หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการทองหนัก กตสาโร
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
ลักษณะขันติของพระโพธิสัตว์ในมหานิบาตชาดก
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการทองหนัก กตสาโร ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ กันยายน ๒๖๗๑
 
บทคัดย่อ

            การศึกษาวิจัยเรื่อง ลักษณะขันติของพระโพธิสัตว์ในมหานิบาตชาดก” มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาความหมายขันติในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาลักษณะขันติของพระโพธิสัตว์ในมหานิบาตชาดก ๓) เพื่อประยุกต์ใช้หลักขันติของพระโพธิสัตว์ในมหานิบาตชาดก เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) ซึ่งใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล การศึกษาข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์เนื้อหา

 

                  ผลการวิจัยพบว่า

                  ๑)  ความหมายขันติในพระพุทธศาสนา ขันติในความหมายของพระพุทธศาสนา หมายถึง  อดกลั้นต่อความทุกข์ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เช่น อดทนต่อสภาพของปัจจัยความร้อนหรือความเย็น อดทนต่อความทุกขเวทนาของร่างกายเมื่อเจ็บป่วย อดทนต่อคำด่า คำดูหมิ่น และอดทนต่อความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นคือ ความอดทน อดกลั่น ต่อความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกาย และจิตใจ การระงับความต้องการทางใจของตนเพื่อไม่ได้ตามต้องประสงค์ รู้จักทนไว้เมื่อไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ ด้วยการรู้จักอดทน และอดกลั้นไม่แสดงอาการประพฤติที่ไม่ดีอันจะมีผลร้ายต่อตนเอง และผู้อื่น และยังหมายถึง ความเข็มแข็งของจิตใจของบุคคลในการที่จะละทิ้งความชั่ว การกระทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ แม้จะกระทบกระทั่งในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ตามการรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ซึ่งไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีคนเทอะไรลงไป ของเสีย ของหอม ของสกปรกหรือของดีงามก็ตาม

              ๒) ลักษณะขันติของพระโพธิสัตว์ในมหานิบาตชาดก  ขันติในมหานิบาตชาดก ตั้งแต่เตมียชาดก – เวสสันดรชาดก โดยภาพรวมผู้วิจัยได้พบว่า ขันติที่ปรากฏในมหานิบาตชาดกแต่ละชาดก มีขันติปรากฏชัดเจน แต่บางชาดกก็อาศัยบริบทรอบข้างที่มีความเกี่ยวเนื่องถึงกัน ผู้วิจัยเองก็จับเอาประเด็นมาขยายเนื้อความมาวิเคราะห์ตามเนื้อเรื่อง ที่ปรากฏอยู่ในมหานิบาตชาดก ซึ่งจะสรุปดังต่อไปนี้ ขันติเป็นหลักธรรมสำคัญต่อชีวิตของพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ พระองค์ ในเนื้อหาตั้งแต่ต้นเห็นได้ว่า พระโพธิสัตว์อาศัยหลักขันติเป็นลักษณะขันติธรรมดา ขันติอย่างกลาง ขันติอย่างสูงสุด ถึงขั้นเสียชีวิตทั้ง ๓ อย่างนี้ ปรากฏแทรกแซงอยู่ในเนื้อหาทั้งหมดของแต่ละเรื่อง ตัวอย่างเช่น พระสุวรรณสามที่ถูกยิงโดยลูกศรที่เสียชีวิตแล้ว แต่ด้วยบุญกุศลช่วยจึงฟื้นชีวิต ในขณะเดียวกันพระสุวรรณสามมีความอดทน ไม่กลัวเสียชีวิต แต่กลับเป็นห่วงบิดามารดานี้ แสดงว่าลักษณะขันติธรรมอย่างกลางอย่างสูงสุดจะอยู่ด้วยกัน ประคับประคองไม่ให้หลงสติ เป็นต้น ดังนั้นมนุษย์ทุกคนตั้งแต่ตัวเล็กๆ จำความจนถึงเติบโตขึ้นมา แต่ละช่วงวัยก็ต้องปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของแต่ละช่วง ไปมีหน้าที่การงานของแต่ละวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยนักเรียนปฐม จนถึงระดับอุดมศึกษา วัยทำงานมีครอบครัวจนถึงวัยผู้สูงอายุ วัยแต่ละช่วงนี้กว่าจะผ่านมาได้จะต้องอาศัยธรรมจากพระโอษฐ์นั้นก็คือ ขันติ เป็นหลักธรรมที่ง่ายๆ ในการดำรงชีวิต หรือเหมือนกับคนไม่มีกระดูก ไม่สามารถเดินไปได้ ขาดบางสิ่งบางอย่างไปก็ทำให้ชีวิตไม่ราบรื่น ถ้าพระโพธิสัตว์ขาดขันติ ก็ไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าต้องการพุทธภูมิต้องรออีกเป็นเวลานาน มนุษย์ที่มีขันติมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา เหมือนกับพระโพธิสัตว์ถือว่าเป็นที่ฝึกฝนมาโดยตลอด จึงทำให้ชีวิตมีความสุข ถึงแม้ว่าชีวิตในตอนต้นจะมีอุปสรรคมามากมายขัดขวาง ก็สามารถที่จะผลิตเอาชนะได้ เหมือนกับชีวิตของพระโพธิสัตว์ในมหานิบาต ที่ผ่านอุปสรรคมามากมาย ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ขันติมีบทบาทสำคัญต่อพระโพธิสัตว์ทั้ง 10 พระองค์ ไม่ว่าพระองค์จะอยู่ที่ไหน
เวลาไหน สถานการณ์อย่างไร ก็ไม่ขาดขันติ เอาขันติเป็นหลักในการใช้ชีวิต จะสุขหรือทุกข์อย่างไร เอาขันติแก้ปัญหา

              ๓) เพื่อประยุกต์ใช้หลักขันติของพระโพธิสัตว์ในมหานิบาตชาดก การประยุกต์ใช้หลักขันติของพระโพธิสัตว์ในมหานิบาตชาดก เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถประยุกต์ใช้โดยการพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันๆ ในชีวิตประจำวันที่เรานั้นต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่มากระทบแก่ร่างกายและจิตใจของเราให้อ่อนแอและก่อเกิดเป็นความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น เพราะโทษแห่งการขาดขันติบารมีนั้นสามารถสร้างความเดือดร้อนและเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น เช่น ความโทสะ ทำให้ทำร้ายร่างกายของผู้อื่นได้ เพราะขาดขันติ  เป็นต้น เมื่อสามารถบำเพ็ญขันติบารมีธรรมได้แล้วก็จะได้รับประโยชน์ของขันติ ๖ ประการกล่าว คือ ๑) ทำให้เป็นคนหนักแน่น ไม่อ่อนแอ ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญชีวิตทุกชนิดได้  ๒) ทำให้บุคคลมีมารยาทที่ดีงาม  ไม่วู่วาม มักโกรธ  ๓)  ความอดทนช่วยพัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต เป็นคนมีเสน่ห์น่ารัก ๔) ความอดทนเป็นบ่อเกิดของศีล สมาธิ และปัญญา  ๕) ความอดทนเป็นเครื่องมือตัดต้นเหตุของความชั่วทั้งหลาย ๖) ความอดทนช่วยให้บุคคลประพฤติพรหมจรรย์บรรลุธรรมได้รวดเร็ว ดังเช่นที่ได้ปรากฏการบำเพ็ญขันติบารมีในชาดกของพระโพธิสัตว์  ผู้ปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล และขันติของพระโพธิสัตว์เป็นคุณธรรมสำคัญประจำตัวปัจเจกบุคคลในการดำรงชีวิตทั้งเพื่อประโยชน์ชีวิตในปัจจุบันประโยชน์เบื้องหน้าและประโยชน์สูงสุดแห่งชีวิตตามลำดับแห่งการพัฒนาตนเองในพระพุทธศาสนาจากสิ่งที่ทำได้ง่ายไปสู่สิ่งที่ทำได้ยากขันติก็เช่นเดียวกัน บุคคลใช้ขันติตั้งแต่ระดับสามัญในการดำรงชีวิตทางโลกเมื่อจะพัฒนาตนเองย่อมต้องอาศัยขันติที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้ว เพื่อเป็นฐานในการเจริญคุณธรรมในระดับที่สูงขึ้นนอกจากจะเป็นประโยชน์ตนแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย เพราะคนที่รู้จักอดทนยับยั้ง ใจตนได้ จะไม่เบียดเบียนคนอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน แต่จะเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น จึงทำให้ตนเองและสังคมเป็นสุข

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕