกลางกอ จึงได้มุ่งหมายมารักน้อง

“นกเขาตู้พรากคู่กะยังขัน กาเวาวอนพรากฮังกะยังฮ้อง น้องพรากอ้ายคำเดียวบ่เอิ้นสั่ง คันบ่เอิ้นสั่งใกล้ขอให้เอิ้นสั่งไกล”

                ความหมาย :        นกพรากคู่พรากรังยังร้องเพรียกหา แต่น้องจากพี่ไปไม่มีแม้คำร่ำลาก็ไม่มี
          
                   ผญาเกี้ยวพาราสีโต้ตอบหนุ่มสาว
                   ตัวอย่าง
                                (ชาย) .... สุขซำบายหมั้นเสมอมันเครือเก่าบ่นอ เทิงพ่อแม่พี่น้องซำบายถ้วนอยู่สู่คน บ่เด
                                           (สุขสบายเหมือนเดิมหรือเปล่า ทั้งพ่อแม่พี่น้องมีความสุขถ้วนหน้ากันไหม)
                                (หญิง) .... น้องนี่ สุขซำบายหมั้น เสมอมันเครือเก่าอยู่ดอกอ้าย เทิงพ่อแม่พี่น้องซำบายพร้อมสู่คน
                                   (น้องนี้ สุขสบายดีเหมือนเดิม พ่อแม่พี่น้องก็สบายดีกันทุกคน)
                                (ชาย) .... อ้ายนี่อยากถามข่าวน้ำ ถามข่าวเถิงปลา ถามข่าวนา อยากถามข่าวเถิงเข้า อ้ายอยากถามข่าวน้องว่ามีผัวแล้วหรือบ่ หรือว่ามีแต่ซู้ ผัวสิซ้อนหากบ่มี                            (พี่อยากถามข่าวคราวเรื่องน้ำเรื่องปลา ถามข่าวเกี่ยวกับนาก็อยากจะถามถึงข้าว  พี่อยากถามข่าวเกี่ยวกับตัวน้องว่ามีแฟนหรือยัง) 
                                (หญิง) ....โอนอ อ้ายเอย น้องนี้ปอดอ้อยซ้อยเสมอดั่งตองตัด พัดแต่เป็นหญิงมาบ่มีซายสิมาเกี้ยว ผัดแต่สอนลอนขึ้นบ่มีเครือสิเกี้ยวพุ่ม ผัดแต่เป็นพุ่มไม้เครือสิเกี้ยวกะบ่มี
                                   (พี่เอ๋ย น้องนี้ยังบริสุทธิ์ยังไม่มีแฟน เหมือนกับใบตองที่ตัดพับไว้ ตั้งแต่เกิดเป็น หญิงมาไม่มีชาใดเข้ามาเกี่ยวพัน เหมือนดั่งพุ่มไม้ไม่มีเถาวัลย์มาเกาะพัน)
                                (ชาย) .... น้องอย่ามาติแถลงเว้า เอาเลามาปลูก บ่แหม่นเซื้อซาติอ้อยกินได้กะบ่หวาน
                               (น้องนี่ช่างพูดเหมือนเอาต้นเลามาปลูก เพราะมันไม่ใช่อ้อยกินได้ก็ไม่หวาน)
                                (หญิง) .... คันบ่จริงน้องบ่เว้า คันบ่เอาน้องบ่หว่า คันบ่แม่นท่า น้องบ่ไล่ควายลง ตีลงแล้ว 
ถอยคืนมันสิยาก มันสิลำบากน้องเทียวหยุ่งอยู่บ่เซา
                                (ถ้าไม่จริงน้องไม่พูด ถ้าไม่ใช่ท่าน้ำน้องไม่ไล่ควายลงน้ำ เมื่อไล่ควายลงไปแล้วจะไล่ต้อนความขึ้นมามันก็ลำบาก)
                                (ชาย) .... อ้ายนี่เป็นดังอาซาไนม้า เดินทางหิวฮอด มาพ้อน้ำส้างแล้วในถ้ำกะส่องดาย กลายไปแล้ว ผัดคืนมาก้มส่อง อยากกินกะกินบ่ได้ เลียลิ้นอยู่เปล่าดาย
                                (พี่นี้เป็นเหมือนกับม้าเดินทางด้วยความหิวน้ำ เมื่อมาเจอบ่อน้ำ ลงกินไม่ได้เพียงได้แต่ส่องดูน้ำ อยากกินก็ลงกินไม่ได้คงได้แค่แลบลิ้นด้วยความกระหาย)
                                (หญิง) .... น้องนี้เป็นดังเฮือคาแก้ง เสาประดงคุงหาด หาผู้คึดซ่อยแก้ ให้หายฮ้อน กะบ่มี
                          (น้องเป็นดังเรือที่ค้างอยู่ในแก่งน้ำ เสาประโดงติดอยู่ จะหาคนมาช่วยก็ไม่มี)
                                                         
                จากคำผญาที่ยกตัวอย่างมา เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วสามารถแบ่งเป็น ๓ ลักษณะคือ
                ๑. หมวดที่ว่าด้วยผญาภาษิต ได้แก่ คติสอนใจ ปริศนา เช่น “ครันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพญา อย่าสิลืมชาวนาผู้ขี่ควายคอนกล้า”
                ๒. หมวดที่ว่าด้วยผญาอวยพร เช่น “นอนหลับให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แปนมือไปให้ได้แก้วมณีโชติ โทษฮ้ายอย่าพาล มารฮ้ายอย่ามาเบียด”
                ๓. หมวดที่ว่าด้วยผญาเกี้ยว ได้แก่ การเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหญิงชาย เช่น “ครันอ้ายคึดฮอดน้องให้เหลียวเบิ่งเดือนดาว สายตาเฮาสิก่ายกันอยู่เทิงฟ้า”
 
 
ความสำคัญของผญาที่มีต่อสังคมชาวอีสาน
                เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างผญาอันเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะชาวอีสานแล้ว นับว่าผญามีบทบาทต่อสังคมอีสานที่สืบทอดมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ซึ่งมักจะแสดงออกมาในลักษณะต่อไปนี้
                ๑. ผญามีบทบาทต่อการสั่งสอน           การถ่ายทอดความรู้และสั่งสอนแก่ลูกหลาน ลูกศิษย์ ประชาชน ของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และพระสงฆ์   นอกจากการถ่ายทอดโดยตรงแล้วยังการถ่ายทอดทางอ้อมด้วยการสังเกตความประพฤติของบุคคลแวดล้อมด้วยการปฏิบัติในกิจกรรมต่าง ๆ    เช่น การบอกเล่า การประกอบพิธีกรรม การแสดงมหรสพ โดยใช้ถ้อยคำที่เป็นภาษิตหรือผญาเป็นสื่อนำมาสอน เพราะผญาเป็นถ้อยคำที่แฝงไว้ด้วยคติธรรมและมีความไพเราะสละสลวยรัดกุม ทำให้ผู้ฟังสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามที่ถูกที่ควรได้
                ๒.   ผญามีบทบาทต่อความบันเทิง     คนอีสานมักจะกิจกรรมการเล่นและมหรสพประจำ    ท้องถิ่นอีสานชนิดหนึ่ง คือ หมอลำ เมื่อคนอีสานมีงานประจำปีหรืองานบุญงานกุศลต่าง ๆ มักจะมีหมอลำซึ่งถือว่าเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นภูมิปัญญาคู่มากับคนอีสาน     และในคำร้องของหมอลำที่แสดงนั้น ล้วนแต่เป็นถ้อยคำที่เป็นผญาแทบทั้งสิ้น นอกจากผญาที่เป็นคำร้อง(หมอลำ)แล้ว ก็ยังมีการกล่าวผญาโต้ตอบระหว่างกันและกัน เรียกว่า การจ่ายผญา หรือแก้ผญา พูดผญา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลำผญาญ่อย ลักษณะของการจ่ายผญาคือ หมอลำหรือผู้เล่นจะนั่งเป็นวง ส่วนผู้ฟังอื่น ๆ ก็จะนั่งเป็นวงล้อมรอบ แล้วมีการจ่ายผญากันและกัน และจะมีหมอแคนเป่าให้จังหวะไปด้วย บางครั้งการจ่ายผญาก็มีในกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เข็นฝ้ายหรือปั่นฝ้าย ฝ่ายชายก็จะลำเกี้ยวฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายหญิงก็จะเข็นฝ้ายไปด้วยจ่ายผญาไปด้วย นับว่าเป็นการสร้างความสนุกสนานให้กับคนอีสานเป็นอย่างมากโดยเฉพาะหนุ่มสาวอีสาน
                 ๓. มีบทบาทต่อการอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน   คนอีสานเมื่อไปอยู่ในที่ใด ๆ ถ้าได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกันหรือแม้กระทั่งคุยกันในกลุ่มของคนอีสานแล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือการพูดผญา สอดแทรกขึ้นมาในระหว่างการสนทนาเสมอ จึงเป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมประเภทมุขปาฐะของท้องถิ่นอีสานโดยทางอ้อม ทั้งเพราะผญา เป็นวรรณกรรมประเภทมุขปาฐะหนึ่งใน ๖ ของวรรณกรรมมุขปาฐะถิ่นอีสาน ได้แก่ 
                                ๓.๑ การเล่าเรื่องตำนานและนิทาน
                                ๓.๒ การสวดสรภัญญ์
                                ๓.๓ การอ่านหนังสือผูก
                                ๓.๔ การแสดงหมอลำ
                                ๓.๕ เพลงเด็ก
                                ๓.๖   ผญา
 
                ดังนั้น ผญา จึงเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่มีบทบาทต่อสังคมคนอีสานมาก ทั้งยังเป็นเครื่องมือให้การศึกษาแก่คนในกลุ่มและสถาบันพื้นฐานทางสังคมมี ครอบครัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างความเพลิดเพลิน กระตุ้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและคงความเป็นอีกลักษณ์ทางภาษาแก่คนอีสานไว้ไม่ให้เสื่อมสูญไป เรียกได้ว่า ผญาหรือคำคม ภาษิตอีสาน      เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่มีบทบาทหน้าที่ (functionalism) ที่สำคัญต่อคนอีสานตั้งแต่อดีตจนตราบเท่าปัจจุบันทุกวันนี้.
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 เอกสารอ้างอิง
 
          ๑. กรมศิลปากร.    พื้นอีสาน.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, ๒๕๓๑.
          ๒. นงลักษณ์ ขุนทวี.    ผญาวรรณกรรมเพื่อปัญหาและชีวิตอีสาน.   ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.
          ๓. ปรีชา พิณทอง. ไขภาษิตโบราณอีสาน.   อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรม, ๒๕๒๘.
          ๔. ศูนย์รวมสงฆ์ชาวอีสาน.    ผะญาหย่อยอายสาวโคลงสุภาษิตอีสาน.   กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิทักษ์อักษร,
                ๒๕๓๖.
         ๕.  สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์. ผญาภาษิตโบราณอีสาน.   (มปป.)
          ๖. สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์กวีศรีอีสาน ดร. พิมพ์รัตนคุณสาส์นขอนแก่น, ๒๕๔๐.
           ๗.  อดิศร เพียงเกษ.    หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องบาป-บุญ ที่ปรากฏในผญาอีสาน. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๔.

 
 

 

(ที่มา: คณะครุศาสตร์ มจร.)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕