หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระดนัย อนาวิโล (บุญสาร)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๖ ครั้ง
การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในสถานศึกษา: กรณีศึกษาผู้บริหารสถานศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระดนัย อนาวิโล (บุญสาร) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี, ดร.
  ผศ. อานนท์ เมธีวรฉัตร
  อาจารย์รุ่งอรุณ อบเชย
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่สอดคล้องกับหลักการบริหารสถานศึกษา เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาในการนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการบริหารสถานศึกษา  และเพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในสถานศึกษาตามทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา ดำเนินการวิจัยโดยใช้วิธีวิจัยแบบผสม ประกอบด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ เอกสารที่ใช้ในการศึกษาด้วยวิธีการเชิงคุณภาพ คือ พระไตรปิฎกที่เป็นหลักพุทธธรรม ตลอดทั้งอรรถกถาและคัมภีร์อื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้อง เอกสารด้านการบริหารการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และใช้วิธีการเชิงปริมาณในการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาในการนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการบริหารงานภายในสถานศึกษาและแนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๑ เขต ๓ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๔๒ (นครสวรรค์) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม  ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย  วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการหาค่าสถิติพื้นฐาน คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ผลการวิจัยสรุปได้ดังต่อไปนี

๑) หลักพุทธธรรมที่สอดคล้องกับหลักการบริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย หลักสัปปุริสธรรม ๗ ว่าด้วยการครองตน  เป็นธรรมของสัปปุริสชน คือ คนดี ประกอบด้วย รู้หลักการ  รู้จุดหมาย  รู้ตน  รู้ประมาณ  รู้กาล  รู้ชุมชน และรู้บุคคล หลักสังคหวัตถุ ๔ ว่าด้วยการครองคน เป็นธรรมยึดเหนี่ยวใจบุคคลและประสานหมู่ชนไว้สามัคคี  ประกอบด้วย ทาน คือ การให้  ปิยวาจา คือ วาจาอันเป็นที่รัก อัตถจริยา คือ การประพฤติประโยชน์  และสมานัตตตา คือ ความมีตนเสมอหรือทำตนเสมอต้นเสมอปลาย  และหลักอิทธิบาท ๔ ว่าด้วยการครองงาน  เป็นคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย  ประกอบด้วย  ฉันทะ คือ ความพอใจ  วิริยะ คือ ความเพียร  จิตตะ คือ ความคิดมุ่งไป  และวิมังสา  คือ ความไตร่ตรอง  ซึ่งผู้บริหารการศึกษาควรยึดหลักธรรมทั้ง ๓ นี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารงานของสถานศึกษา  

๒)  ความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาในการนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการบริหารสถานศึกษา พบว่า ความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาในการใช้หลักพุทธธรรมในการบริหารสถานศึกษา ด้านหลักการครองตนอยู่ในระดับมาก  ส่วนด้านการครองคนและด้านการครองงานอยู่ในระดับมากที่สุด

 

๓)  แนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในสถานศึกษาตามทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา  พบว่า บุคลิกของผู้บริหารที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ คือ เป็นผู้มีคุณธรรมในการบริหารจัดการและยึดหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม  โดยที่คุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่ดีจะส่งผลทำให้เป็นที่ยอมรับจากบุคลากรทุกฝ่าย ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูง ทำให้บุคลากรครูมีขวัญกำลังใจที่ดี และผู้เรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ สิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องการพบเห็นเกี่ยวกับการทำงานของบุคลากรภายในสถานศึกษา คือ บุคลากรมีศรัทธาในวิชาชีพ ตั้งใจสอน มีคุณธรรม  มุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ รักลูกศิษย์เหมือนลูกหลาน และปฏิบัติงานด้วยความเอาใจใส่  ผู้บริหารเห็นความสำคัญของการบริหารแบบมีส่วนร่วมว่าสามารถช่วยให้งานสำเร็จและบุคลากรมีความสุขในการทำงานแบบ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมปรับปรุงแก้ไข และร่วมภาคภูมิใจ”  สิ่งที่ทำให้ผู้บริหารรู้สึกพอใจในการบริหารงานของตน คือ การยึดมั่นในคุณธรรม  ให้การสนับสนุนบุคลากรและส่งเสริมการศึกษาของผู้เรียน  และจากคำกล่าวที่ว่าผู้บริหารที่ดีจำเป็นต้องมีคุณธรรมควบคู่กับการทำงาน พบว่า ผู้บริหารทุกท่านเห็นด้วย และให้เหตุผลสนับสนุนว่า คุณธรรมเป็นหัวใจสำคัญในการบริหาร สามารถสร้างความศรัทธา และเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดแห่งความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ หากผู้บริหารมีคุณธรรมประกอบกับการทำงานแล้วย่อมทำให้ครูมีสุขภาพจิตที่ดีและเกิดบรรยากาศในการทำงานอย่างมีความสุขอันจะส่งผลต่อความสามารถในการจัดการเรียนการสอนให้ดีและมีคุณภาพต่อผู้เรียนในที่สุด

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕