หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูวิสิฐจันทโสภิต (ประสิทธ์ ยุตฺตธมฺโม)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
ศึกษาการพิจารณาธาตุในการเจริญวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระครูวิสิฐจันทโสภิต (ประสิทธ์ ยุตฺตธมฺโม) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธวรกิจจานุการ
  เสนาะ ผดุงฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์เล่มนี้  มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษา ธาตุ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการพิจารณาธาตุในการเจริญวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ตลอดจนตำราวิชาการอื่นที่เกี่ยวข้องนำมารวบรวมเรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา นำเสนอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแก้ไข ตามคำแนะนำ จากการศึกษาพบว่า

 

               คำว่า “ธาตุ” มีความหมายว่า “ทรงไว้” มีความหมายว่า “ไม่สลายไป” มีความหมายว่า “กำหนดได้” ทั้ง ๓ ความหมายนี้เนื่องกัน ถ้ามัน ทรงตัวอยู่ได้ มันจึงไม่สลาย เมื่อมันทรงตัวอยู่อย่างไม่สลาย มันจึงเป็นสิ่งที่กำหนดได้ ว่าอะไรเป็นอะไร รวมความ ทั้ง ๓ ความหมาย มันก็เป็นคำว่า “ธาตุ” คือ สิ่งที่ที่ทรงตัวอยู่ไม่สลายไป มีลักษณะที่อาจกำหนดว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าจะให้นิยามสั้นที่สุด คำว่า “ธาตุ” นี้ แปลว่าทรงไว้ ทรงตัวเอง ก็ได้ ทรงสิ่งอื่น ก็ได้ ถูกสิ่งอื่นทรงไว้ ก็ได้ เรียกว่าธาตุทั้งสิ้น ธาตุ จึงมีมาก มีครบทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างเรียกว่า“ธาตุ”

                  จากการศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาพบว่า หลักการเจริญวิปัสสนาที่มุ่งสู่พระนิพพาน มี ๒ แนวทาง ๑) การเจริญสมถกรรมฐานเป็นบาทฐานเบื้องต้น หรือ การปฏิบัติตามหลักสมถยานิก โดยนำเอาธาตุ อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ๒) การเจริญวิปัสสนาล้วน ๆ หรือสุทธวิปัสสนายานิก อันหมายถึง วิปัสสนาล้วน ๆ เป็นยาน ผู้ปฏิบัติวิปัสสนายังไม่ได้ฌานสมาบัติมาก่อน เทคนิคของทั้ง ๒ แนวทางมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ผู้เจริญภาวนาดำเนินไปสู่มรรค ผล พระนิพพาน

 

                 จากการศึกษาการพิจารณาธาตุในการเจริญวิปัสสนาพบว่า พระพุทธศาสนา ได้นำธาตุมาเป็นเครื่องมือในทางศาสนาเพื่อใช้สอนกรรมฐาน ให้โยคีได้ฝึกหัดพัฒนาตน ใช้ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ธาตุก็ คือ สิ่งที่นำมาให้จิตกำหนด เพื่อชักนำให้เกิดสมาธิ ธาตุจึงจัดว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็นกลอุบายวิธีเหนี่ยวนำจูงใจให้เกิดสมาธิ ดังนั้นคุณค่าของธาตุ ในมุมมองของพระพุทธศาสนา จึงเป็นคุณค่าในฐานะที่เป็นอุปกรณ์เครื่องมือ เป็นคุณค่าทางบทบาทหน้าที่ของการนำไปใช้งาน เพื่อให้จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน การฝึกฝน พัฒนาตน ทดลองเชิงประจักษ์ ก่อให้เกิด ศีล สมาธิ ปัญญา บรรลุ มรรค ผล นิพพาน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕