หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดธนากร สนฺตมโน (เพราะถะ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๐ ครั้ง
รูปแบบการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมเชิงพุทธของเทศบาลเมืองวังสะพุง จังหวัดเลย
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดธนากร สนฺตมโน (เพราะถะ) ข้อมูลวันที่ : ๑๑/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลเมืองวังสะพุง จังหวัดเลย  ๒) เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลเมืองวังสะพุง จังหวัดเลย ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อเสนอรูปแบบการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมเชิงพุทธของเทศบาลเมืองวังสะพุง จังหวัดเลย

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ และทำการวิจัยด้วยการเก็บข้อมูล มี ๒ ขั้นตอน คือ (๑) การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) จำนวน ๒๕ รูป/คน โดยแยกเป็นพระสงฆ์ จำนวน ๕ รูป ผู้นำชุมชน จำนวน ๒๐ คน เครื่องมือในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-dept Interview) (๒) การสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus Group Discussion) จำนวน ๕ คน ตามหัวข้อสนทนาที่พัฒนาจากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยการพรรณนาวิเคราะห์ตามหลักอุปนัยวิธี

ผลการวิจัยพบว่า

๑) สภาพปัญหาในการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลเมืองวังสะพุง มีอยู่ ๕ ด้าน ได้แก่ ปัญหาด้านสังคม ได้แก่ ยาเสพติด ลักขโมย อาชญากรรม, ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ขยะเป็นพิษส่งกลิ่นเหม็น, ปัญหาด้านวัฒนธรรม ได้แก่ การแต่งกายเลียนแบบต่างชาติ การดื่มสุราในสถานที่อันไม่สมควร เช่นในวัด เป็นต้น, ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ขาดการเก็บออมทรัพย์ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย, ปัญหาด้านการปกครอง ได้แก่ ขาดเสรีภาพในความคิด การแสดงออกทางการเมืองในท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลครอบงำผู้นำท้องถิ่น เป็นต้น

๒) รูปแบบการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลเมืองวังสะพุง จังหวัดเลย ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พบว่า ปัญหาด้านสังคมผู้บริหารเทศบาลวังสะพุงมีการนำหลักศีลภาวนาไปพัฒนาสังคมด้วยการฝึกอบรมศีล ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเสียหาย อยู่กับผู้อื่นได้ มีความเกื้อกูลต่อกัน, ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมีการนำหลักหิริคือความละอายใจที่จะไม่ทำความชั่วและนำหลักโอตตัปปะคือความรู้สึกเกรงกลัวต่อการทำชั่วทั้งปวง, ปัญหาด้านเศรษฐกิจมีการนำหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือการมองเห็นประโยชน์สุขสามัญได้แก่ การมีรายได้พอใช้กับค่าใช้จ่าย มีปัจจัย ๔ ที่พอเหมาะแก่การดำรงชีวิตประจำวัน รู้คุณค่าของการออม และระมัดระวังในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น, ปัญหาด้านวัฒนธรรมมีการนำหลักกตัญญูกตเวทิตา คือชาววังสะพุงมีความภาคภูมิใจรู้คุณค่าต่อวัฒนธรรมดั้งเดิม เกิดความหวงแหน รักษาวัฒนธรรมไว้ด้วยความเพียรพยายาม, และปัญหาด้านการปกครองมีการนำหลักทศพิธราชธรรม คือผู้นำหรือผู้บริหารเทศบาลวังสะพุงต้องเป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน มีความประพฤติดีงาม เป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม

๓) รูปแบบการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมเชิงพุทธของเทศบาลเมืองวังสะพุง จังหวัดเลย มีอยู่ ๕ รูปแบบ  ได้แก่ (๑) รูปแบบตามหลักศีลภาวนา เป็นรูปแบบที่เน้นการพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชนสังคมด้วยการให้ประชาชนชาววังสะพุงเจริญศีลด้วยการนำหลักการของศีลไปพัฒนาความประพฤติทางกายทางวาจา การฝึกอบรมศีลตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเสียหาย อยู่กับผู้อื่นได้ มีความเอื้อเกื้อกูลกันต่อกันอยู่เสมอ, (๒) รูปแบบตามหลักหิริคือชาววังสะพุงจะต้องมีความละอายใจที่จะไม่ทำความชั่วและนำหลักโอตตัปปะคือความรู้สึกเกรงตัวต่อการทำชั่ว เช่น การทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง, (๓) รูปแบบตามหลักหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์คือชาววังสะพุงมีการมองเห็นประโยชน์สุขสามัญของวิถีชาวบ้าน ได้แก่ การมีปัจจัย ๔ ที่พอเพียงในการดำรงชีวิตประจำวัน  ชุมชนรู้จักประหยัด และระมัดระวังในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น, (๔) รูปแบบตามหลักกตัญญูกตเวทิตา คือชาววังสะพุงมีความภาคภูมิใจ รู้คุณต่อวัฒนธรรมเดิมมีความหวงแหน รักษาวัฒนธรรมไว้ด้วยความเพียรพยายาม, (๕) รูปแบบตามหลักทศพิธราชธรรม คือผู้นำหรือผู้บริหารเทศบาลวังสะพุงต้องเป็นผู้มีความอ่อนโยนหรือเป็นกันเองกับชาวบ้าน มีความประพฤติดีงาม เป็นผู้เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม และมีความหนักแน่นในธรรม ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย มีความเที่ยงธรรม เป็นธรรมกับชาวบ้านผู้มารับบริการอยู่เสมอ

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕