หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » บททั่วไป » พิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย
 
เข้าชม : ๑๕๕๙๙ ครั้ง

''พิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย''
 
พิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย (2553)

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนจะต้องประสบและไม่สามารถหลีกหนีจุดจบของชีวิตได้ ประเพณีไทยมีพิธีกรรมในการจัดการกับศพเพื่อแสดงถึงความรักและอาลัยให้แก่ผู้ตายและเป็นการส่งวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สุขคติ

         เมื่อมีคนสิ้นลมหายใจแล้ว นำมาทำพิธี พิธีที่จะทำเริ่มแรก คือ การอาบน้ำศพหรือที่เรียกกันว่า พิธีรดน้ำศพ ซึ่งการรดน้ำศพจะจัดพิธีหลังจากคนตายไปไม่นานนัก โดยใช้น้ำมนต์ผสมน้ำสะอาด โรยด้วยดอกไม้หอมหรืออาจะใช้น้ำอบผสมด้วย ผู้ที่มารดน้ำศพจะรดที่มือข้างหนึ่งของผู้ตายที่ยื่นออกมาและกล่าวคำไว้อาลัย

         หลังจากพิธีรดน้ำศพเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะต้องนำศพมาแต่งตัว โดยการหวีผมให้ศพ และเมื่อหวีผมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องหักหวีโยนลงโลงศพในการนุ่งผ้าสวมเสื้อให้ศพนั้นจะต้องสวมเสื้อเอาหน้าไว้หลังเอาหลังไว้หน้าเสื้อที่ใส่เป็นสีขาว นุ่งผ้าขาว ให้เอาชายพกไว้ข้างหลัง จากนั้นจึงเป็นการนุ่งห่มตามธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง

         การนำเงินใส่ศพ และการนำหมากใส่ปากศพนั้นก็เพื่อเป็นการให้คติข้อคิดเตือนใจให้กับคนที่มีชีวิตอยู่ว่า บรรดาทรัพย์สมบัติที่ผู้ตายมีไม่ว่าจะน้อยหรือมากเพียงใด เมื่อตายไปก็ไม่สามารถเอาไปได้ เช่น เดียวกันกับหมากที่ผู้ตายชอบ แต่เมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถเคี้ยวได้ ดังนั้น จึงไม่ควรมีความโลภลุ่มหลงในทรัพย์สินเงินทองแต่ควรหมั่นสร้างบุญสร้างกุศล

         การปิดหน้าศพ นั้นก็เพื่อป้องกันการอุจาดตา สัปเหร่อจะเป็นผู้มัดตราสัง ก็คือการมัดศพโดยใช้ด้ายดิบขนาดใหญ่มาทำการมัดมือที่คอ แล้วโยงมาที่มือที่ประนมอยู่ที่หน้าอก โยงไปที่เท้า และมีการท่องคาถา หลังจากนั้นสัปเหร่อก็จะนำศพลงโลงโดยมีการทำพิธีเบิกโลงก่อน และมีการนำมีดหมอเสกสับปากโลงด้วย เมื่อสัปเหร่อทำพิธีการเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะสามารถนำศพออกจากเรือนหรือย้ายศพไปเผาได้และจะตั้งศพโดยจะหันไปทางทิศตะวันตกเพราะเชื่อว่าเป็นทิศของคนตาย

         การสวดศพ เจ้าภาพอาจจะใช้เวลา 5 วัน หรือ 7 วัน ตามความสะดวกและฐานะของเจ้าภาพ และนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป สวดศพอภิธรรมในการเผาศพ วันเผาศพนั้นจะต้องไม่ใช่วันศุกร์ วันพฤหัสบดี วันพระ วันเลขคู่ ในข้างขึ้น วันเลขคี่ในข้างแรม ในวันเผาศพจะมีการทำบุญและทำมาติกาบังสกุลก่อน จากนั้นก็จะเคลื่อนศพเวียนซ้าย 3 รอบ ยกขึ้นเชิงตะกอนหรือขึ้นเมรุ ผู้ที่มาร่วมงานศพจะนำดอกไม้จันทร์ที่เจ้าภาพแจกให้ขึ้นไปวางไว้ที่ฝาโลงศพ ซึ่งในพิธีการเผาศพจะมี 2 ช่วงคือ ช่วงแรกจะเรียกว่าการเผาหลอก คือพิธีการที่บรรดาญาติพี่น้องและแขกที่มาร่วมงานจะนำดอกไม้จันทน์ขึ้นไปวางไว้ แต่ยังไม่มีการจุดไฟจริง แต่พิธีการเผาจริงจะเป็นบรรดาญาติสนิทขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์ และมีการจุดไฟเผาจริง

         เมื่อพิธีเผาศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นสามารถมาเก็บอัฐิได้แต่ถ้าเป็นชนบทจะเก็บอัฐิภายหลังการเผาแล้ว 3 วัน เนื่องจากชนบทจะใช้ฟืนเผาจึงจะต้องรอให้ไฟมอดสนิทก่อน ลูกหลานจะเก็บส่วนที่สำคัญไว้บูชา และบางส่วนอาจจะนำไปลอยอังคาร ซึ่งอาจจะเป็นแม่น้ำ หรือทะเล ทั้งนี้มีความเชื่อที่ว่าจะทำให้วิญญาณของผู้ตายมีความสงบและร่มเย็น

         พิธีกรรมที่จัดขึ้นเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันถึงแม้จะมีพิธีบางอย่างที่ปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ายุคสมัย แต่ข้อคิด คติเตือนใจที่แฝงอยู่ในความเชื่อต่างๆ สามารถช่วยย้ำเตือนให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตและพยายามทำความดีงามเพื่อที่จะได้เจอแต่สิ่งดีๆ

(ที่มา: www.9bkk.com)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕