หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ทำไมระบบการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า » ทำไมระบบการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า
 
เข้าชม : ๗๖๘๒๔ ครั้ง

''ทำไมระบบการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า ''
 
ร้อยตำรวจเอกหญิง อาภรณ์ รัตน์มณี (2553)

ทำไมระบบการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า
              
"การศึกษา" นับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนไปถึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน ดังนั้นการพัฒนาคนสามารถทำได้หลาย ๆ รูปแบบ อย่างที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการให้การศึกษา ดังนั้นการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวล้ำนำโลกไปมาก การศึกษาก็ต้องพัฒนาไปให้ทันกับโลก
              
สำหรับการศึกษาในประเทศไทย หากดูจากสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมหลาย ๆ ฝ่ายกำลังเข้าใจเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือการศึกษาของไทยกำลังมีปัญหา จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากสังคม ซึ่งมีการทำวิจัยออกมาหลาย ๆ ครั้งที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของการศึกษาในบ้านเรา ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยเปรียบเสมือนสายพานความป่วยไข้ทางสังคมที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ความอ่อนแอของทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันครอบครัวอ่อนแอ พื้นที่อบายมุขขาดการควบคุม อันเป็นปฐมเหตุของปัญหาพฤติกรรมเด็กและเยาวชน ไม่ว่าเป็นปัญหาติดห้าง เที่ยวกลางคืน กินเหล้า สูบบุหรี่ และมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อันจะนำไปสู่ผลกระทบกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย
              
เคยมีการสัมมนาเรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่ผิดของวัยรุ่นไทยในปัจจุบันมีความรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤติทางสังคม ซึ่งปัญหาอันดับหนึ่งคือ ยาเสพติด รองลงมาคือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรโดยเฉลี่ยจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุ 16 ปี เป็นที่มาของการทำแท้ง การทอดทิ้งเด็ก เด็กถูกทำร้าย การติดเชื้อเอดส์ และการขายบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอุบัติเหตุจากความมึนเมา คึกคะนอง ท้าทายกฎระเบียบ ส่วนปัญหาที่กำลังมีแนวโน้มขยายตัวและรุนแรงในวัยรุ่นคือ การทำร้ายผู้อื่นและทำร้ายตนเอง โดยการคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนาและชุมชน รวมถึงสื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและรีบแก้ไขปัญหาวัยรุ่น
              
ผลจากการติดตามการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 6 ปี หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยประเมินจากคุณภาพภายนอกสถานศึกษา 17,562 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 49.1 ของโรงเรียนทั้งหมด พบว่า การจัดการเรียนการสอนของครูยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ยังมีคุณภาพอยู่ในระดับร้อยละ 39.2 การจัดกิจกรรมที่กระตุ้นผู้เรียนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ มีคุณภาพอยู่ระดับ ร้อยละ 13.5 และครูสามารถนำผลการประเมินมาปรับการเรียนและเปลี่ยนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพเพียงร้อยละ 21.6 ของสถานศึกษาทั้งหมด การประเมินคุณภาพทางด้านผู้เรียนพบว่า ยังมีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนระดับต่ำมากในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์ มีคุณภาพระดับดีเพียงร้อยละ 11.1 และการมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพดีเพียงร้อยละ 26.5 ของสถานศึกษาทั้งหมด ส่วนผลการประเมินของผู้ตรวจราชการ พบว่า โครงสร้างการบริหารการศึกษาในส่วนกลาง ยังขาดการประสานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนภูมิภาคพบว่าผู้แทนกระทรวงในจังหวัดยังไม่ชัดเจน การกระจายอำนาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่สำคัญครูจำนวนมากยังสอนแบบเดิม ขาดความรู้ในเนื้อหาวิชาและทักษะการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็กขาดโอกาสพัฒนามาก เพราะไม่สามารถทิ้งห้องเรียนได้ การติดตามผลยังไม่เข้มแข็ง ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทางการศึกษา
              
สาเหตุที่ทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาช้า วิเคราะห์ได้ดังนี้
              
1. ระดับนโยบาย

              
ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย ซึ่งเป็นระดับประเทศ จะเห็นได้ว่า รัฐบาลหลายยุคยังให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาในระดับรองเมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นๆ ความจริงแล้วเรื่องการศึกษาถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งมีข้อที่น่าสังเกตว่าผู้ที่จะมารับผิดชอบกำกับดูแลการศึกษาของชาติกลับกลายเป็นว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความรู้มีความเข้าใจงานด้านการศึกษา หรือมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการศึกษาไม่มากนัก กล่าวคืออาจมีความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพอื่น แต่เมื่อมารับผิดชอบงานทางด้านการศึกษากลับไม่สามารถกำกับดูแล และกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และนโยบายการศึกษาของชาติได้ ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาและแนวทางการปฏิบัติกับบุคลากรทางการศึกษา ทั้งๆที่ในวงการศึกษามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างมากมาย
              
2. ระดับผู้ปฏิบัติ
              
ในระดับผู้ปฏิบัติอันดับแรกก็ต้องนึกถึงครู ผู้ให้ความรู้ ประสิทธิประสาทวิชา เป็นผู้ถ่ายทอดให้กับนักเรียน สำหรับประเทศไทยจะเห็นได้ว่าในอดีตนั้นอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ มีเกียรติ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะที่จบออกมาเป็นครูนั้น นักเรียนจะให้ความสำคัญน้อย เลือกเป็นอันดับท้าย ๆ หรือสอบเข้าอะไรไม่ได้จึงต้องไปเรียนครู ได้ยินคนในสังคมกล่าวกันอย่างนั้น ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาเพื่อเป็นครูจริง ๆ มีน้อยลงทุกวัน เมื่อไม่มีจิตวิญญาณในการเป็นครูแล้ว การจะสอนให้ได้ประสิทธิภาพดีก็น้อยลงตามความสำคัญ จะทำอย่างไรให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครูและต้องการเป็นครู เลือกคณะครูเป็นอันดับแรก ๆ และสิ่งที่ตอกย้ำลงไปอีกคือครูจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ที่มีหนี้สินมาก เนื่องมาจากค่าตอบแทนจากอาชีพการเป็นครูน้อย ไม่เพียงพอต่อการครองชีพกับสังคมปัจจุบัน ทำให้ครูส่วนหนึ่งสนใจที่จะหารายได้เลี้ยงครอบครัวมากกว่าการสอนหนังสือ เช่นการสอนพิเศษ ตั้งใจทำอาชีพเสริมมากกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ครูที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาณที่เหลืออยู่น้อยแล้ว ยังมีเรื่องของการประเมินผล ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพโดยเฉพาะการเลื่อนวิทยฐานะไม่ได้วัดจากความสำเร็จของนักเรียน แต่วัดจากผลงานทางวิชาการ ดังนั้นครูบางส่วนจึงสนใจที่จะทำผลงานทางวิชาการมากกว่าการสอนเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้จริง ๆ ครูจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษาไทยพัฒนาได้ช้า
              
3. ระบบการศึกษาของไทย
              
การศึกษาของประเทศไทยเริ่มต้นมาจากวัฒนธรรมของคนไทยที่ได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่โบราณให้เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีวันไหว้ครู ดังนั้นครูสมัยก่อนจะดุและนักเรียนจะเชื่อฟังมาก นักเรียนจะกลัว ไม่กล้าถาม ไม่กล้าตอบ ทำให้ปลูกฝังมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นระบบที่ฟังจากครูอย่างเดียว ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ไม่เป็น การศึกษาไทยเป็นระบบป้อนเข้าอย่างเดียว ไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน หรือมีก็น้อยมาก มีการสนใจใฝ่หาความรู้ด้วยตนเองน้อย ทำให้เด็กคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่เป็น ยิ่งมีการเน้นย้ำด้วยการสอบโดยอาศัยความจำเป็นหลักนักเรียนก็จะท่องจำอย่างเดียว ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น สังคมปลูกฝังให้นักเรียนต้องเป็นคนเก่ง ซึ่งนักเรียน ก็จะแข่งกันโดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น ๆ เมื่อผิดหวังรุนแรงก็ไม่สามารถแก่ปัญหาตนเองได้ เหล่านี้เป็นต้น แต่ก็เห็นว่าในปัจจุบันจะได้พัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแล้ว เด็กกล้าคิด กล้าทำมากขึ้น ก็นับว่าเป็นจุดที่ดีที่จะพัฒนาให้ทัดเทียมประเทศอื่นต่อไป
              
นอกจากนั้นการเรียนการสอนในโรงเรียนก็ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน เครื่องมืออุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนก็แตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาลด้วยกัน หรือโรงเรียนเอกชน ต่างจังหวัดนั้นไม่มีอุปกรณ์สื่อการสอนเลยในขณะที่กรุงเทพฯ มีมากมาย ทำให้เด็กมีมาตรฐานไม่เหมือนกันอยู่แล้ว และนำเกณฑ์เดียวกันมาวัดทำให้เกิดความล้มเหลวทางการศึกษา และในโรงเรียนก็ไม่ได้สอนเต็มที่เพราะต้องการให้นักเรียนมาเรียนพิเศษอันนำมาซึ่งรายได้เพิ่ม สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาช้าของระบบการศึกษาอีกอย่างหนึ่งคือสถาบันกวดวิชา จะเห็นได้ว่าเป็นที่น่าสนใจมาก มีผู้เรียนเยอะเสียค่าเล่าเรียนแพงมาก แต่ธุรกิจพวกนี้ก็ยังอยู่ได้ แสดงว่ามีคนเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหากมีการสอนที่ดีในโรงเรียนแล้วเด็กก็จะไม่ต้องมาเรียนพิเศษมากมายขนาดนั้น
               บทสรุป
              
จากปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้น มีทั้งสาเหตุหลักและสาเหตุรองหลายประการที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาของไทยยังไปไม่ถึงไหน พัฒนาได้ช้า แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่ายังไม่สายเกินไปที่จะผ่าตัดการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น ทั้งนี้การแก้ปัญหาการศึกษาบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือร่วมใจกันทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ผู้ที่จะมากำกับดูแลงานทางด้านการศึกษา รัฐบาลจะต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ทางด้านการศึกษาจริงๆ มารับผิดชอบ นอกจากนั้นการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องกำหนดให้มีหัวข้อวิชาคุณธรรม จริยธรรมไว้ในทุกหลังสูตรทุกระดับ จะต้องเพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับครู การเลื่อนวิทยฐานะของครูต้องมีความเหมาะสมและเป็นธรรม และที่สำคัญในส่วนของผู้ปกครอง สื่อมวลชน สถาบันทางศาสนา ต้องแสดงบทบาทและหน้าที่ในการมีส่วนรวมกับการพัฒนาการศึกษาได้ด้วย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทและหน้าที่และร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง ผู้เขียนเชื่อว่าการศึกษาของไทยจะพัฒนาได้อย่างไม่ช้าเหมือนที่ผ่านมา

 

(ที่มา: http://school8.education.police.go.th/technical/technical05.html)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕