หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอุดมจารุวรรณ (คำไล้ จารุวํโส)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๐ ครั้ง
ศึกษาทศพิธราชธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอุดมจารุวรรณ (คำไล้ จารุวํโส) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีสุทธิเวที
  จรูญ วรรณกสิณานนท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เพื่อศึกษาทศพิธราชธรรม   ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับทศพิธราชธรรมในคัมภีร์   พุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้ทศพิธราชธรรมในการดำเนินชีวิต         โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา และคัมภีร์อื่น ๆ         ที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

             ทศพิธราชธรรม  ๑๐ ประการคือ (๑) ทาน (๒) ศีล (๓) การบริจาค (๔) ความซื่อตรง (๕) ความอ่อนโยน (๖) ความเพียร (๗) ความไม่โกรธ (๘) ความไม่เบียดเบียน (๙) ความอดทน (๑๐) ความเที่ยงธรรม ปรากฏอยู่ในมหาหังสชาดกที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้ากรุงพาราณสีพระนามว่าสังยมะที่ตรัสตอบแก่พระยาหงส์ชื่อว่าธตรัฏฐะ  ซึ่งพระราชาซึ่งเป็นผู้ปกครองแผ่นดินในอดีตกาลทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ความสำคัญของหลักคำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม กล่าวถึงผู้นำ หรือปกครองครอง ภาษาบาลีจึงใช้คำว่า ธมฺเมน ปเร รญฺเชติ  หมายถึง ผู้ที่ทำให้คนอื่นพึงพอใจโดยธรรม จึงเรียกว่า ราชา  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า ทศพิธราชธรรม เป็นธรรมสําหรับท่านผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ผู้นํา และผู้ปกครองรัฐ พระเจ้าจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์ ตลอดจนนักปกครองโดยทั่วไป เป็นคุณสมบัติของนักปกครองที่ดี  หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับทศพิธราชธรรม แบ่งออกเป็น หลักไตรสิกขามี ๓ ประการคือ  (๑)  ศีล (๒)  สมาธิ และ(๓) ปัญญา  สังคหวัตถุ ๔ คือ (๑) ทาน  (๒) ปิยวาจา (๓) อัตถจริยา (๔) สมานัตตตา  อภัยทาน เป็นการให้ทานที่ยิ่งใหญ่  และหลักสาราณียธรรม ๖ ประการ คือ (๑) เมตตากายกรรม    (๒) เมตตาวจีกรรม (๓) เมตตามโนกรรม (๔) สาธารณโภคิตา (๕) สีลสามัญญตา (๖) ทิฏฐิสามัญญตา 

             หลักธรรมสนับสนุนต่อทศพิธราชธรรมแบ่งออกเป็น หลักสัปปุริสธรรมม ๗ ประการคือ (๑) ผู้รู้จักเหตุ  (๒) ผู้รู้จักผล (๓) รู้จักตน  (๔) ผู้รู้จักประมาณ (๕) ผู้รู้จักกาล (๖) ผู้รู้จักชุมชน    คือ รู้จักบริษัท  (๗) ผู้รู้จักบุคคล ราชอปริหานิยธรรม ๗ ประการเช่น (๑) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์  (๒) พร้อมเพรียงกันประชุม (๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้เป็นต้น หลักฆราวาสธรรม ๔ ประการ ได้แก่ (๑) สัจจะ (๒) ทมะ (๓) ขันติ (๔) จาคะ และพรหมวิหาร  ๔ ประการคือ      (๑) เมตตา (๒) กรุณา (๓) มุทิตา (๔) อุเบกขา  ส่วนหลักธรรมที่เป็นข้าศึกต่อทศพิธราชธรรม แบ่งออกเป็นอคติ ๔ อย่างคือ (๑) ฉันทาคติ  (๒) โทสาคติ (๓)โมหาคติ (๔) ภยาคติ อกุศลมูล ๓ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะเป็นต้น ปปัญจธรรมเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือเป็น กิเลสตัวปั่น ปั่นใจให้ทุกข์ ปั่นหัวใจให้เรื่องมาก และอกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ (๑) ปาณาติบาต (๒) อทินนาทาน         (๓) กาเมสุมิจฉาจาร (๔) มุสาวาท (๕) ปิสุณวาจา (๖) ผรุสวาจา (๗) สัมผัปปลาปะ (๘) อภิชฌา (๙) พยาบาท (๓)  มิจฉาทิฏฐิ

             แนวทางการประยุกต์ใช้ทศพิธราชธรรมในการดำเนินชีวิตนั้น คือ การนำเนื้อหาเชิงคุณธรรมซึ่งเป็นแรงผลักให้เป้าหมายของหลักธรรมมีประสิทธิภาพโดยการใช้ทศพิธราชธรรมเพื่อ ใช้เป็นคุณธรรมสำหรับพระราชา ผู้ปกครอง นักบริหารและผู้นำในระดับต่าง ๆ ทั้ง ๑๐ ประการ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕