หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมชาย วรเมธี (สังคดี)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๖ ครั้ง
ปัญหา สาเหตุและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความยากจนของเกษตรกร ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี (สาขาวิชาการพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมชาย วรเมธี (สังคดี) ข้อมูลวันที่ : ๐๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  เดชา กัปโก
  พระสุธีรัตนบัณฑิต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “ปัญหา สาเหตุและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับของความยากจนของเกษตรกร ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่  ๑) เพื่อศึกษาปัญหา สาเหตุและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับของความยากจนของเกษตรกร ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ๒) วิเคราะห์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและหลักพุทธธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของ เกษตรกร ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี   ๓) เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือ บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐผู้นำชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๘ รูป/คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อให้ทราบถึงปัญหา สาเหตุและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับของความยากจนของเกษตรกร จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เชื่อมโยงให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร

ผลการวิจัยพบว่า

๑. ปัญหา สาเหตุและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความยากจนของเกษตรกร ตำบลหนองสาหร่าย แบ่งออกเป็น ๓ ด้าน คือ ๑) เชิงโครงสร้าง พบว่า ปัญหาความยากจนของเกษตรกรเกิดจากการที่ภาครัฐกล่าวคือองค์กรส่วนท้องถิ่นไม่มีนโยบายในการแก้ไขความยากจนเฉพาะพื้นที่ของตนเอง กลไกทางการตลาดที่ซับซ้อน ไม่มีตลาดกลางเพื่อขายผลผลิต ช่วง ๔-๕ ปีหลังนี้มีการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรมากขึ้น รวมถึงการที่เกษตรกรไม่ต่อยอดกิจกรรม และที่สำคัญคือการที่เกษตรกรไม่มีบัญชีครัวเรือน ๒) ด้านทรัพยากร พบว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะขาดน้ำ และบางพื้นที่ในตำบลหนองสาหร่ายอยู่นอกเขตชลประทาน ๓) ด้านปัจเจกบุคคล พบว่า เกษตรกรขาดธรรมะในการดำเนินชีวิต  ไม่เข้าร่วมกิจกรรม ไม่มีการปรับปรุงรูปแบบการปลูกพืช ขาดการพัฒนาต่อยอด ขาดวิสัยทัศน์ เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุมาก ความรู้น้อยใช้เพียงประสบการณ์ทำการเกษตร

๒. ภูมิปัญญาท้องถิ่นและหลักพุทธธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร ตำบลหนองสาหร่าย ๑) ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรนั้นมีหลายด้าน คือ ด้านหัตถกรรม สานอุปกรณ์จับสัตว์น้ำซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์ในการทำมาหากินของคนท้องถิ่น ด้านการเกษตร มีการปลูกพืชที่มีกลิ่นสามารถขับไล่แมลงได้ ทำปุ๋ยบำรุงดิน ด้านดนตรี มีเพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย ที่ปัจจุบันค่อยๆ เลือนหาย ภูมิปัญญาทางธรรมชาติ คือ ประเพณีค้ำฟ้า ประเพณีการทำบุญเพื่อพบเจอกัน จะได้ปรึกษาพูดคุยสุขและทุกข์ ๒) ด้านหลักพุทธธรรม พบว่า เกษตรกรในชุมชนโดยมาก เข้าใจหลักพุทธธรรม  มีอิทธิบาท กล่าวคือ การที่เกษตรกรมีใจรักในการทำการเกษตร พอใจและสุจริตในการทำงาน ใช้หลักทิฏฐธรรมิกัฏฐประโยชน์ เป็นหลักธรรมในการประคับประคองการดำเนินชีวิต และหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม คือ ฆราวาสธรรม เพื่อเสริมให้มีความสุขในชีวิตยิ่งขึ้น

๓. แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร ตำบลหนองสาหร่าย ๑) ด้านปัญหาโครงสร้าง การแก้ไขปัญหาที่ภาครัฐองค์กรส่วนท้องถิ่นต้องมีแผนการพัฒนาด้านกิจกรรม มีนโยบายการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อคนจน พัฒนาระบบตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกร ๒) ด้านทรัพยากรและภายในชุมชน หน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ต้องขุดแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อเก็บกักน้ำ มีระบบจัดการน้ำที่เหมาะสมและทั่วถึงแก่เกษตรกรทุกพื้นที่ เน้นการทำการเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพึ่งพาตนเอง สนับสนุนองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาฝีมือและทักษะด้านอาชีพ การจัดตั้งโรงเรียนชุมชน ๓) ด้านปัจเจกบุคคล สิ่งสำคัญคือการเริ่มปรับปรุงแก้ไขตนเอง โดยการใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิต เน้นการพึ่งพาตนเองด้วยหลักพุทธธรรมควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้องมีความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ การรักษาคุ้มครองทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ ทำบัญชีครัวเรือน และเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่ตนเอง

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕