หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูโพธิธรรมานุกูล (บรรเทา ชุดจีน)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๗ ครั้ง
ศึกษาแนวทางการนำหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาชีวิตของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยปัจจุบัน (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูโพธิธรรมานุกูล (บรรเทา ชุดจีน) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีสุตาภรณ์
  ดร.ยุทธนา พูนเกิดมะเริง
  ผศ.ดร.สุรพงษ์ คงสัตย์
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ  (๑) เพื่อศึกษาหลักทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์ที่ปรากฎในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาปัญหาชีวิตของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยปัจจุบัน    (๓)เพื่อศึกษาแนวทางการนำหลักทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาชีวิตของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยปัจจุบัน  ผลการวิจัยพบว่า

        ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ หลักประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ อาจเรียกสั้นๆว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ (เนื่องจากอัตถะ แปลว่า ประโยชน์อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์ ซ้ำซ้อนกันสองคำก็ได้) หรืออาจเรียกเต็มๆว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ (๑) อุฏฐานสัมปทา
ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ  (๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ  (๓) กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคบชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล
จาคะ ปัญญา และ (๔) สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้

                          ชีวิตตามหลักคำสอนพระพุทธศาสนา มีองค์ประกอบที่สำคัญสองส่วน คือ ร่างกายกับจิตใจหรือรูปกับนาม สองอย่างนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการปรุงของเหตุปัจจัยเหมือนกันกับ
สิ่งทั้งปวงที่มีชีวิตอยู่และไม่มีชีวิต ล้วนจัดอยู่ในประเภทของสิ่งที่เรียกว่า สังขตธรรม  ชีวิตคนเราก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นและเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ และตาย อยู่ในโลกเช่นเดียวกับสัตว์โลกชนิดอื่นๆ ฉะนั้น จุดมุ่งหมายหลักของศาสนาจึงมุ่งสืบค้น และทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของคนเรา และแก้ปัญหาชีวิตโดยตรง ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาถึงสภาวะหรือสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้น ความจริงแล้วชีวิต  คือ  กระบวนการของการเกิดขึ้นและดับไปของทุกข์  ดังพระสูตรว่า
  ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด  ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป  นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด  นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับเป็นความสืบต่อกันแห่งสังขารธรรมล้วน ๆ  กระบวนการแห่งธรรมนี้เกิดขึ้นและดับลงตามเหตุปัจจัย 

                            การนำหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยปัจจุบัน มีทั้งหมด ๔ ข้อ คือ (๑) การนำหลักอุฏฐานสัมปทามาแก้ปัญหาการขาดความเพียร  เมื่อจะหลีกให้พ้นจากความชั่วนานาประการ สิ่งสำคัญก็คือการระมัด  ระวังหรือสำรวมรักษากาย วาจา ใจ แม้กระทั่งชีวิตของเรา ไม่ให้หลงไปตามกระแสวัตถุต่างๆ    (๒) การนำหลักอารักขสัมปทามาแก้ปัญหาชีวิตการไม่รู้จักรักษาทรัพย์  อารักขสัมปทา คือการใช้เงินตามหลักธรรมะคนรู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพ คนที่จะเรียกได้ว่า รู้จักหา รู้จักใช้ทรัพย์ หรือหาเงินเป็น ใช้เงินเป็น เป็นคนทำมาหากินที่ดี ตั้งตัวสร้างหลักฐานได้  (๓) การนำหลักกัลยาณมิตตตามาแก้ปัญหาชีวิตการคบคนพาล ต้องมีกัลยาณมิตรที่ดี คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษาเพื่อนที่คบหาและบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี, ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคลหรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถซึ่งจะช่วยแวดล้อม สนับสนุนชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่างตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดีในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการและธรรมปฏิบัติ,สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี และ (๔) การนำหลักสมชีวิตามาแก้ปัญหาชีวิตการใช้จ่ายทรัพย์เกินฐานะ คือ การประหยัดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เราจะมีชีวิตราบรื่นปกติสุขได้ก็ต้องรู้จักใช้เงินทองอย่างประหยัด ใช้แต่ในสิ่งที่จำเป็นแก่การครองชีพของเราพยายามใช้จ่ายให้พอเหมาะกับรายได้ของเรา เพราะว่าผู้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายใช้จ่ายเกินฐานะของตัวเองนั้นย่อมได้รับความเดือดร้อนทำให้ครอบครัวได้รับความลำบาก เพราะฉะนั้นจะต้องรู้จักประหยัดทรัพย์พยายามใช้จ่ายแต่ในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้นจึงมีความสุขได้ตามสมควรแก่อัตภาพของตัวเองและครอบครัว

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕