หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ชลัท ประเทืองรัตนา
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
รูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยพุทธสันติวิธีบูรณาการ : กรณีศึกษาเทศบาลนครพิษณุโลก (สาขาวิชาสันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : ชลัท ประเทืองรัตนา ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติกวี
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
  พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) ศึกษาบริบทของการไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาทในเทศบาลนครพิษณุโลก ๒) ศึกษารูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักวิชาการตะวันตกและตามหลักการทางพระพุทธศาสนา ๓) นำเสนอรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของเทศบาลนครพิษณุโลกโดยพุทธสันติวิธีเชิงบูรณาการ ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาจากเอกสาร และการศึกษาภาคสนาม ในส่วนของการสัมภาษณ์จำนวน ๓๐ คน ประกอบด้วย บุคลากรของเทศบาลนครพิษณุโลก ๑๔ คน และผู้นำชุมชน ๑๖ คน ในส่วนของการสนทนากลุ่มจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๗ คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระพุทธศาสนาและพุทธสันติวิธี
ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ปัญหาความขัดแย้งในเมืองพิษณุโลกมีทั้งจากโครงการพัฒนา
ที่ดำเนินการโดยรัฐกระทบกับเอกชน และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง มีทั้งประเด็นที่เกิดขึ้นชัดเจน ความขัดแย้งซ่อนอยู่โดยรอเวลาปะทุขึ้น หลายกรณีเทศบาลนครพิษณุโลกได้ดำเนินการเสร็จลุล่วง หลายกรณีที่ยังอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการให้บริการจากภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา ถนน น้ำท่วม ขยะ
การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม รวมถึงความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นเหม็น เสียงดัง การแย่งชิงการใช้พื้นที่ เช่น สุนัข แมวจรจัดส่งเสียงรบกวน ร้านเหล้า/ร้านอาหารส่งเสียงดัง กลิ่นจากร้านอาหาร 
การสร้างบ้าน อาคารรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ความต้องการแผงค้าขายในตลาด การจัดการกับกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากการเชือดไก่ เป็นต้น

ภาพรวมการแก้ปัญหาของเมืองพิษณุโลกจะทำภายในชุมชนก่อนโดยมี สมาชิกสภาเทศบาลและผู้นำชุมชนร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ ในแต่ละชุมชนจะมีประธานชุมชนทำหน้าที่รวมถึงการไกล่เกลี่ยให้กับชาวบ้าน แต่ถ้าหากปัญหาเป็นเรื่องใหญ่ไม่สามารถแก้ไขในชุมชนได้จึงจะส่งต่อไปยังเทศบาล  ส่วนของเทศบาลจะมีระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์หลายช่องทางโดยมีผู้รับผิดชอบ
แต่ละเรื่อง แต่ยังไม่มีระบบการไกล่เกลี่ยอย่างเป็นทางการ ไม่ได้มีการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยหรือมีผู้ไกล่เกลี่ยขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง แต่หากมีเรื่องร้องเรียนที่ต้องใช้กระบวนการพูดคุย ทางเทศบาลจะให้ผู้รับผิดชอบในแต่ละด้านไปเจรจาไกล่เกลี่ย ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งมีทั้งเรื่องที่สามารถจัดการได้ดีและเรื่องที่ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ เนื่องจากปัญหาทัศนคติของบุคลากร และการขาดทักษะ
ที่เพียงพอในการเจรจาไกล่เกลี่ย
 

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมืองพิษณุโลกจะทำได้ดียิ่งขึ้น โดยการบูรณาการ
องค์ความรู้การไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง ทั้งจากประเทศตะวักตก ประเทศไทย และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา รวมถึงประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยโดยคนกลางของเทศบาลนครพิษณุโลก
ข้อค้นพบสำคัญจากการบูรณาการงานวิจัยนี้ คือ  ประการแรก คุณสมบัติของคนกลาง  มีจุดร่วมกันคือมีความเป็นกลาง มีความอดทน มีความเพียรพยายาม มีความรู้ มีเมตตากรุณา เข้าใจจิตใจของ
คนอื่น  ประการที่สอง หลักการ วิธีการที่จำเป็นสำหรับการทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย คือ ๑) การวิเคราะห์ความขัดแย้ง และออกแบบการไกล่เกลี่ย  ๒) การแสดงท่าทีเป็นมิตร มีความเป็นกัลยาณมิตร  
๓) การสื่อสารด้วยการเจรจาอย่างนุ่มนวลและฟังอย่างเข้าใจ ๔) ทำให้คู่กรณีเห็นประโยชน์ในการ
อยู่ร่วมกันเกิดความสามัคคีกัน  ๕) การให้อภัยกันและกลับมาอยู่ร่วมกันได้  ๖) การติดตามผล
อย่างต่อเนื่อง  และประการที่สาม ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการเจรจาไกล่เกลี่ยในเทศบาลนครพิษณุโลก ประกอบด้วย ๑) คนกลาง มีความรู้ ทักษะ เจตคติที่ดีต่อการไกล่เกลี่ย เป็นผู้เสียสละ
มีทักษะในการฟัง มีทักษะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ มีความมุ่งมั่น มีทักษะในการดำเนินการเป็นขั้นตอน ยึดค่านิยมที่สนองความต้องการแต่ละฝ่าย และยึดคุณธรรมจริยธรรม ๒) คู่กรณี ตระหนักว่าต้องพูดคุย มีเป้าหมายร่วมกัน มีความเคารพต่ออีกฝ่าย มีแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกัน มีการแสดงความรับผิดชอบ มีความศรัทธาหรือเคารพเชื่อฟังที่มีต่อคนกลาง ๓) ผู้บริหารองค์กรเห็นความสำคัญของกระบวนการนี้ และสนับสนุน ผลักดันด้วยความมุ่งมั่นให้คนคืนดีกัน สามารถ
อยู่ร่วมกันได้โดยเมตตา ไม่เกลียดชังกัน ๔) บุคลากรในองค์กร ร่วมกันผลักดัน ส่งเสริมสนับสนุนวิธีการที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ ผลักดันให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ดีของผู้บริหาร  ๕) คนในชุมชน
ร่วมผลักดันให้ใช้วิธีการพูดคุยมากกว่าการนิ่งเฉยหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน  ๖) มีทรัพยากรที่เพียงพอทั้งบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕