หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ธีระวิทย์ ยาทองไชย
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๔ ครั้ง
ศึกษาแนวคิดเรื่องนิจจสัญญาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : ธีระวิทย์ ยาทองไชย ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูจิรธรรมธัช
  อธิเทพ ผาทา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2559
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้วิจัยได้ตั้งเป้าหมายในการศึกษาไว้ ๓ ประเด็น ได้แก่ เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องนิจจสัญญาในพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาปัญหานิจจสัญญาในพระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหานิจจสัญญาในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับการดำเนินชีวิต

              จากการศึกษาพบว่า นิจจสัญญาหมายถึงการกำหนดหมาย หรือรู้ในสภาวธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นโดยความเป็นของเที่ยง แท้ มั่นคง ถาวร และมีแก่นแท้ที่ดำรงอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันเป็นความกำหนดหมายรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ เช่น เห็นว่า รูปที่มีธรรมชาติไม่เที่ยงเป็นสภาพเที่ยงเป็นต้น นิจจสัญญาจึงเป็นอกุศลธรรมที่สร้างปัญหาแก่ชีวิตตามทัศนะในพระพุทธศาสนา เพราะได้สร้างเงื่อนไขของสังสารวัฏโดยดักสัตว์ บุคคล ให้ยึดติดในขันธ์ ๕ หรือในภพชาติ ไม่ให้สามารถหลุดพ้นไปได้ ก่อโทษร้ายแรงถึงขั้นทำสัตว์ บุคคล ผู้หลงยึดมั่นให้กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล จนไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้

              นิจจสัญญาโดยมากจะเป็นในสัตว์บุคคลผู้ประกอบด้วยขันธ์ ๕ และสัตว์ที่เกิดขึ้นรูปภพ และอรูปภพโดยที่สัตว์บุคคลเหล่านั้นจะยึดมั่นถือมั่นในสัญญาที่ตนมีอยู่ เช่น การยึดมั่นในขันธ์ ๕ มีรูปูปาทานขันธ์ เป็นต้น ของสัตว์บุคคลผู้ประกอบด้วยขันธ์ ๕ การยึดมั่นในภพวิเศษว่าเป็นอมตะของพวกพรหมทั้งหลายที่ชื่อว่ามีอัตตาที่แท้จริงดำรงอยู่ในภพนั้น และการยึดมั่นในสภาวธรรมมีจิตเป็นต้นว่าเป็นธรรมชาติที่ไม่แตกดับดำรงอยู่โดยความเป็นธรรมชาติสูงสุดเหมือนสถานะของพระเจ้า หรือเชื่อว่าสภาวธรรมอันเป็นทิพย์ของพระพุทธเจ้าดำรงอยู่เหนือกฎแห่งไตรลักษณ์เป็นต้น

              นิจจสัญญาจะมีกำลังมาก ถ้าได้อกุศลธรรมสนับสนุนได้แก่ สัสสตทิฏฐิ ปมาทธรรม มิจฉาทิฏฐิเป็นต้น แต่จะอ่อนกำลังลง ถึงขั้นถูกกำจัดได้ ถ้าบุคคลประพฤติตนอยู่ในกุศลธรรม มีสัสสตทิฏฐิ อัปปมาทธรรม สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ซึ่งกุศลธรรมเหล่านี้ จัดเป็นพุทธวิธีแก้ปัญหานิจจสัญญาอย่างมีรูปแบบ เช่น ปัญหานิจจสัญญาระดับโลกียะ สามารถใช้การพิจารณาในอสุภสัญญา มรณสัญญา และอาหาเรปฏิกูลสัญญาก็สามารถกำจัดนิจจสัญญาได้ แต่นิจจสัญญาในระดับฌาน จะต้องใช้การภาวนาที่มีกำลังมาก เช่น การเจริญวิปัสสนาประกอบด้วยมรรค ผล จึงจะสามารถยับยั้งความยึดมั่นว่า เที่ยงได้

              สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานิจจสัญญาในชีวิตประจำวัน บุคคลผู้ต้องการออกจากปัญหา จะต้องใช้หลักไตรสิกขา และอริยสัจ มีการศึกษาให้รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิต ต่อมาจึงศึกษาสมาธิเพื่อให้จิตมั่นคง แล้วจึงบรรเทานิจจสัญญาด้วยปัญญา และวิปัสสนาเพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์เข้ามากระทบ และปฏิบัติต่ออารมณ์อย่างตรงไปตรงมา จึงจะไม่สร้างนิจจสัญญาให้เกิดขึ้นได้ เรียกการปฏิบัติเช่นนี้ ว่า การดำเนินด้วยอริยมรรค.

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕