หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสิริปริยัติธำรง
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๓ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบโภควิภาค ๔ กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสิริปริยัติธำรง ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปริยัติยานุศาสน์, ดร.
  ดร.เฉลิมพล คงจันทร์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบโภควิภาค ๔ กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาหลักการ วิธีการ และเป้าหมายของโภควิภาค ๔  ๒) เพื่อศึกษาหลักการ วิธีการ และเป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ๓) เพื่อเปรียบเทียบหลักโภควิภาค  ๔ กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารคือคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ตลอดถึงเอกสาร ผลงานวิชาการ งานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับหลักโภควิภาค ๔ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ผลจากการศึกษาพบว่า

              หลักโภควิภาค ๔ เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนการปฏิบัติให้ถูกต้องเกี่ยวกับทรัพย์  โดยมีหลักการคือแบ่งทรัพย์เป็น ๔ ส่วน ได้แก่ ๑ ส่วนสำหรับใช้สอย ๒ ส่วนสำหรับใช้ประกอบการงาน และอีก ๑ ส่วนเก็บไว้สำหรับจะใช้ในยามมีอันตราย สำหรับวิธีการของโภควิภาคมีส่วนสัมพันธ์กับหลักธรรมอื่นๆ ได้แก่ ทิฏฐธรรมิกัตถะ ๔ อิทธิบาท ๔ จักร ๔ กามโภคี๑๐ โภคอาทิยะ ๕ กุลจิรัฏฐิติธรรม ๔ ตังขณิกปัจจเวกณ์ ๔ ปาปณิกธรรม ๓ วณิชชา ๕ และอบายมุข ๖ และเป้าหมายของหลักโภควิภาคมี ๒ ระดับ คือ ๑) ระดับปัจเจกบุคคล คือ การดำรงชีวิตที่มั่นคงและเป็นอยู่อย่างอิสระหลุดพ้น  ๒) ระดับสังคม คือเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

 

              ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชตรัสประทานแก่ประชาชนชาวไทย ซึ่งประกอบด้วยหลักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และหลักการมีภูมิคุ้มกันที่ดี วิธีการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการจัดสรรหรือแบ่งพื้นดินและแหล่งน้ำออกเป็นส่วนๆ คือ พื้นที่สำหรับขุดสระและเลี้ยงปลา สำหรับปลูกข้าว สำหรับปลูกพืชไร่พืชสวน และสำหรับที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้สะดวกต่อการทำการเกษตรอย่างประสมประสาน เป้าหมายของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มี ๓ ระดับคือ ๑) ระดับปัจเจกบุคคลคือ รู้จักพอ มีความรู้ ยึดทางสายกลาง เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ ครอบครัวมีความอบอุ่น ๒) ระดับสังคมหรือองค์กร คือ รวมกลุ่มใช้ภูมิปัญญาของชุมชน สังคม องค์กร เอื้อเฟื้อกันและกัน พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ สังคมอยู่กันอย่างสามัคคี ๓) ระดับประเทศ ชุมชนร่วมมือกัน วางระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง พัฒนาเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป และเติบโตจากข้างใน เศรษฐกิจทั้งในภาคส่วนครัวเรือน สังคมและประเทศชาติมีความสมดุลเข้มแข็ง

 

              เปรียบเทียบหลักโภควิภาค ๔ กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ๓ ด้าน คือ ด้านหลักการพบว่าทั้งหลักโภควิภาคและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีส่วนที่คล้ายคลึงกันคือเป็นการจำแนกทรัพย์เป็นส่วนๆ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน ด้านวิธีการมีส่วนที่แตกต่างกันคือวิธีโภควิภาคต้องนำหลักธรรมหลายประการมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องเหมาะสม ส่วนวิธีการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกำหนดพื้นที่ใช้สอยอย่างชัดเจนแล้วดำเนินการตามนั้น และ ด้านเป้าหมายมีส่วนที่คล้ายคลึงกันคือมุ่งให้เกิดคุณค่าต่อการดำรงชีวิตที่มั่นคง ให้รู้เท่าทันและเป็นอิสระ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าโภควิภาค ๔ กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีวิธีการค่อนข้างต่างกัน แต่หลักการและเป้าหมายมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕